คนไทยติด 5 อันดับ โดน'หลอกลงทุน' เสียหายสูงสุด 1.15 หมื่นล้านบาท ด้าน ก.ล.ต.เผยครึ่งปีแรกกล่าวโทษเพจปลอมอ้างใช้โลโก้ไปแล้วกว่า 10 ราย ดีอีเอสชี้ตัวบงการใหญ่ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ เตือน ปชช.มีสติ หมั่นเช็กข้อมูล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2566 นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหามิจฉาชีพที่ชักชวนลงทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมีจำนวนมาก และหลายรูปแบบ มีการแอบอ้างองค์กร ชื่อ ภาพ ของผู้บริหารหลายหน่วยงาน รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือหลอกลวงให้มาลงทุน โดยสร้างความเสียหายให้ประชาชนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและสังคมเป็นวงกว้าง
จากข้อมูลกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) พบว่าคดีอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อ สูงสุด 5 อันดับแรกคือ
-
หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ
-
หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน
-
หลอกให้กู้เงิน
-
หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์
-
ข่มขู่ทางโทรศัพท์
นายภากร กล่าวว่า คดีที่มีการหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าความเสียหายสูงสุดกว่า 11,500 ล้านบาท ในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมา จึงเป็นเหตุผลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐ ริเริ่มโครงการ 'ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน' เพราะปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะสามารถแก้ไขได้
โดยในเฟสแรก จะร่วมกันสื่อสารโดยตีแผ่ข้อเท็จจริง ชี้เป้าข่าวเท็จ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ลงทุนและประชาชนไม่ให้เป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ผ่านช่องทางของพันธมิตร และสื่อในหลากหลายรูปแบบที่เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง และในเฟสถัดไปจะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งภาคตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนากระบวนการในการจับปลอมหลอกลงทุนได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“แม้ว่าปัญหาการหลอกลวงการลงทุนจะไม่สามารถแก้ได้ในทันที แต่เชื่อว่าการที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน จะเป็นจุดเริ่มต้นกับการต่อสู้กับมิจฉาชีพหลอกลวงลงทุนเหล่านี้ หากพบเห็นการเชิญชวนลงทุนโดยให้ผลตอบแทนที่สูงเกินจริงภายในระยะเวลาสั้น ๆ หรือมีการแอบอ้างองค์กรและบุคคลที่มีชื่อเสียง อย่างพึ่งหลงเชื่อ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนอย่างรอบคอบ” นายภากร กล่าว
ก.ล.ต.กล่าวโทษเพจอ้างโลโก้ไปแล้วกว่า 10 ราย
ทางด้าน นายธวัชชัย ทิพยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า กลโกงหลอกให้ลงทุนทางออนไลน์เป็นหนึ่งในภัยคุกคามซึ่งสร้างความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก โดยมักแอบอ้างชื่อหรือโลโก้ของ ก.ล.ต. หน่วยงาน บริษัท รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในภาคตลาดทุน ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ตระหนักถึงปัญหาของภัยหลอกลวงที่ขยายวงกว้างมากขึ้นในปัจจุบันและที่ผ่านมา โดยได้ดำเนินการในหลายมิติเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนและประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เพียงพอและสามารถปกป้องตนเองจากภัยดังกล่าว
นายธวัชชัย กล่าวด้วยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ได้มีการเตือน Investor Alert ไปแล้วกว่า 80 ราย และมีการกล่าวโทษเพจที่มีการอ้างอิงโลโก้ชื่อสำนักงาน ก.ล.ต.ไปกว่า 10 ราย และที่เหลืออีก 37 ราย มีการส่งไปยังศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม
นี่คือสิ่งที่สำนักงานพยายามที่จะดำเนินการ แต่ถึงแม้ว่าจะพยายามดำเนินการแล้ว แต่สิ่งหล่านี้ก็ยังไม่ได้ลดน้อยลงไป เพราะฉะนั้นการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ต่อภาคตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐ จะทำให้เกิดความกว้างขวางมากขึ้น มีการช่วยเหลือกันมากขึ้นเพื่อร่วมมือกันต่อต้านสิ่งเหล่านี้
“การจะไปตามไล่จับพวกนี้ช่วยไม่ได้มาก สิ่งสำคัญคือต้องเป็นการใช้มาตรการป้องปราม ซึ่งเป็นสิ่งที่โครงการนี้จะให้ความสำคัญตรงนี้” นายธวัชชัยกล่าว
นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีการโฆษณาเชิญชวนหลอกให้มาลงทุนในกองทุนรวมจำนวนมากโดยให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งการโฆษณาดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทจัดการลงทุนแต่อย่างใด โดยผู้ประกอบธุรกิจการจัดการลงทุนต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เท่านั้น และการโฆษณาเชิญชวนให้คนมาลงทุนในกองทุนรวมต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด
ดังนั้น ประชาชนผู้พบเห็นโฆษณาหลอกลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ ไม่ว่าจะแอบอ้างบริษัทหรือผู้บริหารท่านใด อย่าได้หลงเชื่อเป็นอันขาด
ดีอีเอสเผยตัวบงการโกง ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ ไม่ได้อยู่ที่ไทย
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า เรื่องการหลอกลงทุนถือว่ามีมูลค่าความเสียหายสูงถึงปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้นเงินเหล่านี้ไปเข้ากระเป๋าคนร้าย และคนร้ายส่วนใหญ่ที่เป็นระดับตัวบงการ (mastermind) ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย โดยแทบจะเป็นชาวต่างชาติจำนวนมาก และมีหลายแก๊ง และตอนนี้มีพฤติกรรมเลียนแบบ (copycat) โดยคนไทยที่ไปเป็นลูกน้องชาวต่างชาติเริ่มมาหลอกลงทุนเองบ้างแล้ว
เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากจะเตือนหรือแนะนำพฤติกรรมหลอกลงทุนคือ มักจะชูผลตอบแทนลงทุนสูงมาก ดังนั้นต้องระวัง สิ่งสำคัญคือ 1) ต้องไม่เชื่อไว้ก่อน และ 2) ต้องไม่โอน และถ้ามีข้อสงสัยหรือโดยนำรูปไปใช้อย่างผิดกฎหมาย หรือซื้อของไม่ตรงปก สามารถติดต่อสายด่วน 1212 หรือสามารถแจ้งความออนไลน์ หรือติดต่อ 1441 ผ่านตำรวจไซเบอร์ได้
“ตอนนี้สถิติคดีออนไลน์ลดลงไปพอสมควร เมื่อก่อน 800 คดี ตอนนี้เหลืออยู่ 600 คดี ส่วนหนึ่งคนร้ายมุ่งหวังต่อทรัพย์ ซึ่งที่เราร่วมมือตรวจสอบมากคือ “บัญชีม้า-ซิมม้า” โดยตอนนี้ปิดบัญชีม้าเดือนละหมื่นบัญชี จาการตรวจสอบเส้นทางการเงิน และจับเข้าคุกไปจำนวนมาก” นายเวทางค์ ระบุ
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงผลกระทบจากภัยทางการเงิน และการหลอกลงทุน โดยเฉพาะ “แชร์ลูกโซ่” ที่แฝงมาในชื่อ 'การออม' หรือ 'การลงทุน' สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจร้ายแรง จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการป้องกันภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการป้องกัน เช่น ยกเลิกส่ง SMS อีเมลล์ แนบลิงก์ แจ้งเตือนผู้ใช้บริการ Mobile Banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง สแกนใบหน้ายืนยันตัวตนก่อนโอนเงินเกิน 5 หมื่นบาทขึ้นไปต่อครั้ง หรือ ยอดโอนสะสมครบทุก 2 แสนบาทต่อวันต่อบัญชี หรือ ปรับเพิ่มวงเงินโอนตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป มาตรการตรวจจับและติดตาม พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทุจริตในภาคธนาคาร (Central Fraud Registry) เพื่อตรวจสอบธุรกรรมต้องสงสัยและบัญชีม้า ช่วยป้องกันและจำกัดความเสียหายได้เร็วขึ้น และมาตรการตอบสนองและรับมือ โดยจัดให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (Hotline) 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน เพื่อจัดการปัญหาให้ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างเกราะป้องกันภัย ด้วย 'การให้ความรู้ทางการเงิน' กับประชาชนทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม การป้องกันภัยต้อง 'เริ่มต้นที่ตัวเรา' ประชาชนต้องหมั่นเช็กข้อมูลธุรกรรมการเงินของตัวเองสม่ำเสมอ วิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้านทุกครั้งก่อนลงทุน ติดตามข่าวสารภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรู้เท่าทันกลโกง ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