"...ไม่ว่าใครจะมีปัญหาอะไรกับระบบสาธารณะสุขของอังกฤษ แต่ประสบการณ์ส่วนตัวครั้งนี้ หากมองในภาพใหญ่ก็จะเห็นว่า ระบบที่เขาวางรากฐาน Universal Health Care ก็มีประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนโดยเฉพาะผู้คนระดับรากหญ้าโดยเจือจานกันได้ทั่วหน้า ไม่น่าประหลาดใจที่ว่าผู้เสียภาษีส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ยังชื่นชมและรู้สึกคุ้มค่ายอมเสียภาษีให้..."
Part 3. บันทึกชะตากรรมคนไทยที่ใด้ใช้สวิสดิการฉุกเฉินของระบบ NHS
ตอนที่ 3. อาการดีขึ้น แต่หมอยังไม่แน่ใจไม่ปล่อยกลับบ้าน จึงได้เห็น ‘ชีวิตจริงก็เหมือนละคร’
เมื่อตอนที่แล้วเล่าให้ฟังว่านอน รพ. มีเวลาว่างมาก เวลากินข้าวเช้าเปิด VIPA App ของไทยพีบีเอส ได้ดูรายการสถานีประชาชน และทุกทิศทั่วไทย หายคิดถึงเมืองไทยบ้าง ก็นึกขึ้นได้ว่ายังมีรายการที่เคยติดตามประจำคือ ‘ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร’ เป็นรายการประเภท continuing factual series เรื่องราวจากชีวิตจริงที่ทำมายาวนานหลายปี ในประเทศอังกฤษ BBC เขามีรายการ continuing drama series รายการที่เขียนเป็นละคร Drama ที่ผู้คนเขาติดกันงอมแงมเช่น East Enders แต่ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้คือ Hospital Drama ละครชีวิตจาก รพ.ซึ่งผลิตออกอากาศมายาวนานหลายปี มีคนติดงอมแงมสองชุดคือ Casualty และ Holby City ผมเคยได้ดูทั้งสองชุดบ้างเป็นครั้งคราว ก็ได้ประจักษ์ว่าคนเขียนบท คงไปฝังตัวอยู่ใน รพ. เป็นปีๆ แล้วสะท้อนภาพออกมาให้พวกเราเห็นว่า ละครเป็นภาพสะท้อนของชีวิตจริงได้อย่างไร
ที่ รพ. แห่งนี้ ทุกเช้าก็จะมีหมอเจ้าของใข้ เดินมาตรวจใข้เป็นเตียงๆ ไป จะมีหมอฝึกหัดหนุ่มสาว เดินตามกันมาเป็นพวง หมอเจ้าของใข้ก็ปิดม่านแล้วตรวจคนใข้ของเขา แล้วบรรยายสรุปเป็นภาษาวิทยาศาสตร์แล้วหมอหนุ่มสาวก็จะจดบันทึก กระบวนการไต่สวนใข้ การจัดขั้นตอน treatments ขั้นต่อไป หมอฝึกหัดก็จะซักถามข้อข้องใจจนเป็นที่พอใจ แล้วก็จะยกโขยงเคลื่อน ย้ายไปตรวจใข้ห้องอื่น ได้สังเกตเห็นหมอฝึกหัดหนุ่มคนหนึ่งหน้าเข้ม น่าจะมีเชี้อสายตะวันออกกลาง จะคอยเข้ามาดักคุยกับพยาบาลสาวผมบรอนด์หน้าตาดีคนหนึ่ง ส่งสายตาหวานเข้าหากัน เอามือตบหลังตบไหล่ คงจะนัดหมายไปออกเดทกันหลังออกกะ
แต่ในละครทีวี Holby City และ Casualty นอกจากมีฉากหวานๆ hospital romance อย่างนี้แล้ว ยังมีกรณีหึงหวงเป็นเรื่องมีปากมีเสียงกันเป็นซับพล้อต ซ้อนภาพภาวะวิกฤติในระบบสาธารณะสุข ที่บางแห่งเกิดความผิดพลาดจากนโยบายรัฐ มีปัญหาขาดแคลนงบประมาณ หรือความผิดพลาดจากนักบริหารองค์กร มีพวกหมอหนุ่มสาวที่มีอุดมการณ์ที่ทุ่มเทให้กับงาน กับหมออาวุโสหรือผู้บริหารที่หมกมุ่นกับการเมือง office politic หาประโยชน์ใส่ตัว เบียดกัดคนอื่น แล้วเกิดความเสียหายต่อส่วนรวม คนเขียนสคริปต์ก็เปิดโปงตีแผ่ออกมาเป็นละครทีวี สะท้อนภาพความเป็นจริง
จำได้ว่าได้เคยแนะนำให้ทีมงานฝ่ายรายการไทยพีบีเอส ให้ลองพัฒนารายการรูปแบบ hospital drama เพื่อตีแผ่ระบบสาธารณะสุขไทยให้ถึงแก่นจริงๆ มาออกทีวี เพราะไม่เคยมีทีวีในไทยผลิตรายการละคร ซี่รี่ แบบนี้ โดยให้เขาคิดทำเป็น continuing drama series ยาวๆ หลายๆ ปีแบบ ’ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร’ เพราะเรื่องราวสาธารณะสุขไทยมันจะต้องมีอะไรที่มากกว่าแค่ ‘ตำนานหมอหงวน’ และ/หรือรายการ health promotion campaign แบบที่ สสส. สนับสนุนให้มาออกอากาศ... เท่าที่ติดตามดูผังรายการในปัจจุบัน แนวคิดของผมนี้ ยังไม่มีใครซื้อ
มาเล่าเรื่องชีวิตจริงใน บัวผันวอร์ด กันต่อดีกว่า... โจอี้ ได้กลับบ้านไปแล้วหลังผ่านิ่วเสร็จ ต่อจากนั้นอีกวันหนึ่ง เนาบี ก็ได้กลับบ้านเช่นกันโดยมีจดหมายจาก รพ. ไปถึงหมอ GP ประจำตัวให้ดูแลกันต่อไป คนที่มาแทน เนาบี คือ มาร์วิน เป็นหนุ่มใหญ่ อายุประมาณ 75-80 เห็นจะได้ ท่าทางเข้าสเป็กของผู้ดีอังกฤษ แต่งตัวดีใช้ภาษาแบบผู้มีการศึกษาสูง แบบที่เรียกว่า posh accent จับความได้ว่าเป็นคนมีพื้นเพมาจากแคว้นคอร์นวอลล์ ซึ่งเป็นภูมิภาคของคนมีตระกูลมีสตางค์ ไม่กล้าถามว่าเป็นอะไร เดาในใจว่าคงเป็นโรคเก้าท์กำเริบ เพราะเห็นเท้าบวมๆ ส่วนใครอยากรู้ว่า posh accent มันเป็นอย่างไร ก็ลองเปิดดูซีรี่ชุด The Crown หรือ Downton Abbey ก็จะสังเกตุว่าผู้ดีอังกฤษเขาส่งเสียงออกจากปากแบบห่อๆ ระวังไม่ให้น้ำลายกระเด็น เวลาพูดมักจะห่อปากแล้วขยับแต่กรามล่างเป็นหลัก....
มาร์วินเขาจะมีเสื้อผ้าชุดนอนแลรองเท้าสลิปเปอร์ของเขามาเอง ไม่ใช้ชุดนอนของ รพ. มีหนังสือเล่มหนาๆ มานั่งอ่านฆ่าเวลา นานๆ ก็จะโทรหาญาติสักทีหนึ่ง ไม่เหมือน คนใข้อื่นๆ ที่มักจะก้มหน้าใช้มือถือตลอด พวกหน้าเก่าในห้องนี้อย่างผมก็จะเหลือผมกับ อลัน ที่อยู่มาก่อนใครและยังอยู่ต่อ ...ก็มีลุงอลันก็ดูจะน่าสงสารมาก ต้องนอนติดเตียง ทุกวันพยาบาลก็จะทักทาย อลัน -อาร์ ยู ออ ร้าย มายลัฟลี่- ลุงอลันก็จะตอบด้วยเสียงแผ่วเบา นางพยาบาลก็ปิดม่านล้อมเตียงแล้วเช็ดตัวให้ จะต้องตรวจน้ำตาลแล้วเจาะเลือดทุกวัน ส่วนอาหารดูเหมือนจะถูกหมอควบคุม อยากกินอะไรหรูหราไม่ได้ ก่อนนอนพยาบาลสาวก็จะมาชงช้อกโกแลตร้อนให้
ดูท่าทาง ลุงอลัน จะหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต ไม่เคยเห็นแกโทรหาญาติๆ เลย นอนเหม่อลอยมองเพดานอยู่ตลอดเวลา ดูแล้ว ก็ไม่ทราบว่าขบวนการรักษาของหมอที่นี่ เขาจะดำเนินการกับลุงอลันต่อไปอย่างไร คงเป็นปัญหาใหญ่ของระบบ NHS ที่นี่ เพราะคนรุ่นนี้ไม่ได้ดูแลสุขภาพตัวเอง พอแก่ตัวก็มาเป็นภาระให้ระบบสาธารณะสุข แม้ว่าจะมีระบบ social care คือมีการเคลื่อนย้ายคนใข้ติดเตียงที่ต้องรักษาระยะยาว ส่งสายพานไปออกไปอยู่ใน care home ตามท้องถิ่น แต่เหมือนต้องออกไปจากระบบ NHS เข้าสู่การดูแลของ local council ในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งบางท้องถิ่นไม่มีงบประมาณมากเหมือน NHS สว. บางคนที่มีเงินก็ยอมเข้าสู่ care home ของเอกชนต้องเสียเงินเสียทองกันมากในบั้นปลายของชีวิต
เมื่อเห็นสภาพของลุงอลันแล้ว ก็ต้องย้อนกลับมาดูตัวเอง นี่ก็ผ่านหลักกิโลเมตรที่ 70 แล้ว เราจะไปถึง 80-90 ได้หรือไม่ ถ้า สว. รุ่น Baby Boomers อย่างพวกเรา ปล่อยปละละเลยเรื่องการดูแลสุขภาพ สักวันหนึ่งก็คงอยู่ในสภาพแบบลุงอลัน
อย่างที่เคยเล่าให้ฟังเมื่อตอนที่แล้วว่า รัฐบาลบอรีส จอห์นสันก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ต้องพยายามจัดหาเงินมาสนับสนุนระบบ Social Care เพื่อรับกับการเพิ่มขึ้นของประชากร สว. ที่สังขารทรุดโทรมตามวัย จึงตัดสินใจปรับเพิ่มภาษี NI เพิ่มอีก 1.25 % กำหนดเริ่มเก็บตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป ก็โดน สส. พรรคเดียวกันโหวตสวน กว่าจะผลักดันออกมาได้ก็หืดจับ สส. กลัวว่าเก็บภาษีเพิ่มจะทำให้คะแนนนิยมตก
