"...การปกปิดไม่ยอมให้สาธารณชนรับรู้ว่า มีใครมาสมัครเข้ารับการคัดเลือกบ้าง อาจทำให้คณะกรรมการใช้วิธีการ ‘ปิดประตูตีแมว’ เลือกพรรคพวกหรือคนใกล้ชิดตนเองโดยมิได้คำนึงถึงความรู้ความสามารรถ เพราะไม่มีใครรู้ว่า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับผู้ที่ถูกคัดออก..."
การคัดเลือกเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)แทน น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล ที่กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 30 เมษายนนี้ เป็นที่จับตาอย่างมากในแวดวงตลาดทุน
เพราะกระแสข่าวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่าง น.ส.รื่นวดีกับกรรมการ ก.ล.ต.บางคน จนคณะกรรมการมีมติด้วยเสียง 6 ต่อ 4 ไม่ต่อวาระการดำรงตำแหน่งของ น.ส.รื่นวดี อีกวาระหนึ่ง
ในการเปิดรับสมัคร เลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ คณะกรรมการ ก.ล.ต.กำหนดระยะเวลา 7- 27 กุมภาพันธ์ 2566
แต่หลังจากปิดรับสมัครแล้ว สาธารณชน ไม่ทราบว่า มีใคร จำนวนกี่คนไปสมัครเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเลขาธิการ ก.ล.ต.บ้าง ในจำนวนนี้มี น.ส.รื่นวดีรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ไม่มีใครยืนยันได้
ผู้เขียนพยายามสอบถามเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.และคนในแวดวงตลาดทุนว่า ที่ผ่านมาในการเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็น เลขาธิการ ก.ล.ต.ที่ผ่านมา เคยประกาศรายชื่อผู้สมัครให้สาธารณชนทราบอย่างเป็นทางการหรือไม่ ได้รับแจ้งว่า ไม่เคยมีประกาศใดๆ หรือไม่เคยเห็นข่าวเรื่องนี้แต่อย่างใด
นับเป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะเลขาธิการ ก.ล.ต.เป็นตำแหน่งที่สำคัญ ประชาชนควรมีสิทธิรับรู้ว่า ผู้ที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกมีใครบ้าง มีประวัติการทำงาน มีความรู้ความสามารถแค่ไหน มีผลงานเป็นที่ยอมรับ รวมถึงมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่
การปกปิดไม่ยอมให้สาธารณชนรับรู้ว่า มีใครมาสมัครเข้ารับการคัดเลือกบ้าง อาจทำให้คณะกรรมการใช้วิธีการ ‘ปิดประตูตีแมว’ เลือกพรรคพวกหรือคนใกล้ชิดตนเองโดยมิได้คำนึงถึงความรู้ความสามารรถ เพราะไม่มีใครรู้ว่า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับผู้ที่ถูกคัดออก
แม้ที่ผ่านมาไม่เคยมีการประกาศรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต.มาก่อนก็ตาม แต่ก็ไม่มีข้อห้ามใดๆที่จะคณะกรรมการจะประกาศรายชื่อผู้สมัครต่อสาธารณะ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในกระบวนการคัดเลือก ไม่ใช่งุบงิบทำกันอย่างเงียบๆ
ในการสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญนั้นมีการประกาศรายชื่อผู้สมัครให้สาธารณชนได้รับทราบมาตลอด แม้กระบวนการสรรหาอาจมีการตั้งคำถามอยู่บ้างก็ตาม ซึ่งสุดท้ายปลายทางก็จะเห็นว่า ผู้ที่ได้รับการสรรหาเมื่อเทียบกับผู้สมัครอื่นแล้วขี้ริ้วขี้เหร่หรือไม่
การคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต.นั้นควรเน้นในด้านเนื้อหาคือคุณสมบัติของผู้สมัคร กับกระบวนการที่โปร่งใส
ด้านคุณสมบัติ มีการส่งข้อความเรียกร้องว่า ผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกต้องมีคุณลักษณะ ดังนี้
1. วิสัยทัศน์และความรู้ความสามารถ
มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนที่จะส่งเสริม พัฒนา และกำกับดูแลตลาดทุนในยุคที่เต็มไปด้วยความท้าทายจากปัญหา โอกาส และความเสี่ยงใหม่ ๆ ให้ตลาดทุนสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการรวบรวมจัดสรรติดตามการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับภาคประชาชน สามารถรองรับและใช้ประโยชน์จากพัฒนาการทางเทคโนโลยี มีผู้ให้บริการที่มีประสิทธิภาพและแข่งขันได้ ไม่สร้างอุปสรรคที่ไม่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ
รู้จริง มีความรู้ความเข้าใจในระบบตลาดทุน ความเชื่อมโยงของตลาดทุนกับภาคการเงินอื่น ๆ และระบบเศรษฐกิจ สนใจเรียนรู้ ตั้งใจรับฟังที่ประชุมเพื่อเรียนรู้ ให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระมากกว่ารูปแบบ (substance over form)
งาน ก.ล.ต. มีทั้งด้านกำกับและพัฒนา และเข้าใจบทบาทด้านพัฒนาของ ก.ล.ต. ว่า หมายถึงการสร้างกรอบกติกาที่ชัดเจน forward looking และเอื้ออำนวยต่อการสร้างผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบ ไม่ใช่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแทนเอกชน
2. ความร่วมมือกับผู้อื่น
ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนได้ด้วยดี สร้างพันธมิตร มองหน่วยงานอื่นเป็นพันธมิตร ไม่ใช่คู่แข่ง จูงใจให้เอกชนมีบทบาทในการร่วมสร้างมาตรฐานที่ดีในธุรกิจที่ทำ ไม่มองเอกชนในทางร้าย เปิดใจรับฟังเหตุผลทางธุรกิจ เปิดพื้นที่ให้เอกชนได้สร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์กับตลาดทุน
3. ความซื่อตรงและจริยธรรม
ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรง ไม่เห็นแก่พวกพ้อง ไม่หาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง ถือปฏิบัติกับทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม เท่าเทียมกัน ไม่มีสองมาตรฐาน
ตีความกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม และได้สัดส่วน
เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ทำงานโดยหวังผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าอยากได้หน้า
มีความกล้าหาญ กล้าที่จะตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยคำนึงถึงบริบทรอบด้าน ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ให้ความจริงครบทุกด้าน ไม่ปกปิดข้อมูลหรือพูดความจริงเพียงครึ่งเดียวเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจผิด
4. การบริหารงานภายในองค์กร
เข้าใจหลักการ governance ทำงานร่วมกับคณะกรรมการได้อย่างราบรื่น เปิดใจรับฟังข้อเสนอแนะ เข้าใจว่า เรื่องไหนเป็นเรื่องนโยบายที่ควรหารือคณะกรรมการ เคารพและให้เกียรติผู้อื่น
เห็นความสำคัญของทรัพยากรบุคคล ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน ไม่เล่นพรรคเล่นพวก พิจารณาผลงานหรือการเลื่อนตำแหน่งด้วยความเป็นธรรม
ให้ความสำคัญกับการบริหารงานองค์กร การสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีที่พนักงานทุกคนร่วมมือร่วมใจทำงานอย่างเต็มความสามารถ กล้าที่จะเสนอความคิดเห็นใหม่ ๆ เป็นแบบอย่างขององค์กรที่มีธรรมาภิบาลที่ดี
ด้านกระบวนการคัดเลือก ต้องโปร่งใสและเป็นธรรม
จากประกาศของคณะกรรมการกำหนดวิธีการเปิดรับรายชื่อที่เข้ารับการคัดเลือกไว้ 2 วิธี
(1) การเปิดรับสมัครเป็นการทั่วไปตามประกาศนี้
และ (2) การเสนอชื่อโดยกรรมการ ก.ล.ต. โดยแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อไม่เกินคนละ 1 รายชื่อ
ตรงนี้มีข้อน่าสังเกตุว่า การเสนอชื่อโดยคณะกรรมการฯตามวิธีที่ 2 อาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้รับสมัครทั่วไปเพราะ กรรมการฯผู้เสนอชื่อย่อมมีอคติกับบุคคลที่ตนเองเสนอ ทำให้ได้เปรียบ
คำถามคือ กรรมการฯที่เสนอชื่อสามารถโหวตเสียงให้กับผู้ที่ตนเองเสนอด้วยหรือไม่ ถ้าโหวตได้อาจขัดต่อ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้
ในการพิจารณาคัดเลือกจะมีการปต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาสอบทานคุณสมบัติและข้อมูลเพิ่มเติม
คำถามคือ ไม่มีการประกาศรายชื่อของคณะอนุกรรมการฯที่จะตั้งขึ้นให้สาธารณชนได้รับทราบซึ่งอาจไม่เป็นธรรมกับผู้สมัคร เพราะผู้สมัครไม่มีทางทราบได้เลยว่า กรรมการในอนุกรรมการฯรายใดเคยมีปัญหากับตนเองหรือไม่
นอกจากตัวเลขาธิการ ก.ล.ต.ที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ตัวคณะกรรมการ ก.ล.ต.เองซึ่งเป็นผู้คัดเลือกก็ต้องไม่มีมลทินเป็นที่ครหานินทาด้วย
แต่เรื่องแบบนี้คงเรียกร้อง ‘จิตสำนึก’กันยากเพราะ ‘จิตเดิมแท้’ มักอยู่เหนือกว่าเสมอ