“...ดังนั้น นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ต้องหมายถึงนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคหนึ่งหรือวรรค 3 เท่านั้นไม่อาจรวมถึงผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญนี้ได้ อันจะเป็นการขัดหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 ด้วย…”
กรณีศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินคดีความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ว่าให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ยังไม่ครบ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จึงยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้
โดยการพิจารณาตัดสินคดีนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมติเสียงข้างมาก 6 เสียงต่อ 3 เสียง ที่ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป
เสียงข้างมาก 6 เสียง ประกอบด้วย 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม, 2.นายปัญญา อุดชาชน 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ และ 6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน
ส่วนอีก 3 เสียงข้างน้อย ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ และ 3.นายนภดล เทพพิทักษ์
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำคำวินิจฉัยส่วนตนของ 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ,นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ และ นายนภดล เทพพิทักษ์ ที่เห็นควรให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
- คดี 8 ปีประยุทธ์ คำวินิจฉัย 'นครินทร์' : การผูกขาดอำนาจ อาจก่อให้เกิดวิกฤต-การทุจริต
- คดี 8 ปี ประยุทธ์ :เปิดคำวินิจฉัยเสียงข้างน้อย ‘ทวีเกียรติ' ไม่ให้มีการผูกขาดอำนาจ!
- คดี 8 ปี ประยุทธ์:คำวินิจฉัยเสียงข้างน้อย‘นภดล'ให้นับเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯตามความเป็นจริง
และคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ได้แก่ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์และนายปัญญา อุดชาชน มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
- คดี 8 ปี ประยุทธ์ คำวินิจฉัยเสียงข้างมาก 'วรวิทย์' : เริ่มนับ 6 เม.ย.60 รธน.ประกาศใช้
- คดี 8 ปี ประยุทธ์ ‘บรรจงศักดิ์’ : ใช้ ม.264 ตีความย้อนหลังอายุนายกฯ ไม่ได้
- คดี 8 ปีประยุทธ์ ‘ปัญญา อุดชาชน’ บทเฉพาะกาล รธน. ไม่ระบุนับวาระ ‘นายกฯ’
ต่อไปนี้ คือ คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการเสียงข้างมากรายที่ 4 ‘อุดม สิทธิวิรัชธรรม’ ที่ให้ความเห็นโดยสรุปว่า นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรค 4 ต้องหมายถึงนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคหนึ่งถึงวรรค 3 เท่านั้นไม่อาจรวมถึงผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญนี้ได้ ส่วนบทบัญญัติมาตรา 264 มีขึ้นเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคหนึ่งเพื่อความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ตามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 จึงเท่ากับยังดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่
มีรายละเอียด ดังนี้
ประเด็นวินิจฉัย
ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาสิ้นสุดลงแล้วตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสองประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่
ความเห็น
ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2475 ถึง 2560 ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจากพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามที่พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรบัญญัติไว้ทั้งสิ้น มีเพียงครั้งเดียวคือเมื่อปี 2519 ที่ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจากพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งตามที่หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้แต่งตั้งเท่านั้น
ซึ่งวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2475 ถึงปี 2549 ไม่มีการบัญญัติไว้ชัดเจนว่ามีวาระอย่างไรจึงเป็นไปตามวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)โดยส่วนใหญ่กำหนดระยะเวลา 4 ปี มีเพียงปี 2495 ถึงปี 2501 ที่กำหนดวาระดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ 5 ปี และมีการบัญญัติถึงวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 171 วรรคสี่ โดยจะต้องดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี ซึ่งการจำกัดระยะเวลานี้เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องจนครบ 8 ปีติดต่อกันโดยไม่มีการเว้นช่วงจำนวนปี หากไม่ครบจำนวนปีติดต่อกันสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกไม่ว่าจะกี่ปีแม่เมื่อรวมกันจึงอาจเป็นจำนวนเกินกว่า 8 ปีก็ได้
รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บัญญัติมาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดหลักการขึ้นมาใหม่ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งนับอายุการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่จำเป็นต้องเป็นจำนวนปีติดต่อกันอีกต่อไป แต่ก็ไม่ได้บัญญัติให้มีผลถึงผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มาก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560
ดังนั้น การให้หมายความไปถึงผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญนี้ อาจทำให้ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีเวลาในการดำรงตำแหน่งแตกต่างกัน ไม่เท่ากันตามเวลาที่เหลืออยู่จากการที่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อน และมีผลให้ผู้ที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อนเริ่มดำรงตำแหน่งหลังจากรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ ย่อมมีเวลาในการดำรงตำแหน่งมากกว่าผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนที่รัฐมนตรี 2560 บังคับใช้ ซึ่งมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า ความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครองปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในช่วงก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 01 พฤศจิกายน 2565 ภาพจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
