"...ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เพิ่มเติม พบข้อเท็จจริงว่า การทุจริตประเภทนี้เริ่มตั้งแต่การวางแผนอัตรากำลังที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ เนื่องจากมีระบบเล่นพรรคเล่นพวกของตัวเอง ถึงแม้จะมีหลักเกณฑ์การสอบบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูฯตามระเบียบของ กคศ.แล้วก็ตาม เนื่องจากตามหลักเกณฑ์นี้ ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้อำนวยการ สพม.บางรายที่มีพฤติการณ์ทุจริต อาศัยอำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการสอบที่เป็นพรรคพวก หรือผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง ซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการแต่ละชุด คือเครื่องมือที่นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันของผู้มีอำนาจและผู้บริหารอันเป็นกระบวนการทุจริตที่แยบยล..."
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยเรื่อง ‘การศึกษาเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษา’
การทุจริตจากระบบบริหารงานบุคคล ผลการศึกษาข้อมูลจากคำพิพากษา การชี้มูลความผิด และการกล่าวหาร้องเรียนจากหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต (ป.ป.ช., ป.ป.ท., สตง.) ไม่พบข้อเท็จจริงและรายละเอียดของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษาแต่อย่างใด แต่ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ การประชุมกลุ่มย่อยในพื้นที่ และจากสำนักข่าวแห่งหนึ่ง กลับพบรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ จากระบบบริหารงานบุคคลประเภทต่างๆ ดังนี้
1.การทุจริตคอร์รัปชันจากระบบการสรรหาและคัดเลือก อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา
ในประเด็นนี้ แม้ว่าระบบและโครงสร้างของ อ.ก.ค.ศ. ได้มีการยกเลิกไปแล้วตามคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ปัญหานี้ก็ได้รับการกล่าวขวัญถึงกันอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่พฤติการณ์ทุจริตคอร์รัปชันของ อ.ก.ค.ศ. ที่มีการเรียกหรือรับสินบนจากการแต่งตั้ง โยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังข้อมูลจากการให้สัมภาษณ์ และการประชุมกลุ่มย่อย ของอดีตผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่เป้าหมายพบว่า “อ.ก.ค.ศ.เป็นกลไกที่เอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบและเป็นขบวนการ โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลการบริหารงานบุคคล เช่น การเลื่อนขั้นเงินเดือน การเลื่อนตำแหน่ง การกำหนดตำแหน่ง การโอนย้าย และการดูแลงานวินัยของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อันเนื่องมาจากการเข้าสู่ตำแหน่ง อ.ก.ค.ศ.นั้นใช้วิธีการเลือกตั้ง จึงมีผู้สมัครบางรายมีการให้อามิสสินจ้างรางวัลกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อันได้แก่ บุคลากรครู ซึ่งรูปแบบการสรรหาคัดเลือกก็มีลักษณะเดียวกันกับการเลือกตั้งของนักการเมือง ทั้งนี้มีผู้สมัครบางรายกล้าเสี่ยงลงทุนโดยใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะมุ่งหวังผลประโยชน์ที่จะได้รับจากตำแหน่ง และเพื่อให้ตนได้รับเลือกเข้าสู่ชุด อ.ก.ค.ศ. ทั้งในตำแหน่งประธานและอนุกรรมการ ขณะที่ประธาน อ.ก.ค.ศ. บางรายก็ได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองหรืออยู่ในเครือข่ายของนักการเมือง ในคนกลุ่มนี้จึงมักร่วมมือกันทุจริตคอร์รัปชันได้ง่าย”
