“...เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 จึงถือว่า คณะรัฐมนตรีที่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้คือวันที่ 6 เมษายน 2560…”
กรณีศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินคดีความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ว่าให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ยังไม่ครบ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จึงยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้
โดยการพิจารณาตัดสินคดีนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมติเสียงข้างมาก 6 เสียงต่อ 3 เสียง ที่ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป
เสียงข้างมาก 6 เสียง ประกอบด้วย 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม, 2.นายปัญญา อุดชาชน 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ และ 6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน
ส่วนอีก 3 เสียงข้างน้อย ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ และ 3.นายนภดล เทพพิทักษ์
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำคำวินิจฉัยส่วนตนของ 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ,นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ และ นายนภดล เทพพิทักษ์ ที่เห็นควรให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
- คดี 8 ปีประยุทธ์ คำวินิจฉัย 'นครินทร์' : การผูกขาดอำนาจ อาจก่อให้เกิดวิกฤต-การทุจริต
- คดี 8 ปี ประยุทธ์ :เปิดคำวินิจฉัยเสียงข้างน้อย ‘ทวีเกียรติ' ไม่ให้มีการผูกขาดอำนาจ!
- คดี 8 ปี ประยุทธ์:คำวินิจฉัยเสียงข้างน้อย‘นภดล'ให้นับเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯตามความเป็นจริง
และคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ได้แก่ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์, นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม และนายวิรุฬห์ แสงเทียน มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
- คดี 8 ปี ประยุทธ์ คำวินิจฉัยเสียงข้างมาก 'วรวิทย์' : เริ่มนับ 6 เม.ย.60 รธน.ประกาศใช้
- คดี 8 ปี ประยุทธ์ ‘บรรจงศักดิ์’ : ใช้ ม.264 ตีความย้อนหลังอายุนายกฯ ไม่ได้
- คดี 8 ปีประยุทธ์ ‘ปัญญา อุดชาชน’ บทเฉพาะกาล รธน. ไม่ระบุนับวาระ ‘นายกฯ’
- คดี 8 ปี ประยุทธ์ ‘อุดม สิทธิวิรัชธรรม’ นับอายุนายกฯ ตาม รธน. ต้องเริ่มที่ 9 มิ.ย. 62
- คดี 8 ปี ประยุทธ์ ‘วิรุฬห์ แสงเทียน’ ความเห็น กรธ. ไม่ใช่เจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ
ต่อไปนี้ คือ คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากคนสุดท้าย ‘จิรนิติ หะวานนท์’ ที่มีความเห็นโดยสรุปว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 จนกระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้้ และในบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ให้สถานะรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ เป้นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธณรมนูญนี้ด้วย จึงทำให้การนับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ ต้องเริ่มนับในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญคือ วันที่ 10 เม.ย. 2560 ดังนั้น พลเอกประยุทธ์จึงยังเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 8 ปี
รายละเอียดมีดังนี้
ประเด็นวินิจฉัย
ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาสิ้นสุดลงแล้วตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสองประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่
ความเห็น
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศบัญญัติความเป็นชาติและโครงสร้างการปกครอง แม้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ แต่คงยืนยันหลักการสำคัญๆของการดำรงอยู่เป็นรัฐเอกราช อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีความเป็นมา เจตนารมณ์ และรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้างตามสภาพสังคมขณะนั้น จนเป็นเหตุให้ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับก่อน และตราฉบับใหม่
ทำให้รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีความเป็นอิสระจากกัน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ รัฐธรรมนูญฉบับก่อนย่อมถูกยกเลิกไม่มีสภาพบังคับอีกต่อไป หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีเตนารมณ์ที่จะให้มีผลใช้บังคับถึงรัฐธรรมนูญฉบับก่อนในเรื่องใด ก็จะบัญญัติไว้เป็นบทเฉพาะกาลอย่างจำกัดเจาะจง
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบปะประชาชนผู้ประสบอุทกภัย และมอบเครื่องอุปโภค บริโภค ณ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ภาพจาก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
‘ประยุทธ์’ เป็นนายกตามบทเฉพาะกาล ม.264
พลเอกประยุทธ์ ได้รับพระบรมโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สนช. มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำ พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเรื่อยมากระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 เห็นได้ว่า พลเอกประยุทธ์ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งต้องมีที่มาตามมาตรา 158 วรรคสอง กล่าวคือ ความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติบทเฉพาะกาลว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินที่อยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
หากไม่มีบทเฉพาะกาลตามมาตรา 264 คณะรัฐมนตรีที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีย่อมสิ้นสภาพความเป็นรัฐมนตรีทันทีที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ โดยบทบัญญัติมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ทำให้คณะรัฐมนตรีซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พลเอกประยุทธ์ จึงยังเป็นคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินต่อไปตามรัฐธรรมนูญนี้ เรื่อยมาจนกระทั่งมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 และพลเอกประยุทธ์ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคหนึ่งและวรรคสองเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ซึ่งหากนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ก็ถือว่าครบ 8 ปีแล้ว
ม.158 วรรคสี่ ตีความ 2 นัยยะ
แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ กรณีหากยังดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี สามารถตีความได้ 2 นัยยะ 1. หากยังดำรงตำแหน่งไม่ถึง 8 ปี สภาพบทบัญญัติถือเป็นวาระการดำรงตำแหน่ง แต่ 2. หากเคยดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว สภาพบทบัญญัติถือเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเป็นวาระการดำรงตำแหน่งหรือคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม บทบัญญัติดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะของปวงชนชาวไทย กรณีตีประเด็นปัญหาวาระการดำรงตำแหน่ง ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบันในขณะนั้น ส่วนการตีความประเด็นปัญหาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เป็นการพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำปี 2565 ณ วัดวชิรธรรมสาธิต ภาพจาก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
บทเฉพาะกาล ม.264 ให้เป็นนายกฯ ต่อเนื่อง ป้องกันสุญญากาศทางการเมือง
แม้คำว่า นายกรัฐมนตรี เป็นถ้อยคำทั่วไปหมายถึงผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทุกคนไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญใด แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติบทเฉพาะกาลตามมาตรา 264 ว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งหมายถึงคณะรัฐมนตรีที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี บทเฉพาะกาลดังกล่าวเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศการบริหารประเทศในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก จึงกำหนดสถานะเฉพาะของคณะรัฐมนตรีที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีให้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560
เป็นนายกฯ-ครม. 6 เม.ย. 60 ตามวันบังคับใช้รัฐธรรมนูญ
เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 จึงถือว่า คณะรัฐมนตรีที่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้คือวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 ที่วินิจฉัยว่า
“การให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ยังคงเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป จะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่ง
ทั้งนี้ เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2544 เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 วันที่ถือว่าพลเอกประยุทธ์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ประกอบมาตรา 187 จึงเป็นวันที่ 6 เมษายน 2560”
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จึงยังไม่เกิน 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ปรระกอบมาตรา 264 วรรคหนึ่ง
อาศัยเหตุผลข้างต้น จึงเห็นว่า พลเอกประยุทธืดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังไม่เกิน 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่
พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจประชาชนที่ประสบอุทกภัย บริเวณหมู่ที่ 3 ตำบลพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี ภาพจาก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล