“…ถ้าจะทำให้เกิด trust and confidence หรือมีอยู่แล้วก็ให้มีต่อเนื่องไป จะต้องรักษาองค์กรให้เป็นอิสระ ทำให้องค์กรมีความเป็นธรรมกับทุกฝั่ง มองประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างสมดุล เป็นมิติที่ต้องรักษาให้ได้ว่า เราไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ คือ ระบบเศรษฐกิจ เสถียรภาพตลาดทุน …”
....................................
หมายเหตุ : พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คนที่ 8 เปิดเผยถึงมุมมองและวิสัยทัศน์ด้านการบริหารงาน ก.ล.ต. ในงาน ‘Meet the Press : ร่วมพูดคุยกับเลขาธิการ ก.ล.ต.’ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2566 หลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ (รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2566)
ดิฉันมีความเชื่อว่าการทำหน้าที่เรกกูเลเตอร์ (กำกับดูแล) ของ ก.ล.ต. เป็นเรื่องการให้บริการแก่สาธารณะ หรือภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า public goods คือ เรากำลังเสนอสินค้าและบริการสู่สาธารณะ ดังนั้น บทบาทของสำนักงาน จึงเป็นเรื่องการสร้างสมดุลระหว่าง ‘การพัฒนา’ และ ‘การกำกับดูแล’
ในเรื่องพัฒนานั้น คือ การพัฒนาถนน หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย พัฒนาหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้มีการประกอบธุรกิจได้อย่างมีความสามารถในการแข่งขัน ส่วนการกำกับฯ คือ ทำให้คนที่เดินอยู่บนถนนนี้ มีความเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบกัน ไม่มีการฉ้อโกงกัน และผู้ลงทุนที่อยู่บนถนนได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสม
“จะมีมิติ 2 มิติ คือ พัฒนาและกำกับฯ หน้าที่ของคนที่ทำหน้าที่เหล่านี้ คือ ต้องไปออกเกณฑ์ ไปออกแนวปฏิบัติ ไปบังคับใช้กฎหมาย ให้สมดุลในทั้ง 2 เรื่อง แต่การทำอย่างนั้นได้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจก่อน เช่น ถ้าจะไปออกเกณฑ์อะไร ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า ทำไมเราถึงไปบอกให้เขาทำแบบนั้น”
ทั้งนี้ key word ของดิฉัน ที่แสดงอยู่ในกระดาษและพูดตลอดมา คือ trust and confidence (ความไว้วางใจและความเชื่อมั่น) เรามีหน้าที่ต้องสร้าง trust and confidence ทำอย่างไรให้คนเชื่อถือ ทำให้คนวางใจ บางทีเราเชื่อถือเพื่อนเรา แต่เราไม่วางใจ เราก็ต้องไปตรวจสอบตลอดเวลา จึงอยู่ที่ว่าทำอย่างไรที่จะทำให้เกิด trust and confidence
“ถ้าพูดสั้นๆ คือ ทำอย่างไร จะทำให้สำนักงาน สร้าง trust กับ confidence ได้ ซึ่งข้อแรก สำนักงานฯต้องเป็นมืออาชีพ คนของสำนักงานฯ ตั้งแต่เลขาธิการฯลงไป ต้องเป็นมืออาชีพ มีความสามารถ ถ้าเราไปบอกให้เขาทำ โดยที่เราไม่รู้ เขาก็ไม่เชื่อ ซึ่งความเป็นมืออาชีพ การมีองค์ความรู้นั้น จะอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องสร้างตลอดเวลา และต้องรักษาบุคลากรไว้
อันที่สอง ดิฉันเชื่อว่า ถ้าจะทำให้เกิด trust and confidence หรือมีอยู่แล้วก็ให้มีต่อเนื่องไป จะต้องรักษาองค์กรให้เป็นอิสระ ทำให้องค์กรมีความเป็นธรรมกับทุกฝั่ง มองประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างสมดุล เป็นมิติที่ต้องรักษาให้ได้ว่า เราไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ คือ ระบบเศรษฐกิจ เสถียรภาพตลาดทุน