ส่วนผมหลังจากไปทำ MRI Scan มาสองวันแล้ว หมอก็ยังไม่มาเล่าให้ฟังว่าอย่างไร มีแต่พยาบาลมาเจาะเลือดทุกวัน ตรวจความดัน ชีพจร อุณหภูมิ ตรวจโควิด แล้วก็ฉีดยาฆ่าเชี้อ antibiotic หลอดใหญ่ๆ ทุกวัน วันรุ่งขึ้นก็มีหมอมาตรวจช่องท้องอีก กดลงไปไม่ร้องโอยๆ แล้วแจ้งว่าผลการตรวจเลือดตัวเลขดีขึ้นตามลำดับ แต่หมอเจ้าของใข้ยังไม่ได้รีวิวผล MRI Scan ต้องรอสักวันสองวัน ตอนนี้ก็ฉีด antibiotic ไปพลางๆ แล้วเจาะเลือดตรวจให้แน่ใจว่าเชี้ออักเสบถูกกวาดล้างให้หมดไป แต่ในใจก็เตลิดอยากกลับบ้านแล้ว เพราะทั้งโจอี้ เนาบี มาทีหลังได้กลับบ้านไปก่อนแล้ว
วันรุ่งขึ้นมีคนใข้หนุ่มเข้ามาใหม่ พอล ไปปั่นจักรยานแล้วโดนเด็กวัยรุ่นขับรถเก๋งชน ตกถนน รถพยาบาลนำมาทำแผลใส่เฝือกทั้งแขนและขาข้างขวา หมอให้นอนพักสักสองวันดูแผลว่าจะอักเสบหรือไม่ เวลาคุยพอลก็จะออกสำเนียงเหน่อๆ แบบชาวลิเวอร์พูล ถ้าอยากรู้ว่าเป็นแบบไหน ก็ลองค้นคลิปยูทูป ที่เขาสัมภาษณ์ จอห์น เลนนอน มาฟัง จะเหน่อๆ แบบนั้น
ขณะที่ผมกำลังฝันกลางวันอยากกลับบ้าน พลัน บัวผันวอร์ดก็ดูสว่างไลวขึ้นทันควัน เพราะป้าแม็กกี้ ไม่ได้มาทำหน้าที่ตามปกติ แต่มีสองสาววัยรุ่นหุ่นเซ็กซี่คล้ายนางแบบสองคน แต่งชุดดำรัดรูปแบบที่แต่งตัวไปห้องฟิตเนส มาบริการให้อาหารแทน ทำให้รู้สึกว่าอาหารที่เอามาเสิร์ฟคราวนี้มีรสชาดน่ากินมากขึ้น ใครอยากรู้ว่าสาวสวยแบบเอ็กเซ็กส์สวยแบบไหนก็ลงค้นหารูปใน IG ตอนสาวๆ ของ เพนนี แลงค์คาสเตอร์ ภริยาของนักร้องรุ่นเก๋า ร็อต สจวตท์ ดูเองก็แล้วกัน
ป้าแม็กกี้อาจจะลาพักร้อน หรือไม่ก็คงต้องกักตัวเพราะตววจเชื้อโควิด หรือไม่ก็เกษียณไปแบบที่ป้ามาบ่นให้ฟัง แล้วสองสาวที่มาแทนนี้ ก็คงจะเป็นพวก outsourced หรือ tempt อาจจะเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารหรูๆ แพงๆ แต่ตกงานช่วงล้อคดาวน์ ทาง รพ. ว่าจ้างเข้ามาชั่วคราวในภาวะที่บุคคลากรหลายภาคส่วนขาดแคลนเพราะต้องกักตัว... ในระบบ NHS….ตามรายงานข่าวที่ผมติดตามอยู่ทุกวันพบว่าบุคคลากรต้องหยุดกักตัวถึงหนึ่งในสี่ ออกไปเดินดูหน้าห้องมีกระดานดำที่พนักงานต้องมาใส่ชื่อมาเข้ากะ ก็จะพบว่ามีหลายคนที่มาเข้ากะไม่ได้ อย่างที่ เจฟฟรี่ บุรุษพยาบาลฟิลิปปินส์บ่นให้ฟังว่า ตัวเองเป็นพยาบาล แต่ต้องช่วยงานแม่บ้านสารพัดเช่นเปลี่ยนผ้าปูที่นอนด้วย
ผมสังเกตุได้ว่าสองสาวเซ็กซี่ที่มาเสริฟอาหารให้พวกเราวันนี้ สร้างสีสันเปลี่ยนบรรยากาศจากป้าแม้กกี้อย่างฉับพลัน แต่ไม่มีผลอะไรต่อลุงอลันเลย ลุงก็ยังคงเหม่อลอย ไม่อีนังขังขอบต่อบรรยากาศที่เปลี่ยนแต่อย่างไร
