ชาวบ้าน-ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ มองกรณี ผบ.ตร.ขอเลื่อนใช้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ เป็นการยื้อเวลา แสดงให้เห็นถึงความไม่ตั้งใจในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนหากนำมาใช้โดยเร็ว
จากกรณีที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายในหมวด 3 การป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เนื่องจากยังปัญหาข้อขัดข้อง 3 ด้าน ที่อาจจะก่อให้เกิดผลร้ายต่อสังคม คือ
1.การจัดเตรียมงบประมาณกว่า 3.4 พันล้านบาทในการจัดซื้อกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวและวางระบบ ซึ่งไม่ได้อยู่ในงบประมาณปี 2566
2.ด้านการเตรียมความพร้อมของบุคลากร เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจยังขาดความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องตามกฎหมาย
3.ปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติ อันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนและคลุมเครือในบทบัญญัติของกฎหมาย และยังไม่มีแนวปฏิบัติอันเป็นมาตรฐานกลางนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ทำให้ภาคประชาสังคมและประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รับทราบข่าว รู้สึกแปลกใจและตั้งคำถามว่าเป็นการยื้อเวลาเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ โดยภาคประชาสังคมในพื้นที่ปลายด้ามขวานเป็นกลุ่มคนที่ร่วมผลักดันให้มีกฎหมายนี้มาตั้งแต่แรกเริ่ม เนื่องจากเป็นพื้นที่ประกาศใช้กฎหมายพิเศษที่มีลักษณะลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ ที่ผ่านมามีกรณีอุ้มหาย บังคับให้สูญหาย และซ้อมทรมาน เป็นข่าวและเป็นเรื่องร้องเรียนผ่านองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้ง
นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ หนึ่งในแกนนำองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า ถือเป็นการยื้อเวลาด้วยการอ้างรองบประมาณ และการอ้างความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฎิบัติตามกฎหมาย ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้กว่าจะผ่านกลไกต่างๆ ก็ใช้เวลามานานแล้ว แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ทั้งที่มีประโยชน์กับประชาชนและเจ้าหน้าที่เองเป็นการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในสายตาประชาชนมากขึ้นด้วย
“เราเห็นว่าการเร่งบังคับใช้กฎหมายโดยเร็วที่สุดเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้มาตรฐานในระดับสากล โดยเฉพาะการเคารพสิทธิมนุษยชน ป้องกันการถูกครหาเรื่องการซ้อมทรมานและอุ้มหายที่มีเรื่องร้องเรียนกันมาตลอด” ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าว
ด้าน นางสาวรอฮีหมะ (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านในพื้นที่ จ.ยะลา ซึ่งเคยรับทราบปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมตัวบุคคลใกล้ชิดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวว่า คิดไว้อยู่แล้วว่าไม่มีทางที่เจ้าหน้าที่ผู้ถือกฎหมาย ถืออาวุธ จะยอมรับได้เรื่องนี้ ต้องการยื้อเวลาไปเรื่อยๆ ก็หวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลสักวันหนึ่ง
ขณะที่ พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเป็นไปตามที่ผู้ใหญ่เห็นควร ฝ่ายปฏิบัติก็พร้อมปฏิบัติตามนโยบายอยู่แล้ว