และสุดท้าย ทำอย่างเดียวคงไม่พอ ดิฉันอ่านมาหมดว่า มีอะไรที่ท้าทายในการดำรงตำแหน่งนี้ (เลขาธิการ ก.ล.ต.) และเมื่อมาดำรงตำแหน่งนี้ ยิ่งอ่านหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นความเห็นในเว็บบอร์ดหรือนักลงทุนต่างๆ ซึ่งมีคำถามว่า “มีทำไม ก.ล.ต. , มีไว้ มีดาบก็ไม่ใช้” แต่อะไรต่างๆเหล่านี้ คงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
และการเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ใช่ว่าเราสร้าง Value (มูลค่า) ไม่ได้ ดิฉันอยู่สำนักงาน (ก.ล.ต.) มานาน รู้กระบวนการในการทำงานของเขา ดิฉันมีความภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งในนั้น และวันนี้ยิ่งภูมิใจใหญ่ เพราะต้องมานำเขา แต่การที่คนเขาเห็นว่า เรายังสร้างมูลค่าไม่ได้ อาจจะมาจากการที่เราไม่สร้าง หรือเราสร้างแล้ว แต่เขายังไม่รับรู้
ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับส่วนที่สาม คือ การสื่อสาร เพราะการสื่อสารและการประสานความร่วมมือ โดยเฉพาะการฟังนั้น โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า เป็นทักษะที่สำคัญมาก
ถ้าถามดิฉันว่า มีวิสัยทัศน์ที่จะนำพาตัวองค์กรไปอย่างไร ก็มองว่าเป็นเรื่องการสร้าง trust and confidence ซึ่งสอดคล้องกับจุดมุ่งเน้นของคณะกรรมการฯ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) ที่ต้องการสร้างความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจนั้น ซึ่งถ้าดีอยู่แล้ว ก็ต้องดียิ่งขึ้น แต่ถ้ามี Gap (ช่องว่าง) ตรงไหน ก็เป็นหน้าที่ที่เราต้องสร้างเสริมขึ้นมา”
@พร้อมตั้งโต๊ะแถลงชี้แจงประเด็นที่สาธารณะสนใจ
เมื่อเข้ามาแล้ว มีคำถามว่า ทำอะไรไปแล้วบ้าง ดิฉันคิดว่าทุกนาทีมีค่า ถ้าเราจะสร้างความน่าเชื่อถือ เขา (สาธารณชน) ก็ควรจะรู้ความเคลื่อนไหวของเรา ว่าเราทำอะไร คนอื่นเขาอาจจะบอกว่า 90 วัน 60 วัน แต่ดิฉันเข้าสำนักงานฯ ไม่ถึง 30 วัน มีสิ่งเร่งด่วนของตัวเองที่ต้องทำ คือ การติดตามสิ่งที่เป็นประเด็นสาธารณะ
คือ ถ้าเราคิดว่าเราทำแล้ว แต่คนยังมองว่าเรายังไม่ได้ทำ ก็แปลว่าเรายังไม่ได้สร้างการรับรู้ที่ดีพอ แต่ก่อนจะไปทำให้สาธารณชนรับรู้ ตัวเองต้องรับรู้ก่อนว่า มีอะไรที่คนยังไม่รับรู้
ดังนั้น ในช่วง 2 อาทิตย์แรกที่เข้ามา ก็ได้มีการสื่อสารในสิ่งที่ทุกท่านสนใจว่า เรามีการดำเนินการอะไรไปแล้ว และสิ่งที่เราจะทำอะไรต่อ ซึ่งเรื่องที่มีการชี้แจงไปแล้ว และเป็นกรณีใหญ่ๆที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะ คือ กรณี STARK (บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น) และกรณี MORE (บมจ.มอร์ รีเทิร์น) ซึ่งความคืบหน้าในเรื่องเหล่านี้ ถ้าพูดในบริบทของสำนักงาน หรือบริบทของตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว
ดิฉันมองว่า เราได้ทำไปแล้วในระดับที่ว่า ถ้าไม่มีข้อมูลใหม่หรือมีอะไรเพิ่มเติมแล้ว ก็ถือว่าเราได้ทำหน้าที่ facilitator ไปแล้ว และส่งต่อไปหาหน่วยงานที่ต้องดำเนินการต่อ เช่น ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจากนี้ คือ เราจะมีการสื่อต่อสาธารณะว่า กระบวนการเหล่านี้มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
