หลัง กรมฯค้าภายใน แจงเหตุใช้วิธีคัดเลือกจ้างงานกระจายผลไม้หลายสัญญา 200 ล. ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ 'อิศรา' สุ่มตรวจงานจ้างกระจายผลไม้ 45.9 ล. พบ 'ผู้ชนะ-คู่เทียบ' ใช้คนทำบัญชี - แจ้งเบอร์โทรฯ,e-mail ติดต่อสำนักงานเหมือนกัน
การใช้จ่ายเงินงบประมาณภาครัฐในการจัดงานกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต วงเงินหลักร้อยล้านบาท ของ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในช่วงระหว่างรอเปลี่ยนผ่านรัฐบาลชุดใหม่ จำนวนหลายสัญญา รวมวงเงินกว่า 200 ล้านบาท
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับแจ้งเบาะแสจากข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ ว่า
1. โครงการฯ เหล่านี้ ใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนเข้ามารับงาน ทั้งที่มูลค่างานมากกว่า 30 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งตามหลักการแล้วงานจัดซื้อจ้างที่วงเงินเกิน 5 แสนบาท ภาครัฐต้องใช้วิธีจัดจ้างแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
2. ปัจจุบันกรมบัญชีกลางได้มีการออกระเบียบใหม่ในการจ้างงานมูลค่าสุทธิของกิจการ อาทิ มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างเกิน 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท เอกชนต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท , มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างเกิน 20 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 60 ล้านบาท ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 8 ล้านบาท แต่เอกชนที่เข้ามารับงานโครงการฯ เหล่านี้ที่มูลค่างานมากกว่า 30 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนใหญ่มีทุนจดทะเบียนหลักล้าน ไม่เกิน 10 ล้านบาท
ขณะที่ กรมการค้าภายใน ชี้แจงข้อเท็จจริงสำนักข่าวอิศรา ใน 2 ประเด็นหลัก คือ
1. เหตุที่ไม่จัดจ้างโดยวิธีประกวด e-bidding แต่ใช้วิธีการคัดเลือก เพราะผลไม้เป็นสินค้าที่เน่าเสียง่าย คุณภาพขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ประกอบกับผลผลิตมักออกสู่ตลาดพร้อมๆกัน ในปริมาณมาก ในแต่ละฤดูกาลผลิตไม่สามารถคาดการณ์ผลผลิตและราคาได้ กระบวนการการจัดจ้างไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป (วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ e - bidding) ซึ่งมีกระบวนการประมาณ 45 วันทำการเป็นอย่างน้อยได้ เนื่องจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ดังนั้น เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ก่อนเกิดความเสียหาย จึงจำเป็นต้องจัดจ้างโดยวิธีการคัดเลือก
2. ผู้ยื่นข้อเสนอที่เข้ามารับงานของกรมการค้าภายใน เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งได้จดทะเบียนเกินกว่า 1 ปี และมีมูลค่าสุทธิของกิจการที่ปรากฎในงบแสดงฐานะการเงินที่มีการตรวจรับรองเป็นบวก 1 ปีสุดท้ายก่อนวันยื่นข้อเสนอ ซึ่ง "ผู้ยื่นข้อเสนอของกรมฯมีคุณสมบัติเข้าข่ายตามข้อ 1.1.1 ของหนังสือเวียนกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 124 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2566"
- ช่วงเปลี่ยน รบ.ใหม่! กรมฯ ค้าภายใน ใช้วิธีคัดเลือกจ้างงานกระจายผลไม้หลายสัญญา 200 ล.
- กรมฯค้าภายใน แจงเหตุไฉน? ใช้วิธีคัดเลือกจ้างงานกระจายผลไม้หลายสัญญา 200 ล.
กำลังถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น!
เมื่อ สำนักข่าวอิศรา สุ่มตรวจข้อมูลเชิงลึกงานจัดซื้อจัดจ้างโครงการที่เกี่ยวข้องกับการกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต ของ กรมการค้าภายใน จำนวน 1 โครงการ ที่มีการประกาศผลในช่วงเดือนก.ค.2566 คือ งานจ้างจัดกิจกรรมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายสินค้าผลไม้ Trade Promotion และเชื่อมโยงการกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต โดยวิธีคัดเลือก ที่ปรากฏชื่อ บริษัท เอ็มที ฟรุ๊ตแลนด์ จำกัด เป็นผู้ชนะ วงเงิน 45,980,000 บาท
พบข้อมูลว่า บริษัท เอ็มที ฟรุ๊ตแลนด์ จำกัด ผู้ชนะ และ บริษัท มาตาเทรดดิ้ง จำกัด คู่เทียบ ที่เข้าร่วมการประกวดราคางานโครงการฯ นี้ แจ้งข้อมูลแบบนำส่งงบการเงิน แบบ ส.บช.3 ที่นำส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในช่วงเดือนพ.ค.2566 เหมือนกันดังนี้
1. แจ้งใช้เบอร์โทรศัพท์สำนักงานเดียวกัน คือ 089-8506XXX (สงวนข้อมูล)
2. e-mail เดียวกัน คือ naragorn.XXXX@XXX (สงวนข้อมูล)
3. ผู้ทำบัญชีคนเดียวกัน คือ น.ส. พ. (ตัวอักษรย่อ) (แจ้งเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ 089-8506XXX , e-mail naragorn.XXXX@XXX
4. ผู้สอบบัญชีคนเดียวกัน คือ น.ส. ส. (ตัวอักษรย่อ)
(ดูเอกสารประกอบ)
@ บริษัท เอ็มที ฟรุ๊ตแลนด์ จำกัด ผู้ชนะ
@ บริษัท มาตาเทรดดิ้ง จำกัด
สำหรับข้อมูลการประกวดราคางานโครงการฯ นี้ ในเว็บไซต์กรมการค้าภายใน ระบุว่า กำหนดงบประมาณอยู่ที่ 46,000,000 บาท ราคากลาง 46,000,000 บาท
มีเอกชนเข้าร่วมเสนอราคา 2 ราย คือ
1. บริษัท มาตาเทรดดิ้ง จำกัด เสนอราคา 46,553,500 บาท
2. บริษัท เอ็มที ฟรุ๊ตแลนด์ จำกัด เสนอราคา 46,000,000 บาท (เท่ากับราคากลาง)
บริษัท เอ็มที ฟรุ๊ตแลนด์ จำกัด เป็นผู้ชนะ ทำสัญญาเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2566 เลขที่สัญญา 116/2566 วงเงินตามสัญญาว่าจ้าง 45,980,000 บาท (ดูรายละเอียดในเอกสาร)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์หมายเลข 089-8506XXX เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท เอ็มที ฟรุ๊ตแลนด์ จำกัด และ บริษัท มาตาเทรดดิ้ง จำกัด เพิ่มเติม ได้รับแจ้งจากปลายสายว่า เป็นสำนักงานบัญชี ที่รับทำบัญชีให้กับเอกชนทั้ง 2 แห่ง ส่วนใหญ่บริษัทในจังหวัดเชียงใหม่ก็แจ้งเบอร์โทรศัพท์และ e-mall ของสำนักงานบัญชี
" บริษัท เอ็มที ฟรุ๊ตแลนด์ จำกัด และบริษัท มาตาเทรดดิ้ง จำกัด แห่งหนึ่งอยู่อำเภอหางดง อีกแห่งอยู่สันป่าตอง เจ้าของเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน แต่เป็นคนละบริษัท เขาแนะนำต่อกันมาให้รู้จักเรา และทำบัญชีให้" ผู้ทำบัญชีให้ทั้ง 2 บริษัทระบุ
ทั้งนี้ การแจ้งข้อมูลแบบนำส่งงบการเงิน แบบ ส.บช.3 ที่นำส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ของ บริษัท เอ็มที ฟรุ๊ตแลนด์ จำกัด คือวันที่ 18 พ.ค.2566 ,บริษัท มาตาเทรดดิ้ง จำกัด คือวันที่ 30 พ.ค.2566
เกิดขึ้นก่อนที่ กรมการค้าภายใน จะประกาศผลให้ บริษัท เอ็มที ฟรุ๊ตแลนด์ จำกัด เป็นผู้ชนะ เป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2566 ลงนามในประกาศ โดยนายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมการค้าภายใน (ดูเอกสาร)
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับการจ้างจัดกิจกรรมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายสินค้าผลไม้ Trade Promotion และเชื่อมโยงการกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต โดยวิธีคัดเลือก โครงการฯ นี้ ที่ผ่านมา ยังไม่เคยปรากฏข่าว ถูกหน่วยงานตรวจสอบเข้าทำการสอบสวนชี้มูลความผิดแต่อย่างใด
ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่