“…ในการลงทุนกองทุนนั้นต้องมีวัน เวลา รายละเอียด เบอร์ติดต่อให้ชัดเจน แต่จะไม่มีการการันตีผลตอบแทนที่ชัดเจนเพราะกองทุนนั้นไม่สามารถบอกผลกำไรที่แน่ชัด เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ และจะไม่มีการกดลิงก์ให้ใส่ข้อมูลส่วนตัว ซึ่งการกดลิงก์แล้วใส่ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดเพราะสามารถนำข้อมูลส่วนตัวไปต่อยอดในทางที่ไม่ดีได้…”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับพันธมิตรภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐในโครงการ ‘ร่วมจับมือ-จับปลอมหลอกลงทุน’ โดยเป้าหมายเฟสแรกที่องค์กรพันธมิตรจะร่วมกันทำคือ การตีแผ่ข้อเท็จจริง ชี้เป้าข่าวเท็จ ควบคู่ไปกับการเตือน การให้ความรู้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ลงทุนและประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
และในเฟสต่อไปนั้นจะมีการบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งภาคตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนากระบวนการ จับปลอม หลอกลงทุนให้ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การรับแจ้งเบาะแส การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน การติดตาม การตรวจสอบ การประกาศแจ้งเตือน และการดำเนินการทางกฎหมาย
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหามิจฉาชีพที่ชักชวนลงทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมีจำนวนมาก และมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งมีการแอบอ้างองค์กร ชื่อ ภาพของผู้บริหาร ผู้มีชื่อเสียงจากหลายหน่วยงาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หลอกลวงให้มาลงทุน โดยสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง
“ในวันนี้ทุกภาคส่วนได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพื่อต้องการสร้างผลลัพธ์ที่กว้างขวาง ทั้งในตลาดทุนและนอกตลาดทุน แม้ว่าปัญหาการลงทุนจะไม่สามารถแก้ไขได้ในทันที แต่ผมเชื่อว่า การที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน จะเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้กับมิจฉาชีพที่หลอกลวงในการลงทุนเหล่านี้ และหวังว่าความร่วมมือนี้ยังสามารถขยายต่อไปในภาคส่วนต่อไปในอนาคต” นายภากร ระบุ
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงสถิติทางธุรกิจออนไลน์ว่า ประเทศไทยมีการใช้โมบายแบงค์กิ้งเป็นลำดับที่ 1 ของโลก การใช้ QR qode payment เป็นลำดับที่ 4 และการชอปปิงออนไลน์เป็นลำดับที่ 5 ของโลก เห็นได้ว่าคนไทยมีความเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์เป็นจำนวนมากซึ่งเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงได้ง่าย
จากตัวเลขสถิติคดีอาชญกรรมออนไลน์พบว่า ตัวเลขอาชญากรรมทางออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 - 15 กรกฎาคม 2566 นั้นมีคดีออนไลน์ 296,063 คดี โดยที่มูลค่าเสียหายอยู่ที่ 39,127 ล้านบาท และคดีหลอกลงทุน 20,667 คดี โดยมีมูลค่าเสียหายสูงถึง 20,667 ล้านบาท ซึ่งคดีหลอกลงทุนนี้อาจมีคดีจำนวนไม่มาก แต่การสูญเสียนั้นมหาศาล ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ประสบกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ในต่างประเทศก็พบเจอกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน ในปีพ.ศ. 2565 ประเทศสหรัฐอเมริกา มีตัวเลขอาชญากรรมออนไลน์ถึง 30,529 เคส โดยมีมูลค่าเสียหายหลายแสนล้านบาท
“หากพบเจอการลงทุนที่น่าสงสัย ให้ตั้งข้อสังเกตุไว้ก่อน อย่าโอนก่อนได้รับข้อมูลจากบริษัท และสามารถโทร 1212 เพื่อสอบถามข้อมูล โทร 1441 เพื่อติดต่อตำรวจไซเบอร์” นายเวทางค์ ระบุ
นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน กล่าวว่า ตัวผมเองเป็นกึ่งผู้ต้องหาเนื่องจากมักถูกเอารูปไปใช้ในธุรกิจเครือข่ายลอกลวง ร่วมลงทุน ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับรัฐบาลจีนและใต้หวัน โดยรัฐบาลใต้หวันได้เอ่ยเตือนถึงอาชญากรรมออนไลน์ เนื่องจากได้มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศใต้หวันโดยกลุ่มวัยรุ่น แต่ภายหลังจากนั้นประเทศจีนเข้ามาเทคโอเวอร์และได้แพร่กระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ทางประเทศจีนต้องการนำตัวอาชญากรเหล่านี้กลับประเทศแต่ไม่สามารถทำได้ เพราะพวกเขาไม่ได้ถือพาสปอร์ตจีน และพาสปอร์ตที่ถืออยู่นั้นไม่มีกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ทำให้อาชญากรเหล่านี้ยังลอยนวลอยู่
