"...เราก็ดูว่าผู้ถือหุ้นนั้นไม่ใช่คนเดียวกัน ไม่มีความสัมพันธ์กัน แล้วการจัดจ้างก็เป็นไปตามอำนาจกฎหมาย แต่ว่าที่นำเสนอไปมันนอกเหนืออำนาจกฎหมายที่ให้อำนาจเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ผู้ตรวจสอบบัญชี หรือใช้ผู้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามันเป็นเรื่องที่นอกเหนืออำนาจเราในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง..."
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบเชิงลึกงานจัดซื้อจัดจ้างโครงการที่เกี่ยวข้องกับการกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต ของ กรมการค้าภายใน จำนวน 1 โครงการ ที่มีการประกาศผลในช่วงเดือนก.ค.2566 คือ งานจ้างจัดกิจกรรมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายสินค้าผลไม้ Trade Promotion และเชื่อมโยงการกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต โดยวิธีคัดเลือก ที่ปรากฏชื่อ บริษัท เอ็มที ฟรุ๊ตแลนด์ จำกัด เป็นผู้ชนะ วงเงิน 45,980,000 บาท หลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณภาครัฐ ในช่วงระหว่างรอเปลี่ยนผ่านรัฐบาลชุดใหม่ จำนวนหลายสัญญา รวมวงเงินกว่า 200 ล้านบาท
พบข้อมูลว่า บริษัท เอ็มที ฟรุ๊ตแลนด์ จำกัด ผู้ชนะ และ บริษัท มาตาเทรดดิ้ง จำกัด คู่เทียบ ที่เข้าร่วมการประกวดราคางานโครงการฯ นี้ แจ้งข้อมูลแบบนำส่งงบการเงิน แบบ ส.บช.3 ที่นำส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในช่วงเดือนพ.ค.2566 เหมือนกันทั้งในส่วนของเบอร์โทรศัพท์ อีเมล และสำนักงานบัญชี นอกจากนี้กรรมการและผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัท ยังใช้นามสกุลเดียวกัน รวมถึงผู้รับมอบอำนาจ-พยาน ติดต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย
- ช่วงเปลี่ยน รบ.ใหม่! กรมฯ ค้าภายใน ใช้วิธีคัดเลือกจ้างงานกระจายผลไม้หลายสัญญา 200 ล.
- กรมฯค้าภายใน แจงเหตุไฉน? ใช้วิธีคัดเลือกจ้างงานกระจายผลไม้หลายสัญญา 200 ล.
- กรมฯค้าภายใน จ้างกระจายผลไม้45.9 ล.'ผู้ชนะ-คู่เทียบ' ใช้คนทำบัญชี-เบอร์โทรฯ,e-mail เดียวกัน
- เจาะลึก 'ผู้ชนะ-คู่เทียบ' กน.จ้างกระจายผลไม้ 88.9ล. 'กก.-ผู้ถือหุ้น' ใช้นามสกุลเดียวกัน
จากข้อมูลที่ตรวจสอบพบทั้งหมด
ล่าสุดนายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมการค้าภายใน ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวอิศรา ในหลายประเด็น ดังนี้
นายกรนิจ กล่าวว่า "การดำเนินงานของกรมการค้าภายใน ต้องขอเรียนว่าเรายึดระเบียบกระทรวงการคลังปี 2560 เขาให้อำนาจเราก็คือว่าเชิญผู้ประกอบการเข้ามา ซึ่งสาเหตุที่ต้องใช้วิธีการแบบเฉพาะเจาะจงในการหาผู้ประกอบการก็คือว่าผลไม้มันเป็นสินค้าที่เน่าเสียได้ ถ้าเวลาผ่านไป"
“เราเชิญผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพ และมีวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนด วัตถุประสงค์ก็คือว่าเป็นนิติบุคคล ประกอบวิชาชีพในด้านผลไม้"
"ส่วนผู้ถือหุ้นที่ท่าน (สำนักข่าวอิศรา) พูด เราก็ดูว่าผู้ถือหุ้นนั้นไม่ใช่คนเดียวกัน ไม่มีความสัมพันธ์กัน แล้วการจัดจ้างก็เป็นไปตามอำนาจกฎหมาย แต่ว่าที่นำเสนอไปมันนอกเหนืออำนาจกฎหมายที่ให้อำนาจเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ผู้ตรวจสอบบัญชี หรือใช้ผู้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามันเป็นเรื่องที่นอกเหนืออำนาจเราในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง กระบวนการจัดจ้างคือหนึ่ง นิติบุคคล สอง มีวัตถุประสงค์ในการทำผลไม้ชัดเจน สามคือไม่มีผลประโยชน์ร่วมกัน สี่งบดุลเป็นบวก” นายกรนิจกล่าว
@ เมื่อถามถึงคำว่าผลประโยชน์ร่วมกัน?
รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า "ก็คือมีส่วนเกี่ยวข้องกัน คือในกฎหมายมันชัดเจนว่าผู้ถือหุ้นใหญ่กับคณะกรรมการ ดูแล้วมันชัดเจนว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ของแต่ละบริษัทที่นำเข้ามา ไม่ใช่คนๆเดียวกัน และคนที่บอกว่านามสกุลเดียวกัน"
"ต้องดูด้วยว่าถือหุ้นเท่าไร คือการนำเสนอข่าวไป 4-5 ข่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการไปจดทะเบียน ขึ้นจดทะเบียนพาณิชย์ หรือว่าการไปยื่นอะไรต่างๆนี้ มันไม่ใช่กฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง มันเป็นการสืบ ซึ่งกฎหมายของเรา เราก็ยึดตามระเบียบพัสดุ หนึ่งก็คือเชิญสามรายมา และสามรายนั้นจากประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ราคา การทำงาน ตั้งแต่สามปีที่ผ่านมา หรือปีนี้ราคาบวกทุกตัวไม่มีเททิ้งที่ท้องถนน"
“ทำไมถึงเป็นสาเหตุของการจ้างต่อ ก็เพราะถ้าไม่มีประสิทธิภาพ ก็ยกเลิกจ้างได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ชัดเจนว่าสิ่งที่เราเชิญมา ผู้ประกอบการทุกรายมีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ มีวัตถุประสงค์การทำผลไม้เป็นหลัก ซึ่งเวลาการแก้ไขปัญหาผลไม้ผมขอเรียนว่าในอดีตจังหวัดเป็นคนทำ กรมฯ โอนงบประมาณให้จังหวัด อาทิ จังหวัดหนึ่งได้สองหมื่นตันลำไย สองหมื่นตันก็สองล้านกิโลกรัม ได้กิโลกรัมละสามบาท ก็เท่ากับ 60 ล้านบาท ก็เอาไปจัดสรรให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นได้ทำ 20-30 ราย แบ่งกันคนละ 20-30 ตัน แล้วเวลาให้ไปซื้อหนึ่งเดือน เขาไม่ซื้อราคาสูง เขาซื้อราคาต่ำ เมื่อซื้อราคาต่ำ เมื่อใช้ราคาต่ำ เงินที่ใช้ไปตรงนี้กี่ร้อยล้าน มันก็แก้ไขอะไรไม่ได้ แก้ไม่ได้ปุ๊บ เงินนี้ก็หายไป นี่ขั้นที่หนึ่ง"
"ขั้นที่สอง กรมฯต้องเข้าไปช่วยสนับสนุน ไปดึงผลผลิตออกมา และชั้นที่สามก็คือที่ท่านเห็นประจำว่าต้องมีการไปชดเชยค่าเสียหาย ลำไยเน่า ราคาตก สองพันบาทต่อไร่บ้าง ดังนั้นนี่หมายความว่าอดีตเราใช้งบประมาณสามต่อ และทุกคนมีผลประโยชน์จากสามต่อนี้”
นายกรนิจ ยังกล่าวต่อไปว่า "แต่ล่าสุดปัจจุบันยุทธศาสตร์กรมฯ ยุทธศาสตร์กระทรวงคือเราไม่รอให้ราคาตก เรามีหนังสือไปถึงจังหวัดตลอดเวลาว่าการใช้เงินนั้นใช้ได้ แต่ไม่ใช่ใช้ตอนราคาตกแล้ว จังหวัดดูทุกประกาศ ของทุกจังหวัด บอกเลยว่าถ้าราคาต่ำกว่าสิบบาทจะให้เงินสามบาท ความหมายของผู้ประกอบการคือเห็นประกาศปุ๊บ เขาตีแล้วว่าราคาตกสิบบาท เลยเพื่อจะได้เงินสามบาทตรงนี้ ดังนั้นการเข้าไปตรงนี้ของกรม ก็เลยดึงเอาผู้ประกอบการเข้ามา ถ้าหากไม่ใช่ผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญก็ไม่สามารถทำได้"
@ คำว่าผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ
รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวต่อว่า "คำว่าผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ ทางคณะกรรมการเห็นแล้วว่าเช่นภาคเหนือมีสินค้าอย่างมะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ ในอดีต ก็มีผู้ประกอบการทั้งดีและไม่ดี ผู้ประกอบการที่ไม่ดี ก็คือได้เงินมาจากกรมการค้าภายในแล้วก็ไปกดราคา ไม่งั้นจะไม่ซื้อ ดังนั้นเรายังยืนยันว่ากฎหมายกระทรวงการคลัง และระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง เขาเปิดโอกาสให้เราเชิญผู้ประกอบการต่างๆมา เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ โดยคณะกรรมการที่กรมฯจัดตั้งจะต้องเห็นแล้วเช่นกันว่าผู้ประกอบการที่ถูกเชิญมาจะต้องมีประสิทธิภาพและความเชี่ยวชาญ"
