กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ชี้แจงกับอิศราแล้ว! ปม ศิลปินแห่งชาติไม่ได้รับค่าตอบแทน 2 เดือน ระบุกรมบัญชีกลางอนุมัติรายจ่ายกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ต่ำกว่าที่สำนักงบฯพิจารณาเห็นชอบไว้ ทำให้มีเงินไม่เพียงพอต่อการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการศิลปินแห่งชาติ พร้อมแจ้งกรณีอธิบดีเดินทางไป ตปท.-ตจว.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยรายงานไปแล้ว กรณี ตัวแทนศิลปินแห่งชาติ ร้องเรียน ไม่ได้รับเงินค่าตอบแทน 25,000 บาท มาแล้ว 2 เดือน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน -ธันวาคม 2566 และคาดว่าเดือนมกราคม 2567 ก็จะยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวอีก พร้อมเผยเหตุผล เพราะผู้บริหารระดับสูงไม่ใส่ใจ เดินทางต่างประเทศ-ต่างจังหวัดบ่อยมาก และไม่เสนอบอร์ดวัฒนธรรมแห่งชาติเบิกจ่ายงบ
ส่วน ด้านนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิชรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า ไม่เคยได้รับรายงาน และสั่งประชุมคณะกรรมการฯ ด่วนเพื่อแก้ปัญหา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดย นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ทำหนังสือชี้แจงกับสำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีดังกล่าวว่า ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนแล้ว และได้มีการทำหนังสือชี้แจงไปยังศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรมทุกคน เพื่อแจ้งการเบิกจ่ายเงินตอบแทนรายเดือนและค่ารักษาพยาบาลล่าช้า เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุของความล่าช้า และ ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง เรื่อง รายงานการเบิกจ่ายเงินกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ.2566
นายโกวิท ระบุอีกว่า ในปีงบประมาณ 2567 สำนักงบประมาณ เห็นชอบให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2566 ไปพลางก่อน สำหรับกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม วงเงินงบประมาณ 50,720,200 บาท แต่กรมบัญชีกลางได้อนุมัติประมาณการรายจ่ายกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 เพียง 11,500,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าที่สำนักงบประมาณพิจารณาเห็นชอบไว้ จำนวน 39,220,200 บาท ทำให้มีเงินงบประมาณไม่เพียงพอต่อการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม และผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม
โกวิท ผกามาศ
นายโกวิท ระบุเพิ่มเติมว่า ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้นำเสนอในการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ในวันที่ 15 มกราคม 2567 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบขอปรับวงเงินประมาณรายจ่ายของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเติมอีกจำนวน 39,220,200 บาท โดยที่ประชุมคณะกรรมวัฒนธรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ปรับประมาณการรายจ่ายฯ เพิ่มเติม ตามวงเงินดังกล่าว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม จำนวน 2 โครงการ ดังนี้
1. โครงการสนับสนุนการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม จำนวน 1,000,000 บาท
2. โครงการสวัสดิการศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม จำนวน 38,220,200 บาท
สำหรับการดำเนินการเพื่อขอรับงบประมาณดังกล่าว ปรากฏตามข้อเท็จจริงดัง ทางแผนดำเนินงานการของบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 โดยกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม
นอกจากนี้ นายโกวิท อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยังได้ชี้แจ้งกรณีการเดินทางไปต่างประเทศและต่างจังหวัด ว่า กรณีการเดินทางไปราชการต่างประเทศ ในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมานั้น เป็นไปตามนโยบายของปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยสู่สากลให้มากขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 และตามที่ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมมอบหมาย และที่ได้รับเชิญจากหน่วยงานต่างๆ ในต่างประเทศ เช่น
- การเข้าร่วมงานสัมมนา 2023 Global Multilateral Content Forum และการประชุมเจรจาหารือเกี่ยวกับความร่วมมือของไทย กับ เกาหลีใต้ ด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระหว่างวันที่ 15 – 21 พฤศจิกายน 2566 ตามที่ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นผู้แทนนำเสนอนโยบายและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกม และการสนับสนุน Content ของภาครัฐ
- การเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 4 - 9 ธันวาคม 2566 ณ เมืองคาซาเน สาธารณรัฐบอตสวานา ซึ่ง 'สงกรานต์ในประเทศไทย' ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
- การเข้าร่วมงานเสวนา Forum on Lancang-Mekong Local Government Cooperation and Dialogue Between Historic and Cultural Cities of Lancang-Mekong Countries ณ เมือง Yingtan City มณฑลเจียงซี สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 16 - 20 ธันวาคม 2566 เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายการส่งเสริมวัฒนธรรมในระดับอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง และ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่นระหว่างประเทศสมาชิกในแถบลุ่มแม่น้ำโขง
สำหรับการเดินทางไปราชการต่างจังหวัด นั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีภารกิจที่สำคัญ ในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานของสภาวัฒนธรรม เครือข่ายวัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ทั้งยังมีภารกิจในการส่งเสริมและดำเนินการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ทั้งในระดับท้องถิ่นระดับชาติ และระดับนานาชาติ อาทิ การส่งเสริมและสืบสานวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น ตามนโยบายขับเคลื่อน Soft power ด้านเทศกาลของรัฐบาล เช่น งานประเพณีลอยกระทง 2566 ที่ผ่านมา การประชุมร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดทั้ง 4 ภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมของท้องถิ่น และ การดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน โครงการ 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ งานมหกรรมหมอลำ ในงานเทศกาลไหมนานาชาติ ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น