ภาวะขาดแคลนบุคลลากรเพราะสถานการณ์โควิดนี่กระมังที่ทำให้ หมอประจำใข้ของผมไม่มีเวลารีวิว MRI Scan สักที จนกระทั่งถึงวันที่ 11 คุณหมอไก่ (เดนนิส เวนน์ ชิกเก้น) ซึ่งเป็นหมอเจ้าของใข้ก็ปรากฎตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่งมาแจ้งข่าวดีว่า วันนี้กลับบ้านได้แล้ว ผลเลือดดีขึ้นตามลำดับ จะให้ยาฆ่าเชี้อแบบเม็ดไปกินต่อที่บ้านอีกห้าวัน จากนั้นอีกสี่สัปดาห์ขอให้มาเจาะเลือด แล้วนัดคุยเพื่อกำหนดวันผ่าถุงน้ำดี ห้ามกินอาหารพวกของทอดของมันๆ ถ้าเกิดอาการปวดท้องก็ให้รีบมา รพ. ทันที แล้วสั่งงานให้พยาบาลเขียนจดหมายส่งตัวให้แพทย์ GP ประจำตัวรับไปดูแลต่อ
กลับมาถึงบ้านชั่งน้ำหนัก หายไปเกือบสี่กิโล ต้องพยายามกินให้มากๆ เพื่อฟื้นฟู แล้วเขียนบันทึกข้อความไปขอบคุณทีมงานของโรงพยาบาลผ่านทางหน้าออนไลน์ฟีดแบ็กของเขา ประมาณหนึ่งสัปดาห์ต่อมามีโทรศัพท์มาสอบถาม สภาพการฟี้นใข้ของเรา แต่ไม่ใช่หน่วยงานของระบบ NHS กลายเป็นระบบ Social Care ซึ่งรับงบประมาณมาจาก Essex County Council เป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่สนับสนุนงาน post NHS treatment ถามว่าต้องการ support อะไรบ้าง อยู่บ้านคนเดียวหรือมีญาติ พี่น้องดูแล ต้องการรถเข็นหรือ walker ใหม มีคนจัดอาหารการกินใหม เขามีโครงการ weight loss programme ช่วยให้คนลดน้ำหนัก เพราะคนสูงวัยจำนวนมากมีน้ำหนักเกินมักทำให้ป่วย ก็เลยต้องขอบคุณอย่างมาก แต่ไม่รับบริการเพราะกำลังจะเพิ่มน้ำหนักให้กลับมาอยู่ในระดับก่อนเข้า รพ.
ไม่ว่าใครจะมีปัญหาอะไรกับระบบสาธารณะสุขของอังกฤษ แต่ประสบการณ์ส่วนตัวครั้งนี้ หากมองในภาพใหญ่ก็จะเห็นว่า ระบบที่เขาวางรากฐาน Universal Health Care ก็มีประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนโดยเฉพาะผู้คนระดับรากหญ้าโดยเจือจานกันได้ทั่วหน้า ไม่น่าประหลาดใจที่ว่าผู้เสียภาษีส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ยังชื่นชมและรู้สึกคุ้มค่ายอมเสียภาษีให้ ...เรื่องที่เล่ามาก็คงเปรียบเสมือนเป็น microcosm สะท้อนภาพจากมุมหนึ่งของสังคมขนาดใหญ่ แต่ประสบการณ์ของคนอื่นๆ ใน รพ. อื่นๆ ก็อาจจไม่เหมือนกับสิ่งที่ผมประสบมาก็ได้ และยินดีที่จะรับฟังการเปรียบเทียบแบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึกเกี่ยวกับระบบสาธารณะสุขของเพื่อนๆ คนไทยในประเทคต่าง ๆ เอเชีย ยุโรป อเมริกา .......
.....จบข่าว.....
อ่านประกอบ :
- สมชัย สุวรรณบรรณ : ประสบการณ์จริงในการรักษาฉุกเฉินในระบบ NHS ของอังกฤษ (ตอนที่ 1)
- สมชัย สุวรรณบรรณ : ความหลากหลาย..ในระบบการรักษา NHS ของอังกฤษ (ตอนที่ 2)
ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=4990261597696612&id=100001384648099