“ได้มีการประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ดีเอสไอ เดี๋ยวเราจะเริ่มมีการจัดแถลงถึงความคืบหน้าร่วมกัน หรือชี้แจงร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนมั่นใจว่าทุกองคาพยพ เราทำทุกอย่างแล้ว เพียงแต่บางเรื่อง เราไม่สามารถชี้แจงได้ทั้งหมด 100% โดยเฉพาะกิจกรรมที่อยู่ในกระบวนการ แต่อันไหนที่ชี้แจงได้ เราจะชี้แจงสู่สาธารณะ”
อย่างไรก็ดี ดิฉันเชื่อในเรื่องการมุ่งสู่ความโปร่งใส การเป็นองค์กรที่ดี การเป็นหน่วยงานที่ดี นั้น ต้องอาศัยการขัดเกลาจาก third party ซึ่ง third party หนึ่งก็คือ ‘สื่อ’ หรือการไปรับสิ่งที่เป็นข้อประเด็นต่างๆมาตรวจสอบ มาสอบทาน มาให้ข้อเสนอแนะ ดิฉันให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ อยากรับฟัง อยากนำเอาไปคิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่ ดีพอหรือยัง
@เน้นเรื่อง‘ป้อง-ปราม’มากขึ้น สกัดปัญหาทุจริตฉ้อฉล
ส่วนการป้องกันการทุจริตฉ้อฉลต่างๆ นั้น คนทำผิด ต้องได้รับการลงโทษและโทษต้องสาสม ซึ่งเป็นเรื่องปกติไม่ว่าในตลาดทุนหรือที่ไหนๆ ดังนั้น เราต้องทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องกระบวนการ และการบังคับใช้กฎหมายภายใต้อำนาจที่เรามีอยู่ รวมทั้งต้องมาทบทวนว่าสิ่งที่สำนักงานฯทำไปแล้วนั้น ทำเต็มที่แล้วหรือไม่
“สิ่งที่สำนักงานต้องทบทวน คือ เราทำเต็มที่แล้วหรือยัง ถ้าทบทวนแล้ว และเราค่อนข้างมั่นใจว่าเราทำเต็มที่แล้ว เราก็ต้องสื่อสารออกไป หรืออะไรเกินอำนาจเราไป เช่น ไปที่ดีเอสไอ ดีเอสไปรับเรื่องไปดำเนินการต่อ ก็ไม่ใช่ว่าเราจะเงียบ ไม่ใช่ว่าส่งแล้วก็แล้วไป เรามีหน้าที่ต้องสนับสนุนกลไกต่างๆนั้น และต้องติดตามเรื่อง
แต่คงไม่ได้ไปบอกว่า เขาต้องทำ ก. ข. เพราะเขา (ดีเอสไอ) มีหน้าที่เขาอยู่แล้ว แต่ถ้ามีจุดไหนที่เราสามารถเป็นประโยชน์ได้บ้าง เราก็ทำ ซึ่งตรงนั้นมั่นใจว่า เราทำอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้บอก หรือบอกแล้วแต่คนยังไม่มั่นใจ ซึ่งต่อไปเรานี้เราจะบอกร่วมกับคนที่รับลูกต่อจากเราเลย เพื่อจะได้เห็นการทำงานร่วมกันในเคสต่างๆ ต่อไปเราคงไม่เงียบ…”
…ดิฉันไม่ได้เป็นสายบู๊ แต่เคส (การทุจริตฉ้อฉล) เหล่านี้ สิ่งที่ดีที่สุด คือ การป้องปรามและป้องกัน ซึ่งในเรื่องการป้องกันนั้น หากพบเรื่องที่อาจจะมีการทุจริตหรือมีสิ่งที่บ่งชี้ว่าจะมีปัญหาต่างๆ เราต้องไปยกระดับเรื่องต่างๆ เช่น การยกระดับ gate keeper (ผู้ตรวจสอบภายใน บจ. และผู้สอบบัญชี เป็นต้น) และการไปดูเกณฑ์ต่างๆ ไม่ใช่ให้ทุกอย่างมาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น
ในขณะที่การ ‘ป้องปราม’ นั้น แทนที่ไฟจะลุก ถ้าเราเห็นควันก่อน เราต้องไปตรวจสอบ แล้วดูจะทำอะไรได้ไหม ซึ่งตรงนี้เป็นบทบาทของเรกกูเลเตอร์อยู่แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า วันนี้เรามีบริษัทจดทะเบียน 800 แห่ง ซึ่งถือว่าเยอะมาก และในตลาดแบบนั้น มีทั้งเด็กดี เด็กเกือบดี และเด็กที่ยังหลวมๆอยู่ เราจึงต้องไปดูในระบบเหล่านั้น
และเดี๋ยวท่านจะเห็นสิ่งเหล่านี้ คือ ป้อง ปราม และปรับ ตอนนี้เรื่อง ‘ปรับ’ เขาทำได้ดีอยู่แล้ว ส่วน ‘ป้อง’ กับ ‘ปราม’ นั้น เราต้องมานั่งดูหาสมดุล เพราะแม้บางเรื่องมีความเสี่ยงเหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ระเบียบเหมือนกันในการจัดการความเสี่ยง แต่ถ้าความเสี่ยงเหมือนกัน ผลลัพธ์ของการกำกับต้องเหมือนกัน เราจะเน้น ‘ป้อง-ปราม’ มากขึ้น”
@แก้กฎหมายกำกับ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ลดเหลื่อมล้ำ
ในด้านวิสัยทัศน์ในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล นั้น ตัวสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบัน อยู่ภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่ง พ.ร.บ.นี้จะมุ่งไปในเรื่องกำกับดูแลการระดมทุน และการลงทุน แต่เนื่องจากเราไม่อยากให้เกิดภาพความเหลื่อมล้ำกันระหว่างหลักทรัพย์ดั้งเดิมและสินทรัพย์ดิจิทัล
เราจึงอยู่ระหว่างทำกระบวนการปรับแก้กฎหมาย เพื่อทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็น investment token มาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาและกำกับอยู่ในแนวเดียวกัน แต่การแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ต้องใช้เวลา และตอนนี้กฎหมายอยู่ในชั้นการพิจารณาของกฤษฎีกา
“เราไม่ได้มองว่าต้องแก้กฎหมายเสร็จ เราถึงจะปรับ eco system ให้เหมาะสม แต่ระหว่างทางเราจะไปปรับใน พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ให้มีความชัดเจนว่า เรากังวลเรื่องอะไรบ้าง ถ้าเรากังวลเรื่อง utility token หรือ investment token เราจะไปรับฟังความคิดเห็น แล้วปรับระบบนิเวศของสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้
ไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำในการกำกับดูแล คือ มาเลี่ยงเกณฑ์แล้วทำง่ายกว่า แต่ถ้าทำตามเกณฑ์แล้วยากกว่า อย่างนี้เราไม่อยากเห็น ดังนั้น ในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อโลกในอนาคตเป็น digital economy ยังไงก็ต้องไปทางด้านดิจิทัลหรือใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมืออยู่แล้ว สำนักงานฯจึงอยากส่งเสริมภายใต้การคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม และภายใต้กฎหมาย ไม่ส่งเสริมการเก็งกำไร
โดยสรุปก็คือ กำกับดูแลตามฐานความเสี่ยง ถ้าเสี่ยงมาก เราก็กำกับเข้ม ถ้าเสี่ยงน้อย หรือเป้นสิ่งที่เราไม่กังวล เราก็ปล่อย เช่น utility coin พร้อมใช้ ซึ่งเหมือนกับการแลกไมล์อย่างนี้ เราไม่กำกับ เพราะเราไม่อยากปิดกั้น สิ่งที่เป็นพัฒนาการที่จะมีกับคนที่ใช้งาน”
@ตั้งเป้าให้ตลาดทุนเป็นแหล่งออมเงินของคนไทย
ส่วนวิสัยทัศน์และเป้าหมายการทำงานในช่วง 4 ปี ของการทำหน้าที่เลขาธิการ ก.ล.ต. นั้น บทบาทของสำนักงานฯ ไม่ว่าใครมาเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. ในขณะนี้หรืออนาคต สิ่งที่พูดมาก็ยังไม่เปลี่ยน คือ เราจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาการกำกับดูแล เพื่อทำให้ตลาดทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งระบบเศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขัน
“กิจการต่างๆนั้น ข้อจำกัดของเขา คือ เรื่องเงินที่จะนำไปทำให้การทำธุรกิจมีความยั่งยืน ดังนั้น ตลาดทุนต้องเป็นช่องทางการระดมทุน จึงต้องทำให้ตัวเล็กตัวน้อยเข้ามาได้ เข้ามาระดมทุนได้ทั้งทางตรง ทางอ้อม ด้วยโปรดักส์ที่มีความหลากหลาย ดังนั้น ไม่ว่าจะตอนนี้หรืออีก 4 ปีข้างหน้า หรือต่อเนื่องไป สำนักงานฯ อยากให้ตลาดทุนเป็นกลไกหลัก ในการทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยแข่งขันได้