@ เรื่องจะมองว่าบริษัทเป็นกลุ่มเดียวกันชัดเจนหรือไม่
นายกรนิจกล่าวอีกว่า "กรณีเรื่องจะมองว่าบริษัทเป็นกลุ่มเดียวกันชัดเจนหรือไม่ ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างมีอยู่แล้ว คณะกรรมการที่กรมการค้าภายในแต่งตั้งมามีหน้าที่ก็คือดูว่าเมื่อเจ้ากรมอนุมัติเห็นชอบ ก็เชิญผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพและมีศักยภาพและที่สำคัญคือเราดูถึงนิติบุคคลว่ามีผลประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ โดยดูจากหุ้นในบริษัทว่า 25 เปอร์เซ็นต์ผู้มีอำนาจในแต่ละบริษัทไม่ใช่คนๆเดียวกัน ไม่ใช่นามสกุลเดียวกัน ส่วนกรณีการใช้สำนักงานบัญชีแห่งเดียวกัน ต้องเรียนว่าตรงนี้ไม่ได้อยู่ในกฎหมายของเรา"
“ถ้าหากเป็นคนเดียวกัน เขาก็ต้องถือหุ้นไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ คือเราดูตรง 25 เปอร์เซ็นต์เป็นหลัก และต้องไม่ใช่นามสกุลเดียวกัน คือระเบียบกำหนดว่าในเชิงการบริหาร 25 เปอร์เซ็นต์ บริษัทเอ นาย ก. ถือหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ ต้องไม่ใช่คนๆเดียวกันกับอีกบริษัท กฎหมายให้เราดูเอกสารผู้ถือหุ้น ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน คือคณะกรรมการจะพิจารณาด้านผลงานของผู้ประกอบการก่อน แล้วจึงพิจารณาทางด้านเอกสารว่ามีผลประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ ในทางปฏิบัติของการทำงาน จะต้องดูว่ามีการถือหุ้น การไขว้กันหรือเปล่า ตามเอกสารที่เสนอมา ณ เวลานั้น
@ ยืนยันไม่ได้มีผลประโยชน์ร่วมกัน
"สองบริษัท (ที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอ)ทางคณะกรรมการได้ดูแล้วว่าไม่ได้มีผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะว่านาย ก. ผู้ถือหุ้น 70-80 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้ไม่ได้เป็นคนๆเดียวกับอีกบริษัท ส่วนเรื่องที่มีบุคคลนามสกุลเดียวกัน เขาก็ไม่ได้ถือหุ้นถึง 25 เปอร์เซ็นต์ แค่ประมาณไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของบริษัท ก. ส่วนบริษัท ข.ที่บอกเป็นนามสกุลเดียวกัน ถือหุ้นเกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่มีความสอดคล้องกัน อันนี้คืออำนาจของกฎหมายที่มอบให้เราตรวจสอบ แต่เรื่องว่าการจดทะเบียน ยื่นทรัพย์สินบัญชี เราไม่ได้มีอำนาจในกฎหมายไปดูตรงนั้น” รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวทิ้งท้าย
*************
ทั้งหมดนี้ คือ คำชี้แจงจากนายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมการค้าภายใน ที่ให้กับสำนักข่าวอิศรา ถึงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการที่เกี่ยวข้องกับการกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต ของ กรมการค้าภายใน
ตามที่มีการตรวจสอบพบข้อมูลไปก่อนหน้านี้