“…ด้วยไม่อาจจะเชื่อมั่นได้อย่างแน่แท้ว่าบุคคลผู้มีส่วนได้เสียซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธาน ก.ล.ต. รวมทั้งกรรมการบางส่วน จะไม่นำเอาอคติหรือข้อบาดหมางส่วนตัว หรือข้อพิพาทอันเกิดจากการทำหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี (รื่นวดี) มาปะปนและพิจารณาลงมติหรือมีความเห็นใดๆ ที่เป็นไปในทางทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิ หรือกลั่นแกล้งเพื่อปิดช่อง หรือสร้างเงื่อนไขมิให้ผู้ฟ้องคดีสามารถกลับเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.ได้อีกวาระหนึ่ง…”
...................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2566 รื่นวดี สุวรรณมงคล อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้องสำนักงาน ก.ล.ต. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และ พิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครองกลาง
ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ
กรณีการพิจารณารายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีส่วนได้เสียและมีความเป็นปฏิปักษ์กับผู้ฟ้องคดี (น.ส.รื่นวดี) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ถอนตัวหรืองดเข้าประชุม เพื่อลงมติในวาระเลือกเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ทำให้ผลการคัดเลือกไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางรับคดีดังกล่าวไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ บ.181/2566 และล่าสุดศาลฯได้แต่งตั้งตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว นั้น (อ่านประกอบ : มีส่วนได้เสีย-เป็นปฏิปักษ์!'รื่นวดี'ฟ้อง'ประธาน ก.ล.ต.'ต่อ'ศาลปค.'ปมเลือก‘เลขาธิการ’ขัดกม.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญคำฟ้องของ รื่นวดี (ผู้ฟ้องคดี) ที่ยื่นฟ้องสำนักงาน ก.ล.ต. และประธาน ก.ล.ต. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ2) ต่อศาลปกครองกลาง มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@อ้าง‘ประธาน ก.ล.ต.’ มีส่วนได้เสีย กรณีไม่ต่อวาระ‘เลขาธิการฯ’
คดีนี้ ผู้ฟ้องคดี (รื่นวดี) เป็นผู้สมัครเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเข้ารับการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 4 ปี (ปี 2566-2570) โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สำนักงาน ก.ล.ต.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการในการประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.
ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ประธาน ก.ล.ต.) มีอำนาจหน้าที่ในฐานะ ‘ประธานกรรมการ’ ตามนัยข้อ 11 ของแนวปฏิบัติในการสรรหา พิจารณา และคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งมีหน้าที่ลงนามในข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.
เพื่อแจ้งรายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็น เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. จำนวนไม่เกิน 2 คน โดยไม่ระบุคะแนนและไม่เรียงลำดับคะแนน เพื่อนำส่งให้ รมว.คลัง นำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.
ในช่วงประมาณเดือน ธ.ค.2565 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 16/2565 ได้มีมติให้เปิดสรรหาเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นการทั่วไป แทนการใช้วิธีการต่อ/ขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้ฟ้องคดี (รื่นวดี) ออกไปอีกวาระหนึ่ง และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีรับทราบมติดังกล่าวในวันที่ 28 ธ.ค.2565
ภายหลังได้รับหนังสือแล้ว ผู้ฟ้องคดี พิจารณาแล้วเห็นว่า มติดังกล่าวไม่เป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดี
เนื่องจากผู้ฟ้องคดี มีคุณสมบัติในประการที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะมีสิทธิได้รับการขยายอายุการทำงานได้อีกวาระหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่จะต้องสอบถามความประสงค์ของผู้ฟ้องคดี ในฐานะเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ว่า มีความประสงค์จะดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอีกวาระหรือไม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องสรรหาบุคคลภายนอก เพื่อเข้ามาเป็นผู้มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อ รมว.คลัง
แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 (สำนักงาน ก.ล.ต. และประธาน ก.ล.ต.) ไม่ได้จัดให้ผู้ฟ้องคดีแสดงความจำนงค์หรือความประสงค์ในการดำรงตำแหน่งต่ออีกวาระหนึ่งแต่อย่างใด
อีกทั้งผู้ฟ้องคดี (รื่นวดี) ได้มีการโต้แย้งถึงความเป็นกลางของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ประธาน ก.ล.ต.) เนื่องจากภรรยาของผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ถูกฟ้องที่ 2 นั้น เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท เอเชียเวลท์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งถือหุ้นอยู่ในบริษัทหลักทรัพย์ เอเชียเวลท์ จำกัด
โดยบริษัทดังกล่าว (บล.เอเชียเวลท์) อยู่ระหว่างที่ผู้ฟ้องคดี (รื่นวดี) กำลังดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกรณีกระทำผิดต่อกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ จึงทำให้เกิดความเคลือบแคลงในความเป็นกลางและความเป็นธรรมต่อการพิจารณาลงมติเลือกใช้วิธีการสรรหาเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นการทั่วไป
ขณะเดียวกัน มติ ก.ล.ต. ดังกล่าว เป็นการดำเนินกระบวนการวิธีประชุมที่ ‘ขัดหรือแย้ง’ ต่อ มาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ
เพราะก่อนการมติดังกล่าว ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ย่อมอยู่ในวิสัยที่ควรรู้หรือรู้ได้อยู่ก่อนแล้วว่า ตนเองอยู่ในสถานะของผู้มีส่วนได้เสีย อันอาจนำมาซึ่งการพิจารณาลงมติในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งของผู้ฟ้องคดี (รื่นวดี) เสียความเป็นธรรมไป
ในขณะที่ในเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 16/2565 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2565 วาระที่ 3.2 เรื่อง กระบวรการสรรหาเลขาธิการ (ลับ) ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ประธาน ก.ล.ต.) ส่งมาให้แก่ผู้ฟ้องคดี (รื่นวดี) พบว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมเรื่องดังกล่าว
ไม่ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 หรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่มีส่วนได้เสียหรืออาจมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. จะได้มีการแจ้งต่อที่ประชุมดังกล่าว เพื่อขอถอนตัวออกจากการประชุมในวาระพิจารณานี้ ตามนัยมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ แต่อย่างใด
@เชื่อเป็นการลงมติที่ ‘บิดเบือน-เป็นปฏิปักษ์’กับผู้ฟ้องคดี
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณารายงานการประชุมดังกล่าว ปรากฏว่า ประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และคณะกรรมการ ก.ล.ต. บางส่วน มีความพยายามที่จะอาศัยวิธีการเพื่อจัดให้มีการสรรหาบุคคลเป็นการทั่วไป แทนที่จะพิจารณาสอบถามความสมัครใจไปยังผู้ฟ้องคดี (รื่นวดี) เสียให้ได้
“…ตามข้อมูลที่ปรากฎในรายงานการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต.ครั้งที่ 16/2565 ดังกล่าว เมื่อฝ่ายคณะอนุกรรมการได้มีการนำเสนอข้อมูล และแนวทางการพิจารณาสรรหาเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต.แล้วนั้น
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และในฐานประธานที่ประชุมโดยตำแหน่ง ได้เปิดโอกาสให้ที่ประชุมได้มีการอภิปราย โดยมีรายละเอียดการอภิปรายมีการโต้แย้งถึงแนวทางการพิจารณาสรรหาเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 ยังคงเสนอให้ใช้รูปแบบการพิจรณาสอบถามความสมัครใจของเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. (ตามรูปแบบที่ 1) และกลุ่มที่ 2 เสนอโน้มน้าวอภิปรายให้เลือกวิธีการที่ 2 คือ การเปิดสรรหาเป็นการทั่วไป โดยในการประชุมวาระดังกล่าวเป็นประเด็นเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ฟ้องคดี (รื่นวดี)
และข้อเท็จจริงปรากฎว่า มีกลุ่มของคณะกรรมการ ก.ล.ต.ที่มีส่วนได้เสียจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี ในฐานะเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. นั่งประชุม ร่วมอภิปราย และร่วมลงมติอยู่ตลอดระยะเวลาของการประชุม จนกระทั่งมีการออกเสียงลงคะแนน อันหมายรวมไปถึงประธาน ก.ล.ต. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ซึ่งขัดแย้งกับหลักธรรมาภิบาล ไม่เป็นไปตามหลักคุณธรรม
และขัดแย้งกับความในมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 อย่างชัดแจ้ง อันอาจนำไปสู่การลงมติที่บิดเบือนและเป็นปฏิปักษ์กับผู้ฟ้องคดี ด้วยไม่อาจจะเชื่อมั่นได้อย่างแน่แท้ว่าบุคคลผู้มีส่วนได้เสียซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธาน ก.ล.ต. รวมทั้งกรรมการบางส่วน
จะไม่นำเอาอคติหรือข้อบาดหมางส่วนตัว หรือข้อพิพาทอันเกิดจากการทำหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี (รื่นวดี) มาปะปนและพิจารณาลงมติหรือมีความเห็นใดๆ ที่เป็นไปในทางทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิ หรือกลั่นแกล้งเพื่อปิดช่อง หรือสร้างเงื่อนไขมิให้ผู้ฟ้องคดีสามารถกลับเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.ได้อีกวาระหนึ่ง
ตามสิทธิและตามผลงานที่เกิดขึ้นในหัวงระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง 4 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งธรรมเนียมแนวปฏิบัติของสำนักงาน ก.ล.ต. เหมือนเช่นกรณีของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล หรือกรณีของนายรพี สุจริตกุล อดีตเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. และเพื่อสร้างช่องทางเพื่อให้พวกพ้องของตนเองหรือบุคคลภายนอกอื่นใด สามารถมีสิทธิได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งการดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนให้จงได้
เพราะหากสามารถใช้แนวทางการสรรหาเลขาธิการเป็นการทั่วไป (ตามรูปแบบที่ 3) แม้จะไม่ปิดกั้นหรือตัดสิทธิให้ผู้ฟ้องคดีในการที่จะสามารถยื่นเอกสารสมัครเข้ารับการคัดเลือกดังกล่าวได้
แต่กระบวนการดังกล่าวก็ยังมีเกณฑ์การประเมิน และจะต้องได้รับการพิจารณาจัดลำดับคะแนนจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นการพิจารณาตามดุลพินิจหรือความเห็นส่วนตนของคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยไม่มีกฎเกณฑ์หรือแนวทางการประเมินที่แน่นอนชัดเจนอ้างอิงได้ อันอาจนำมาซึ่งการคัดเลือกตามอำเภอใจของตนได้โดยง่าย..."
"...ยิ่งกว่านั้น ตามข้อมูลในรายงานการประชุมครั้งดังกล่าว ยังปรากฎข้อมูลว่า ในการดำเนินการแต่ละขั้นตอนก่อนที่จะมีการกำหนดวิธีการในการสรรหาเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ปรากฎว่า ประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้มีโอกาสและเข้าไปข้องเกี่ยวต่อการดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ/คณะทำงาน/ฝ่ายเลขานุการ ขั้นตอนการตระเตรียมข้อมูลหรือแนวทางการนำเสนออีกประการหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ บรรดาคณะอนุกรรมการฯหรือคณะกรรมการที่ได้รับการมอบหมายให้ดำเนินการในเรื่องนี้ ยังได้รับคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการดำเนินการ ซึ่งกรรมการ ก.ล.ต.หลายราย ต่างมีอคติหรือข้อที่ เป็นปฏิปักษ์กับการทำหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีอยู่เช่นกัน
กรณีจึงทำให้แม้จะมีการแต่งตั้งคณะบุคคลหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ เข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้มากเท่าใดก็ตาม ก็หาได้ทำให้กระบวนการในการดำเนินการตามคำฟ้องคดีเรื่องนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือโปร่งใสเป็นธรรมไปได้…”
“…ยิ่งกว่านั้น ยังปรากฏอีกว่าภายหลังจากที่มีการลงมติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 16/2565 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2565 คณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตามข้อ 3 ของแนวปฏิบัติฯ เพื่อทำหน้าที่สอบทานคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม รวมทั้งพิจารณาความเหมาะสมในเบื้องต้น
แต่คณะอนุกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าว ก็หาได้ปฏิบัติงานอย่างอิสระ ปราศจากการควบคุมโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และบรรดาคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่มีส่วนได้เสียกับผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใดไม่
เพราะคณะอนุกรรมการดังกล่าวยังคงต้องปฏิบัติงานตามข้อสังเกตและการกำกับของกลุ่มบุคคลดังกล่าวอยู่เช่นเดิม และต่างเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. ฉะนั้น การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าวจึงเป็นเพียงพิธีการ เพื่อให้แลดูเสมือนว่ามีการดำเนินการที่โปร่งใสเป็นธรรมและมีการถ่วงดุลโดยคณะบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น” ส่วนหนึ่งของคำฟ้องระบุ
@ชี้ช่องพฤติการณ์ ‘กรรมการ ก.ล.ต.’ บางราย ส่งผลต่อการลงมติ
ทั้งนี้ หลังจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติในวาระ 3.2 เรื่อง กระบวนการสรรหาเลขาธิการ (ลับ) ในการประชุมครั้งที่ 16/2565 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2565 แล้ว
ในวันที่ 30 ธ.ค.2565 ผู้ฟ้องคดี (รื่นวดี) ได้ทำหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ประธาน ก.ล.ต.) เพื่อสอบถามเหตุผลของมติ และข้อสังเกตที่อาจเข้าข่ายมาตรา 16 แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เพื่อขอสอบถามถึงความชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งมติดังกล่าวเป็นเอกฉันท์หรือไม่ อย่างไร
ต่อมาในวันที่ 5 ม.ค.2566 ผู้ฟ้องคดี (รื่นวดี) ได้ทำหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพิ่มเติม เพื่อชี้ช่องถึงพฤติการณ์อันอาจส่งผลให้การลงมติในการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 16/2565 เสียความเป็นธรรม ในส่วนของ นายพรชัย ชุณหจินดา กรรมการ ก.ล.ต.
เนื่องจาก สำนักงาน ก.ล.ต. โดยผู้ฟ้องคดี ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับกรณีการขายหุ้นบริษัท ผลธัญญะ จำกัด (มหาชน) และใบสำคัญแสดงสิทธิหุ้นสามัญโดยรู้และครอบครองข้อมูลภายใน เปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่นตามข่าว กลต. ฉบับที่ 130/2564 ลงวันที่ 9 ก.ค.2564
จากนั้นในวันที่ 11 ม.ค.2566 ผู้ฟ้องคดี ได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยแจ้งว่า 1) กรณีการทักท้วงผลการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดี ที่กรรมการ ก..ต. บางราย ประกอบด้วย 1.นายสุภัค ศิวะรักษ์ 2.นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค มีความเห็นประเมินผลงานของผู้ฟ้องคดีในปี 2562 ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นโดยไม่มีเหตุผล
และ2) กรณีของการมีหนังสือไปถึงกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ลงวันที่ 16 ธ.ค.2565 และวันที่ 6 ม.ค.2566 ปรากฎข้อเท็จจริงว่าในการประชุมของบริษัทดังกล่าว เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2556 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ประธาน ก.ล.ต.) ได้ร่วมประชุมและทำหน้าที่ประธานที่ประชุมให้แก่บริษัทดังกล่าวด้วย กรณีเช่นว่านี้ ก่อให้เกิดความไม่เป็นกลางและเป็นปฏิปักษ์แก่ผู้พ้องคดีหรือไม่
@‘ประธานฯ’แจงสรรหา‘เลขาธิการฯ’เป็นการทั่วไปเพื่อให้โปร่งใส
ต่อมาวันที่ 20 ม.ค.2566 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ประธาน ก.ล.ต.) ได้มีหนังสือมายังผู้ฟ้องคดี (รื่นวดี) แจ้งว่า กรณีตามหนังสือสอบถามของผู้ฟ้องคดีกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ก.ล.ต. เนื่องจากเป็นประเด็นข้อกฎหมายและเป็นปัญหาสำคัญ จำเป็นจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อธรรมาภิบาลองค์กร และส่วนใหญ่คณะกรรมการ ก.ล.ต. มิใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย
กระทั่งวันที่ 6 ก.พ.2566 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566 ได้พิจารณาข้อสังเกตและข้อสอบถามแล้ว ขอแจ้งดังนี้
1.คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติให้เปิดสรรหาเลขาธิการเป็นการทั่วไป ตามมติ ก.ล.ต. 16/2565 เนื่องจากเป็นขั้นตอนดำเนินการที่โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ตลอดจนสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล
2.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อสอบถามและการขอข้อมูลของผู้ฟ้องคดี เพื่อมีให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในกระบวนการเปิดสรรหาเลขาธิการเป็นทั่วไป ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการ คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นควรเปิดเผยข้อมูลตามที่ร้องขอหลังจากกระบวนการดังกล่าวเสร็จสิ้น
อย่างไรก็ดี ผู้ฟ้องคดี (รื่นวดี) เห็นว่าคำชี้แจงหรือคำตอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ประธาน ก.ล.ต.) ไม่ได้สร้างความกระจ่างให้แก่ผู้ฟ้องคดีต่อความเคลือบแคลงในข้อสงสัยในความเป็นกลาง ในการลงมติกำหนดวิธีการสรรหาเลขาธิการ ก.ล.ต.แต่อย่างใด จึงได้มีหนังสือถึง รมว.คลัง ลงวันที่ 8 ก.พ.2566 เพื่อขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับมติ ก.ล.ต.