จึงเห็นได้ว่า อ.ก.ค.ศ. คือต้นทางของการทุจริตคอร์รัปชันจากระบบการบริหารงานบุคคล แม้ว่าจะมีการยุบเลิก อ.ก.ค.ศ. ไปแล้ว
แต่ปัญหานี้ยังส่งผลกระทบในทางลบต่อระบบการบริหารงานบุคคลในยุคปัจจุบัน เนื่องจากเมื่อมีการจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาคือ “คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด” (กศจ.) แต่กลับมีอดีต อ.ก.ค.ศ.บางรายได้รับการคัดเลือกแต่งตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งในโครงสร้างใหม่ดังกล่าว และคนกลุ่มนี้บางรายเคยมีคดีพัวพันเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันด้านการบริหารงานบุคคลในแวดวงการศึกษามาก่อน จากการอยู่ในตำแหน่งที่มีลักษณะผูกขาด การมีเครือข่ายความสัมพันธ์กับนักการเมือง
จุดนี้เองได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความร่วมมือเป็นลักษณะเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษาได้
ขณะเดียวกันในโครงสร้างใหม่ (กศจ.)ที่ให้ข้าราชการระดับสูงฝ่ายปกครอง ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญ กลับเอื้อประโยชน์ให้เกิดความร่วมมือในลัผกษณะเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล ที่นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษาได้ง่ายขึ้น
2.การทุจริตคอร์รัปชันจากกระบวนการสรรหาและสอบบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
จากผลการศึกษา ไม่ปรากฏว่ามีคำพิพากษาของศาล และไม่พบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตจากกระบวนการสรรหา และสอบบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
แต่พบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตจากการรายงานของสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระดับประถมในพื้นที่เป้าหมาย และบางจังหวัดภาคอีสาน จึงได้นำมาวิเคราะห์เทียบเคียงดังนี้
เมื่อปี พ.ศ. 2556 สพฐ. ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสอบคัดเลือกบุคคล เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย พบว่ามีรายชื่อของพนักงานราชการรายหนึ่ง ที่ผ่านการสอบบรรจุเข้ารับราชการในคราวเดียวกันถึงสองจังหวัด ซึ่งทาง สพฐ. ระบุว่า เป็นไปได้ยากที่ผู้เข้าสอบจะสามารถสอบผ่านการคัดเลือกทั้งสองแห่งในการสอบคราวเดียวกันได้ เนื่องจากการสอบคัดเลือกนั้นได้จัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ และไม่น่าเป็นไปได้ที่ผู้เข้าสอบจะเดินทางไปยังสถานที่สองแห่งได้ในเวลาเดียวกัน เพราะอยู่คนละจังหวัดกัน
เบื้องต้นมีการตั้งสมมติฐานว่า เป็นชื่อนาม - สกุลซ้ำกัน แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นบุคคลเดียวกัน เท่ากับว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น อ.ก.ค.ศ. ของจังหวัดที่เกิดการทุจริต จึงมีมติให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ของจังหวัดนั้น เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาคนดังกล่าว และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนต่อไป เพราะรูปการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าข่ายการทุจริตมากกว่าจะเป็นความผิดพลาดได้
ขณะที่กรรมาธิการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรเชื่อว่า มีการทุจริตสอบครูผู้ช่วยจริงและน่าจะมีการเชื่อมโยงกันหลายระดับ โดยสพป. แห่งหนึ่งน่าจะมีส่วนรู้เห็นด้วย และในการสอบบรรจุครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านมาก็เคยเกิดปัญหานี้เช่นกัน จนกระทั่งกระทรวงศึกษาธิการได้สั่งให้ยกเลิกการสอบบรรจุครูผู้ช่วยมาแล้ว
เช่นเดียวกับผลการสืบสวนของกรมสอบสวนดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ที่พบพยานหลักฐานของการกระทำผิด เช่น ใน สพป.บางแห่งมีบุคคลอื่นเข้าสอบแทน สพป.บางแห่งผู้เข้าสอบได้รับคำเฉลยข้อสอบมาทั้ง 4 วิชา โดยมีการส่งข้อความมาให้ทาง SMS บางแห่งผู้เข้าสอบไม่ได้นำข้อสอบเข้าห้องสอบแต่ใช้วิธีการท่องจำเข้าไป บางแห่งผู้เข้าสอบได้พยายามนำเครื่องมือสื่อสาร เพื่อใช้ส่งสัญญาณเฉลยข้อสอบเข้าไปในห้องสอบ เป็นต้น ดีเอสไอเชื่อว่า การทุจริตสอบครูผู้ช่วยในครั้งนี้ มีการกระทำเป็นกระบวนการระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และผู้เข้าสอบ และมีการเตรียมการมาตั้งแต่ต้น
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เพิ่มเติม พบข้อเท็จจริงว่า การทุจริตประเภทนี้เริ่มตั้งแต่การวางแผนอัตรากำลังที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ เนื่องจากมีระบบเล่นพรรคเล่นพวกของตัวเอง ถึงแม้จะมีหลักเกณฑ์การสอบบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูฯตามระเบียบของ กคศ.แล้วก็ตาม เนื่องจากตามหลักเกณฑ์นี้ ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้อำนวยการ สพม.บางรายที่มีพฤติการณ์ทุจริต อาศัยอำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการสอบที่เป็นพรรคพวก หรือผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง ซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการแต่ละชุด คือเครื่องมือที่นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันของผู้มีอำนาจและผู้บริหารอันเป็นกระบวนการทุจริตที่แยบยล
สำหรับเทคนิคและวิธีการทุจริต มีดังนี้
วิธีการแรก ผู้อำนวยการ สพม.บางราย จะประสานงานให้กรรมการฝ่ายดำเนินการสอบที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาหรือพรรคพวกของตน ระบุชื่อหนังสือ ตำรา หรือเอกสารที่ใช้ประกอบการสอบ รวมถึงประเด็นข้อสอบต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าสอบได้รับทราบ
วิธีการที่สอง การนำกระดาษคำตอบ ที่มีการเฉลยคำตอบแล้วบางส่วนไปให้ผู้เข้าสอบบรรจุฯ เพื่อให้ผู้เข้าสอบสามารถตอบข้อสอบผ่านตามเกณฑ์ได้
วิธีการที่สาม การให้กรรมการตรวจข้อสอบ ทำการเปลี่ยนกระดาษคำตอบระหว่างตรวจข้อสอบ ที่มีการเตรียมชื่อ - นามสกุล ของผู้เข้าสอบไว้เรียบร้อยแล้ว
โดยสรุป ข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ จากสำนักข่าวบางแห่ง และการสัมภาษณ์ พบว่า การทุจริตจากกระบวนการสรรหา และสอบบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครู มีการร่วมมือประสานงานกันอย่างลงตัว มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน มีการบริหารจัดการในรูปองค์การเป็นอย่างดี และมีการดำเนินการเป็นเครือข่ายกว้างขวาง โดยมีกลุ่มคนที่มีอำนาจในระดับต่างๆ ในภาคการศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมีพฤติการณ์ในทางมิชอบด้วยกฎหมายด้วยการคดโกง หรือฉ้อโกง เพื่อมุ่งประสงค์ให้ได้รับผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือกลุ่มพวกพ้อง ซึ่งผลของการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในระดับองค์กรและประเทศชาติโดยส่วนรวม
พฤติกรรมและการกระทำเช่นนี้จึงเข้าข่ายเครือข่ายอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา ตามความหมายการวิจัยนี้
3.การทุจริตคอร์รัปชันจากเกณฑ์การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนครูและข้าราชการในสังกัด
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก และการประชุมกลุ่มย่อยพบว่า การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี (2 ขั้น) ในอดีต มีการใช้ระบบโควตา โดย อ.ก.ค.ศ. จะกำหนดโควตาเป็น 2 ส่วน ดังนี้
ส่วนแรก โควตาระดับเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน ซึ่งให้อำนาจกรรมการระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับโรงเรียนในการพิจารณาเลื่อน 2 ขั้น ให้กับข้าราชการครูในเขตพื้นที่การศึกษา
ส่วนที่สอง โควตาส่วนกลาง ซึ่ง อ.ก.ค.ศ.(เดิม) มีอำนาจในการเลื่อน 2 ขั้นให้กับข้าราชการครูคนใดก็ได้ การทุจริตคอร์รัปชันจะเกิดขึ้นในระดับต่างๆ ตามโครงสร้างดังนี้
(1) ระดับ อ.ก.ค.ศ. เนื่องจากมีประธาน อ.ก.ค.ศ. บางราย ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับนักการเมือง รวมถึงกรรมการผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากครูบางราย ในกลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นผู้เรียกหรือรับสินบนจากครูที่วิ่งเต้นเพื่อให้ได้ 2 ขั้น แล้วมีการนำเงินมาแบ่งกันตามสัดส่วน
(2) ระดับกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา จะมีการแบ่งโควตาให้แต่ละโรงเรียน และมีการกันไว้เป็นโควตาส่วนกลางอีกส่วนหนึ่ง การทุจริตคอร์รัปชันจะเป็นแบบเดียวกันกับอ.ก.ค.ศ. ซึ่งเงินจากการเรียกหรือรับสินบนจากการเลื่อนสองขั้นนี้ ก็จะนำไปแบ่งปันกันตามสัดส่วน และยังต้องส่งให้ อ.ก.ค.ศ. อีกทอดหนึ่ง
(3) ระดับโรงเรียน ซึ่งเป็นอำนาจของผู้บริหารโรงเรียน ที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองผลงานตามเกณฑ์ที่ควรจะได้ ผู้บริหารโรงเรียนที่ทุจริตบางรายจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯที่เป็นพรรคพวกของตน เพื่อนำไปสู่การเรียกหรือรับสินบน เช่น “สองขั้น สองหมื่นบาท” เป็นต้น จนครบเต็มตามโควตา
จากการศึกษาพบว่า มีข้าราชการครูเป็นจำนวนมาก ที่ได้รับการพิจารณาให้ได้เลื่อนสองขั้นจำเป็นต้องจ่ายค่าสินบนให้กับผู้เกี่ยวข้องที่มีอำนาจในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน การศึกษายังพบว่า ผู้เกี่ยวข้องหลักบางรายที่ร่วมมือกันทุจริตคอร์รัปชันมีดังนี้คือ
(1) ผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน
(2) คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาการเลื่อนขั้นเงินเดือน
(3) ผู้อำนวยการสำนักงาน สพม.
(4) อ.ก.ค.ศ. (ในอดีต)
(5) ข้าราชการครูที่วิ่งเต้นและยอมจ่ายสินบน
4.การทุจริตคอร์รัปชันจากการโอนย้ายตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา
การศึกษาพบว่า มีคดีจากศาลปกครองอยู่สองคดี ที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา แต่ทั้งสองคดีนี้ก็ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่ชี้ให้เห็นว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตจากการโอนย้ายตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาโดยตรง เนื่องจากมิใช่เป็นเรื่องการใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ของบุคลากรทางการศึกษาในทางมิชอบด้วยกฎหมาย ด้วยการคดโกง ฉ้อโกง หรือเรียกรับเอาประโยชน์ทั้งหลายของบุคคล และทั้งสองคดีนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ชี้ให้เห็นว่า เป็นพฤติการณ์ของกลุ่มอิทธิพลที่นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา
คณะผู้วิจัย ได้ค้นหาเพิ่มเติมและพบคดีในจังหวัดใกล้เคียงทางภาคอีสาน จึงได้นำมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อวิเคราะห์เทียบเคียง ดังปรากฏข้อเท็จจริงเมื่อ กคศ. ได้มีมติให้เพิกถอนคำสั่งการย้ายและแต่งตั้งผู้บริหารสถานศึกษา ประจำปี 2559 ตามมติคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)แห่งหนึ่ง อันถือว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการให้คะแนนผิดพลาดคลาดเคลื่อน เป็นผลให้ต้องยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเรื่องการย้าย และแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และให้ออกคำสั่งตามผลคะแนนที่ถูกต้อง ซึ่งผู้เสียหายที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษาได้ยื่นฟ้องเป็นโจทก์ร่วม จำนวน 4 ราย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กทม. โดยมีผู้ถูกฟ้องคือ กศจ. และอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัดแห่งนั้น ทั้งหมด 33 ราย ศาลมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องจำเลยทั้งหมดไว้พิจารณา ในข้อหาความผิดว่าด้วยเจ้าพนักงานอาจร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นเจ้าพนักงานอาจร่วมกันทำเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการกระทำอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตน อันอาจเป็นความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ใดผู้หนึ่งอาจได้รับประโยชน์ที่มิควรได้จากการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มีนาคม 2561)
อย่างไรก็ดี ในคดีนี้แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องจำเลย แต่ก็ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งหมด มีพฤติการณ์ของการกระทำอันเป็นเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา
ทว่าข้อมูลจากการศึกษาเชิงลึก กลับพบว่ากระบวนการทุจริตคอร์รัปชันเริ่มต้นจากการที่ผู้บริหารสถานศึกษาบางราย ซึ่งมีความต้องการโอนย้ายไปยังสถานศึกษาแห่งใหม่ ได้มีการวิ่งเต้นต่อผู้อำนวยการ สพม.บางรายโดยมีการจ่ายสินบนให้ เพื่อให้ช่วยส่งเรื่องถึง อ.ก.ค.ศ. (ในอดีต) เพราะ อ.ก.ค.ศ. มีอำนาจหน้าที่สูงสุดในการพิจารณาโอนย้าย บางรายการวิ่งเต้นต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้ได้โรงเรียนตามที่ต้องการ การขอโอนย้ายผู้บริหารสถานศึกษาขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงบางแห่ง ผู้ที่จะมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ยังต้องผ่านการประเมินความเหมาะสมจากผู้อำนวยการ สพม. บางรายที่ไม่ได้จ่ายเงินจะถูกกดคะแนน
แต่ในรายที่จ่ายเงินต้องจ่ายในราคาสูงถึงหลักล้านบาทขึ้นไปสำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่ ส่วนในขนาดกลางจะลดหลั่นลงมา ดังเช่นการให้สัมภาษณ์ของนายสุภาพ (นามสมมติ) อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง จ.ขอนแก่น ที่ให้ข้อมูลว่า “…การขอโอนย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงบางแห่ง ผู้ที่จะมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้ จะต้องผ่านการประเมินความเหมาะสมจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ก่อน บางรายที่ไม่ได้จ่ายเงินให้จะถูกกดคะแนน แต่ในรายที่จ่ายเงินต้องจ่ายสูงถึงหลักล้านบาทขึ้นไป เช่น 1 ถึง 5 ล้านบาท ส่วนในโรงเรียนขนาดกลางจะลดหลั่นลงมา แต่ขั้นต่ำต้องจ่าย 1 ล้านบาท เป็นต้น”
หลังจากการจ่ายเงินค่าสินบนให้ ผู้อำนวยการ สพม. แล้ว ยังต้องมีการจ่ายให้กับชุดอ.ก.ค.ศ. (อดีต) บางชุดอีก ซึ่งเกณฑ์หรืออัตราการซื้อตำแหน่งขึ้นอยู่กับขนาด และความมีชื่อเสียงของโรงเรียนนั้นๆ และยังขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้ขอย้ายกับ อ.ก.ค.ศ.
อย่างไรก็ดี การจ่ายสินบนเพื่อการโอนย้ายไปยังโรงเรียนที่ต้องการ ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายมากทุกรายไป ถ้าหากผู้บริหารสถานศึกษารายใดมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีอำนาจและอิทธิพล เช่น นักการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการส่วนกลาง นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาบางรายจึงพยายามสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ เพื่อให้ตนได้ประโยชน์จากการโอนย้าย กรณีนี้จึงเห็นได้ว่า ผู้อำนวยการ สพม. และ อ.ก.ค.ศ. บางรายในอดีต คือตัวละครหลักในการเรียกหรือรับสินบนจากการทุจริตโอนย้ายตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา
5.การทุจริตคอร์รัปชันจากการโอนย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
การศึกษาไม่พบว่า มีคำพิพากษาของศาล และไม่พบข้อเท็จจริงจากการกล่าวหาที่ชี้มูลความผิด แต่พบเพียงข้อเท็จจริงในเรื่องการกล่าวหาร้องเรียนจากสำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัด ขอนแก่นเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน จากการโอนย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวน 2 คดี แต่ทั้งสองกรณีนี้ก็ไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริงเพียงพอ ที่สามารถบ่งชี้ได้ว่าเข้าข่ายเรื่องเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา
แต่ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก และการประชุมกลุ่มย่อยกลับพบว่า ในการโอนย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาบางราย มีการทุจริตด้วยการเรียกหรือรับสินบนจากผู้มีอำนาจหน้าที่เพื่อให้การโอนย้ายเป็นไปตามความต้องการของผู้ที่ต้องการโอนย้าย โดยมักจะมีนายหน้าหรือบุคคลที่ผู้มีอำนาจให้ความไว้วางใจได้เป็นผู้ดำเนินการแทน และการทุจริตคอร์รัปชันประเภทนี้สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายภายใต้เงื่อนไขความสัมพันธ์ของการเป็นเครือญาติ และความสนิทสนมชิดเชื้อของเพื่อนฝูง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกัน ข้อมูลจากการศึกษายังพบว่า การทุจริตคอร์รัปชันประเภทนี้ประกอบด้วยอย่างน้อย 3 ขั้นตอน ดังนี้
1) บุคลากรเขียนคำร้องขอโอนย้ายมาที่ผู้อำนวยการสถานศึกษาต้นสังกัด ถ้าผู้อำนวยการสถานศึกษานั้นเห็นชอบด้วย ก็จะต้องมีรายการจ่ายขั้นแรก เรียกว่า “ค่าลายเซ็นต์ผู้อำนวยการโรงเรียน” เพื่อให้เรื่องสามารถดำเนินไปได้
2) ผู้อำนวยการ สพม. จะมีการประสานถึงโรงเรียนต่างๆให้เปิดรับอัตรากำลังครูเพิ่มตามจำนวนที่ต้องการ ขั้นตอนนี้จะมีการเรียกค่าสินบนอีก เรียกว่า “ค่าลายเซ็นต์การรับเข้า”
3) เรื่องการขอโอนย้ายจะถูกเสนอไปที่ อ.ก.ค.ศ. โดยบุคลากรที่ขอโอนย้ายต้องดำเนินเรื่องด้วยการเข้าหาผู้มีอำนาจคือ ผู้อำนวยการ สพม. ในฐานะที่เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ อ.ก.ค.ศ. (อดีต) ขั้นตอนนี้ต้องมีการจ่ายเงินจำนวนมากขึ้น เพราะต้องจ่ายให้กับอนุกรรมการฯหลายคน โดยค่าใช้จ่ายนั้นกรณีย้ายข้ามเขตพื้นที่การศึกษา หรือย้ายข้ามจังหวัด หรือย้ายไปโรงเรียนที่มีชื่อเสียง จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงที่สุด บางรายอาจต้องจ่ายตามระยะทางซึ่งคิดเป็นกิโลเมตร ส่วนการย้ายในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกันจะจ่ายลดหลั่นกันลงมา