ขณะเดียวกัน ตลาดทุนต้องเป็นเครื่องมือของการออม การออมระยะยาว โดยเฉพาะขณะนี้บริบทของประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เราคงไม่อยากเห็นคนแก่ที่เลี้ยงตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งแต่สวัสดิการ แต่ควรเป็นคนแก่ที่เลี้ยงตัวเองได้ จากการออมของเขา ซึ่งการออมเงินเหล่านี้ ตลาดทุนอยากจะเป็นเครื่องมือในการลงทุน ดูแลนักลงทุน มีโปรดักส์ที่ครอบคลุมตามฐานความเสี่ยง หากอายุยังน้อย ท่านก็ควรลงทุนในสิ่งที่เสี่ยงได้
และที่มีคำถามว่า ทำไมเราถึงปล่อยบางโปรดักส์ออกมา เช่น high yield bond นั้น หากดูแล้วจะพบว่า high yield bond มีสัดส่วนแค่ 10% ของตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด และตราสารหนี้ที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ อาจจะแค่ 1% ของตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด เมื่อมีความเสี่ยงสูง ก็ต้องมีผลตอบแทนที่สูงด้วย ซึ่งอาจสอดคล้องกับคนที่รับความเสี่ยงได้ และหากลงทุนเป็นพอร์ต ลงทุนแบบกระจาย ก็ลดความเสี่ยงได้มาก
ดังนั้น เรื่องของการมองในอีก 4 ปีข้างหน้าภายใต้มือของตัวเอง อันไหนที่เป็นจุดแข็งของสำนักงานฯ ก็อยากให้เขาแข็งแรงยิ่งขึ้น อันไหนที่เป็นสิ่งที่พัฒนาต่อได้ ก็อยากจะเป็นส่วนผลักดันที่สำคัญ ในการผลักให้จุดอ่อนเหล่านี้ ปิดลงไปเรื่อยๆ แต่ในแง่ของเรกกูเรเตอร์ คงทำคนเดียวไม่ได้ ตลาดใหญ่ขึ้นตลอดเวลา
เราจึงต้องได้รับความร่วมมือจากองคาพยพทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจ บริษัทจดทะเบียน และโดยส่วนตัวแล้ว จะให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน เรื่อง ESG ไม่อยากให้เป็นแค่เรื่องภาษาธุรกิจเก๋ๆเฉยๆ รวมทั้งอยากทำให้ความยั่งยืนเหล่านี้กระจายไปสู่ส่วนต่างๆของสังคม...
และเราไม่ได้อยากให้เห็นตลาดทุน มีแค่เรื่อง trust and confidence อย่างเดียว แต่เราอยากเป็นที่รักของทุกคนด้วย ไม่อยากให้ตลาดทุนเป็นเรื่องของคนรวย คนรวยเล่นหุ้น คนจนเล่นหวย ไม่อยากเป็นอย่างนั้น อยากเห็นตลาดทุนเป็นที่พึ่ง เป็นกลไกหลักในการทำให้ประเทศไปสู่การมีความสามารถในการแข่งขัน
เราอยากให้ประชาชนคนไทยใช้ประโยชน์ตลาดทุนได้ แต่ไม่ได้หมายถึงมาเล่นหุ้น มาเล่นสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ทำอย่างไรที่ทำให้การเติบโตของตลาดหุ้น ไปเสริมเรื่อง financial well-being (สุขภาวะทางการเงิน) ของคนให้ดีขึ้น ซึ่งขณะนี้เขา (ก.ล.ต.) ทำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่อยากเห็น คือ ภาพเหล่านี้ชัดเจนมากขึ้น”
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียวแต่งตั้ง ‘รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล’ นั่งเก้าอี้ ‘เลขาธิการ ก.ล.ต.’คนใหม่
กลุ่ม‘ผอ.’ก.ล.ต.ส่งอีเมล์ถึง‘พนง.’ให้เชื่อมั่นองค์กร-‘โฆษก’แจงไม่เกี่ยวปมสรรหาเลขาฯ
อ้าง‘ปธ.-กก.’มีส่วนได้เสีย-กลั่นแกล้ง! เปิดคำฟ้อง‘รื่นวดี’ปมสรรหา‘เลขาธิการ ก.ล.ต.’ขัดกม.
มีส่วนได้เสีย-เป็นปฏิปักษ์!'รื่นวดี'ฟ้อง'ประธาน ก.ล.ต.'ต่อ'ศาลปค.'ปมเลือก‘เลขาธิการ’ขัดกม.
การคัดเลือก เลขาธิการ ก.ล.ต.อย่าปิดประตูตีแมว?
เปิดยื่นใบสมัครชิงเก้าอี้‘เลขาธิการ ก.ล.ต.’ 7-27 ก.พ.นี้ หลัง‘บอร์ด’ไม่ต่ออายุ‘รื่นวดี’