@ท้วงติงความเป็นกลาง ‘ปธ.-กรรมการ’ ในการสรรหาเลขาธิการฯ
ต่อมาผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ระยะเวลาได้ล่วงเลยไปแล้ว แต่กลับไม่มีความชัดเจนในเรื่องข้อกังวลสงสัยใดๆ ดังนั้น เพื่อรักษาสิทธิของตนในการที่จะเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็นผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ในวาระปี 2566-2570 จึงได้ยื่นใบสมัครฯเพื่อเข้าร่วมกระบวนการสรรหาเลขาธิการ ก.ล.ต.และต่อมาผู้ฟ้องคดีได้รับทราบข่าวสารในสื่อสังคมทั่วไปว่า มีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกในเรื่องดังกล่าว 5 คน
จากนั้นในวันที่ 27 ก.พ.2566 ผู้ฟ้องคดี (รื่นวดี) ได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อท้วงติงเกี่ยวกับความเป็นกลางการสรรหาเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. โดยสรุปพฤตการณ์ของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่มีส่วนได้เสีย รวมทั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 รวม 4 คน สรุปใจความว่า
1) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 : บุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ประธาน ก.ล.ต.) ได้มีการทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมของบริษัทหลักทรัพย์ เอเชียเวลท์ จำกัด ซึ่งบริษัทดังกล่าวและบริษัท เอเชียเวลท์ โฮลดิ้ง จำกัด อยู่ระหว่างการดำเนินคดีโดยสำนักงาน ก.ล.ต.
2) กรณีของนายพรชัย ชุณหจินดา : กรณีสำนักงาน ก.ล.ต. มีมติลงโทษทางแพ่งกับผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 11 ราย กรณีขายหุ้น บริษัท ผลธัญญะ จำกัด (มหาชน) และใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญโดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน เปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น โดยบุคคล 11 ราย มีรายนายพรศักดิ์ฯ นางศิริภรณ์ฯ และนางสาวสวณีฯ ซึ่งเป็นพี่น้องกับนายพรชัยฯ และกรณีของนางเสาวนีย์ฯ ซึ่งเป็นภรรยาของนายพรศักดิ์ฯ
3.) กรณีของนายสุภัค ศิวะรักษ์ และนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค : โดยกรรมการ ก.ล.ต.ทั้งสองรายดังกล่าวมีข้อโต้แย้งกับผู้ฟ้องคดีเรื่องคะแนนการประเมินผลงานของผู้ฟ้องคดีในปี พ.ศ.2562 ต่ำกว่าที่ประเมินตนเองโดยไม่ได้มีการขี้แจงเหตุผลและเกณฑ์การพิจารณา โดยมีการทักท้วงเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.2563
แต่กลับปรากฏว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหา ไม่ได้ชี้แจงหรือสร้างความกระจ่างในข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อครหาในการมีส่วนได้ส่วนเสียแต่อย่างใด มิหนำซ้ำผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ประธาน ก.ล.ต.) และกรรมการ ก.ล.ต. ที่มีส่วนได้เสีย ยังคงปฏิบัติหน้าที่โดยการเข้าร่วมประชุมและลงมติ
ตลอดจนพิจารณาคะแนนและประเมินตัวผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกในขั้นตอนการสรรหาเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่เช่นเดิมทุกขั้นตอน อันขัดแย้งกับหลักธรรมภิบาล รวมทั้งไม่แม้แต่จะแจ้งเหตุแห่งการมีส่วนได้เสียต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต.อีกด้วย
ต่อมาในช่วงต้นเดือน เม.ย.2566 ผู้ฟ้องคดี (รื่นวดี) ได้รับทราบจากข่าวสารแพร่หลายจากสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในทำนองว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าเป็นบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.ต่อ รมว.คลัง โดยทันทีที่ได้รับข่าวสารดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบอย่างกว้างขวาง นำมาซึ่งความเสียหายแก่ชื่อเสียงของผู้ฟ้องคดีอย่างมาก
ผู้ฟ้องคดี จึงได้ติดต่อขอรับเอกสารสำคัญจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 (สำนักงาน ก.ล.ต. และประธาน ก.ล.ต.) โดยตลอด แต่กลับถูกบ่ายเบี่ยงและปฏิเสธการมอบเอกสารสำคัญ ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจดำเนินการตรวจสอบหรือโต้แย้งการใช้อำนาจหรือดุลพินิจหรือตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้
@ขอศาลฯสั่งเพิกถอนผลการคัดเลือก ‘เลขาธิการ ก.ล.ต.’
