พ.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึง รมว.ยุติธรรม ขอขยายเวลาบังคับใช้กม.หมวด 3 พ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ ยกเหตุติดขัด 3 ด้าน ความไม่พร้อมงบประมาณขาดเงินซื้อกล้อง-วางระบบ 3.4 พันล. จนท.ขาดทักษะ-มีความคลุมเครือในบทบัญญัติ เร่งดำเนินการไปอาจเกิดผลร้ายต่อสังคมแทน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สชต.) โดยพ.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ทำหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ทั้งในเรื่องการจัดเตรียมงบประมาณ ในการจัดซื้ออุปกรณ์ที่ยังไม่เพียงพอ อาทิ กล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว กล้องติดรถยนต์ควบคุมผู้ถูกจับ กล้องติดตามสถานที่ควบคุม ที่ต้องใช้งบประมาณกว่า 3.4 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการเตรียมความพร้อมของบุคลากร ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังขาดความรู้ทักษะในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องตามกฎหมาย รวมไปถึงข้อขัดข้องในการปฏิบัติ อันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจน คลุมเครือในบทบัญญัติกฎหมาย
สตช.จึงขอเสนอความเห็นให้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายในหมวด 3 การป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ออกไปก่อน (ดูรายละเอียดกฎหมายที่นี่ https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/066/T_0043.PDF ) โดยมีกรณีอ้างอิงจากพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ซึ่งมีหลักการและเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับออกไปก่อน เนื่องจากหากมีการใช้บังคับตามกำหนดเวลาเดิมในขณะที่ยังไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติอาจเกิดผลร้ายต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกัน
สำหรับรายละเอียดปัญหาทั้ง 3 ด้าน ในหนังสือฉบับนี้ ระบุว่า
1. ด้านการจัดเตรียมงบประมาณ โดยที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดซื้อกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวให้กำลังพลเพื่อใช้ปฏิบัติงานในภารกิจอื่น หากจะนำมาเพื่อรองรับการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าว พบว่าปริมาณยังไม่เพียงพอ โดยกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่จะต้องมีการจัดซื้ออีกจำนวน 171,808 ตัว กล้องติดรถยนต์ควบคุมผู้ถูกจับ จำนวน 1,578 ตัว และกล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับจำนวน 6,244 ตัว จะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการ ประมาณ 3,473,744,220 บาท บาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบหรืออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล หน่วยความจำ ระบบ Cloud (ประเภททำประกันภัยเก็บข้อมูล) ซึ่งงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์และจัดทำระบบดังกล่าว ไม่ได้ถูกกำหนดอยู่ในแผนหรือรายการงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยจะต้องดำเนินการตั้งคำของบประมาณอย่างเร็วที่สุดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
2. ด้านการเตรียมความพร้อมของบุคลากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีกำลังพลในสายงานปฏิบัติการ ประมาณ 250,000 นาย จากจำนวน 17 หน่วยงานในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากการสำรวจความพร้อมของข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ พบว่า นอกจากการขาดความพร้อมในด้านอุปกรณ์แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังขาดความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากเทคนโลยีของอุปกรณ์ที่ใช้บันทึกภาพและเสียงในปัจจุบันได้พัฒนาก้าวล้ำไปมาก และผลิตภัณฑ์มีหลากหลายยี่ห้อ มีวิธีการใช้งานแตกต่างกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่มีทักษะและความเชี่ยวชาญในการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมใช้งานอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง ฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดทักษะและความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานในพื้นที่จริง เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและสัมฤทธิ์ผลตามพระราชบัญญัตินี้
3. ปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติ อันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจน หรือคลุมเครือในบทบัญญัติของกฎหมาย และยังไม่มีระเบียบหรือแนวทางการปฏิบัติอันเป็นมาตรฐานกลาง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมและควบคุมยึดถืปฏิบัติ อันจะส่งผลให้แต่ละหน่วยงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่ในแนวทางที่แตกต่างกัน เกิดความหลากหลายของมาตรฐานและการตีความที่แตกต่างกันซึ่งจะส่งผลให้เกิดความสับสนกับทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและประชาชนที่เกี่ยวข้อง และนอกจากนี้หน่วยงานของรัฐแต่ละหน่วยงานมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ แตกต่างกัน จึงต้องมีการกำหนดระเบียบหรือแนวทางการปฏิบัติอันเป็นมาตรฐานเดียวกันซึ่งตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 19 (10) กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจะมีหน้าที่และอำนาจก็ต่อเมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น
โดยในที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 1/2565 ที่ผ่านมานั้น หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานได้เสนอปัญหาและข้อขัดข้องจากการที่ยังไม่มีระเบียบหรือแนวทางการปฏิบัติอันเป็นมาตรฐานกลางเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวในที่ประชุมเช่นเดียวกัน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นว่า หากมีการบังคับให้พระราชบัญญัติดังกล่าวตามกำหนดเวลาเติมในขณะที่หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ไม่มีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์ ทักษะในการปฏิบัติ และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานกลาง อาจก่อให้เกิดผลร้ายต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเสนอความเห็นให้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายในหมวด 3 การป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการหรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ออกไปก่อน ดังกล่าว (ดูหนังสือประกอบ)