"...ขณะที่ข้าราชการเกษียณฯ ซึ่งมาดำรงตำแหน่งนี้ บางรายมีปัญหาในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ขาดความซื่อสัตย์ และขาดความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริงในการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง แต่ได้ตำแหน่งมาเพราะระบบอุปถัมภ์ พรรคพวกและเส้นสาย จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่อง เครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษาได้ทางออกคือ ควรแก้ไขระเบียบของการได้มาซึ่งคณะกรรมการปปจ.ประจำจังหวัด ที่เปิดโอกาสให้คนดี มีอุดมการณ์จากภาคประชาสังคม มีความกล้าหาญ และมีประวัติในการทำงานด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการปปจ.ประจำจังหวัดในสัดส่วนที่มากที่สุด อันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในภาคการศึกษาและภาคส่วนอื่นๆ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น..."
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยเรื่อง ‘การศึกษาเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษา’
การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา ส่งผลกระทบในด้านลบอย่างลึกต่อสังคมเป็นอย่างมาก
กล่าวคือส่งผลต่อการทำลายคุณภาพของเยาวชนในชาติ อันอาจนำไปสู่ภาวะถดถอยคุณภาพของสังคมไทยในอนาคตได้ หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเด็ดขาดและจริงจังโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการทุจริตคอร์รัปชันในภาคการศึกษาที่เป็นรายใหญ่ อันเกิดจากการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลที่ประกอบด้วย ข้าราชการหรือบุคลากรทางการศึกษาระดับสูง นักการเมือง และนักธุรกิจบางราย
รูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันประเภทนี้มักเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันซึ่งมีกลวิธีที่ซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับเกี่ยวข้องกับกลุ่มอิทธิพลภายใต้สังคมที่เป็นระบบอุปภัมภ์ จึงทำให้การป้องกันและปราบปรามเป็นไปได้ยากยิ่ง
จากการศึกษาพบว่า รูปแบบหลักและลักษณะความร่วมมือของการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ ที่เกิดขึ้นในภาคการศึกษามีดังต่อไปนี้
(1) การทุจริตจากการจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้าง
(2) การทุจริตจากการจัดซื้อหนังสือ ตำรา วัสดุและครุภัณฑ์ทางการศึกษา
(3) การทุจริตจากระบบการบริหารงานบุคคลประเภทต่างๆ
(4) การทุจริตจากการรับนักเรียนเข้าสถานศึกษา
ในรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบประเภทต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่มักมีเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเสมอ
ทว่าข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ได้จากผลการศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา ไม่สามารถสืบหาได้จากคำพิพากษาของศาล และข้อกล่าวหาหรือการชี้มูลความผิดจากหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบ
คงหาได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึก และการประชุมกลุ่มย่อย จากผู้รู้และมีประสบการณ์จริงในเรื่องเกี่ยวข้องกับการทุจริตในภาคการศึกษาเท่านั้น ซึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมากในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลหรือผู้ที่สามารถให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้
จากผลการศึกษา สามารถให้ข้อเสนอแนะเพื่อการนำผลการวิจัยไปปฏิบัติได้บางประการ ดังนี้
1. ควรมีการกำหนดให้ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคลากรทางการศึกษา ที่จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนรวมถึงคู่สมรสเพิ่มเติม ทั้งก่อนเข้ารับตำแหน่ง และหลังพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว รวมถึงเมื่อมีการโอนย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ ต้องมีการแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทุกครั้ง ดังตำแหน่งต่อไปนี้คือ
(1) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ, รอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ, และหัวหน้าฝ่าย/กลุ่มงานต่างๆ ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ
(2) ผู้อำนวยการโรงเรียน, รองผู้อำนวยการโรงเรียน ทั้งนี้เพื่อลดช่องทางและโอกาสในการทุจริตของบุคลากรทางการศึกษาระดับบริหารเหล่านี้
2.ควรมีการสร้าง และขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ในเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ เท่าที่เป็นไปได้ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยก่อตั้งเป็นองค์กรหรือ “ศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อป้องกันการทุจริตในภาคการศึกษา” โดยมีวัตถุประสงค์และภารกิจที่ชัดเจนในด้านการมีส่วนร่วมในการต่อต้านและขจัดเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบที่เกิดขึ้นในภาคการศึกษา และมีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแส ตรวจสอบ สอดส่อง และให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในภาคการศึกษา แก่สำนักงาน ป.ป.ช., ปปง. และ สตง. ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค
แต่การที่จะสร้างกลไกนี้ให้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพได้นั้น ควรมีระเบียบของสำนักงาน ป.ป.ช.ออกมารองรับการปฏิบัติหน้าที่ของภาคประชาสังคมดังกล่าว อันจะส่งผลให้เกิดกลไกและเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่สามารถดำเนินกิจกรรมเพื่อการขับเคลื่อนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษาได้อย่างแท้จริง และเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3.ควรเพิ่มบทบาทภาคประชาสังคม ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบตามบทบัญญัติของกฎหมายให้มากขึ้น ดังเช่น ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หมวด 2 เรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริต ตามมาตรา 16 ที่บัญญัติว่า “เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้หน่วยงานของรัฐจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ของการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐตามที่กำหนดไว้ในหมวดนี้”
จะเห็นได้ว่า ตามมาตรา 16 นี้กำหนดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ เพียงขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งถ้าหากต้องการให้มีการขจัดเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษาได้จริง ควรบัญญัติให้ภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม ในการสังเกตการณ์ทุกขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเข้มข้นได้ด้วย อันจะทำให้มีกลไกในการขจัดเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษาที่มีประสิทธิภาพได้
4.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน (สพฐ.) ควรกำหนดนโยบายให้มีมาตรการและกลไกในการตรวจสอบภายในที่เข้มแข็งมากขึ้น ด้วยการให้องค์กรวิชาชีพภายนอก และองค์กรภาคประชาสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบเรื่องการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการระดับสูง เพื่อช่วยถ่วงดุลและป้องกันการช่วยเหลือในบรรดาข้าราชการด้วยกัน โดยเฉพาะการทุจริตในเรื่องการก่อสร้าง การจัดซื้อจัดจ้างหนังสือ ตำรา วัสดุอุปกรณ์ และครุภัณฑ์ทางการศึกษาประเภทต่างๆ อีกทั้งเพื่อลดช่องว่างการทุจริตของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ เช่น กลุ่มนักธุรกิจและนักการเมืองที่เปิดบริษัทผลิตและจำหน่ายตำรา แบบเรียน วัสดุและครุภัณฑ์ทางการศึกษา ฯลฯ และข้าราชการระดับสูงในสังกัด สพฐ. ที่เกี่ยวข้องบางราย ซึ่งได้ผลประโยชน์เป็นเปอร์เซนต์จากราคาส่วนต่างของการจัดซื้อจัดจ้าง
5.กระทรวงศึกษาธิการ ควรมีนโยบายยกเลิกการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงของกระทรวงฯ เพื่อเข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสถานศึกษา หรือเป็นที่ปรึกษาของสถานศึกษา เนื่องจากพฤติการณ์ของบุคคลเหล่านี้บางรายคือ “ผู้มีอิทธิพล” ตัวจริงในวงการศึกษา และบางรายยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา ด้วยการเรียกหรือรับสินบนจากการฝากเด็กนักเรียนเข้าสถานศึกษาในโรงเรียนขนาดใหญ่ หรือขนาดใหญ่พิเศษ และรวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันประเภทอื่นๆ อีกด้วย
6.ตำแหน่งคณะกรรมการ ปปจ. ประจำจังหวัด ไม่ควรให้ข้าราชการระดับสูงในจังหวัดนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการในหน่วยงานฝ่ายปกครองมาเป็นคณะกรรมการ เนื่องจาก
ประการแรก ข้าราชการเหล่านี้มักรู้จักคุ้นเคยกับบุคคลต่างๆจำนวนมากภายในจังหวัดนั้นๆ ทำให้ขาดความคิดที่เป็นอิสระ และขาดความกล้าหาญทางจริยธรรมในการพิจารณารูปคดี และในกรณีที่มีข้าราชการระดับสูงถูกกล่าวหาในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ข้าราชการในหน่วยงานปกครองเหล่านี้ มักเป็นผู้ทำหน้าที่ในการเจรจาไกล่เกลี่ยเสียเอง ในท้ายที่สุดทำให้คดีการทุจริตคอร์รัปชันทุกประเภทถูกระงับยับยั้ง หรือถูกเพิกถอนไป
ประการที่สอง ข้าราชการฝ่ายปกครองที่มาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ ปปจ. ประจำจังหวัด มักเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ หลายรายขาดอุดมการณ์ และขาดความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง ในการเข้ามาทำหน้าที่เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
ขณะที่ข้าราชการเกษียณฯ ซึ่งมาดำรงตำแหน่งนี้ บางรายมีปัญหาในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ขาดความซื่อสัตย์ และขาดความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริงในการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง แต่ได้ตำแหน่งมาเพราะระบบอุปถัมภ์ พรรคพวกและเส้นสาย จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่อง เครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษาได้ทางออกคือ ควรแก้ไขระเบียบของการได้มาซึ่งคณะกรรมการปปจ.ประจำจังหวัด ที่เปิดโอกาสให้คนดี มีอุดมการณ์จากภาคประชาสังคม มีความกล้าหาญ และมีประวัติในการทำงานด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการปปจ.ประจำจังหวัดในสัดส่วนที่มากที่สุด อันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในภาคการศึกษาและภาคส่วนอื่นๆ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด
วรัญญา ศรีริน
ธีรภัทร์ ลอยวิรัตน์
ดร.กีรติพร จูตะวิริยะ
อ่านประกอบ :
- เครือข่ายกลุ่มอิทธิพล : การคอร์รัปชันในระบบการศึกษา (1)
- เครือข่ายกลุ่มอิทธิพล : คอร์รัปชัน ในการจัดซื้อหนังสือ-ครุภัณฑ์การศึกษา (2)
- เครือข่ายกลุ่มอิทธิพล : คอร์รัปชันในการแต่งตั้ง-โยกย้ายบุคลากรทางการศึกษา (3)
- เครือข่ายกลุ่มอิทธิพล : การคอร์รัปชันจากการรับนักเรียนเข้าสถานศึกษา (4)
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.kenan-asia.org