"... เชื่อว่า การส่งบทความโจมตี น.ส.รื่นวดี คงมีไปอีกระยะหนึ่งจนกว่ากระบวนการสรรหาเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่จะเสร็จสิ้น ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต.ที่มีนายพิชิต อัคราทิตย์ เป็นประธาน ให้เปิดรับสมัครเลขาธิการคนใหม่จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวว่า สาเหตุที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ไม่ยอมต่อวาระให้แก่ น.ส.รื่นวดีเป็นเพราะมีความขัดแย้งอย่างรุนแรง หรือ ‘เหยียบเท้า’ กับ ‘ผู้ยิ่งใหญ่’ ในคณะกรรมการ ก.ล.ต. ..."
แม้กระแสข่าวกรณีที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีมติด้วยเสียง 6 ต่อ 4 ไม่ต่อวาระการดำรงตำแหน่งให้แก่ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เป็นเลขาธิการ ก.ล.ต.อีกสมัยหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนมกราคม-ต้นกุมภาพันธ์ 2566 ได้เงียบหายไปจากสื่อต่างๆ แล้วก็ตาม.
แต่บทความที่วิพากษ์วิจารณ์ น.ส.รื่นวดี ถึงความไม่เหมาะสมในการที่จะดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต.อีกวาระหนึ่งยังถูกส่งไปตามแอพพลิเคชันไลน์อย่างต่อเนื่อง เท่าที่ผู้เขียนได้รับมีไม่ต่ำกว่า 5-6 เรื่อง เช่น การบริหารจัดการภายในสำนักงาน ก.ล.ต.จนทำให้บุคลากรลาออกไปเป็นจำนวนมาก การไม่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาตลาดทุน การแก้ไขปัญหาการซื้อขายบริษัทหลักทรัพย์ บมจ.มอร์รีเทิร์น หรือ MOREฯลฯ
เชื่อว่า การส่งบทความโจมตี น.ส.รื่นวดี คงมีไปอีกระยะหนึ่งจนกว่ากระบวนการสรรหาเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่จะเสร็จสิ้น ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต.ที่มีนายพิชิต อัคราทิตย์ เป็นประธาน ให้เปิดรับสมัครเลขาธิการคนใหม่จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวว่า สาเหตุที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ไม่ยอมต่อวาระให้แก่ น.ส.รื่นวดีเป็นเพราะมีความขัดแย้งอย่างรุนแรง หรือ ‘เหยียบเท้า’ กับ ‘ผู้ยิ่งใหญ่’ ในคณะกรรมการ ก.ล.ต.
ความขัดแย้งดังกล่าวมาถึงจุดแตกหัก เมื่อเกิดคดีการซื้อขายหุ้น MORE ในลักษณะฉ้อโกงและการสร้างราคาหุ้นกว่า 4,000 ล้านบาทซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ เอเชียเวลท์ เข้าไปพัวพันในการซื้อขายกว่า 279 ล้านบาทโดยส่วนหนึ่งมีการนำเงินลูกค้าไปใช้
นอกจากนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. ยังกล่าวโทษบริษัทหลัก เอเชีย เวลท์ จำกัด ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีนำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้ประโยชน์เพื่อบริษัท ระหว่างวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 อีกด้วย
( ‘ศาลแพ่ง’สั่งยึด-อายัดทรัพย์สิน คดีฉ้อโกงกรณีหุ้น MORE รวม 4.47 พันล้าน ไว้ชั่วคราว )
บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย เวลท์นั้น รู้กันในตลาดทุนว่า ‘ผู้ยิ่งใหญ่’ ในคณะกรรมการ ก.ล.ต.เคยถือหุ้นอยู่และเคยเป็นผู้บริหารระดับสูง แม้จะมีการแก้ต่างว่า หุ้นที่ถืออยู่มีเพียงเล็กน้อยและได้ลาออกผู้บริหารแล้วก็ตาม
แต่ไม่มีการอธิบายว่า บริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัทหลักทรัพย์เอเชียเวลท์ ‘ภริยา’ คนละนามสกุล ยังถือหุ้นอยู่หรือไม่
เมื่อมี บริษัทหลักทรัพย์เอเชียเวลท์ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง เลขาธิการ ก.ล.ต. ได้นำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต.เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพิกถอนในอนูญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
ในการพิจารณาวาระดังกล่าว ‘ผู้ยิ่งใหญ่’ในคณะกรรมการ ก.ล.ต.ถูกเชิญออกจากที่ประชุมเพราะถูกมองว่า มี ‘ส่วนได้ส่วนเสีย’ ในเรื่องที่ต้องพิจารณา
คาดว่า การเพิกถอนในอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทเอเชียเวลท์ อยู่ระหว่างให้สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ทำความเห็นเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
( ‘ตลท.’คุ้ยหลักฐานสอบปั่นหุ้น MORE-แจงวิธีโอนหลักทรัพย์ หลัง‘ก.ล.ต.’สั่งปิด‘เอเชีย เวลท์’ )
เรื่องราวของ ‘ผู้ยิ่งใหญ่’ มิได้มีเพียงแค่นี้ แต่ก่อนหน้าที่ จะเข้ารับตำแหน่งเป็นกรรมการ ก.ล.ต.ได้ถูกนักลงทุนรายหนึ่งยื่นฟ้องพร้อมกับบริษัทรักษาความปลอดภัยแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2562 ในข้อหา ‘ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน’ ต่อศาลอาญา
สาระสำคัญของคดีคือ บริษัทรักษาความปลอดภัยแห่งนี้จะออกตั๋วแลกเงินมูลค่า 100 ล้านบาทโดยให้บริษัทที่ ‘ผู้ยิ่งใหญ่’ ผู้บริหารวิเคราะห์และจัดจำหน่าย ผู้ฟ้องคดีได้ลงทุนในตั๋วแลกเงิน 50 ล้านบาทและโอนเงินเข้าบัญชี ‘ผู้ยิ่งใหญ่’ 48.276 ล้านบาทโดยการหักดอกเบี้ยและภาษีไว้ล่วงหน้า1.723 ล้านบาท
เมื่อถึงกำหนดชำระ บริษัทรักษาความปลอดภัยแห่งนี้ ไม่ชำระเงินคืนตามตั๋วแลกเงินและไม่มีการนำเงินลงทุนตามที่กล่าวอ้างไว้ เมื่อมีการออกเช็คธนาคารก็ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค
น่าเสียดายที่ผู้เขียนยังไม่ทราบว่า ผลคดีนี้เป็นอย่างไร
ทราบแต่เพียงว่า หลังจากที่ ‘ผู้ยิ่งใหญ่’ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ใน ก.ล.ต.เมื่อกลางปี 2563 (ขณะที่ยังมีคดีฉ้อโกงประชาชนอยู่ในศาล) ในการนัดไต่สวนมูลฟ้องเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ผู้เสียหายได้ขอถอนฟ้องโดยระบุในคำร้องว่า “เนื่องจากโจทก์และจำเลย...สามารถตกลงกันได้ จึงไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลย..”
คำถามก็คือ ในการแต่งตั้ง ‘ผู้ยิ่งใหญ่’ ไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ได้รับการแต่งตั้งเลยหรือ มีการปกปิดข้อเท็จจริงในการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ก.ล.ต.หรือไม่
เพราะคดีที่ถูกฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชน เกี่ยวพันกับความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ในตลาดทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำกับดูแลตลาดทุน
ข้อมูลที่พรั่งพรูออกมา ทางหนึ่งต้องการโจมตีคู่ขัดแย้ง อีกทางหนึ่งต้องการสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง แต่ไม่เคยปรากฏว่า คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายออกมาชี้แจงต่อสาธารณะอย่างชัดเจน
สงครามที่เกิดขึ้นจึงเป็น ‘สงครามใต้ดิน’ ที่สะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่ผู้กำกับดูแลตลาดทุน ยังซุกขยะไว้ใต้พรม มีปัญหาหมักหมมไว้เป็นจำนวนมาก ขาดธรรมาภิบาลและความโปร่งใส
ถ้าไม่เร่งสะสางปัญหาเหล่านี้ ความหวังที่จะพัฒนาตลาดทุนให้เกิดความโปร่งใสและน่าเชื่อถือจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
เขียนโดย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์