"...ข้อมูลการสัมภาษณ์เชิงลึก ยังพบอีกว่า การทุจริตคอร์รัปชันในส่วนนี้มักเป็นเรื่องการฮั้วประมูลงาน การเรียกหรือรับเงินเปอร์เซ็นต์ การกำหนดและล็อกสเปคงาน โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่บางโครงการ นอกจากมีผู้มีอิทธิพล คือนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว บางครั้งยังมีข้าราชการฝ่ายปกครองระดับสูงในจังหวัดบางราย เข้ามาเรียกหรือรับสินบนหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอยู่ด้วย..."
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยเรื่อง ‘การศึกษาเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ ของภาคการศึกษา’
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า เครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา อันเกิดจากความร่วมมือของเครือข่ายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างบรรดานักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจบางราย ส่งผลกระทบในทางลบอย่างลึกต่อสังคมเป็นอย่างมาก และถือเป็นตัวการทำลายสังคมและประเทศชาติ
วัตถุประสงค์การวิจัยนี้เพื่อศึกษาวิจัยเชิงลึกและเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบ และลักษณะความร่วมมือการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษาระหว่างเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลต่างๆ ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาจากประชากรเป้าหมายของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยม เขตที่ 24, 25 และ 26 โดยมุ่งหาหลักฐานและข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์จากวิธีการหลายรูปแบบ
ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบและลักษณะความร่วมมือของการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา ระหว่างเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจ มีดังต่อไปนี้คือ การทุจริตจากการจัดซื้อจัดจ้างและการก่อสร้าง การทุจริตจากการจัดซื้อหนังสือ ตำรา วัสดุและครุภัณฑ์ทางการศึกษา การทุจริตจากระบบบริหารงานบุคคลในรูปแบบต่างๆ และการทุจริตจากการรับนักเรียนเข้าสถานศึกษา
การทุจริตคอร์รัปชันจากการจัดซื้อจัดจ้างและการก่อสร้าง
ข้อมูลที่ได้จากคำพิพากษาในเขตจังหวัดพื้นที่เป้าหมาย และคำพิพากษาจากพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงเพื่อนำมาวิเคราะห์เทียบเคียง พบว่ามีคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในภาคการศึกษาอยู่ 3 คดี แต่มีเพียงคดีหนึ่งเท่านั้นที่อาจกล่าวได้ว่า เข้าข่ายเป็นการกระทำของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา คือคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในการเสนอราคาจ้างต่อเติมอาคารเรียน โดยมีพฤติการณ์ทุจริตคือการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ไม่มีการสอบราคาตามระเบียบ และไม่มีการปิดประกาศเผยแพร่การสอบราคาไว้โดยเปิดเผย เพื่อให้ประโยชน์แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรายหนึ่ง
ส่วนคดีที่เหลืออีก 2 คดี ข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน หรือมีข้อเท็จจริงที่ชี้ให้เห็นได้ถึงความร่วมมือของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล ที่นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา กล่าวคือไม่มีข้อเท็จริงที่แสดงให้เห็นถึงการร่วมมือประสานงานกันอย่างเป็นระบบ และมีความเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล อันได้แก่ ข้าราชการหรือบุคลากรทางการศึกษา นักการเมือง และนักธุรกิจหรือพ่อค้าบางราย โดยมีพฤติการณ์ทุจริตด้วยการคดโกง หรือฉ้อโกง
ข้อมูลจากการชี้มูลความผิด และข้อกล่าวหาหรือร้องเรียนจากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต (ป.ป.ช., ป.ป.ท., สตง.) ทั้งในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมเป้าหมาย และในจังหวัดใกล้เคียงภาคอีสาน พบว่า มีกรณีการชี้มูลความผิดอยู่ 3 กรณีคือ
หนึ่ง กรณีผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยม เขตที่ 25 มีข้อกล่าวหา คือ ไม่ขายเอกสารสอบราคาจ้างเหมาก่อสร้างประตูระบายน้ำแก่ผู้กล่าวหา เป็นเหตุให้ไม่มีโอกาสเสนอราคาอย่างเป็นธรรม
สอง กรณีการทุจริตจัดจ้างทำถนนคอนกรีตและสอบราคาจ้างต่อเติมอาคารเรียนเป็นเท็จ เหตุเกิดในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยม เขตที่ 19
สาม กรณีอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยม เขตที่ 21 มีข้อกล่าวหา คือ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้หุ้นส่วนบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่ง มอบให้ หรือหามาให้ซึ่งเงินจำนวน 40,000 บาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการลงนามทำสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเรียน และห้องสุขาโรงเรียนอย่างไรก็ดี
ทั้งสามกรณีนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลและรายละเอียดเชิงลึกพอ ที่สามารถบ่งชี้ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามีการร่วมมือกันและมีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบ และเป็นเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลที่ประกอบด้วยบุคคลต่างๆ อันได้แก่ ข้าราชการหรือบุคลากรทางการศึกษา นักการเมือง และนักธุรกิจหรือพ่อค้า โดยมีพฤติการณ์ทุจริตและประพฤติมิชอบด้วยกฎหมาย