โดยสรุป การทุจริตประเภทนี้ แม้จะไม่ปรากฏว่ามีกลุ่มอิทธิพลอื่นๆ เช่น นักการเมือง นักธุรกิจหรือพ่อค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง หากแต่พฤติการณ์ทุจริตคอร์รัปชันด้วยการเรียก หรือรับสินบนของผู้เกี่ยวข้องหลักบางราย เช่น ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้อำนวยการ สพม. และ อ.ก.ค.ศ. (อดีต) บางราย อาจเข้าข่ายการเป็นผู้มีอิทธิพลได้ เนื่องจากพฤติการณ์สำคัญของกลุ่มอิทธิพลตามความหมายของการวิจัยนี้ประการหนึ่งคือ การใช้อิทธิพลในการโอนย้ายข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาอันมิใช่เป็นไปตามเกณฑ์ปกติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองหรือพวกพ้อง
6. การทุจริตคอร์รัปชันจากการขอเลื่อนตำแหน่งในระดับที่สูงขั้น : กรณีการเลื่อนวิทยฐานะข้าราชการครู
จากการศึกษาไม่พบว่า มีคำพิพากษา และไม่พบเรื่องการชี้มูลความผิดและการกล่าวหาร้องเรียน จากหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตเช่นเดียวกัน แต่ข้อมูลจากการสัมภาษณ์รายบุคคล และการประชุมกลุ่มย่อย พบขั้นตอนการทุจริตคอร์รัปชันประเภทนี้ โดยข้าราชการครูบางรายที่ทุจริต มักจะมีการจ้างทำผลงานทางวิชาการเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากครูส่วนใหญ่ไม่มีความถนัดในการทำงานวิจัย จากนั้นจะมีการให้สินบนกับชุดคณะกรรมการประเมินผลงานทางวิชาการ ซึ่งกระบวนการทุจริตคอร์รัปชันมีดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ข้าราชการครูบางราย มีการจ้างบุคคลภายนอกทำผลงานทางวิชาการให้
ขั้นตอนที่ 2 การหาช่องทางวิ่งเต้น และประสานงานกับผู้อำนวยการ สพม. เพื่อให้ช่วยเปิดเผยรายชื่อกรรมการประเมินผลงานฯ เพื่อจะได้วิ่งเต้นจ่ายค่าสินบนให้กับคณะกรรมการฯ
ขั้นตอนที่ 3 การจ่ายสินบน ในขั้นตอนนี้จะมีตัวแทนหรือนายหน้า ซึ่งมักเป็นผู้แทนครูที่เป็นผู้วิ่งเต้นติดต่อกับคณะกรรมการประเมินผลงาน โดยจะมีการเสนอสินบนให้กับกรรมการประเมินผลงาน บางครั้งอาจมีการช่วยปรับแก้ไขหรือรับจ้างทำผลงานให้
มีข้อสังเกตว่า แม้ว่าการทุจริตคอร์รัปชันประเภทนี้ จะมีข้อเท็จจริงและมีกระบวนการขั้นตอนที่เห็นได้ชัด และมีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องหลายฝ่าย แต่ก็ยังเป็นลักษณะของการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการเรียกหรือรับสินบน ที่จำกัดวงอยู่ภายในกลุ่มบุคลากรทางการศึกษา ยังไม่มีลักษณะการร่วมมือประสานงานกันอย่างลงตัวเป็นระบบ และเป็นเครือข่ายความร่วมมือของข้าราชการครูหรือบุคลากรทางการศึกษา กับนักการเมือง นักธุรกิจ และกลุ่มเครือข่ายอิทธิพลของตน โดยมีพฤติการณ์ในทางมิชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริต
คอร์รัปชันอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษา ตามความหมายของการวิจัยนี้
โดย ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด
วรัญญา ศรีริน
ธีรภัทร์ ลอยวิรัตน์
ดร.กีรติพร จูตะวิริยะ
อ่านข่าวประกอบ :
เครือข่ายกลุ่มอิทธิพล : การคอร์รัปชันในระบบการศึกษา (1)
เครือข่ายกลุ่มอิทธิพล : คอร์รัปชัน ในการจัดซื้อหนังสือ-ครุภัณฑ์การศึกษา (2)
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://bit.ly/3EQrxzb