“ในแง่ของธุรกิจของโลก การที่จะได้พบกับดอกเบี้ย หรือ ผลกำไร 7-10% ต่อสัปดาห์นั้นผมนึกไม่ออกเลยว่าจะเป็นธุรกิจแบบไหนกัน แม้แต่การค้ายาบ้า หรือเฮโรอีนเองก็คงไม่มีผลกำไรมากขนาดนั้น ปัจจุบันอาชญากรออนไลน์นั้นเก่งขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลทุกอย่างดูน่าเชื่อถือจนไม่มีข้อกังขา ดังนั้นฝากภาครัฐในการให้ข้อมูลและกระจายข่าวแก่ประชาชน” นายวิกรม ระบุ
นายวิกรม กล่าวต่ออีกว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรเกือบ 40 ล้านคน ในขณะเดียวกัน บุคคลที่มักตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์นั้นมักเป็นกลุ่มของเกษตรกร เนื่องจากขาดความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักรู้ บางคนทำงานมาครึ่งชีวิต แต่เพียงชั่วพริบตาเดียวเงินที่หามาก็ได้อันตรธานหายไป ดังนั้นต้องหาแนวทางในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งอาจศึกษาจากประเทศที่สามารถรับมือกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ได้ และสิ่งที่สามารถทำให้ประชาชนตื่นตระหนกและไหวตัวทันคือความรู้ความเข้าใจ ดังนั้น หากประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ ก็จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นได้
ทางด้าน นางชวินดา หาญรัตนกุล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า บางครั้งอาชญากรอาจทำให้ผู้ลงทุนสับสนด้วยกับการใช้โลโก้ตลาดหลักทรัพย์ ใช้รูปภาพที่มีชื่อเสียง ใช้สีที่คุ้นเคย และมักใช้คำว่ากองทุนให้ดูน่าเชื่อถือ โดยผู้ที่คล้อยตามนั้นอาจคาดไม่ถึงการณ์และตกเป็นเหยื่อของการลงทุนได้
ในการลงทุนกองทุนนั้นต้องมีวัน เวลา รายละเอียด เบอร์ติดต่อให้ชัดเจน แต่จะไม่มีการการันตีผลตอบแทนที่ชัดเจนเพราะกองทุนนั้นไม่สามารถบอกผลกำไรที่แน่ชัด เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ และจะไม่มีการกดลิงก์ให้ใส่ข้อมูลส่วนตัว ซึ่งการกดลิงก์แล้วใส่ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดเพราะสามารถนำข้อมูลส่วนตัวไปต่อยอดในทางที่ไม่ดีได้ ดังนั้นก่อนการลงทุนต้องทำการเช็กข้อมูลจากหลายๆที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด ทั้งนี้ มีการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนเยอะ แต่ต้องใช้ระยะเวลา ไม่ใช่เพียงแค่ 1- 2 อาทิตย์
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุอาจไม่เท่าทันการหลอกลวง บางครั้งคนวัยเกษียรต้องการเพิ่มพูนเงินเกษียรแต่อาจถูกหลอกให้ลงทุนกับอาชญากรได้ ดังนั้น ในการโอนเงินลงทุน ต้องโอนเงินให้กับบัญชีบริษัทไม่ใช่บัญชีส่วนบุคคล ดังนั้นก่อนการโอนเงินต้องตรวจสอบให้ดี ต้องเช็คกับทางบริษัทด้วยว่าข้อมูลตรงกับที่ได้มาหรือไม่
“เราถูกสอนว่า เมื่อออกจากบ้านต้องล็อคบ้าน ล็อครถ แต่ปัจจุบันนี้ต้องเพิ่ม การล็อคมือถือ ล็อคบัญชีให้ดี” นายพิเชษฐ ระบุ
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มิจฉาชีพมีการใช้สื่อมีเดียในการเข้าถึงการหลอกลวง มีการใช้เพจปลอมในการลงทุนนั้นระบาดมากขึ้น ทำให้การหลอกลวงนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายดาย ดังนั้นตลาดหลักทรัพญ์จึงเป็นส่วนกลางในการประสานผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม
ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เตรียมแนวทางในการรับมือเพจปลอมหลอกลงทุนไว้ คือ
-
Monitor ทำการตรวจจับ
-
Checking ตรวจสอบเพจปลอม
-
Action เมื่อตรวจพบเพจปลอมก็มีการประสานกับหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องเพื่อปิดเพจปลอม และร่วมมือกับทุกภาคส่วนของตลาดทุนในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน
ทั้งนี้ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนการในการนำเอไอเข้ามาช่วยในการตรวจจับเพจปลอม และประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคตอีกด้วย