"...การให้ผู้ที่เกี่ยวข้องร้องให้ศาลอาญาที่มีเขตอำนาจไต่สวนโดยทันทีในกรณีที่มีการทรมาน การกระทำโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การกระทำให้สูญหาย ดังนั้น พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการกระทำโดยมิชอบจากเจ้าหน้าที่บางคน และเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมชั้นตำรวจของประเทศ อันจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อสังคมไทยยิ่งกว่าผลร้ายดังที่ผู้บัญชาการ สตช. กล่าวอ้าง..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน 18 แห่งออกแถลงการณ์คัดค้านการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ขอขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ตามที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 แต่ปรากฏว่า ในวันที่ 6 มกราคม 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติฯ นี้ ขอเสนอความเห็นให้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายในหมวด 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่มีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์ ทักษะในการปฏิบัติและแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานกลาง อันอาจก่อให้เกิดผลร้ายต่อสังคม นั้น
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์การสิทธิมนุษยชนท้ายแถลงการณ์นี้ ขอคัดค้านการขอขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ดังกล่าว ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มีบทบัญญัติสำคัญในการคุ้มสิทธิในชีวิตและร่างกาย อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยในหมวด 3 ได้กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย เพื่อควบคุมและถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ย่อมส่งผลต่อการปฏิรูปการทำงานของตำรวจอย่างกว้างขวาง เช่น กำหนดว่าในการตรวจค้นจับกุมบุคคล เจ้าหน้าที่จะต้องติดกล้องติดตามตัวเจ้าหน้าที่หรือ Body Cam ซึ่งนอกจากเพื่อการป้องกันไม่ให้มีการซ้อมทรมานหรือการปฏิบัติโดยมิชอบแล้ว ยังเป็นการควบคุมการตรวจ ค้น จับ ทำให้ประชาชนไม่ถูกรังแก รีดไถ หรือการประพฤติโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติต่อประชาชนโดยสุภาพ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
อีกทั้งในกรณีที่เจ้าหน้าที่จับกุมบุคคลใดแล้ว จะต้องแจ้งให้หน่วยงานอื่นคือ ฝ่ายปกครองและอัยการทราบทันที พร้อมทำบันทึกการจับกุม สภาพเนื้อตัว ร่างกายของผู้ถูกจับ โดยละเอียด เพื่อให้ครอบครัวหรือทนายความของผู้ถูกจับสามารถตรวจสอบได้ อันเป็นการป้องกันไม่ให้มีการทรมาน อุ้มหาย หรือการกระทำอื่นใดที่มีลักษณะโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกจับ ให้อำนาจฝ่ายปกครอง ดีเอสไอ และอัยการสอบสวนหรือตรวจสอบได้
นอกจากนี้ การให้ผู้ที่เกี่ยวข้องร้องให้ศาลอาญาที่มีเขตอำนาจไต่สวนโดยทันทีในกรณีที่มีการทรมาน การกระทำโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การกระทำให้สูญหาย ดังนั้น พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการกระทำโดยมิชอบจากเจ้าหน้าที่บางคน และเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมชั้นตำรวจของประเทศ อันจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อสังคมไทยยิ่งกว่าผลร้ายดังที่ผู้บัญชาการ สตช. กล่าวอ้าง
2. พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เป็นผลของความพยายามของทุกภาคส่วนในสังคมไทย ทั้งภาคประชาสังคม วิชาการ และภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม และรัฐสภา โดยได้รับความเห็นชอบโดยมติเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎร จนเป็นที่ชื่นชมขององค์การสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่ติดตามว่าเมื่อใดประเทศไทยจะมีกฎหมาย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการอุ้มหายได้ ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 นายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) ชื่นชมประเทศไทยที่ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย ฯ นี้
3. การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พยายามจะให้มีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายนี้ออกไป โดยอ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่พร้อมทำงาน อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะใช้ในการปฏิบัติงานยังมีไม่พร้อมนั้น เห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ปราศจากเหตุผลอันสมควร ทั้งนี้เพราะกฎหมายได้ให้เวลาหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง สตช. มีเวลาในการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายหลายเดือน และ ตัวแทนของ สตช. ในเวทีสาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ให้คำรับรองและยืนยันกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรและประชาชน เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ได้แน่นอน โดยไม่มีปัญหาแต่ประการใด อันถือว่าคำชี้แจ้งดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีผลผูกพันกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย
4.อนึ่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมมีผลผูกพันต่อหน่วยงานทุกหน่วยงานของรัฐและประชาชน ความพยายามผลักดันให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายนี้ออกไปอีกย่อมกระทำไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ การที่สตช.จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีออกเป็นพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้ไปก่อน ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 172 ที่กำหนดว่าการออกพระราชกำหนดต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือปัดป้องภัยพิบัติสาธารณะเท่านั้น ซึ่งต้องเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การที่ สตช. ขอเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ออกไปย่อมไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสามารถกระทำได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560
ด้วยเหตุผลดังกล่าวสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์การสิทธิมนุษยชนท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมทำความเข้าใจกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยเร่งด่วนและจะต้องไม่ดำเนินการใดอันจะมีผลให้เลื่อนการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ออกไป ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ตามกำหนดเพื่ออำนวยให้เป็นไปตามหลักการสากลที่ว่ารัฐมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในการเคารพ (respect) ปกป้อง (protect) และเติมเต็มให้การปฏิบัติสิทธิมนุษยชนเป็นจริง (fulfill) ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อสังคมไทยต่อไป
แถลง ณ วันที่ 12 มกราคม 2566
- สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF)
- กลุ่มด้วยใจ
- สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
- กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย
- คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
- มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
- เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD
- เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี HAP
- ศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน (ศสอ.)
- มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
- มูลนิธิสายเด็ก 1387
- มูลนิธิสถาบันเพื่อการรวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี
- มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR)
- คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)
- มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนยชน (pro-rights)
- มูลนิธิรักษ์เด็ก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: