"...เรื่องระบบสวัสดิการคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ แม้จะมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ถึงจะเป็นเบี้ยยังชีพเดือนละ 3 พันบาท ก็ยังใช้งบประมาณน้อยกว่างบบำนาญข้าราชการในระยะยาว ในที่สุดแล้ว เมื่องบประมาณสำหรับบำนาญข้าราชการจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วน่ากังวล..."
เหตุผลหลักที่ต้องการตัดลดงบประมาณ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ก็เพราะว่า รัฐบาลไม่ต้องการแตะโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ นั่นคือ ไม่ต้องการเก็บภาษีจากคนรวย เพื่อทำให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งที่มีข้อเสนอเรียกร้องจากทั้งจากภาคประชาชน ภาควิชาการ และ ภาคการเมือง ก็ถูกตีตก หรือ รัฐบาลเจตนานั่งทับไว้ เพราะกลัวว่า คนกลุ่มน้อยที่กอบโกยผลประโยชน์บนยอดปีรามิด จะเสียประโยชน์ โดยไม่ได้คำนึงว่า อนาคตประเทศไทยจะอยู่กันต่อไปอย่างไร
ศูนย์กลางเครือข่ายระบอบอำนาจของไทยจะไม่คิดแบ่งปันออกมาให้คนส่วนใหญ่ในประเทศอย่างเป็นธรรมบ้างหรือ? ไม่กี่ตระกูลกอบโกยไปอย่างมหาศาลในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านการสมประโยชน์กันของเครือข่าย กลุ่มทุน และ ภาครัฐที่ยึดกุมอำนาจอยู่ โดยมีการควบคุมความคิดผ่านสื่อที่สนับสนุนจีนและรัสเซีย จนทำให้กลุ่มคนเสียงดังในสังคมมีข้อมูลที่บิดเบือน เช่น ทั้งประเทศจ่ายภาษีแค่ 4 ล้านคน
แน่นอนว่า เราไม่สามารถแยกเรื่องโครงสร้างระบอบอุปถัมภ์ออกจากการเมืองเรื่องจัดตั้งรัฐบาล และ การกดขี่ขูดรีดแรงงานและการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจจากคนไทย ดังนั้น คงจะไม่แปลกใจหากวันหนึ่งความโกรธแค้นของประชาชนเรื่องความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรม จะปะทุออกมาในที่สุด
ประเด็นความสัมพันธ์เรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” และ “ความขัดแย้งทางการเมือง” นี้ ผู้เขียนได้เคยพูดคุยแลกเปลี่ยนในการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักข่าวกรองแห่งชาติ จึงขอนำเรียนตรงนี้อีกครั้งด้วยความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้โปรดตระหนักว่า ตามประวัติศาสตร์มนุษยชาติได้พิสูจน์แล้ว “เมื่อความเหลื่อมล้ำรุนแรงมาก สักวันหนึ่งก็ต้องเผชิญวิกฤตขัดแย้งรุนแรง”
เรื่องระบบสวัสดิการคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ แม้จะมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ถึงจะเป็นเบี้ยยังชีพเดือนละ 3 พันบาท ก็ยังใช้งบประมาณน้อยกว่างบบำนาญข้าราชการในระยะยาว ในที่สุดแล้ว เมื่องบประมาณสำหรับบำนาญข้าราชการจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วน่ากังวล เราก็ควรที่จะใช้โอกาสนี้ในการจัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรม ตามข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์ที่มีมากมาย เพื่อให้มีงบประมาณสามารถคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุได้ทั้งสังคม แต่ข้อเท็จจริง คือ รัฐบาลไม่ยอมทำ ดังนั้น การตั้งเป้าหมายตัดลดงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จึงเป็นการเดินถอยหลังของประเทศ
ท้ายสุดนี้ ขอชวนอ่านบทความหรือการนำเสนอก่อนหน้านี้ของผู้เขียนเองเกี่ยวเรื่องความยากจนผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้เรากำลังอยู่ตรงช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อว่า จะปล่อยให้ประเทศเต็มไปด้วยคนจนผู้สูงอายุเต็มประเทศในอีก 10-20 ปีข้างหน้า และเต็มไปด้วยปัญหาสังคมที่เกิดจากคนจนล้นประเทศ หรือ รัฐบาลอยากจะวางรากฐานมั่นคงแข็งแรงให้เป็นสังคมที่ปรองดองและเป็นธรรม
ชวนอ่านเพิ่มเติม:
-
เวทีเสวนาฯชงรีดภาษีมั่งคั่ง-ขึ้นVat หางบโปะ‘บำนาญแห่งชาติ’-ห่วง‘รุ่นเกิดล้าน’แก่แล้วจน
-
จี้เลิกลดหย่อนภาษีคนรวย-เจ้าสัว! ‘ภาคปชช.’เคลื่อนไหวผลักดัน‘บำนาญถ้วนหน้า’ 3 พันบาท/ด.
-
แหล่งรายได้สำหรับระบบหลักประกันรายได้เพื่อป้องกันวิกฤตสังคมผู้สูงอายุ
ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์