"...จากข้อมูลนี้ ชี้ให้เห็นถึงการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบที่เกิดขึ้นในภาคการศึกษา เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างหนังสือ ตำรา วัสดุและครุภัณฑ์ทางการศึกษา ที่มีเครือข่ายความเชื่อมโยงของกลุ่มอิทธิพลในวงการศึกษา นับตั้งแต่ข้าราชการระดับสูงหรือผู้บริหารในกระทรวงและกรม ที่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเครือข่ายนักการเมือง นักธุรกิจ และผู้บริหารการศึกษาใน สพม. เรื่อยมาจนถึงผู้บริหารสถานศึกษาระดับโรงเรียนต่างๆ..."
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยเรื่อง ‘การศึกษาเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษา’
ข้อมูลจากคำพิพากษาไม่พบว่า มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันจากการจัดซื้อหนังสือ ตำรา วัสดุและครุภัณฑ์ทางการศึกษา ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยม เขตที่ 24, 25 และ 26 แต่พบคำพิพากษาของศาลในจังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียงกันในภาคอีสานเพียงหนึ่งคดีเท่านั้นที่อยู่ในข่ายเดียวกัน อันมาจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่าด้วยความอาญาเรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยจำเลยที่หนึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจ หรือจูงใจ เพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยทุจริต
แม้ว่าคดีนี้เข้าข่ายกรณีการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบเต็มรูปแบบ แต่ข้อเท็จจริงจากคดีนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะถือได้ว่า เข้าข่ายเรื่องเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลที่นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ เนื่องจากยังไม่เข้าหลักเกณฑ์พฤติการณ์สำคัญของกลุ่มอิทธิพล อันได้แก่ การเข้าเป็นผู้ฮั้วประมูลและขัดขวางการเสนอราคา หรือไม่ให้มีการเสนอราคา หรือแข่งขันราคากันอย่างเป็นธรรมในการประมูลงานของทางราชการ และยังไม่ใช่เป็นเรื่องการทำสัญญาจ้าง หรือให้สัมปทานเฉพาะพรรคพวกหรือผู้สนับสนุนตน ตามความหมายการวิจัยนี้
การศึกษาต่อมาไม่พบว่า มีเรื่องการชี้มูลความผิดของสำนักงาน ป.ป.ช. กรณีการทุจริตคอร์รัปชันจากการจัดซื้อจัดจ้างหนังสือ ตำรา วัสดุ และครุภัณฑ์ทางการศึกษา
แต่พบข้อเท็จจริงข้อมูลในเรื่องกล่าวหาร้องเรียน จากสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดในพื้นที่เป้าหมาย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการกระทำความผิดของผู้บริหารสถานศึกษา ที่ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบเป็นรายบุคคลหรือที่เรียกว่าเป็น “การทุจริตคอร์รัปชันที่ไม่เป็นระบบ” ไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานใดที่เชื่อมโยงให้เห็นถึงรูปแบบเครือข่ายของกลุ่มอิทธิพล ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษา
ทว่าข้อมูลจากการสัมภาษณ์ การประชุมกลุ่มย่อย และข้อมูลจากแหล่งข่าวอื่นๆ กลับพบว่า รูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันจากการจัดซื้อหนังสือ ตำรา วัสดุ และครุภัณฑ์ทางการศึกษา บางส่วนมีจุดเริ่มต้นมาจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่มุ่งสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ เมื่อมีกฎหมายออกมาเช่นนี้ นโยบายด้านการศึกษาจึงมีความจำเป็นต้องปรับหลักสูตรให้สอดคล้องตามกฎหมายดังกล่าว โดยมีการเร่งผลิตหนังสือ ตำรา และมีการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ทางการศึกษา เพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอน แต่ผลในทางลบที่ตามมาคือ ก่อให้เกิดกระบวนการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา ดังการให้ข้อมูลของอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ในจังหวัดมหาสารคาม ที่กล่าวว่า
“…..ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีอำนาจหน้าที่บางคนในขณะนั้นมิได้เห็นความสำคัญของสาระหลักในการผลิตสื่อการเรียนการสอนเพื่อนักเรียน แต่มุ่งเน้นการทำธุรกิจประเภทสื่อการเรียนการสอน โดยผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการบางราย มีหุ้นส่วนในธุรกิจจำหน่ายหนังสือเรียนร่วมกับนักการเมืองบางราย รูปแบบการทุจริตคือ การให้พรรคพวกเครือข่ายที่เป็นผู้บริหารระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมต่างๆ (สพม.) ช่วยประสานงานกับผู้อำนวยการโรงเรียนให้ฮั้วประมูลในการจัดซื้อหนังสือ ตำรา วัสดุ และครุภัณฑ์ทางการศึกษา จากตัวแทนบริษัทภายในเขตสำนักงานพื้นที่การศึกษานั้นๆ หรือในจังหวัดใกล้เคียงที่เป็นพรรคพวกเครือข่ายของตน จนเกิดระบบการผูกขาดบริษัทห้างร้านที่แสวงหาประโยชน์จากนโยบายทางการศึกษาขึ้น……”
จากข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง หนังสือ ตำรา วัสดุและครุภัณฑ์ทางการศึกษา ของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลในภาคการศึกษานั้นมีที่มาจากข้าราชการระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ นักการเมือง และนักธุรกิจบางราย
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนหนึ่ง ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาให้เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อสะสางคดีการทุจริต ที่ออกมายืนยันว่า “นโยบายทางการเมืองของรัฐบาลบางชุด ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันทางการศึกษาขึ้น เนื่องจากเมื่อมีนักการเมืองบางรายเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี ก็จะมีลูกน้องหรือคนในเครือข่ายของตนเข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากงบประมาณในกระทรวง นอกจากนี้ยังมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในระดับย่อยลงมา โดยแบ่งออกเป็นในระดับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ (สพม.) ลงมาสู่ผู้บริหารสถานศึกษา และระดับบุคลากรในโรงเรียน”
ส่วนวิธีการทุจริต จะมีการกันเงินเอาไว้เพื่อเป็นเงินเหลือจ่ายหรือเอาไว้แปรญัตติ เช่น เมื่อปลายปีมีเงินเหลือก้อนใหญ่จำนวนมาก กลุ่มคนที่มีพฤติการณ์ทุจริตก็จะคิดโครงการขึ้นมา แล้วส่งเรื่องไปยังผู้อำนวยการ สพม. ที่เป็นพรรคพวกหรือเครือข่ายของตน จากนั้นผู้อำนวยการ สพม. ก็จะส่งเรื่องไปยังผู้บริหารสถานศึกษาในเครือข่ายที่เป็นพวกเดียวกัน เพื่อให้ตอบสนองตามนโยบายหรือโครงการของกระทรวงฯ แม้ว่าตามข้อเท็จจริงแล้วทางโรงเรียนจะไม่ได้ต้องการโครงการเหล่านั้นเลยก็ตาม
ต่อมาจะมีบริษัทธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่จำหน่ายหนังสือ ตำราหรือแบบเรียน และวัสดุ หรือครุภัณฑ์ทางการศึกษาในเครือข่ายทุจริตของเขา เข้ามาให้โรงเรียนทำเรื่องเพื่อจัดซื้อจัดจ้างแล้วจะมีการแบ่งเปอร์เซ็นต์หรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากแต่ละโครงการ (เงินทอน) ดังตัวอย่างที่เคยมีการจับการทุจริตในคดีนี้ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อสื่อการเรียนการสอนได้ในปี พ.ศ. 2559 ในโรงเรียนแห่งหนึ่งของภาคอีสาน อันเป็นพื้นที่เป้าหมายของการศึกษาวิจัยนี้ ซึ่งมีทั้งหมดเกือบ 50 โรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน
ขณะที่มีโรงเรียนเพียง 13 แห่งที่ไม่เข้าร่วมในการทุจริต ซึ่งโรงเรียนที่ไม่เข้าร่วมในการทุจริตให้เหตุผลว่า “เพราะยังไม่ต้องการสื่อการเรียนการสอนเหล่านั้น” ขณะที่ในโรงเรียนเหล่านี้บางแห่งให้ข้อมูลว่า “อยู่ดีๆ ก็มีคนเอาซองสีน้ำตาลใส่เงินมาให้ ” เป็นต้น
นอกจากเครือข่ายความร่วมมือของกลุ่มอิทธิพล อันได้แก่ ข้าราชการระดับสูง นักการเมือง และนักธุรกิจแล้ว ในบางกรณีการทุจริตคอร์รัปชันจากการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุและครุภัณฑ์ทางการศึกษา ก็เป็นการดำเนินการที่ถูกกำหนดมาจากข้าราชการระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการเองซึ่งเป็นตัวการหลัก
กรณีนี้ข้าราชการระดับสูงบางรายจึงคือ “ผู้มีอิทธิพลตัวจริง” ตัวอย่างเช่น พฤติการณ์ส่อทุจริตในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมบางแห่งในภาคอีสาน ที่มีการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการศึกษา ซึ่งใช้งบประมาณทั้งสิ้น 279 ล้านบาท และมีการร้องเรียนจากผู้ประกอบการบางรายว่า มีการล็อกสเปคครุภัณฑ์ทางการศึกษาให้กับบางบริษัท โดยมีข้าราชการระดับสูงในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)บางราย เป็นผู้สั่งการอนุมัติงบประมาณลงสู่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยม
หลังจากนั้นก็ให้ผู้ประสานงานแจ้งกับทางโรงเรียนว่า มีการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการศึกษาให้กับโรงเรียนแล้ว โดยที่โรงเรียนไม่ได้รับทราบมาก่อน และไม่ใช่เป็นความต้องการของโรงเรียน
จากข้อมูลนี้ ชี้ให้เห็นถึงการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบที่เกิดขึ้นในภาคการศึกษา เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างหนังสือ ตำรา วัสดุและครุภัณฑ์ทางการศึกษา ที่มีเครือข่ายความเชื่อมโยงของกลุ่มอิทธิพลในวงการศึกษา นับตั้งแต่ข้าราชการระดับสูงหรือผู้บริหารในกระทรวงและกรม ที่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเครือข่ายนักการเมือง นักธุรกิจ และผู้บริหารการศึกษาใน สพม. เรื่อยมาจนถึงผู้บริหารสถานศึกษาระดับโรงเรียนต่างๆ
อ่านเพิ่มเติม : เครือข่ายกลุ่มอิทธิพล : การคอร์รัปชันในระบบการศึกษา (1)
ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด
วรัญญา ศรีริน
ธีรภัทร์ ลอยวิรัตน์
ดร.กีรติพร จูตะวิริยะ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com