"...เมื่อพิจารณาจากขั้นตอนการพิจารณาสำนวนแล้ว เห็นได้ว่า พนักงานอัยการในสำนักงานชี้ขาดคดีฯมีความเห็น 'สั่งฟ้อง'แต่เมื่อสำนวนมาถึงระดับ 'อธิบดี'มีการกลับความเห็นและจนถึงระดับอัยการสูงสุด โดยก่อนที่อัยการสูงสุดจะชี้ขาด สำนวนค้างอยู่ที่อัยการสูงสุดนานประมาณ 4 เดือน..."
แม้ น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุดมีคําสั่งฟ้อง นายชัยณัฐร์ หรือ 'ตู้ห่าว' กรณ์ชายานันท์ กับพวก รวม 41 ราย ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 และประเภท 4 โดยกระทําการในลักษณะเป็นการกระทํา ขององค์กรอาชญากรรมเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม
แต่คดีบุกเข้าไปเผาสวนงู ของ บริษัท ภูเก็ต เฮลตี้นูทรีเมนต์ จำกัด ที่จังหวัดภูเก็ต และทำร้าย นายอนุชิต ไชยทองงาม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนพิการเมื่อ 23 เมษายน 2555 หรือเมื่อกว่า 10 ปีก่อนซึ่ง ‘ตู้ห่าว’และพ.ต.ท.หญิง วันทนารีย์ กรณ์ชยานันท์(ยศขณะนั้น) ภรรยา ตกเป็นผู้ต้องหาในฐานะผู้จ้างวาน แต่นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุดในขณะนั้น มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ยังคงเป็นที่เคลือบแคลงและมีคำถามจากสังคมว่า มีอไรอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่
ในเรื่องดังกล่าว นายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เคยยื่นหนังสือถึง น.ส.นารี ตันฑเสถียร ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนอัยการจังหวัดภูเก็ตกับพวกเพื่อให้รื้อสำนวนคดีที่มีการสั่งไม่ฟ้อง ‘ตู้ห่าว’กับพวก แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ ผู้ตรวจอัยการ ในฐานะโฆษกอัยการสูงสุด และ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดได้ แถลงชี้แจงวกรณีที่อัยการสูงสุดในขณะนั้นมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง 'ตู้ห่าว'กับพวกโดยมีใจความสรุปว่า หลังจากอัยการจังหวัดภูเก็ตมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ‘ตู้ห่าว’กับพวก
ต่อมาทางตำรวจมีความเห็นแย้งขอให้ฟ้องคดี แต่นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุดในขณะนั้น มีคำสั่งเด็ดขาดเมื่อปี 2563 สั่งไม่ฟ้อง
“คดีนี้เสร็จสิ้นเด็ดขาดแล้วด้วยคำสั่งอัยการสูงสุดชี้ขาดไม่ฟ้อง คงไม่มีการตรวจสอบอะไรแล้ว เพราะอดีตอัยการสูงสุดได้มีการชี้ขาดไปแล้ว แต่ถ้ามีพยานหลักฐานชิ้นใหม่ ก็อาจจะนำมาพิจารณาอีกได้”นายนายธรัมพ์กล่าว
อย่างไรก็ตามในการแถลงทีมโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ได้ให้รายละเอียดว่า หลังจากที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นแย้งอัยการจังหวัดภูเก็ตซึ่งสั่งไม่ฟ้องแล้ว ตามขั้นตอนต้องส่งสำนวนไปยังสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุดเพื่อทำความเห็น ก่อนที่จะส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาต่อไปนั้น
สำนักงานชี้ขาดคดีฯมีความเห็นอย่างไร?
จากการตรวจสอบข้อมูลของผู้เขียนตั้งแต่ต้นพบว่า หลังจากที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง ‘ตู้ห่าว’แล้ว เมื่อพนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตรับสำนวนเพียงไม่กี่วันก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง แต่ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า ถ้าสำนวนไม่สมบูรณ์ พนักงานอัยการได้สั่งให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร
อย่างไรก็ตาม เมื่อพนักงานสอบสวนมีความเห็นแย้งความเห็นของพนักงานอัยการ สำนวนถูกส่งต่อไปให้สำนักงานชี้ขาดคดีฯ
นางวันเพ็ญ ยิ่งยงวัฒนากุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอัยการสูงสุดพิจารณา มีความเห็น 'เห็นควรสั่งฟ้อง'
สำนวนถูกส่งต่อให้ นางวรรณภา จรูญโรจน์ อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานชี้ขาดคดีฯ มีความเห็นว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ว่า 'สั่งฟ้อง' เช่นเดียวกัน
เมื่อสำนวนถูกส่งต่อมาให้อธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีฯพิจารณา อธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีฯได้มอบหมายให้ นายพัฒนาชาติ ภักดีวงศ์ รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีสำนักขี้ขาดคดีฯพิจารณาแทนซึ่งมีความเห็นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 กลับความเห็นเป็น 'สั่งไม่ฟ้อง'
เมื่อสำนวนถูกส่งต่อไปที่รองอัยการสูงสุดซึ่งขณะนั้น นายไพบูลย์ ถาวรวิจิตร อธิบดีอัยการภาค 9 รักษาการ รองอัยการสูงสุด มีความเห็นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 'สั่งไม่ฟ้อง'
สุดท้าย สำนวนถูกส่งมาที่นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด
จาก 30 ตุลาคม 2562 จนถึง 28 กุมภาพันธุ์ 2563เป็นเวลาประมาณ 4 เดือน อัยการสูงสุดจึงมีความเห็นชี้ขาดหรือคำสั่งเด็ดขาด 'ไม่ฟ้อง'พ.ต.ท.หญิง วันทนารีย์ กรณ์ชยานันท์ นายชัยณัฐร์ หรือ 'ตู้ห่าว'ตามฐานตวามผิดและบทกฎหมายที่ รองอัยการสูงสุดเสนอใน ชี้ขาดไม่ฟ้อง นายยุทธนาหรือเล็ก การมาสม
จัดการตามที่รองอัยการสูงสุดเสนอกรณีผู้กล่าวหากล่าวหาที่ 1 ผู้ต้องหาที่ 1(พ.ต.ท.หญิง วันทนารีย์ กรณ์ชยานันท์ )และผู้ต้องหาที่ 2 (ตู้ห่าว)ร้องขอความเป็นธรรม
เมื่อพิจารณาจากขั้นตอนการพิจารณาสำนวนแล้ว เห็นได้ว่า พนักงานอัยการในสำนักงานชี้ขาดคดีฯมีความเห็น 'สั่งฟ้อง' แต่เมื่อสำนวนมาถึงระดับ ‘อธิบดี’มีการกลับความเห็นและจนถึงระดับอัยการสูงสุด โดยก่อนที่อัยการสูงสุดจะชี้ขาด สำนวนค้างอยู่ที่อัยการสูงสุดนานประมาณ 4 เดือน
เมื่อสังคมและประชาชนมีความเคลือบแคลงต่อคำสั่งเด็ดขาด 'ไม่ฟ้อง' ของอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุดจะตอบแต่เพียงว่า เรื่องยุติตามกฎหมายแล้วไม่ได้ แต่ต้องเปิดเผยสำนวนและความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันในระดับต่างๆของพนักงานอัยการเพื่อให้สาธารณชนได้ตรวจสอบความชอบในการใช้ดุลยพินิจเพื่อให้ประชาชนได้เกิดความมั่นใจว่า การกลับความสั่งเป็น ‘ไม่ฟ้อง’ชอบด้วยเหตุผลทางกฎหมายหรือไม่
เพราะมิเช่นนั้นแล้ว คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องของอัยการสูงสุด จะต้องถูกสังคมเคลือบแคลงและตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา
โดยเฉพาะในยุคที่ผู้มีเงินและผู้มีอิทธิพลสามารรถครอบงำกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายเช่นในปัจจุบัน
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์
-ขอขอบคุณภาพประกอบจาก www.tijthailand.org