หากแต่พฤติการณ์กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันที่ไม่เป็นระบบ หรือเป็นรายบุคคลของผู้บริหารสถานศึกษาและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องบางราย
ทว่าข้อมูลจากการสัมภาษณ์ และการประชุมกลุ่มย่อยในภาคสนาม กลับพบว่าต้นเหตุของการทุจริตคอร์รัปชันส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน โดยเฉพาะเมื่อมีงบประมาณจำนวนมากลงมาในหน่วยงานภาคการศึกษา จึงกลายเป็นสิ่งล่อใจให้ผู้มีอำนาจและอิทธิพลทั้งหลายพยายามหาช่องทางในการได้มาซึ่งงบประมาณดังกล่าวด้วยวิธีการทุจริต
ดังกรณีตัวอย่างการให้ข้อมูลของสมาชิกสโมสรโรตารีขอนแก่นรายหนึ่ง ที่ให้ข้อมูลว่า
“ผู้อำนวยการโรงเรียนบางคนได้ตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างเอง แต่อาศัยคนอื่นที่เป็นเพื่อนครูที่เกษียณอายุราชการแล้ว หรือไม่ก็ดึงสมัครพรรคพวกหรือญาติพี่น้องที่มีความรู้เรื่องการก่อสร้างเข้ามาเป็นหุ้นส่วน แต่มักปกปิดชื่อตัวเองแล้วมีการแสวงหาประโยชน์ร่วมกันเป็นเครือข่าย……” (สัมภาษณ์นายสมศักดิ์, นามสมมติ, 4 ธันวาคม 2560) อันสะท้อนให้เห็นถึงพฤติการณ์ทุจริตคอร์รัปชัน จากการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบ เพื่อเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินของกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษาบางราย
จากการศึกษายังพบอีกว่า รูปแบบและลักษณะความร่วมมือในการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบจากการก่อสร้าง มักประกอบด้วยบุคคลเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ดังนี้
1.ผู้เกี่ยวข้องหลักในกระบวนการทุจริตคอร์รัปชัน ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา (ผู้อำนวยการโรงเรียน) บางราย เนื่องจากผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้มีบทบาทในการกำหนดสเปคงาน เพราะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในสถานศึกษา และยังเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้าง โดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดใหญ่พิเศษ ที่จัดได้ว่าเป็น “ผู้มีอิทธิพล” เนื่องจากมีงบประมาณจำนวนมากที่ต้องดูแล อีกทั้งผู้บริหารสถานศึกษาขนาดใหญ่และขนาดใหญ่พิเศษ มักมีตำแหน่งสำคัญภายในเขตพื้นที่การศึกษาหลายตำแหน่ง การมีสถานะอยู่ในหลายตำแหน่ง ยิ่งทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีอำนาจและมีอิทธิพลมากยิ่งขึ้น
2.นิติบุคคลที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด อันได้แก่ นักธุรกิจหรือผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยทั่วไปนักธุรกิจหรือผู้รับเหมาก่อสร้างบางราย และผู้บริหารสถานศึกษา มักมีการตกลงราคาการก่อสร้างกันไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะผู้บริหารสถานศึกษามักรู้จักคุ้นเคยกับนักธุรกิจหรือผู้รับเหมาก่อสร้างดีอยู่แล้ว
3.นักการเมือง โดยทั่วไปในชุมชนท้องถิ่น นักธุรกิจรายใหญ่มักเป็นนักการเมืองอยู่ในตัวเอง หรือไม่ก็เป็นผู้สนับสนุนนักการเมืองโดยตรง สังคมไทยเดินทางมาถึงจุดที่คนมีอำนาจทุกระดับมีแนวโน้มทุจริตคอร์รัปชันเมื่อเขามีโอกาส นักการเมืองบางรายจึงเป็นต้นทางของการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น เมื่อ ส.ส. แปรญัตติงบประมาณการก่อสร้างลงมาสู่เขตพื้นที่การศึกษา จากนั้นจะหาทางเรียกหรือรับ “เงินทอน” จากงบประมาณจำนวนดังกล่าว หรือในบางกรณีนักการเมืองบางราย จะเข้ามาประสานความร่วมมือกับผู้บริหารสถานศึกษา ให้มีการจ้างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่เป็นพรรคพวกของตนเท่านั้นเป็นผู้รับงาน
4.ผู้ร่วมสนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชัน ได้แก่ บุคลากรทางการศึกษาที่ทำหน้าที่ดังต่อไปนี้ เช่น หัวหน้างานพัสดุ เจ้าหน้าที่พัสดุ เจ้าหน้าที่การเงิน และพนักงานตรวจรับการจ้างงาน กลุ่มคนเหล่านี้จะถูกสั่งการลงมาอีกทีหนึ่ง
ข้อมูลทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบและลักษณะของการทุจริตคอร์รัปชันจากการก่อสร้างว่า มีการดำเนินงานกันเป็นเครือข่ายของกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ อันมิใช่เป็นเรื่องการดำเนินงานของบุคคลเพียงคนเดียว
ข้อมูลการสัมภาษณ์เชิงลึก ยังพบอีกว่า การทุจริตคอร์รัปชันในส่วนนี้มักเป็นเรื่องการฮั้วประมูลงาน การเรียกหรือรับเงินเปอร์เซ็นต์ การกำหนดและล็อกสเปคงาน โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่บางโครงการ นอกจากมีผู้มีอิทธิพล คือนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว บางครั้งยังมีข้าราชการฝ่ายปกครองระดับสูงในจังหวัดบางราย เข้ามาเรียกหรือรับสินบนหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอยู่ด้วย
ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด
วรัญญา ศรีริน
ธีรภัทร์ ลอยวิรัตน์
ดร.กีรติพร จูตะวิริยะ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.kenan-asia.org