"...แต่ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก และการประชุมกลุ่มย่อยกลับพบว่า การทุจริตคอร์รัปชันจากการรับนักเรียนเข้าสถานศึกษา เป็นรูปแบบการทุจริตที่เกิดขึ้นในแทบทุกสถานศึกษามายาวนาน และเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในทางสาธารณะ โดยกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษาบางรายและเครือข่ายของตนที่มีพฤติการณ์ทุจริต พยายามหาช่องทางการทุจริตจากการใช้เกณฑ์การรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในกรณีที่นักเรียนไม่สามารถสอบเข้าโรงเรียนตามเกณฑ์ปกติได้ ด้วยวิธีการเพิ่มจำนวนเก้าอี้นักเรียน แล้วกลายเป็นช่องว่างของการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการฝากนักเรียนเข้าโรงเรียน แล้วมีการเรียกหรือรับเงินจากผู้ปกครอง ที่เรียกกันว่า “แป๊ะเจี๊ยะ” ซึ่งมีทั้งที่เปิดเผยและที่ลับ แต่โดยทั่วไปผู้จ่ายมีความเต็มใจในการจ่ายเพื่อซื้อเก้าอี้นักเรียน..."
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยเรื่อง ‘การศึกษาเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษา’
ข้อมูลจากคำพิพากษาของศาล และข้อกล่าวหาที่ชี้มูลความผิดจากหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต ไม่พบคดีการทุจริตจากการรับนักเรียนเข้าสถานศึกษาแต่อย่างใด
หากแต่พบข้อมูลใน เรื่องการกล่าวหาร้องเรียนของหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการกล่าวหาร้องเรียนการทุจริตของผู้บริหารสถานศึกษาเพียงกลุ่มเดียวและเป็นการทุจริตด้วยการเรียกหรือรับสินบน เพื่อประโยชน์ตอบแทนจากการรับนักเรียนเข้าสถานศึกษา อันเป็นลักษณะการทุจริตคอร์รัปชันที่ไม่เป็นระบบ เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่เชื่อมโยงให้เห็นถึงพฤติการณ์ของการกระทำผิด ในลักษณะของการร่วมมือและประสานงานกันอย่างบูรณาการเต็มรูปแบบ และเป็นเครือข่ายของบุคลากรทางการศึกษา นักการเมือง นักธุรกิจ และกลุ่มเครือข่ายอิทธิพลของตน โดยมีพฤติการณ์ในทางมิชอบด้วยกฎหมาย ด้วยการเรียกหรือรับสินบน
แต่ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก และการประชุมกลุ่มย่อยกลับพบว่า การทุจริตคอร์รัปชันจากการรับนักเรียนเข้าสถานศึกษา เป็นรูปแบบการทุจริตที่เกิดขึ้นในแทบทุกสถานศึกษามายาวนาน และเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในทางสาธารณะ โดยกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษาบางรายและเครือข่ายของตนที่มีพฤติการณ์ทุจริต พยายามหาช่องทางการทุจริตจากการใช้เกณฑ์การรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในกรณีที่นักเรียนไม่สามารถสอบเข้าโรงเรียนตามเกณฑ์ปกติได้ ด้วยวิธีการเพิ่มจำนวนเก้าอี้นักเรียน แล้วกลายเป็นช่องว่างของการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการฝากนักเรียนเข้าโรงเรียน แล้วมีการเรียกหรือรับเงินจากผู้ปกครอง ที่เรียกกันว่า “แป๊ะเจี๊ยะ” ซึ่งมีทั้งที่เปิดเผยและที่ลับ แต่โดยทั่วไปผู้จ่ายมีความเต็มใจในการจ่ายเพื่อซื้อเก้าอี้นักเรียน
ในทางปฏิบัติผู้บริหารสถานศึกษาที่มีพฤติการณ์ทุจริตบางราย มักแต่งตั้งเลขานุการส่วนตัวที่เป็นครูอัตราจ้าง หรือข้าราชการครูที่เกษียณอายุราชการแล้ว ซึ่งได้รับความไว้วางใจเป็นพิเศษ ให้มาเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบในการเรียกหรือรับสินบนแทนตน
จากการศึกษาพบว่า พฤติการณ์ของการทุจริตมี 2 รูปแบบหลักคือ
หนึ่ง การทุจริตด้วยการเรียกหรือรับเงินโดยตรงในรูปแบบต่างๆ จำแนกเป็นการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการจ่ายสินบนของกลุ่มข้าราชการต่างๆ และการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการจ่ายสินบนของประชาชนทั่วไป
สอง การทุจริตคอร์รัปชันด้วยการแลกเปลี่ยนสิทธิผลประโยชน์บางอย่าง อันเป็นเรื่องการแลกเปลี่ยนสิทธิผลประโยชน์บางอย่างที่คาดว่าจะได้รับจากทั้งสองฝ่าย เช่น การที่ อ.ก.ค.ศ.(อดีต) หรือกลุ่มผู้อำนวยการ สพม. ได้เข้ามาประสานเพื่อขอฝากบุตรหลานเข้าเรียนกับผู้บริหารสถานศึกษาบางแห่ง ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาเกิดความเกรงใจ และให้สิทธิในการรับฝากเข้าเรียนโดยง่าย
ขณะเดียวกันตนเองก็มุ่งหวังผลประโยชน์อันพึงได้จากคนกลุ่มนี้ซึ่งมีอำนาจเหนือตน ทั้งในเรื่องการพิจารณาความดีความชอบ การเลื่อนขั้นเงินเดือน การแต่งตั้งโยกย้าย การเลื่อนวิทยฐานะ เป็นต้น
การศึกษายังพบว่า พฤติการณ์ทุจริตคอร์รัปชันจากการเรียกหรือรับสินบนมีหลายวิธี เช่น ในโรงเรียนขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ ผู้บริหารสถานศึกษาบางรายที่ทุจริตคอร์รัปชัน อาจไม่รายงานจำนวนนักเรียนตามความเป็นจริง เพื่อเป็นช่องทางในการเพิ่มจำนวนเก้าอี้นักเรียนบางกรณีข้าราชการระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการบางราย มีเบื้องหลังและมีส่วนในการรับฝากเด็กเข้าเรียนแล้วมีการเรียกหรือรับสินบน
บางโรงเรียนมีประธานกรรมการสถานศึกษาเป็นนักการเมืองที่มีอิทธิพลอยู่ในวงการศึกษามานาน อาจกล่าวได้ว่า ทั้งข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองเหล่านี้คือ “ผู้มีอิทธิพลตัวจริง” เนื่องจากมีพฤติการณ์ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ด้วยการเรียกหรือรับเอาประโยชน์ทั้งหลายเพื่อตนเองหรือพวกพ้อง และเมื่อมีการรวมตัวกันกลายเป็นกลุ่มอิทธิพล ก็มีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจทุกรูปแบบกระทำการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของกลุ่มตนแม้ว่าการกระทำหรือการใช้อำนาจนั้น จะผิดกฎหมายหรือละเมิดจริยธรรมของสังคมก็ตาม
จึงอาจกล่าวได้ว่าการทุจริตคอร์รัปชันจากการรับนักเรียนเข้าสถานศึกษาบางแห่ง มีลักษณะเข้าข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษา ตามความหมายของการวิจัยนี้
ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด
วรัญญา ศรีริน
ธีรภัทร์ ลอยวิรัตน์
ดร.กีรติพร จูตะวิริยะ
อ่านประกอบ :
- เครือข่ายกลุ่มอิทธิพล : การคอร์รัปชันในระบบการศึกษา (1)
- เครือข่ายกลุ่มอิทธิพล : คอร์รัปชัน ในการจัดซื้อหนังสือ-ครุภัณฑ์การศึกษา (2)
- เครือข่ายกลุ่มอิทธิพล : คอร์รัปชันในการแต่งตั้ง-โยกย้ายบุคลากรทางการศึกษา (3)
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.efinancethai.com