คำขอท้ายฟ้อง
ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล ตามที่ผู้ฟ้องคดีได้กราบเรียนมาทั้งหมดข้างต้น ผู้ฟ้องคดีจึงมีความประสงค์ขอศาลที่เคารพได้โปรดมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังต่อไปนี้
1) ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนผลการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2566 ซึ่งลงชื่อโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่เสนอต่อ รมว.คลัง เพื่อพิจารณานำเสนอต่อ ครม.เพื่อแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ในช่วงเดือน เม.ย.2566
2) ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการสอบถามความสมัครใจของผู้พ้องคดีในการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อไปอีกวาระหนึ่ง ตามแนวปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.ล.ต.เหมือนเช่นกรณีที่เคยดำเนินการผ่านมาในการกระบวนการขั้นตอนการสรรหาเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. โดยมีกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีจะต้องดำเนินการตอบรับหรือแจ้งความประสงค์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
3) ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ดำเนินการนำเสนอบรรดาเอกสารและใบสมัครของผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกทั้งหมด เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ดำเนินการพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติ, พิจารณาให้คะแนน, จัดลำดับคะแนนแก่บรรดาผู้สมัครที่ยื่นใบสมัครตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใหม่ทั้งหมด
ตลอดจนพิจารณากำหนดรายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. โดยให้พิจารณาถึงคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ ผลงาน ตลอดจนประสบการณ์ของบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการซึ่งมีการเปิดรับสมัครในช่วงระหว่างวันที่ 7 ถึงวันที่ 27 ก.พ.2566
โดยให้ยึดตามแนวปฏิบัติในการสรรหา พิจารณา และคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ลงวันที่ 10 ส.ค.2561 ตามบทบัญญัติของมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
และตามประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต. เรื่อง รับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกเป็นบุคคลที่ สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ประกาศรับสมัครตั้งแต่วันที่ 7 ถึง 27 ก.พ.2566 รวมทั้งตามระเบียบ/กฎเกณฑ์/แนวทาง/ธรรมนียมปฏิบัติหรือแนวปฏิบัติของสำนักงาน/วิธีการใดๆที่เกี่ยวข้องตลอดจนพิจารณาตามหลักคุณธรรม
เหล่านี้เป็นสรุปสาระสำคัญเอกสารคำฟ้องของ รื่นวดี สุวรรณมงคล อดีตเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ยื่นฟ้องสำนักงาน ก.ล.ต. และประธาน ก.ล.ต. ในกรณีการสรรหาเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. คนใหม่ไปเมื่อเร็วๆนี้!
อ่านประกอบ :
มีส่วนได้เสีย-เป็นปฏิปักษ์!'รื่นวดี'ฟ้อง'ประธาน ก.ล.ต.'ต่อ'ศาลปค.'ปมเลือก‘เลขาธิการ’ขัดกม.
การคัดเลือก เลขาธิการ ก.ล.ต.อย่าปิดประตูตีแมว?
เปิดยื่นใบสมัครชิงเก้าอี้‘เลขาธิการ ก.ล.ต.’ 7-27 ก.พ.นี้ หลัง‘บอร์ด’ไม่ต่ออายุ‘รื่นวดี’