"...ประชาชนผู้ถือสัญชาติอังกฤษหรือผู้ที่ทำงานเสียภาษีในสหราชอาณาจักร เมื่อป่วยไข้ไม่ว่าหนักเบาแค่ไหน มีสิทธิที่จะได้รับบริการรักษาพยาบาลได้เท่าเทียมทั่วหน้ากัน ในมาตรฐานเดียวกันของระบบ NHS โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ไม่ต้องแสดงบัตรประชาชน หรือแม้แต่เซ็นชื่อในเอกสารใดๆ เพียงบอกชื่อ วันเดือนปีเกิดและชื่อแพทย์ประจำตัวในพื้นที่ใกล้บ้านที่ไปลงทะเบียนไว้เจ้าหน้าที่ก็จะสามารเรียกข้อมูลและประวัติสุขภาพได้จากศูนย์ข้อมูลส่วนกลาง ทำให้กระบวน การสอบสวนโรคดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ถ้าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มก็คือการรอคอยจังหวะเวลาของระบบสายพานของ NHS..."
Part 2. บันทึกชะตากรรมคนไทยที่ใด้ใช้สวิสดิการฉุกเฉินของระบบ NHS
ตอนที่ 2. ย้ายออกจากห้องเดี่ยวไปห้องรวมสี่เตียง พบกับความหลากหลาย..สำเนียงส่อภาษา..
ประชาชนผู้ถือสัญชาติอังกฤษหรือผู้ที่ทำงานเสียภาษีในสหราชอาณาจักร เมื่อป่วยไข้ไม่ว่าหนักเบาแค่ไหน มีสิทธิที่จะได้รับบริการรักษาพยาบาลได้เท่าเทียมทั่วหน้ากัน ในมาตรฐานเดียวกันของระบบ NHS โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ไม่ต้องแสดงบัตรประชาชน หรือแม้แต่เซ็นชื่อในเอกสารใดๆ เพียงบอกชื่อ วันเดือนปีเกิดและชื่อแพทย์ประจำตัวในพื้นที่ใกล้บ้านที่ไปลงทะเบียนไว้เจ้าหน้าที่ก็จะสามารเรียกข้อมูลและประวัติสุขภาพได้จากศูนย์ข้อมูลส่วนกลาง ทำให้กระบวน การสอบสวนโรคดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ถ้าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มก็คือการรอคอยจังหวะเวลาของระบบสายพานของ NHS
เรื่องที่จะเล่าตอ่ไปนี้ เป็นภาพที่อยากจะสะท้อนว่าในสังคมอังกฤษนั้น ยังมีระบบชนชั้น มีความเหลื่ยมล้ำต่ำสูงส่งทอดมาตามประวัติศาสตร์ก็จริง แต่เมื่อมาเข้าสู่ระบบ NHS แล้วทุกคนก็จะได้รับการดูแลรักษาแบบเท่าเทียมกันตามอาการ ไม่ใช่ตามขนาดของกระเป๋าตังค์ หรือมีอภิสิทธิ์เป็นลูกหลานใคร
หนึ่งคืนผ่านไปในห้องเดี่ยวของบัวผันวอร์ด โดยมี เคซี่ นางพยาบาลสาวเข้ามาถามไถ่อาการ แล้วก็ตรวจความดัน ชีพจร อุณหภูมิ เปลี่ยนถุงยา antibiotic เจาะเลือดแล้วให้ยาพาราบรรเทาปวด รุ่งเช้าก็นำอาหารเข้ามาให้เป็นคอร์นเฟลคใส่นม ขนมปังแผ่นแล้วก็ขอกาแฟดำ คาเฟอินช่วยให้กระปรี้กระเปร่าขึ้น เนื่องจากอยู่ห้องเดี่ยวไม่รู้จะคุยกับใคร ก็เลยเปิด VIPA App ของไทยพีบีเอสดูรายการสถานีประชาชน คุณอรอุมา ไม่มาจัดแล้วเปลี่ยนธีรเดชมาแทน แล้วก็ตามต่อด้วย คนสู้โรคและทุกทิศทั่วไทยได้เห็น ศันสนีย์ (อ้อ) ไปทำข่าวภาคสนามดูเป็นธรรมชาติสนุกดี
ดูรายการทีวีไทยๆ แล้วก็สลับกับฟังรายการข่าววิทยุบีบีซี รายการทูเดย์ของเรดิโอโฟ ซึ่งเป็นรายการข่าวภาคเช้าที่เรียกว่าแหลมคมที่สุดในประเทศอังกฤษ มีนักการเมืองดังๆ มาจบชีวิตการเมืองที่นี่เพราะตอบคำถามพิธีกรปากกล้าไม่ได้ แต่ก็มีบางคนที่ผ่านสนามนี้แล้วรุ่งเรืองเป็น รมต. หรือ นายก รมต. ก็มี ก็มีข่าวเรื่องโอไมครอนระบาดอย่างน่าตกใจ เพียงสัปดาห์เดียวพุ่งพรวดเป็นสามเท่า ติดเชื้อเพิ่มวันละแสนกว่า ตายเพิ่มหลายร้อย นี่เราคงโชคดีเข้า รพ. มาได้เตียงก่อนไม่ต้องรอคิว ขณะที่ผู้ปฎิบัติการทางแพทย์ด่านหน้าจำนวนมากต้องกักตัวมาทำงานไม่ได้เพราะติดเชี้อ ก็มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการควบคุมการแพร่เชี้อ แต่ รมต. สาธารณสุขยังให้สัมภาษณ์ในรายาการนี้ ปากแข็งว่ายังไม่จำเป็น เพราะโอไมครอนระบาดเร็วก็จริง แต่ถ้าฉีดวัดซีนเข็มสอง เข็มสามแล้ว อาการไม่แรงถึงขั้นต้องเข้า รพ.
ข่าวใหญ่จากวิทยุบีบีซี ที่ติดตามในสัปดาห์นี้ ที่น่าหดหู่คือคนตายสะสมจากโควิดสองปีก็ทะลุแสนห้าแล้ว แล้วก็มีคนดังนักเทนนิสมือหนึ่งของโลกโดนเนรเทศออกจากออสเตรเลียเพราะทำผิดระเบียบควบคุมโควิด และศาลที่นิวยอร์ก ไม่รับข้อโต้แย้งของทนายความเจ้าชายแอนดรู ที่ให้ยุติการไต่สวนคดีฉาว คงต้องต่อสู้คดีฉาวโฉ่นี้อีกต่อไปอีกยาวๆ สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมในประเทศที่มีกฎระเบียบมาตรฐานเดียวกันหมด ไม่ว่าเป็นลูกใครหรือยิ่งใหญ่ระดับโลกมาจากไหน
จำได้ว่าเมื่อปลายปีที่แล้ว คนฟังรายการทูเดย์ของวิทยุบีบีซีต้องอึ้งกันไปทั้งประเทศ เพราะเป็นครั้งแรกที่นายกบอรีส จอห์นสันเปิดตัวมาให้สัมภาษณ์รายการนี้หลังจากชนะเลือกตั้งเกือบสองปีไม่ยอมมาออกรายการเลย พอเปิดฉาก นายกบอรีส ก็รุกก่อนบ่นว่าไม่เคยได้มีโอกาสมารายการนี้เลยตั้งนานแล้ว ก็เลยโดนพิธีกรสวนกลับทันควันว่า ได้เชิญไปหลายครั้งท่านปฏิเสธตลอด มัวแต่ส่ง รมต. คนอื่นมารับหน้าเสื่อแทน....พอตั้งคำถามแรกนายกก็เลี่ยงไม่ตอบคำถาม แต่กลับโฆษณาผลงานฟุ้งเป็นคุ้งเป็นแควยาวๆ ฆ่าเวลาเพื่อจะได้ไม่ต้องตอบคำถามสำคัญ พิธีกรบีบีซีเหลืออด ก็เลยสวนว่า prime minister, stop talking and answer my questions แฟนที่ฟังรายการสดๆ อย่างผมก็เลยอึ้งกันไปทั้งประเทศ นากยกบอรีส ก็อึ้งไปพักหนึ่ง ....
ความกล้าหาญของพิธีกรข่าวแบบนี้ยัง ไม่เคยเห็นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น จอมขวัญ หรือ หมาเก่าหมาแก่ ...
เล่าเรื่องรักษาพยาบาลต่อ ..สายๆ มีพนักงานกายภาพบำบัดเข้ามาหา บอกว่ามีอะไรให้ช่วยไหม เพราะอาการหนักทำให้ต้องนอนติดเตียงคงไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ก็บอกเขาว่าเพิ่งกินกาแฟดำเข้าไป ทำให้มีแรงเดินไปห้องน้ำได้ แต่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง เขาก็ถามว่าเพิ่งเป็นตอนมานอน รพ. หรือ ก็ตอบว่าเปล่านี่เป็นมาหลายปีแล้ว เขาก็หัวเราะบอกว่าอย่างนี้เขาไม่เกี่ยว เมื่อออกจาก รพ. แล้วให้ไปคลินิกชุมชน ให้เขาช่วยจัดการให้ ตัวเขาเองมีหน้าที่มาดูแลเรื่อง mobility เท่านั้น ก็เลยนึกออกว่าเป็นปัญหาของคนไข้นอนติดเตียง เวลาค่ำจะมีพยาบาลเอายามาฉีดให้ที่พุง บอกว่าเป็นยาช่วยละลายไม่ให้เลือดเหนียว เพราะนอนติดเตียงนานๆ โดนฉีดทุกคืนติดต่อกันหลายคืน ทั้งๆ ที่บอกแล้วว่าได้ ไม่ได้นอนติดเตียง
นอนห้องเดี่ยวได้สองสามคืน รุ่งขึ้นแคลร์หัวน้าพยาบาล ก็เข้ามาบอกว่าขอให้ย้ายไปอยู่ห้องรวมสี่เตียง เพราะมีคนไข้อาการหนักกว่ากำลังจะย้ายเข้ามา ก็เลยต้องจัดข้าวของส่วนตัวเอาไว้บนเตียง แล้วเขาก็เข็นเตียงของเราพร้อมสัมภาระส่วนตัวออกไปที่ห้องรวม เราก็ต้องเดินลากเสาที่ห้อยถุง antibiotic ตามเตียงของเราเข้าไปในห้องรวม ไปเป็นน้องใหม่มีรุ่นพี่ มี เจมส์- ไมเคิล- อลัน รออยู่ก่อนแล้ว ไมเคิลก็จะแก่สุดกว่า 80 ส่วนที่เหลือก็คงกว่า 70 เป็นเจนเนอเรชั่นเบบี้บูมเมอร์ ทั้งหมดทั้งห้องรวมทั้งตัวผมเองด้วย ฟังเสียงคุยก็ประมาณว่า เป็นเบาหวานระดับก้าวหน้า ไตอ่อนแอกันหมด ก็คงเป็นไปตามที่ฟังข่าวคราวมาคือว่าประชากรที่ครองเตียงใน รพ. ส่วนใหญ่ของประเทศขณะนี้ก็คือคนรุ่นผมนี่แหละ น่าภูมิใจอย่างประหลาด และโรคที่ยอดฮิตของคนสูงวัยที่นี่คือเบาหวาน ไตไม่ปกติ
บรรยากาศห้องรวมสี่เตียง ก็คึกคักดี ไมเคิลจะมีอาการหนักสุดมีสายยางโยงใยไปหมด ขยับตัวไม่ค่อยได้ พยายามจับความจากที่หมอกับพยาบาลมาตรวจไข้ ก็ไม่ชัดเจนนัก รู้ว่ามันซับซ้อนพอประมาณ ที่ รพ. แห่งนี้อาจจะเอาไม่อยู่กำลังติดต่อประสานไป รพ. อื่นๆ ที่เขามีเครื่องมือหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง สักสองวันหมอก็มาบอกว่า ประสานงานได้เตียงที่ รพ. ใหญ่ในเมืองเคมบริจด์ ห่างหลายร้อยกิโล จะส่งตัวไปโดยรถพยาบาลตียาวๆ ไปบ่ายนี้ให้เตรียมตัว แจ้งญาติให้รู้ไว้
เท่าที่ติดตามข่าวคราวสาธารณะสุขในประเทศนี้ กำลังวิกฤติ ถ้าไม่นับโควิด ก็เพราะพวกคนรุ่นผมนี่แหละ คนสุงวัยเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นทุกปี ชิ้นส่วนในร่างกายก็จะโรยราชำรุดอ่อนแอไป มีคนไข้ที่ต้องรอการักษาโรคคนแก่อย่างเช่นการเปลี่ยนหัวเข่า เปลี่ยนสะโพก ต้องอยู่ในบัญชีรอคอย NHS Waiting List เป็นปีๆ นับล้านคน ในขณะที่คนรุ่นหลังๆ มามีลูกน้อยลง คนวัยทำงานเสียภาษีให้หลวงน้อยลง แต่ค่าใช้จ่ายดูแลคนสูงวัยที่เรียกว่า Social Care เพิ่มมากขึ้น
เมื่อปลายปีที่แล้ว รมต. คลังประกาศจะปรับขึ้นภาษี National Insurance (NI) อีก 1.25 % เพื่อเพิ่มงบให้ Social Care จะมีผลบังคับใช้ต้นเดือนเมษานี้ แต่กว่าจะผ่านสภามาได้เรียกว่าหืดขึ้นคอ เพราะประเทศนี้ไม่มีใครชอบให้รัฐบาลขึ้นภาษี จะเสียคะแนนนิยม
หลังจากไมเคิลย้ายไปเคมบริจด์ ระบบสายพาน NHS ก็ส่งน้องใหม่ที่มาแทนคือ โจอี้ เชฟหนุ่มร่างยักษ์อายุสามสิบกว่า ละอ่อนที่สุดในห้อง เข้าใจว่าเป็นนิ่วในไต คงจะต้องผ่าออก โจอี้คุยสนุกสร้างสีสันให้กับห้องนี้ หยอกล้อกับพยาบาลสาวๆ ที่หมุนเวียนกันมาทักทายคนไข้แต่ละเตียง ด้วยสำเนียงของชาว Essex พวกเราทุกคนในห้องนี้ก็เป็นสุดที่รักของนางพยาบาลสาวๆ ทุกคนก็ว่าได้ พอเข้ามาก็จะปากหวานทักว่า are you all right, my darling? แต่จะออกเสียงเป็นสำเนียงเสียงสูงตอนท้ายของเขาว่า -อาร์ ยู ออ ร้าย มายดาลิ้งงง- บางทีก็เปลี่ยนเป็น my lovely แต่ออกเสียงว่า มาย ลัพลี่.. พวกเราในวอร์ดบัวผันนี้ ก็เป็นคนไข้ที่น่ารักน่าเอ็นดูของนางไปหมด
โจอี้กับนางพยาบาลก็คุยกันแบบสำเนียงท้องถิ่นของเขา แถมยังล้อเลียนเสียงของ คุณป้า แม็กกี้ พนักงาน catering ป้ามีหน้าที่จัดอาหารสามมื้อ ชากาแฟ วันและสามรอบ มนุษย์ป้าแม็กกี้ แกก็จะบ่นของแกไปเรื่อย ทำงานไปด้วยบ่นไปด้วย จำได้ว่ามื้อเช้าครั้งหนึ่งขอกล้วย จะมาใส่คอร์นเฟลกเพิ่มรสชาติ แกก็ตวาดว่าชั้นยังไม่ว่าง ต้องเสิร์ฟให้ทุกคนในวอร์ดให้เสร็จก่อน สักพักก็วนกลับมาเอากล้วยมาให้ ถามว่าชื่อผมออกเสียงอย่างไร แต่ป้าเรียกไม่ถูก บอกแกไปแล้วก็ยังเรียกว่า ซมชี อยู่ดีทุกครั้ง ตอนเย็นๆ แกเอาอาหารเย็นมาเสิร์ฟ ก็จะบ่นว่านี่ทำงานไม่ทันแล้ว ฉันต้องรีบกลับบ้าน รีบๆ กินหน่อย
โจอี้ ชอบนินทาล้อเลียนป้าแม็กกี้ เวลาคุยกับนางพยาบาล คุยกันด้วยสำเนียงแบบที่เรียกว่า working class แบบในละครทีวี East Enders ของ BBCแล้วหัวเราะกันชอบอกชอบใจ แต่ก็คอยเหลียวดูว่า ป้าแกจะเดินผ่านมาหรือเปล่า นางพยาบาลบอกว่าผู้คนในวอร์ดนี้ หวาดกลัวป้าแม็กกี้กันทั้งนั้น แต่ความจริงแล้วป้าแกปากร้ายไปอย่างนั้น นี่ก็จวนเกษียณแล้ว ถ้าแกเกษียณไปก็คงจะคิดถึง ส่วนอาหารสามมื้อที่ป้าแม็กกี้เอาให้กิน ว่ากันตามจริงแล้วก็หรูพอประมาณ
ทุกวันพยาบาลก็จะมาเจาะเลือด วัดความดัน ชีพจร อุญหภุมิ ส่วนยาฆ่าเชื้อที่ห้อยเป็นขวดใหญ่ๆ ดริปเข้าเส้น ก็จะเปลี่ยนไปเป็นฉีดเป็นหลอด อาการปวดท้องทุเลาไป กินได้ ถ่ายคล่องขึ้น เปลี่ยนไปสั่งอาหารที่หรูมากขึ้น ตอนเช้าๆ หมอก็จะเปลี่ยนหน้ากันมา บอกว่าผลเลือดค่อยๆ ดีขึ้นแล้ว ตอนนี้จะส่งให้ไปทำ MRI Scan เพื่อประเมินว่าจำเป็นจะต้องผ่าเอาถุงน้ำดีออกหรือไม่ แต่ต้องรักษาแผลอักเสบให้แน่ใจก่อน ก็ดีใจว่าขอเวลาอีกไม่นานคงได้กลับบ้าน
โจอี้ เล่าให้พวกเราและนางพยาบาลว่าตนเองออกจากโรงเรียนการศึกษาภาคบังคับแล้วก็เข้าฝึกอบรมเป็นเชฟ เพราะเป็นคนชอบกิน เห็นหุ่นยักษ์ของแกแล้วก็คอนเฟิร์มได้ อบรมเสร็จออกมารับจ้างอยู่พักหนึ่งก็เปิดภัตตาคารของตัวเอง ขยายกิจการมีลูกจ้างถึงยี่สิบคน พอโควิดมาโดนล็อกดาวน์ ต้องปิดกิจการปลดคนงานออก ชีวิตต้องสู้เพราะมีเมียแล้ว มีลูกสองคนกำลังโต จึงต้องขวนขวายเปิดขายกาแฟบดทางออนไลน์ โดยไปสั่งซื้อเม็ดกาแฟจากอินโดนีเซีย และเวียดนาม มาผสม สร้างแบรนด์ของตัวเอง ขายทางอะเมซอน ปรากฎว่าขายได้เริ่มมีเงิน ก็เลยเปิดร้านอาหารแบบดิลิเวอรี่ ค่อยๆฟื้นตัว ทุกเย็นก็จะได้ยินโจอี้ สั่งงานทางเฟซไทม์กับภรรยา ทำอาหารส่งดิลิเวอรี่ แล้วตอนดึกๆ ก็จะได้ยินเสียงพิมพ์แลปทอป ทำบัญชีธุรกิจส่งกาแฟ นับได้ว่าเป็นการทำงานแบบ WFH (H= Hospital)
ในขณะธุรกิจภัตตาคารล้มพังลงเพราะโควิด แต่ก็มีธุรกิจหนึ่งที่เฟื่องฟูขึ้นเพราะโควิด เพราะคนไข้ใหม่ที่เข้ามาคือ เนาบี มาแทน เจมส์ ที่หมอส่งตัวกลับบ้านส่งจดหมายให้หมอประจำตำบล (GP) ของเขาดูแลต่อไป ตามระบบที่เรียกว่า primary care ผู้คนในประเทศนี้ทุกคนจะมีหมายเลข NHS ประจำตัวและมีแพทย์ GP ประจำตัวที่ไปลงทะเบียนกับเขาไว้ สุขภาพของเราจะอยู่ในความดูแลของหมอคนนี้ จนกว่าเราจะย้ายบ้าน ก็จะไปลงทะเบียนกับหมอประจำตำบลนั้น โอนประวัติสุขภาพไปอยู่กับหมอใหม่ ในช่วงโควิดระบาดหมอมีงานล้นมี เขาจึงเปิดสายด่วน NHS 111 ช่วยลดภาระของหมอประจำตำบลที่ช่วงล้อคดาวน์ นัดหมายเข้าพบยากมาก จนมีเสียงบ่นกระจายทุกตำบล
เนาบี พื้นเพเป็นคนรัฐปัญจาบของอินเดีย พ่อแม่อพยพมาทำมาหากินในอังกฤษตั้งแต่เขายังเด็กๆ แล้วก็เรียนหนังสือไม่จบ ออกเป็นเด็กในอู่ซ่อมรถ พอรู้งานคล่องตัวก็เปิดอู่ของตนเอง แล้วปิดกิจการไปขับรถแท็กซี่แทน สะสมเงินเปิดอู่แท็กซี่ของตนเองแล้วให้คนมาเช่าขับ กิจการขยายใหญ่โตจนทุกวันนี้มีรถแท็กซี่อยู่ถึง 40 คัน ตอนนี้ธุรกิจเฟื่องฟูเพราะโควิด ผู้คนไม่อยากนั่งระบบรถไฟขนส่งมวลชน เพราะตู้รถไฟเป็นที่แพร่เชี้อโรค บางคนก็ยอมหันมานั่งแท็กซี่แทน นับว่าเป็นตัวอย่างของตำนานเสื่อผืนหมอนใบจนประสบความสำเร็จมีเงินมีทอง เป็นผู้มีอันจะกินจากจุดเริ่มต้นที่ humble origin
เนาบีเล่าอย่างภูมิใจว่า อยู่ประเทศนี้ถ้าขยัน ไม่มีจน ตัวเองไม่เคยเบิกเงินสวัสดิการรัฐเลย และก็ทำงานเสียภาษีครบถ้วนทุกประการ เพราะรู้ว่าสักวันหนึ่งก็ต้องมาอาศัยบริการของ NHS ที่เขายกย่องว่าดีที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับอินเดีย ถ้าตัวเองอยู่ในอินเดียตอนนี้จะต้องเสียเงินเสียทองมากขนาดไหน
นางพยาบาลและบุรุษพยาบาลของ รพ. แห่งนี้ก็มีมาหลากหลายประเทศ มีทั้งเชื้อสายอินเดีย คนผิวดำจากคาริบเบียนก็มีสำเนียงแบบจาไมก้า และยังมีจากฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ส่งสำเนียงแตกต่างกันไป ในวอร์ดนี้ยังไม่เจอพยาบาลคนไทย แต่เคยมาที่แผนกเจาะเลือดเมื่อหลายเดือนก่อน ก็พบนางพยาบาลคนไทยที่เจาะเลือดให้ แต่ในช่วงเวลานี้ ทั้งแพทย์และพยาบาลต้องทำงานหนักมาก เพราะประมาณหนึ่งในสี่ของบุคคลากร ต้องกักตัวเพราะตรวจเชี้อบวก ไม่สามารถมาทำงานได้..
ได้คุยกับ เจฟฟรี่ บุรุษพยาบาลจากฟิลิปปินส์ บ่นว่าต้องทำงานพยาบาลแล้วต้องช่วยงานแม่บ้าน เปลี่ยนผ้าปูที่นอน เตียงคนไข้อีก ทุกคนต้องช่วยกันทำงานหลากหลาย ทำงานไม่ได้พักเลย มีภรรยาเป็นพยาบาลอยู่ที่นี่เหมือนกัน ช่วยกันทำมาหากินเลี้ยงลูก แล้วยังต้องส่งเงินกลับบ้านให้ญาติพี่น้องอีก
NHS ได้รับงบประมาณสุงสุดมากกว่าหน่วยงานใด เป็นนายจ้างขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ แม้ว่าในระยะหลังๆ นี้มีปรับวิธีบริหารจัดการโดยใช้วิธีการแบบเอกชนเข้ามาจัดวาง แล้วลดทอนกำลังคนลูกจ้างประจำออกไป เปลี่ยนไปใช้ระบบสัญญาจ้างและ outsource แต่ก็ยังมีกำลังคนหลายแสนคน มากกว่าสามเหล่าทัพและตำรวจรวมกัน หลายเท่านัก
ส่วนผมเมื่ออาการปวดท้องน้อยลง กินอาหารที่ต้องย่อยได้มากขึ้น ก็เริ่มสั่งอาหารที่ดูหรูหน่อย ความจริงอารมณ์อยากกินกะเพราไก่-ไข่ดาว แต่คงไม่มีในเมมูของป้าแม็กกี้ ..แกมักจะเข้ามาจดออเดอร์ อาหารกลางวันและอาหารเย็น ตอนที่พวกเรากำลังกินอาหารเช้าอยู่ เมนูที่ป้าเสนอมาก็หลากหลาย เช่น fish and ship, poached salmon, beef stew, beef curry, pork shop, cottage pie, lamb dumpling, roast chicken, chicken chasseur เป็นต้น ส่วนอาหารหวาน ก็จะมี apple crumble with custard, rice pudding, yogurt, jelly ผลไม้เช่นกล้วย หรือ แอปเปิล ตามด้วย ชา/กาแฟ/ชอคโกแลต สามรอบหลังอาหาร ดูแล้วก็เป็นเมนูเหมือนกับร้านคาเฟ่ ใน รพ. นั่นแหละ
โปรดติดตามตอนไป เมื่อป้าแม็กกี้หายหน้าไป มีสองสาววัยรุ่นมาเสิร์ฟอาหารแทน ทั้งวอร์ดสว่างไสว เพราะหุ่นนางเหมือนนางแบบเดินออกมาจากปกนิตยสารแฟชั่น แล้วยังได้เห็นฉากโรแมนซ์ เหมือนในละคร Holby City ซึ่งเป็น BBC Hospital Drama ออกอากาศต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1999 และหลังจากเนาบี ได้กลับบ้าน คนไข้ใหม่มาแทนคือ มาร์วิน ดูเป็นผู้ดีอังกฤษ สำเนียงแบบ posh accent มันไม่เหมือนกับ .....อาร์ ยู ออร้าย มายดาลิ้งงง ..
to be continued.
ที่มา : https://web.facebook.com/story.php?story_fbid=4979681728754599&id=100001384648099&_rdc=1&_rdr