ม.158 วรรคสี่ ไม่รวมนายกฯก่อน รธน.60
เมื่อมีหลักการใหม่ดังกล่าวในรัฐธรรมนูญปี 2560 แม้มุ่งหวังเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุของวิกฤตทางการเมืองก็ตาม แต่แท้ที่จริงแล้วอำนาจในทางการเมืองไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะหากพรรคการเมืองใดได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในการเลือกตั้งทุกครั้งจนได้มีโอกาสเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารตลอดมาอำนาจในทางการเมืองย่อมอยู่ที่พรรคการเมืองนั้น และพรรคการเมืองดังกล่าวสามารถเปลี่ยนตัวบุคคลที่จะให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งแต่ละครั้งได้ และหากพรรคการเมืองดังกล่าวมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่สามารถควบคุมความเป็นไปในพักดังกล่าวได้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นแม้จะไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็จะเป็นผู้ผูกขาดอำนาจในทางการเมืองอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ หากการใช้อำนาจในทางการเมืองเป็นการกระทำในสิ่งที่ดีถูกต้อง เพื่อประเทศและประชาชนแล้ว การจะเกิดวิกฤติทางการเมืองย่อมไม่เกิดขึ้น แม้จะใช้อำนาจในทางการเมืองยาวนานเพียงใดก็ตาม และมีผลให้หลักการตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรค 4 ไม่เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอย่างแท้จริงตามหลักการใหม่นี้
ดังนั้น นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ต้องหมายถึงนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคหนึ่งหรือวรรค 3 เท่านั้นไม่อาจรวมถึงผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญนี้ได้ อันจะเป็นการขัดหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง ด้วย
ครม.คสช.ไม่เป็น ครม.ตามรธน.ปี 60 เพราะมาตามบทเฉพาะกาล
ส่วนการยกรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 วรรคหนึ่งขึ้นมาประกอบนั้น เห็นว่า มาตรา 264 วรรคหนึ่ง เพื่อให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคหนึ่ง เพื่อความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร แต่เพราะคณะรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 จึงจำเป็นต้องยกเว้น ไม่นำคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามบางประการที่กำหนดไว้สำหรับรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้มาใช้บังคับ แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีขึ้นใหม่หรือขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงกำหนดให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น
ไม่อาจถือว่าคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 264 วรรคหนึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะมาตรานี้อยู่ในส่วนของบทเฉพาะกาลอันหมายถึงไม่ใช่บทหลักตามรัฐธรรมนูญนี้ และหากประสงค์ให้คณะรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงไม่จำเป็นต้องนำความในมาตรา 263 วรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วย และมีรัฐธรรมนูญมาตรา 263 วรรคสี่ บัญญัติไว้ด้วยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ห้ามมิให้บุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิให้นำมาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามมาตรา 264 อีกทั้งไม่จำเป็นต้องมีบทบัญญัติตามมาตรา 264 วรรคสองถึงวรรคสี่ เพราะเมื่อบัญญัติให้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วย่อมมีผลตามนั้นทันทีไม่ว่าจะมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ก็ตาม
คณะรัฐมนตรี 'ประยุทธ์ 1' หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ร่วมถ่ายภาพหมู่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 ภาพจาก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
พ.ร.ป.ป.ป.ช. ไม่เกี่ยวกับ ระยะเวลาดำรงตำแหน่งของผู้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน
ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 105 วรรค 4 ที่บัญญัติว่าในกรณีการดำรงตำแหน่งตามมาตรา 102 (1) (2) (3) และ (9) ให้ยื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง ถ้าพ้นจากตำแหน่งและได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ภายใน 1 เดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งและกรณีเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐานซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นไปตามมาตรา 102 (1) และหมายความถึงนายกรัฐมนตรีด้วยก็ตาม
กฎหมายดังกล่าว มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 และบัญญัติออกมาใช้บังคับตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้เองซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งประสงค์เพื่อให้ผู้ซึ่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในกรณีตามมาตรา 105 วรรค 4 ไม่ต้องยื่นบัญชีดังกล่าวเพื่อความสะดวกแก่ผู้ซึ่งต้องยื่นบัญชีดังกล่าวและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในกรณีดังกล่าวเท่านั้นไม่เกี่ยวกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้ต้องยื่นบัญชีดังกล่าวแต่อย่างใด
ตีความนายกฯเริ่มนับ 9 มิ.ย. 62
เมื่อพลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ตามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 จึงยังดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรค 4
จึงมีความเห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ยังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสองประกอบมาตรา 158 วรรคสี่
พลเอกประยุทธ์ ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาเมืองในพื้นที่ชุมชนเฉวง / กดปุ่มเปิดประตูระบายน้ำเพื่อดูการทำงานของระบบระบายน้ำของสถานีสูบน้ำปลายคลองเฉวง (CP1) ณ สถานีสูบน้ำปลายคลองเฉวง (CP1) จ.สุราษฏร์ธานี เมื่อ 12 กันยายน 2562 ภาพจาก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล