"...ระหว่างนั่งรอก็ใช้เวลาส่งข่าวคราวไปทางบ้านเป็นระยะ เพราะใน รพ. มีฟรีไวไฟ เน็ตแรงด้วย ได้ตรวจข่าวสถานการณ์โอไมครอนว่าระบาดหนักขนาดไหน รพ. ที่นี่เขาจะเต็มมีเตียงให้เราหรือเปล่า รอปวดท้องอยู่เกือบชั่วโมง ก็ได้เข้าพบแพทย์ GP เขาตรวจโควิดแบบ PCR แล้วถามไถ่ขอข้อมูลเพิ่มแล้วตรวจสอบสภาพ กดๆ ที่ท้อง ร้องโอดโอย แล้วเขาก็ส่งเข้าตรวจช่องท้องด้วยระบบ CT scan จากนั้น ให้ออกมานั่งรอที่ห้องโถงอีกชั่วโมงกว่า แล้วก็ได้พบกับแพทย์ที่เรียกว่า consultant คงเป็นแพทย์เฉพาะทาง เขาก็มากดๆ ที่หน้าท้องอีก ตรงไหนกดลงแล้วไม่เจ็บ ตรงไหนกดแล้วร้องโอดโอย ประเมินแล้วก็สั่งพยาบาลให้จัดห้องจัดเตียงบอกว่า แอดมิด ต้องนอน รพ. อีกหลายวันนะ เพราะมีอาการอักเสบรุนแรง Acute Cholecystitis แสดงว่าสาหัส..."
ตอนที่ 1 อาการหนักจนต้องเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินมารับตัวที่บ้าน
ผมใช้ชีวิตอาศัยอยู่และทำมาหากินเสียภาษีให้รัฐบาลประเทศนี้มายาวนานกว่าเกือบสี่สิบปี (ยกเว้นหกปีที่ไปทำงานในประเทศไทย) ได้ใช้บริการก็แค่ พบหมอประจำตำบลเป็นระยะๆ แล้วก็รับยาไปกินที่บ้าน แต่ก็ไม่เคยนึกฝันว่าจะได้ใช้บริการสวัสดิการสาธารณะสุขที่เท่าเทียมและทั่วหน้าในวาระที่ต้องป่วยหนักแบบฉุกเฉินนอน รพ. Basildon ยาวนานถึง11 คืน ทำให้น้ำหนักลดไปเกือบสี่กิโล ภายใต้สถานการณ์ที่เชี้อกลายพันธ์โอไมครอนกำลังระบาดรุนแรงทั่วประเทศ โรงพยาบาลแทบทุกแห่งเตียงแน่นไปหมด และข่าวฉาวๆ เกี่ยวกับการตีสองหน้าของนักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของเมืองผู้ดี
ผมอยากเล่าเรื่องประสบการณ์ส่วนตัวในการเข้ารักษาพยาบาลฉุกเฉินในระบบ NHS ของอังกฤษ เพราะไทยและอังกฤษมีจำนวนประชากรเกือบเท่าๆกัน ระบบโครงสร้างทางสาธารณะสุขของสองประเทศอาจจะมีส่วนคล้ายและส่วนต่าง แล้วแต่บริบทพัฒนาการ หรือแนวคิดที่ต่างกัน หากใครมีประสบการณ์ที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ก็จะนำมาแบ่งปันกันได้ โดยเฉพาะปัญหาจำนวนประชากรสูงวัยที่อังกฤษเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดสัดส่วนเป็นภาระหนักของสังคม คล้ายๆ กัน
ก่อนวันปีใหม่ได้สองวันเกิดอาการปวดท้องอย่างหนัก ทุกข์ทรมานมาก คิดว่าไม่นานคงหายปวดเพราะเคยเป็นแบบนี้มาสักสองสามชั่วโมงก็คงหาย ลองกินชาขมิ้น น้ำส้ม apple cider ก็เคยบรรเทาได้ แต่คราวนี้ไม่บรรเทาและออกจะหนักขึ้น ทนทรมานอยู่สองวันก็ตกลงใจเข้าสู่ระบบของ NHS ด้วยการโทรเบอร์ด่วนสาธารณะสุข 111....รอสายไม่นานก็ได้เล่าอาการให้เจ้าหน้าที่ เขาประเมินแล้วคงอาการหนักเขาเรียกรถ ambulance ให้มารับ ไม่ถึงสิบนาทีก็มาถึงพร้อมเครื่องมือแพทย์ ตรวจชีพจร ความดัน หัวใจ น้ำตาลในเลือด ให้กินยาพารา เสร็จแล้วบอกให้เตรียมตัวคืนนี้อาจจะต้องนอน รพ. ก็นั่งรำพึงว่าในขณะที่ทั่วโลกกำลังเลี้ยงฉลองวันปีใหม่สนุกสนานกัน แต่ตัวเองต้องมีรถพยาบาลมาหามส่งเข้า รพ.
Paramedic (เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน) ที่มารับแล้วพาส่งตัวเข้า รพ. ก็ป้อนข้อมูลเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ให้กับทีมงานที่ห้อง A&E (Accident and Emergency) แล้วส่งตัวไปเจาะเลือด แล้วให้นั่งรอในห้องโถงใหญ่ มีคนไข้ฉุกเฉินหลากหลายในสภาพต่างๆ กัน หนักบ้างเบาบ้าง เดินเข้าเดินออกกันไม่ขาดสาย ผู้ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ นอนเตียงเปลเข้ามารักษาแผล รวมตั้งเด็กวัยรุ่นที่ตีกันหัวร้างข้างแตกโวยวายไม่หยุด มีตำรวจใส่กุญแจมือคุมตัวมารักษาบาดแผล แถมมีห้องสอบปากคำใน รพ. ด้วย บรรยากาศก็ชุลมุนกันพอประมาณ พวกที่ใส่เฝือกเสร็จ ญาติก็มาพยุงกลับบ้านไป คนป่วยใหม่ก็เข้า หมุนเวียนกับไปเหมือน revolving door ทีมหมอ พยาบาล ทำงานไม่หยุดหย่อน 24 ชม. ทุกวัน
ระหว่างนั่งรอก็ใช้เวลาส่งข่าวคราวไปทางบ้านเป็นระยะ เพราะใน รพ. มีฟรีไวไฟ เน็ตแรงด้วย ได้ตรวจข่าวสถานการณ์โอไมครอนว่าระบาดหนักขนาดไหน รพ. ที่นี่เขาจะเต็มมีเตียงให้เราหรือเปล่า รอปวดท้องอยู่เกือบชั่วโมง ก็ได้เข้าพบแพทย์ GP เขาตรวจโควิดแบบ PCR แล้วถามไถ่ขอข้อมูลเพิ่มแล้วตรวจสอบสภาพ กดๆ ที่ท้อง ร้องโอดโอย แล้วเขาก็ส่งเข้าตรวจช่องท้องด้วยระบบ CT scan จากนั้น ให้ออกมานั่งรอที่ห้องโถงอีกชั่วโมงกว่า แล้วก็ได้พบกับแพทย์ที่เรียกว่า consultant คงเป็นแพทย์เฉพาะทาง เขาก็มากดๆ ที่หน้าท้องอีก ตรงไหนกดลงแล้วไม่เจ็บ ตรงไหนกดแล้วร้องโอดโอย ประเมินแล้วก็สั่งพยาบาลให้จัดห้องจัดเตียงบอกว่า แอดมิด ต้องนอน รพ. อีกหลายวันนะ เพราะมีอาการอักเสบรุนแรง Acute Cholecystitis แสดงว่าสาหัส
หมอเฉพาะทางคนนี้เป็นหนุ่มใหญ่คงอายุประมาณ สี่สิบกว่า เขาหันมาถามว่าอายุเท่าไหร่แล้ว ก็บอกว่าเจ็ดสิบแล้วกำลังย่างเข้าเจ็ดสิบเอ็ด หมอชมว่ายังดูดีมากอายุขนาดนี้ นี่ว่าขนาดปวดท้องจนหน้าเหี่ยวหมอยังชม ก็เลยประทับใจกับหมอคนนี้มาก จิตวิทยาดีเยี่ยม แต่ก็หมอท่านไม่ได้เห็นแวะมาดูไข้อีกเลยส่งหมอคนอื่นมาตรวจร่างกายวันละครั้ง จนถึงวันจะปล่อยตัวกลับ ก็ได้ปรากฎตัวมาให้เห็นหน้าอีก จึงจำชื่อได้แม่นว่าหมอคนนี้ชี่อ หมอไก่-เดนนิส เวนน์ ชิกเก้น (Chicken)
จากนั้นพยาบาลก็บอกให้มานั่งรอที่ห้องโถงใหญ่อีก บอกว่าจะมีเจ้าหน้าที่เอารถเข็นมารับไปส่งห้องพักคนไข้ ก็ถามว่านี่เลยเวลาอาหารเย็นมาแล้วจะมีอะไรให้กินไหม พยาบาลสาวหัวเราะบอกว่าไม่ต้องห่วง ก็นั่งนึกในใจว่าอาหารใน รพ. มันจะมี รสชาติเป็นอย่างไรหนอ นั่งรอในห้องโถงอีกเกือบชั่วโมง เจ้าหน้าที่เอารถเข็นมารับตัวไปส่งห้องพัก เข็นรถข้ามอาคาร ผ่านระเบียงหนาวเย็นมาส่งที่ห้องพักผู้ป่วยชื่อ ตึกบัวผัน (Buaphan Ward) ปรากฎว่าได้อยู่ห้องพักเดี่ยว คล้ายว่าเราเป็นคนไข้พิเศษมีเงินจองหรือเป็นพวกคนไข้มีเส้นรู้จักคนใหญ่คนโต แต่เปล่าครับ มันคงเป็นพราะเราอาการหนักมากกว่า
นางพยาบาลสาวชื่อเคซี่ มาต้อนรับแนะนำวิธีปรับเตียง และปุ่มกดเรียกเวลามีปัญหาอะไร บอกว่ากดเรียกได้ตลอดเวลา ถามว่าอยู่ รพ. นี้มานานยัง สาวเคซี่บอกว่ามาอยู่ที่นี่ได้เกือบปีแล้ว ก่อนหน้านี้อยู่ รพ. ที่จังหวัดเค้นท์ ตามแฟนมาหางานทำที่เอ็กเซ็ก Essex แล้วเธอก็เอาเครื่องมาวัดความดัน ชีพจร และอุณหภูมิ ให้ยามอร์ฟีนลดปวด แล้วก็ห้อย antibiotic ขวดใหญ่มากจนน่าตกใจ เมื่อไหร่จะหมดขวดเนื่ย ดริปเข้าเส้น แล้วถามว่ากินอะไรมายัง ตอนนี้ที่ยังมีเหลืออยู่ก็มีซุปไก่ ซุปผัก แซนวิชแบบใส่ แฮม ทูนา หรือชีส แล้วก็มีกล้วย เจลลี่ ไร้ซ์พุดดิ้ง (คล้ายๆ ข้าวเหนียวเปียกแต่ไมใส่กะทิ) หรือโยเกิร์ต เป็นของหวาน ...ลองเดาดูซิครับผมเลือกกินอะไร ..
นอน รพ. คืนแรกผ่านไปอย่างทุกข์ทรมาน แต่เคซี่ ก็เข้ามาดูเป็นระยะๆ เพื่อวัดความดัน ชีพจร และ อุณหภูมิ ถอดขวด antibiotic แล้วก็ชงช็อคโกแลตร้อน มาให้กิน ก่อนนอน อาการปวดทุเลาลง คงเพราะมอร์ฟีน ชีวิตมีความหวังมากขึ้น
เรื่องที่เล่าต่อจากนี้เหมือนเป็นภาพจำลองของสังคมอังกฤษจากมุมเล็กๆ ที่สะท้อนภาพใหญ่ microcosm ชีวิตความเป็นไปของชาวบ้านรากหญ้าในอังกฤษท่านกลางภัยโควิดสายพันธ์ใหม่ที่ระบาดรุนแรง สถานการณ์ของโรงพยาบาลในขณะที่คนติดเชื้อเพิ่มขึ้นเฉียดแสนทุกวัน และจำนวนคนตายสะสมทะลุแสนห้าแล้ว ตั้งแต่ต้นปีใหม่ นายกรัฐมนตรีบอรีส จอนห์สันจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร
นอกจากนี้ก็ยังมีข่าวฉาวๆ ทะยอยออกมาไม่หยุดเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของประเทศนี้ ที่ออกระเบียบกฎเกณฑ์บังคับคนอื่นแต่ตัวเองไม่ปฏิบัติ หลังจากสื่อมวลชนเปิดโปงว่า มีการจัดงานปาร์ตี้เลี้ยงฉลองในโอกาสต่างๆ ที่ทำเนียบถนนดาวนิ่งกันสนุกสนาน ในขณะที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะล็อกดาวน์ หากประชาชนจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ ก็จะมีตำรวจมาห้ามปราม บางแห่งถึงกับสั่งปรับก็มี สื่อมวลชนก็พร้อมใจกันรายงานคึกโครม ทีวีบางช่องไปสัมภาษณ์ญาติพี่น้องของคนตายด้วยโควิด แต่ไม่มีโอกาสไปเยี่ยมญาติของตัวเองใน รพ. หรือใน care home ในวาระสุดท้าย เพราะมาตรการล็อกดาวน์ ในวันที่มีงานเลี้ยงฉลองกันที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ญาติๆ หลายคนประกาศรวมตัวกันรอจังหวะจะเช็คบิล นักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้
(ผมเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของญาติๆ ผู้เสียชีวิตเหล่านี้ เพราะมีประสบการณ์ขมขื่นส่วนตัว เมื่อคุณแม่ป่วยหนักด้วยโรคหัวใจต้องเข้าห้องไอซียู แต่เพราะด้วยมาตรการล็อกดาวน์ทั้งในประเทศอังกฤษและประเทศไทย ทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ทันเวลา)
ตลอดเวลาตั้งแต่ปลายปี จนข้ามปีใหม่เรื่อยมา จำนวนคนติดเชี้อไวรัสกลายพันธ์โอไมครอน เพิ่มขึ้นต่อวันอย่างก้าวกระโดด มีบางวันทะลุเกินแสน จำนวนคนตายบางวันต่ำกว่าร้อย บางวันสามสี่ร้อย สร้างภาระหนักให้กับ รพ.ทั่วประเทศ บางแห่งประกาศว่าถึงขั้นวิกฤติ ไม่สามารถรับคนใข้เพิ่ม
กรุณาติดตามตอนต่อไป เมื่อคนไข้น้องใหม่ต้องเผชิญกับคุณป้า แม้กกี้ พนักงานบริการอาหารของ รพ. ปากร้ายแต่ใจดี เรียกชื่อผมผิดตลอด และได้ย้ายห้องไปอยู่ห้องรวมสี่เตียง ได้รู้จักกับคนไข้หนุ่มร่างยักษ์ โจอี้ เชฟ หัวใจแกร่ง ธุรกิจล้มเพราะล็อกดาวน์ โควิด แต่ฟื้นเพราะขายกาแฟ ...แล้วก็มีคนไข้หน้าใหม่ เนาบี พื้นเพเป็นชาวปัญจาปจากอินเดีย อพยพเข้ามามีอาชีพที่ร่ำรวยจากสถานการณ์โควิดระบาด..
to be continued..
ที่มา : https://web.facebook.com/story.php?story_fbid=4973184732737632&id=100001384648099&_rdc=1&_rdr