"...กระบวนการการจัดจ้างไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป (วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ e - bidding) ซึ่งมีกระบวนการประมาณ 45 วันทำการเป็นอย่างน้อยได้ เนื่องจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ดังนั้น เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ก่อนเกิดความเสียหาย จึงจำเป็นต้องจัดจ้างโดยวิธีการคัดเลือก..."
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับแจ้งเบาะแสจากข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ ว่า ในช่วงเดือน มิ.ย.2566 เป็นต้นมา กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำสัญญาว่าจ้างเอกชนหลายรายเข้ามาจัดงานกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต จำนวนหลายสัญญา รวมวงเงินกว่า 200 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการฯ เหล่านี้ กำลังถูกจับตามอง ใน 2 ประเด็น คือ
1. โครงการฯ เหล่านี้ ใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนเข้ามารับงาน ทั้งที่มูลค่างานมากกว่า 30 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งตามหลักการแล้วงานจัดซื้อจ้างที่วงเงินเกิน 5 แสนบาท ภาครัฐต้องใช้วิธีจัดจ้างแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
2. ปัจจุบันกรมบัญชีกลางได้มีการออกระเบียบใหม่ในการจ้างงานมูลค่าสุทธิของกิจการ อาทิ มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างเกิน 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท เอกชนต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท , มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างเกิน 20 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 60 ล้านบาท ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 8 ล้านบาท แต่เอกชนที่เข้ามารับงานโครงการฯ เหล่านี้ที่มูลค่างานมากกว่า 30 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนใหญ่มีทุนจดทะเบียนหลักล้าน ไม่เกิน 10 ล้านบาท
"อยากให้สำนักข่าวอิศรา เข้ามาช่วยติดตามตรวจสอบการดำเนินงานโครงการฯ นี้ เหล่านี้ ว่าขั้นตอนจัดซื้อจ้ดจ้างถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ผลการดำเนินงานแต่ละโครงการฯ เป็นไปตามเป้าหมายคุ้มค่ากับงบประมาณของรัฐบาลที่จ่ายไปหรือไม่"
ช่วงเปลี่ยน รบ.ใหม่! กรมฯ ค้าภายใน ใช้วิธีคัดเลือกจ้างงานกระจายผลไม้หลายสัญญา 200 ล.
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับคำชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินโครงการฯ จากกรมการค้าภายใน้ แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็นที่ 1 : เหตุใดไม่จัดจ้างโดยวิธีประกวด e-bidding แต่ใช้วิธีการคัดเลือก
- ผลไม้เป็นสินค้าที่เน่าเสียง่าย คุณภาพขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ประกอบกับผลผลิตมักออกสู่ตลาดพร้อมๆกัน ในปริมาณมาก ในแต่ละฤดูกาลผลิตไม่สามารถคาดการณ์ผลผลิตและราคาได้
- มิ.ย-ส.ค.66 ผลไม้กระจุกตัว ในภาคเหนือ ตะวันออก และใต้ กว่า 3.80 ล้านตัน ผลไม้ล้นตลาดในช่วงเวลาสั้น เกษตรกรถูกกดราคา จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ให้สามารถกระจายผลผลิตได้อย่างทันท่วงที ก่อนเกิดการเน่าเสีย
- กระบวนการการจัดจ้างไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป (วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ e - bidding) ซึ่งมีกระบวนการประมาณ 45 วันทำการเป็นอย่างน้อยได้ เนื่องจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ดังนั้น เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ก่อนเกิดความเสียหาย จึงจำเป็นต้องจัดจ้างโดยวิธีการคัดเลือก ประกอบกับ มาตรา 56 วรรค(1) (ค) กำหนดให้ใช้วิธีการคัดเลือกได้ เมื่อ "มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้พัสดุนั้นอันเนื่องมาจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้ ซึ่งหากใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปจะทำให้
ไม่ทันต่อความต้องการใช้พัสดุ"
ประเด็นที่ 2 : กรมบัญชีกลางได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจ้างงาน โดยให้พิจารณามูลค่าสุทธิของกิจการของผู้ยื่นข้อเสนอ เช่น หากมีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างเกิน 20 - 60 ล้านบาท ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 8 ล้านบาท แต่เอกชนที่เข้ามารับงานโครงการนี้ ที่ มีมูลค่างานมากกว่า30 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 10 ล้านบาท
ข้อชี้แจง
-หนังสือเวียนกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 124 ลงวันที่ 1 มี.ค. 66 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการเร่งรัดการปฏิบัติงานตามสัญญาและการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ยื่นข้อเสนอ ได้กำหนดแนวปฏิบัติในการพิจารณาคัดกรองคุณสมบัติด้านการเงินกับผู้ประกอบการที่เข้ามายื่นข้อเสนอกับหน่วยงานของรัฐไว้โดยมีเงื่อนไขหลายประการ โดยเงื่อนไขหนึ่งในข้อ 1.1.1 ได้กำหนดว่า กรณีผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งได้จดทะเบียนเกินกว่า 1 ปี ต้องมีมูลค่าสุทธิของกิจการจากผลต่างระหว่างสินทรัพย์สุทธิ หักด้วยหนี้สินสุทธิที่ปรากฎในงบแสดงฐานะการเงินที่มีการตรวจรับรอง ซึ่งจะต้องแสดงค่เป็นบวก 1 ปีสุดท้ายก่อนวันยื่นข้อเสนอ
-ผู้ยื่นข้อเสนอที่เข้ามารับงานของกรมการค้าภายใน เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งได้จดทะเบียนเกินกว่า 1 ปี และมีมูลค่าสุทธิของกิจการที่ปรากฎในงบแสดงฐานะการเงินที่มีการตรวจรับรองเป็นบวก 1 ปีสุดท้ายก่อนวันยื่นข้อเสนอ ซึ่ง "ผู้ยื่นข้อเสนอของกรมฯมีคุณสมบัติเข้าข่ายตามข้อ 1.1.1 ของหนังสือเวียนกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 124 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2566"
ผลสำเร็จของการแก้ไขปัญหา
ผลสำเร็จของการดำเนินการแก้ไขปัญหา ส่งผลให้ราคาตลาดผลไม้ที่เข้าไปแก้ไขปรับสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา ถึงแม้ผลผลิตภาพรวมในปี 2566 จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นก็ตาม สรุปดังนี้
ก่อนหน้านี้ นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า เรื่องนี้เป็นระเบียบพัสดุแต่ก็มีข้อกำหนดมากมายชี้แจงได้ แต่ต้องทราบก่อนว่าเป็นโครงการใด เนื่องจากกรมการค้าภายในมีหลายโครงการ อีกทั้งโครงการที่มีมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท มีหลายโครงการ เช่น โครงการของลำไยหรือทุเรียนที่เมื่อราคาตกต่ำจะใช้มาตราการลำไย 200 ล้าน หรือมาตรการทุเรียน 200 ล้าน แต่ปรากฏว่าเมื่อราคาดีก็ไม่ได้ใช้เงิน เป็นต้น
นายกรนิจ กล่าวอีกว่า ในด้านการแก้ปัญหาถ้ามีแผนงานที่ระบุไวชัดเจนและมีงบประมาณของกรมการค้าภายในจะมีงบหลายส่วน เช่น งบประมาณปกติ งบดำเนินงาน เป็นต้น ซึ่งงบประมาณเหล่านี้ค่อนข้างสูง ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนก็จะมีการจัดจ้างตามระเบียบพัสดุทุกอย่าง อยู่ภายใต้กฎของกรมบัญชีกลาง
"ถ้า 200 ล้าน ผมว่าน่าจะเป็นโครงการแปรรูปทุเรียนหรือโครงการแปรรูปลำไย ซึ่งยังไม่ได้จัดจ้าง เพราะว่าประกาศออกไปว่าจะแก้ปัญหาทุเรียนภาคตะวันออกถ้ากรณีราคาตกต่ำ ซึ่งตอนแรกจะใช้เงินแล้วไม่ได้ใช้ เพราะราคาทุเรียนดี ส่วนลำไยอบแห้งก็เตรียมไว้ 200 ล้านเช่นกัน ผมคิดว่าถ้าเป็นเรื่อง 200 ล้านน่าจะเป็นเรื่องของลำไยแปรรูปแช่แข็งกับทุเรียนแปรรูปแช่แข็ง ซึ่งปกติปีที่แล้วที่ใช้จะออกหลักเกณฑ์ว่า first come, first serve ซื้อมาได้เร็วกว่า ช่วยเหลือเกษตรกรแล้วส่งออกได้ก่อน ก็จะได้เงิน เมื่อปีที่แล้วลำไยใช้เงินเพราะวิกฤตลำไย แต่ทุเรียนไม่ได้ใช้ ปีนี้ไม่ได้ใช้เลย 200 ล้าน"
@ กรนิจ โนนจุ้ย
นายกรนิจกล่าวต่อว่า โครงการที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นโครงการที่มีมูลค่า 240 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้วประกาศรับสมัคร แต่ปีนี้ไม่ได้ประกาศ เพราะปีนี้ลำไยราคา AA 30 บาท ทุเรียนราคา 140 บาท หน่วยงานจึงไม่ได้ใช้เงินก้อนนี้
"ผมคิดเองว่าที่มีคนมาร้องเรียนน่าจะเป็นเพราะโครงการลำไยอบแห้งปีที่แล้วแก้ปัญหาโดยสนับสนุนเร่งซื้อและส่งออก กรมการค้าภายในตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อนำสมาคมลำไยอบแห้งเข้ามา แล้วผู้ประกอบการคนที่เข้าร่วมโครงการแล้วส่งออกออกไปแล้วซื้อในราคานำตลาดให้กรมการค้าภายใน จะได้กิโลกรัมละ 2 บาท ประมาณนี้ แต่ปีนี้กรมการค้าภายในตั้งงบประมาณไว้ 200 ล้านเช่นกัน แต่ไม่ได้ใช้ ซึ่งโครงการ 200 ล้านเป็นเงินที่ไม่ได้จัดจ้าง เป็นโครงการที่รับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมและจ่ายเงินเมื่อส่งออกผลผลิตออกไปแล้ว"
นายกรนิจ กล่าวถึงประเด็นทุนจดทะเบียนบริษัทไม่ถึงหลักสิบล้านว่า ประเด็นนี้เป็นหลักเกณฑ์พัสดุ ไม่น่ามีอะไร คิดว่าพัสดุของกรมการค้าภายในจัดจ้างบ่อย ไม่น่าพลาดเรื่องเช่นนี้ เพราะส่วนใหญ่ที่กรมการค้าภายในจ้างเป็นโครงการช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งไม่ใช่ออกแกไนซ์ ส่วนใหญ่เป็นผู้มีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบพัสดุ
"มั่นใจว่ากรมการค้าภายในทำตามระเบียบ แต่ถ้ามีตรงไหนที่ผิดกรมบัญชีกลางก็ต้องส่งหนังสือมา" รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวทิ้งท้าย
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่น ๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป