"...คนรุ่นใหม่เป็นอนาคตของประเทศ ถ้าเขาตื่นตัว มีอุดมคติ และมีสมรรถนะสูง ย่อมทำให้อนาคตของประเทศดี ความคิดใหม่จำเป็น ไม่ใช่ว่าความคิดเก่าไม่ดี ธุรกิจที่เคยได้กำไรถ้าทำอย่างเดิมต่อไปจะขาดทุน เพราะสื่อต่าง ๆ มันเปลี่ยนไปแล้ว ต้องปรับมโนทัศน์ (Reconceptualize) จึงจะอยู่รอด แต่ผมสังเกตมานานว่าความคิดใหม่มักจะไม่อยู่รอด เพราะถูกยิงตก ต้องหาวิธีให้ความคิดใหม่อยู่รอดและออกผล..."
วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ขณะนั่งรถไปประชุมสภามศว. กบผู้ช่วยที่ขับรถให้ผมนั่งคุยขึ้นว่า “ผมรู้แล้วว่าจะเลือกพรรคไหน ลูกสาวผมมาล๊อบบี้ให้พ่อแม่เลือกพรรคของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนาประเทศ” กบเล่าว่าลูกสาวพูดต่อไปว่า “ถ้าพ่อไม่เลือกพรรคของคนรุ่นใหม่ ผลก็จะเหมือนเดิมอยู่อย่างนี้ไม่มีทางดีขึ้น” ลูกสาวกบอายุ 20 ต้น ๆ
จากคำเล่านี้และจากโพลล์สำนักต่าง ๆ ทำให้เห็นว่า เรื่องคนรุ่นใหม่ ความคิดใหม่ เป็นกระแสใหญ่ การที่คนรุ่นใหม่ตื่นตัวเรื่องบ้านเมืองเป็นเรื่องดี ผมในฐานะคนแก่ก็อยากจะขอทบทวนเรื่องคนรุ่นใหม่ ความคิดใหม่ และมีข้อเสนอแนะ เพื่อช่วยให้ประสบความสำเร็จ
1. ความสำคัญของคนรุ่นใหม่และความคิดใหม่ สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง ใหม่จะต้องเข้ามาแทนที่เก่า
คนรุ่นใหม่เป็นอนาคตของประเทศ ถ้าเขาตื่นตัว มีอุดมคติ และมีสมรรถนะสูง ย่อมทำให้อนาคตของประเทศดี ความคิดใหม่จำเป็น ไม่ใช่ว่าความคิดเก่าไม่ดี ธุรกิจที่เคยได้กำไรถ้าทำอย่างเดิมต่อไปจะขาดทุน เพราะสื่อต่าง ๆ มันเปลี่ยนไปแล้ว ต้องปรับมโนทัศน์ (Reconceptualize) จึงจะอยู่รอด แต่ผมสังเกตมานานว่าความคิดใหม่มักจะไม่อยู่รอด เพราะถูกยิงตก ต้องหาวิธีให้ความคิดใหม่อยู่รอดและออกผล
2. ประวัติศาสตร์เรื่องคนรุ่นใหม่และความคิดใหม่
ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีปัญญาชน เช่น 'เทียนวรรณ' และก.ศ.ร.กุหลาบ เสนอความคิดใหม่ ๆ ล้ำสมัย ก็ถูกกล่าวหาว่าบ้าหรือโกหก คำว่า กุ ก็มาจากชื่อของกุหลาบ มีคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งมีทั้งเจ้านายและข้าราชการที่เป็นคนหนุ่มทำงานอยู่ในยุโรป ทำหนังสือกราบบังคมทูล ร.5 ว่าควรปรับปรุงการบริหารประเทศ แต่ก็ทรงมีพระราชดำริว่ายังทำไม่ได้ “เสนาบดีก็ยังโง่เหมือนควาย”
กบฏหมอเหล็ง ในต้น ร.6 ก็เป็นคนรุ่นใหม่ ยศ ร.ท. และ ร.อ.
คณะราษฎร ที่ทำปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ก็เป็นคนรุ่นใหม่โดยแท้ มีการศึกษาดี มีความคิดใหม่ 14 ตุลาคม นั่นก็คนรุ่นใหม่นับแสน ๆ
เราจะต้องทำความเข้าใจแรงต่อต้านคนรุ่นใหม่ และความคิดใหม่ เพื่อหาทางทำให้สำเร็จ
3. อำนาจที่ดำรงอยู่ในสังคม – The Establishment หรือ 'The Power That Be'
ในสังคมตั้งแต่สมัยโบราณ (ลองอ่านวิเคราะห์สามก๊ก โดย อี้ จงเทียน) มีอำนาจที่ดำรงอยู่หลังฉาก ประกอบด้วยสถาบันหลัก 3 สถาบัน เป็นอำนาจที่ไปกำหนดหรือกำกับการเมือง อำนาจที่ดำรงอยู่เป็นพลังแฝงที่กำกับความเป็นไปที่จะให้เหมือนเดิม อำนาจเก่ากับอำนาจใหม่จึงขัดแย้งกัน และเกิดเป็นความรุนแรง ถ้าดูในประวัติศาสตร์จีนอันยาวนานจะเห็นว่า 'เดี๋ยวสงบ เดี๋ยวจลาจล' หรือ 'ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูใบไม้ร่วง' หรือ ชุนชิว เรื่อยมา
4. ราษฎรไม่เคยได้รับความเป็นธรรม
ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน ราษฎรไม่เคยได้รับความเป็นธรรม โดย
• ถูกรีดเก็บภาษีจนยากจนค่นแค้น
• ถูกเกณฑ์แรงงาน
• ถูกเกณฑ์ไปทำสงคราม
• ระบบความยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม (เปาบุ้นจิ้น เป็นเทพแห่งความยุติธรรมเพราะเป็นของ หายาก)
มีการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมเรื่อยมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การรวมตัวต่อสู้อำนาจรัฐ กบฏ บทกวีนิพนธ์ที่ปลุกระดม ฯลฯ กบฏไท่ผิง มีคนตาย 20 ล้านคน
การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะมวลอำนาจรัฐ (รัฎฐานุภาพ) และมวลอำนาจเงิน (ธนานุภาพ) นั้นใหญ่โตมาก จะดูดทรัพยากรต่าง ๆ เข้าหาตัวตามหลักแรงโน้มถ่วง
แล้วเราจะทำอย่างไรจึงจะเกิดความเป็นธรรมทางสังคม ความเป็นธรรมสำคัญที่สุดแห่งการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ หรือแม้แต่ของสัตว์
5. ระหว่างการแก้ปัญหากับการรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี
'การแก้ปัญหา' ยากมากเพราะปัญหามีรากยาวไกล และมีบุคคลขององค์กรเกี่ยวข้องจำนวนมาก คนและองค์กรที่เกี่ยวข้องจำนวนมากจะต่อต้านและโต้กลับ ดูตัวอย่างคณะราษฎรที่ดำรงอยู่ได้แค่ 15 ปี ถึงกับมีคนไปตะโกนในโรงหนังว่า 'ปรีดีฆ่าในหลวง' ถ้าการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมประสบอุปสรรคมาก ลองพิจารณาดูอีกวิธีหนึ่ง คือ 'รวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี'
'สิ่งใหม่' ยังไม่มีศัตรู จึงรวมตัวกันทำได้ง่ายกว่าและกว้างกว่า การต่อสู้นั้นจะถูกบีบให้แคบ
มองหาสิ่งใหม่ที่ดีที่จะรวมตัวกันทำได้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ในทุกมิติ ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น
6. การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติหรือ PILA คือเครื่องมือที่ทรงพลังในการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน
PILA (Participatory Interactive Learning through Action) เป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด และทรงพลังที่สุด 'การรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี' หรือการ 'รวมตัวร่วมคิดร่วมทำ' ใช้การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติเป็นเครื่องมือ
สัมคมปัจจุบันต่างจากสังคมโบราณมาก ที่เป็นระบบที่เชื่อมโยงยาวไกลหลายมิติอย่างซับซ้อน เป็นระบบความซับซ้อน (Complexity system) ที่พลิกผันโดยรวดเร็ว ยากต่อการเข้าใจและจัดการ เครื่องมือเก่า ๆ ใช้ไม่ได้ผลแล้ว เช่น อำนาจ เงิน การวิพากษ์วิจารณ์ การใช้ความรู้สำเร็จรูปตายตัว แต่ก็ยังใช้วิธีเก่า ๆ กันอยู่จึงไม่ได้ผล วิธีใหม่คือ PILA ซึ่งบางคนเรียกว่า 'กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา' (New Development Paradigm)
7. การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformative force)
การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ยิ่งทำ
1. ยิ่งรักกันมากขึ้น เพราะมีความเสมอภาค และภราดรภาพ ที่คนทุกคนมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เสมอกัน จึงเกิดสามัคคีธรรม
2. เกิดความเชื่อถือไว้วางใจกัน (Trust) ซึ่งหาได้ยากและมีค่ายิ่ง
3. ยิ่งฉลาดขึ้นและฉลาดร่วมกัน ระบบที่ซับซ้อนเรียนรู้และเข้าใจได้ยาก การเรียนรู้แบบตัวใครตัวมันทุกคนจะประดุจเหมือนคนโง่ แต่การเรียนรู้ร่วมกันในการปฎิบัติง่ายและสนุก จึงฉลาดและฉลาดร่วมกัน เกิดอัจฉริยะภาพกลุ่ม (Group genius)
4. เกิดปัญญาร่วม (Collective wisdom) ปัญญาเดี่ยวไม่พอที่จะเผชิญความยาก
5. ทั้งหมดร่วมกันเป็นพลังมหาศาลที่จะทำให้ฝ่าความยากทุกชนิดไปสู่ความสำเร็จ
6. เกิดความสุขร่วมกันประดุจบรรลุนิพพาน
ลองสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในทุกมิติ ทั้งโลกทัศน์ วิธีคิด จิตสำนึก สัมพันธภาพ ด้วยคุณสมบัติใหม่ที่เกิดขึ้น ต่อไปจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบและองค์กรอะไร ๆ ก็สำเร็จได้ง่าย เมื่อเชื่อถือไว้วางใจกันแล้ว เกิดปัญญาร่วมแล้ว จะทำอะไรก็สำเร็จทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องยากสุด ๆ ที่แต่ก่อนทำไม่ได้
8. ควรรู้หลัก PPPO
ผู้มีประสบการณ์ขับเคลื่อนเรื่องยาก ๆ ไว้เป็นตัวย่อว่า PPPO
P = Purpose = ความมุ่งมั่นร่วมกัน
P = Principles = หลักการ
P = Participation = การมีส่วนร่วม ร่วมคิดร่วม
O = Organization = ทำหมายถึงการปฏิรูปองค์กร
เรียงตามนั้น อย่าเอา O ขึ้นหน้าเป็นอันขาดเพราะจะทำให้ล้มเหลว แต่การปฏิรูปต่าง ๆ มักเอาการปฏิรูปองค์กร หรือ O นำหน้าจึงไม่สำเร็จ เพราะจะประสบการต่อต้านในองค์กรมาก การปฏิรูปการศึกษากี่ครั้ง ๆ ก็จะปฏิรูปองค์กรทุกครั้งจึงไม่สำเร็จ
แต่ถ้าทำ PPP เสียก่อน และไปให้ถึง P ตัวที่สามให้ได้ นั่นคือการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ หรือรวมตัวช่วยกันทำสิ่งใหม่ที่ดี ที่ใช้การเรียนรู้ร่วมกันในการปฎิบัติหรือ PILA เมื่อเกิด Transformation ขึ้นแล้ว การปฏิรูปองค์กรใด ๆ หรือ O ก็จะ เกิดขึ้นเกือบเป็นอัตโนมัติ O ขึ้นหน้าหรือ O ตามหลังจึงมีผลต่างกัน
9. คำอวยพรให้คนไทยสร้างความเป็นธรรมได้สำเร็จ
การสร้างความเป็นธรรมในสังคมไทยให้สำเร็จเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ที่สุด ที่ไม่เคยมีใครทำสำเร็จ ดูสหรัฐอเมริกาที่มีอยู่ได้รับรางวัลโนเบลจำนวนสูงสุด ขณะนี้เหลื่อมล้ำสุด ๆ
'การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม' เป็นวิถีทางหนึ่ง
'การรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี' เป็นอีกวิถีทางหนึ่ง อาจทำทั้ง 2 วิธีก็ได้
อุดมคติเป็นสิ่งดีแต่อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีปัญญาเชิงระบบและการจัดการที่ดีด้วย การเรียนรู้ที่ดีเป็นเรื่องที่ประเสริฐที่สุดของมนุษย์ เพราะมนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้สูงสุด สามารถเรียนรู้ให้บรรลุอะไรก็ได้
การเรียนรู้ร่วมกันในการปฎิบัติ หรือการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ เป็นธรรมะเพื่อความเจริญถ่ายเดียวหรือ อปริหานิยธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญเป็นอันมาก 'อปริหานิยธรรม' แปลตามศัพท์ว่า 'ธรรมะเพื่อความไม่ฉิบหาย'
ความเป็นธรรม คือสิ่งใหม่ที่ดี ที่ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ว่าไม่ดี จึงสามารถรวมตัวกันทำได้ถ้ามีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ Transformation นอกจากที่กล่าวในข้อ 7 แล้ว ยังเกิด
ปัญญาเชิงทัศนะ คือเห็นทั้งหมด หรือเห็นช้างทั้งตัว ออกจากสภาพ 'ตาบอดคลำช้าง' ที่รู้เห็นช้างเป็นส่วน ๆ แล้วทะเลาะกันยกใหญ่เพราะรู้เห็นต่างกัน แต่ถ้าตาไม่บอดคือทัศนะดีเห็นช้างทั้งตัว ก็ไม่มีอะไรจะทะเลาะกันเพราะส่วนต่างล้วนเป็นของช้างตัวเดียวกัน
องค์รวม เช่น คน ก็ต้องมีทั้งแขนซ้ายและแขนขวา เครื่องบินที่จะบินได้ ก็ต้องมีทั้งปีกซ้ายและปีกขวา ถ้ามีทัศนะองค์รวม ซ้ายกับขวาก็ไม่มีอะไรจะต้องมาตีกัน เพราะต่างเป็นของอค์งรวมเดียวกัน
ความขัดแย้งระหว่างซ้ายกับขวาบางครั้งก็ฆ่าแกงกันอย่างน่าสลดสังเวช จะถึงคราวสิ้นสุดลงด้วยปัญญาเชิงทัศนะ
ปัญญาเชิงทัศนะจะพลิกโฉมประเทศไทย การรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี สามารถสร้างทัศนะใหม่ที่ไปพ้น 'ตาบอดคลำช้าง' ประเทศไทยจะดำเนินไปบนทางสายกลาง อันเป็นสายปัญญา ไมตรีจิต และความร่วมมือ สู่ความเป็นธรรม ไม่มีการแบ่งข้างแบ่งขั้วและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
คนไทยทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ล้วนเป็นเพื่อนร่วมชาติ ไม่มีใครชังชาติ เราต้องร่วมกันเดินทางสู่อนาคตที่ดีของเราร่วมกัน
เขียนโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี