เหตุเกิดที่บ้านปธ.หมู่บ้าน! ละเอียดยิบ คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็ม คดี ‘เกศกานดา อินช่วย’ผู้สมัคร สส. กทม. ปชป.กับพวก ซื้อเสียงเลือกตั้งเขตคลองสามวา คำต่อคำเสียงสนทนา ขอให้ช่วยดึงคะแนนผู้สมัคร รทสช. อ้างโพลกระแสไม่ขึ้น ร้อง กกต. พิพากษาถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี
สืบเนื่องเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 ศาลฎีกามีคำพิพากษา น.ส.เกศกานดา อินช่วย ผู้สมัคร รับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เขต 16 กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา กรณีแจกเงินคนละ 500 บาทเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนน ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้ว (ข่าวเกี่ยวข้อง: ศาลฎีกาฯสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ‘เกศกานดา’ผู้สมัคร สส.ปชป.ซื้อเสียง)
คดีนี้นอกจากมีประเด็นรูปแบบและวิธีแจกเงินที่กระทำผ่านหัวคะแนนซึ่งเป็นผู้นำชุมชน แล้ว พยานหลักฐานที่ฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง และ น.ส.เกศกานดาผู้ถูกร้อง นำมาต่อสู้กันยังมีแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวพันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งอีกพรรคหนึ่งที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรานำคำพิพากษาฉบับเต็มรายงาน
@เปิดรายละเอียดที่มาของคดี
คำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ลต สส 3/2567 คดีหมายเลขแดงที่ ลต สส 337/2567 ศาลฎีกา วันที่18 เดือนกันยายน พุทธศักราช 2567 ความคดีเลือกตั้ง ระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง นางสาวเกศกานดา อินช่วย ผู้คัดค้าน เรื่อง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสิทธิเลือกตั้ง)
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 และประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 21 มีนาคม 2566 เรื่อง กำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง วันรับสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบ บัญชีรายชื่อ กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผู้ร้องได้รับคำร้องกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้คัดค้านกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (1) กล่าวคือ
@เหตุเกิดที่คลองสามวา เงิน 5 หมื่นวางบนโต๊ะบ้านหัวคะแนน
เมื่อประมาณวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ผู้คัดค้านและ นายสถาพร ไกรถวิล กับพวก เข้าไปที่บ้านพักของนายสมชาย เกษสุวรรณ ที่หมู่บ้านวงศกร 5 แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร แล้วพูดในทำนองขอให้นายสมชายช่วยแบ่งคะแนนในหมู่บ้านวงศกร 5 ให้แก่ผู้คัดค้าน จากนั้นผู้คัดค้านให้เงินแก่นายสมชาย 50,000 บาท โดยวางไว้บนโต๊ะที่นายสมชายนั่งอยู่ การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนให้แก่ผู้คัดค้าน อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (1)
@เจรจาขอให้ช่วยดึงคะแนนจาก ‘บอน’ มาเทให้ อ้างโพลไม่ขึ้น
ผู้ร้องไต่สวนแล้ว ได้ความว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เวลากลางวัน นายสมชายแจ้งให้นายณัฐนันท์ กัลยาศิริ ทราบว่านายสถาพรผู้ช่วยหาเสียงของผู้คัดค้านได้โทรศัพท์นัดหมายให้ผู้คัดค้านไปพบนายสมชาย ที่บ้านพักในช่วงค่ำเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ต่อมาเวลาประมาณ 18.10 นาฬิกา ของวันเดียวกัน นายสถาพรไปที่บ้านของนายสมชาย หลังจากนั้นเวลาประมาณ 18.30 นาฬิกา ผู้คัดค้านกับพวกเดินทางไปสมทบ ผู้คัดค้านกับพวกต่างพูดคุยกับนายสมชายในทำนองขอให้ นายสมชายแบ่งคะแนนเสียงของหมู่บ้านวงศกร 5 ให้แก่ผู้คัดค้าน โดยบทสนทนาตอนหนึ่งผู้คัดค้าน พูดว่า “เกศก็พอรู้ว่าพี่สถาพรโทรมาคุยกับพี่ชายเรื่อย ๆ วันนี้เลยอยากมาหาพี่ เกศอยากจะขอโอกาส เพราะว่าแนวโน้มที่โพลออกมา เกศก็มีโอกาส แต่เกศตามอยู่นิดหนึ่ง แต่ของคุณบอนคะแนนมันไม่ขึ้นเลย ไม่ติด 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 เลยด้วยซ้ำ เกศเลยว่าในเมื่อเกศเป็นคนแพ้ เกศหาคะแนน เพิ่มอยู่แล้ว ดังนั้น เกศอยากจะขอคะแนนที่ไปให้คุณบอน ขอถ่ายมาเป็นฝั่งเกศ เพราะว่าเกศมีโอกาสมากกว่า ไม่อย่างนั้นก็เสียของ เกศก็ไม่อยากให้คะแนนมันหายไปเลย เกศแพ้มาก่อน เกศหาคะแนนเพิ่มอย่างเดียว เอาทุกวิถีทางอย่างที่พี่โตบอก เอาทุกวิถีทาง” จากนั้นนายฐนวัฒน์ ภูมี หรือโตพูดขึ้นว่า
“ตอนนี้โพลติด 1 ใน 3 มีเบอร์ 4 เบอร์ 14 เบอร์ 11 แต่เบอร์ 5 มีประปราย ไม่ติด 1 ใน 4 ถ้ามันพอพลิกเกมได้ก็อยากจะพลิก เพราะว่าพี่ดันทางพี่บอนใช้ไหมมันก็ไม่ขึ้นอยู่ดี เพราะเปอร์เซ็นต์ มันไม่ขึ้นเลยนะ เผื่อว่าพี่มาช่วยเกศ”
และนายสถาพรพูดว่า “ตามนิดเดียว วันนี้ซอย 2 ซอยพวก เย็บผ้า พนักงานแรงงาน ผมก็ใส่ไปแล้ว 20 คน ช่วยเหลือไปคนละ 500 500 มันถึงแฮปปี้ไง ถ้าได้มาสัก 200 กว่ามันจะทำให้ตัวเลขมันขึ้น”
@อ้างคนในพื้นที่ไม่ชอบพรรคบอนเลยหนีมาอยู่ ปชป.
จากนั้นผู้คัดค้านนำธนบัตรจำนวนหนึ่งวางบนโต๊ะทำงานของนายสมชายแล้วนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมชายมาทับเอาไว้พร้อมกับพูดว่า
“อันนี้เกศฝาก ฝากวางไว้ก่อน เกศไม่สร้างความลำบากใจ เกศเข้าใจ แต่ถ้าทอนตรงไหนมาได้ก็ทอนมาให้เกศหน่อย ด้วยของตัวพรรคบอนเองอ่ะคนในพื้นที่เขาก็ไม่ได้ชอบเยอะ เกศก็เลยหนีไปอยู่ประชาธิปัตย์ไง ยังไงให้เกศมีคะแนนบ้างล่ะ”
ปรากฏหลักฐานตามบันทึกเสียงการสนทนาและวิดีโอคลิปจากกล้องวงจรปิด กรณีจึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้คัดค้านกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 138 วรรคหนึ่ง ตามคำวินิจฉัย คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ 243/2566 ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนางสาวเกศกานดา อินช่วย ผู้คัดค้าน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 138
@ปฏิเสธ อ้างระมัดระวังตัว ปมเงิน 5 หมื่นแค่บัตรหาเสียง-สร้างพยานหลักฐานเท็จ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า บันทึกเสียงการสนทนาระหว่างนายสมชายและนายสถาพร ไม่เกี่ยวข้องกับผู้คัดค้าน ทั้งไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าผู้คัดค้านสัญญาว่าจะให้เงินแก่นายสมชาย ผู้คัดค้านไปพบนายสมชายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เวลาประมาณ 18.30 นาฬิกา เพื่อขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์ขอคะแนนเสียง เนื่องจากนายสมชายเป็นผู้นำชุมชน ผู้คัดค้านทราบดีว่า นายสมชาย เป็นหัวคะแนนของนายณัฐนันท์ ผู้คัดค้านจึงย่อมต้องระมัดระวังตัวในการพูดคุยกับนายสมชาย จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้คัดค้านจะนำเงิน 50,000 บาท ไปให้นายสมชายเพื่อให้ซื้อเสียงเลือกตั้ง สิ่งของที่วางไว้บนโต๊ะทำงานของนายสมชายเป็นบัตรหาเสียงเลือกตั้ง (บัตรย้ำเบอร์) มิใช่เงินจำนวน 50,000 บาท ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ตามบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างผู้คัดค้านกับนายสมชาย รวมทั้งระหว่างพวกของผู้คัดค้านกับนายสมชายไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าผู้คัดค้านกับพวกให้หรือสัญญาว่าจะให้เงินแก่ นายสมชายหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนอื่น ๆ เพื่อจูงใจให้ไปลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้คัดค้าน เงินจำนวน 50,000 บาท ที่นายณัฐนันท์นำส่งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ใช่เงินที่ได้มาจากการครอบครองของนายสมชาย พยานหลักฐานในคดีนี้เกิดจากการสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จและเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ ไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้คัดค้านได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตน ขอให้ยกคำร้อง
@ ‘ณัฐนันท์’ ผู้สมัครพรรครวมไทยสร้างชาติ ชงหลักฐาน กกต.
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งไต่สวนและตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริง เบื้องต้นตามทางไต่สวนและตามที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า นางสาวเกศกานดา อินช่วย ผู้คัดค้าน เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 16 กรุงเทพมหานคร หมายเลข 14 พรรคประชาธิปัตย์
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เวลาประมาณ 18.30 นาฬิกา ผู้คัดค้าน นายสถาพร ไกรถวิล นายฐนวัฒน์ ภูมี และนางสาวชัชชญา ภุมรินทร์ ไปที่บ้านพักของนายสมชาย เกษสุวรรณ ประธานหมู่บ้านวงศกร 5 แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 16 และพูดคุยเกี่ยวกับการขอคะแนนเสียงจากคนใน หมู่บ้านวงศกร 5
ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 นายณัฐนันท์ กัลยาศิริ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 16 กรุงเทพมหานคร หมายเลข 6 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้แจ้งต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครว่าผู้คัดค้านกระทำผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง พร้อมส่งมอบพยานหลักฐาน ได้แก่ ภาพถ่าย วิดีโอคลิปจากกล้อง วงจรปิด บันทึกเสียงการสนทนา และธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 50 ฉบับ ที่อ้างว่า นายสมชายได้รับจากผู้คัดค้าน และได้ให้ถ้อยคำไว้ต่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนที่ผู้ร้องแต่งตั้งขึ้น ตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย ร.ค. 1 แผ่นที่ 57 ถึงแผ่นที่ 59 ต่อมาผู้คัดค้านในฐานะ ผู้ถูกร้องได้มาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย ร.ค.1 แผ่นที่ 81 ถึงแผ่นที่ 85 ส่วนนายสถาพรและนายฐนวัฒน์ได้มาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสืบสวน และไต่สวนในฐานะพยานผู้ถูกร้อง ตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย ร.ค.1 แผ่นที่ 89 ถึงแผ่นที่ 91 และแผ่นที่ 93 ถึงแผ่นที่ 95 ตามลำดับ ผู้ร้องพิจารณารายงานการไต่สวนตลอดจนพยานหลักฐาน อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เวลากลางวัน นายสมชายแจ้งให้นายณัฐนันท์ทราบว่า นายสถาพรซึ่งเป็นผู้ช่วย หาเสียงของผู้คัดค้านได้โทรศัพท์ติดต่อนายสมชายโดยนัดหมายให้ผู้คัดค้านเข้าพบนายสมชาย ที่บ้านพักของนายสมชายในช่วงเวลาค่ำ ต่อมาเวลาประมาณ 18 นาฬิกา นายสถาพรโทรศัพท์ไปหานายสมชายและพูดคุยเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง โดยมีบทสนทนาตอนหนึ่งนายสมชายถามนายสถาพรว่า “เอาแบบเปล่าเลยเหรอ” และนายสถาพรตอบว่า “เอาแบบนั้นแหละ ไม่มีทางเลือกแล้ว ไม่ต้องจด ทำอะไรก็ทำไปเลย ผมบอกน้องมันแล้ว บอกให้ไปเหอะ พวก ๆ กันทั้งนั้น ก็เดี๋ยวช่วยสัก 40 เสียง 30 เสียง ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะว่าเราก็อยากให้ตังค์เอาไว้ใช้ ไม่เสียหายอะไรหรอก” ซึ่งบทสนทนาดังกล่าวมีลักษณะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับการแจกเงินซื้อเสียงว่าจะต้องจดรายชื่อ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่
ต่อมาเวลาประมาณ 18.10 นาฬิกา ของวันเดียวกัน นายสถาพรไปบ้านของนายสมชาย โดยนายสถาพรขอให้นายสมชายช่วยหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้คัดค้าน เนื่องจากนายสมชายเป็นประธานหมู่บ้านวงศกร 5 และเป็นตัวแทนหรือหัวคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นในพื้นที่ หลังจากนั้นเวลาประมาณ 18.30 นาฬิกา ผู้คัดค้าน นายฐนวัฒน์ และนางสาวชัชชญา เดินทางมาถึงบ้านนายสมชาย โดยผู้คัดค้าน นายสถาพร และนายฐนวัฒน์ต่างพูดคุยกับนายสมชายใน ทำนองขอให้นายสมชายแบ่งคะแนนเสียงของหมู่บ้านวงศกร 5 ให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งบทสนทนาช่วงหนึ่ง ผู้คัดค้านพูดว่า
“เกศก็พอรู้ว่าพี่สถาพรโทรมาคุยกับพี่เรื่อย ๆ วันนี้เลยอยากมาหาพี่ เกศอยากจะขอโอกาส เพราะว่าแนวโน้มที่โพลออกมา เกศก็มีโอกาส แต่เกศตามอยู่นิดหนึ่ง แต่ของคุณบอนคะแนน มันไม่ขึ้นเลย ไม่ติด 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 เลยด้วยซ้ำ เกศเลยว่าในเมื่อเกศเป็นคนแพ้ เกศหาคะแนน เพิ่มอยู่แล้ว ดังนั้น เกศอยากจะขอคะแนนที่ไปให้คุณบอน ขอถ่ายมาเป็นฝั่งเกศ เพราะว่าเกศมีโอกาสมากกว่า ไม่อย่างนั้นก็เสียของ เกศก็ไม่อยากให้คะแนนมันหายไปเลย เกศแพ้มาก่อน เกศหาคะแนน เพิ่มอย่างเดียว เอาทุกวิถีทางอย่างที่พี่โตบอก เอาทุกวิถีทาง”
โดยคำว่า พี่โต หมายถึง นายฐนวัฒน์ และบอน หมายถึง นายณัฐนันท์
นายฐนวัฒน์พูดว่า “ตอนนี้โพลติด 1 ใน 3 มีเบอร์ 4 เบอร์ 14 เบอร์ 11 แต่เบอร์ 5 มีประปราย ไม่ติด 1 ใน 4 ถ้ามันพอพลิกเกมได้ก็อยากจะพลิก เพราะว่าพี่ดันทางพี่ บอนใช่ไหมมันก็ไม่ขึ้นอยู่ดี เพราะเปอร์เซ็นต์มันไม่ขึ้นเลยนะ เผื่อว่าพี่มาช่วยเกศ”
@ซอย 2 ซอยพวกเย็บผ้า ช่วยเหลือไปคนละ 500
และนายสถาพร พูดว่า “ตามนิดเดียว วันนี้ซอย 2 ซอยพวกเย็บผ้า พนักงานแรงงาน ผมก็ใส่ไปแล้ว 20 คน ช่วยเหลือไปคนละ 500 500 มันถึงแฮปปี้ไง ถ้าได้มาสัก 200 กว่ามันจะทำให้ตัวเลขมันขึ้น” ปรากฏตามบันทึกเสียงการสนทนาตั้งแต่นาทีที่ 26.21 จากบทสนทนาดังกล่าวน่าเชื่อว่า ผู้คัดค้าน นายสถาพร และนายฐนวัฒน์พูดคุยเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งและการแจกเงินซื้อเสียง ประกอบกับจากการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดนาทีที่ 1.42.30 ปรากฏภาพผู้คัดค้านนำธนบัตรจำนวนหนึ่งวางบนโต๊ะแล้วนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมชายวางทับเอาไว้ พร้อมกับพูดว่า “อันนี้เกศฝาก ฝากวางไว้ก่อน เกศไม่สร้างความลำบากใจ เกศเข้าใจ แต่ถ้าทอนตรงไหนมาได้ก็ทอนมาให้เกศหน่อย ด้วยของตัวพรรคบอนเองอ่ะคนในพื้นที่เขาก็ไม่ได้ชอบเยอะเกศก็เลยหนีไปอยู่ประชาธิปัตย์ใง ยังไงให้ เกศมีคะแนนบ้างล่ะ” ปรากฏตามบันทึกเสียงการสนทนา นาทีที่ 48.26
@ภาพจากกล้องชัด วัตถุบนโต๊ะเป็นเงินสด มิใช่บัตรหาเสียง
ซึ่งเมื่อพิจารณาภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดตั้งแต่นาทีที่ 1.42.30 เป็นต้นไป และขยายภาพขณะที่ผู้คัดค้าน วางวัตถุบนโต๊ะ และขณะนายสมชายหยิบวัตถุดังกล่าวขึ้นมาจากโต๊ะนำมาใส่กระเป๋ากางเกง และล้วงออกจากกระเป๋ากางเกงนำมาใส่ถุงพลาสติกใสและเก็บวัตถุดังกล่าวไว้ในตู้ น่าเชื่อได้ว่าวัตถุดังกล่าวเป็นธนบัตรที่อยู่ในลักษณะพับครึ่งจำนวนหนึ่ง มิใช่เอกสารหาเสียงเลือกตั้งตามที่ผู้คัดค้าน นายสถาพร และนายฐนวัฒน์กล่าวอ้าง เนื่องจากหากเป็นเอกสารหาเสียงเลือกตั้งที่มีลักษณะเป็นบัตรแนะนำตัวตามที่นายฐนวัฒน์ส่งมอบให้แก่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนเพื่อประกอบการให้ถ้อยคำแล้ว การวางบัตรแนะนำตัวซึ่งเป็นกระดาษที่มีความหนาและมีน้ำหนักมากกว่าธนบัตรนั้น ไม่จำต้องนำวัตถุอื่นมาวางทับไว้ ซึ่งตามภาพที่ปรากฏวัตถุดังกล่าวมีลักษณะโค้งงอเหมือนกับธนบัตร จำนวนหนึ่งที่พับครึ่งไว้ มิใช่ลักษณะของบัตรแนะนำตัว อีกทั้งจากการตรวจสอบการสนทนาทาง แอปพลิเคชันไลน์ระหว่างนายณัฐนันท์กับนายสมชายเมื่อวันที่ 6 วันที่ 7 และวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 หลังจากที่ผู้คัดค้านให้เงินแก่นายสมชายแล้ว นายสมชายประสงค์จะขอคืนเงินบางส่วนให้นายสถาพร เนื่องจากเพิ่งแจกเงินไปหนึ่งหมื่นกว่าบาท กรณีจึงปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้คัดค้านกระทำการและก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้นายสถาพรและนายฐนวัฒน์ให้เงินดังกล่าว แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง ซึ่งเป็นการทุจริตการเลือกตั้งอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 138 วรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้ผลการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 16 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้คัดค้าน มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ผู้ร้องจึงมีคำวินิจฉัยที่ 243/2566 ตามเอกสารหมาย ร.7 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านเป็นเวลาสิบปี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 226 ประกอบ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 138 วรรคหนึ่ง
@ ประเด็นวินิจฉัย: แจกเงินซื้อเสียงหรือไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้คัดค้านกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 138 วรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 16 กรุงเทพมหานคร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้คัดค้าน มิได้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรมหรือไม่
ทางไต่สวนได้ความจากนายสมชาย เกษสุวรรณ พยานผู้ร้องว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เวลาประมาณ 15.40 นาฬิกา นายสถาพรโทรศัพท์มานัดหมายว่าจะพาผู้คัดค้านเข้าพบพยานที่บ้านในช่วงค่ำเพื่อขอให้นายสมชายช่วยหาเสียงให้ผู้คัดค้าน จากนั้นเวลา ประมาณ 18 นาฬิกา นายสถาพรโทรศัพท์มาหาพยาน และเสนอจะให้เงินพยานเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่พยานช่วยหาเสียงให้แก่ผู้คัดค้าน โดยนายสถาพรพูดกับพยานว่า “เอาอย่างนั้นแหละ ไม่มี ทางเลือกแล้ว ไม่ต้องจด ไม่ต้องเจิดหรอก ทำยังไงก็ทำไปเลย รับไปเลย ผมบอกน้องมันแล้ว บอกว่า ให้แม่งมันเหอะ พวกกันทั้งนั้น แล้วเดี๋ยวช่วยสัก 40 เสียง สัก 30 เสียง ก็ไม่เสียหายอะไร ไงก็ดูเอา แล้วกัน เพราะว่าเราก็อยากให้ตังค์เอาไว้ใช้ ไม่เสียหายอะไรหรอก โอเคเนาะเดี๋ยวผมเข้าไป” ซึ่งพยานได้บันทึกเสียงสนทนาดังกล่าวไว้และได้ให้ทีมงานของนายณัฐนันท์ส่งบันทึกเสียงการสนทนาให้นายณัฐนันท์ตามบันทึกถ้อยคำผู้ร้อง (เพิ่มเติม) เอกสารหมาย ร.ค.1 ลำดับที่ 71 หน้า 166
@อ้างลงคะแนนให้ ผู้สมัคร รทสช. เสียเปล่า
ต่อมา เวลาประมาณ 18.30 นาฬิกา นายสถาพรเข้าพบพยานที่บ้าน หลังจากนั้นประมาณ 30 นาที ผู้คัดค้านกับพวกตามมาสมทบ ผู้คัดค้านพูดขอให้พยานช่วยหาเสียงในหมู่บ้านวงศกร 5 โดยอ้างว่า ผู้คัดค้านมีโอกาสจะชนะการเลือกตั้งได้ ส่วนนายณัฐนันท์ไม่มีโอกาสชนะ การลงคะแนนให้นายณัฐนันท์จะสูญเปล่า ขอให้เทคะแนนให้ผู้คัดค้าน เมื่อพูดจบผู้คัดค้านเดินออกไปตามนางสาวชัชชญาซึ่งรออยู่นอกบ้านแล้วเดินกลับเข้ามาพร้อมนางสาวชัชชญา จากนั้นผู้คัดค้านนำเงิน จำนวนหนึ่งวางลงบนโต๊ะแล้วหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของพยานวางทับไว้พร้อมกล่าวว่า “อันนี้เกศฝากวางไว้ก่อน นั่นละค่ะเกศไม่สร้างความลำบากใจ แต่ถ้าทอนตรงไหนมาให้เกศหน่อย ด้วยของตัวพรรค บอนเองอ่ะ คนในพื้นที่เขาก็ไม่ได้ชอบเยอะ เกศก็เลยหนีไปอยู่ประชาธิปัตย์ไง” ซึ่งหมายความว่า ให้พยานรับเงินที่ผู้คัดค้านมอบไว้ให้แล้วช่วยหาเสียงให้ผู้คัดค้าน ส่วนคำว่า “ทอน” หมายถึงให้พยาน ช่วยหาเสียงเพื่อแบ่งคะแนนของนายณัฐนันท์ให้ไปลงให้แก่ผู้คัดค้านบางส่วน
@ ‘ณัฐนันท์’ส่งเด็กช่วยใช้โทรศัพท์อัดเสียงสนทนา ส่ง กกต.
หลังจากที่ผู้คัดค้านกลับไป ทีมงานของนายณัฐนันท์ส่งบันทึกเสียงการสนทนาที่บันทึกไว้ด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งวางไว้ใต้โต๊ะที่พยานนั่งให้นายณัฐนันท์ นายณัฐนันท์ได้โทรศัพท์มาสอบถามเหตุการณ์และแจ้งให้พยานนำ ธนบัตรใส่ในถุงพลาสติกไว้ หลังจากนั้นนายณัฐนันท์กับพวกเดินทางมาพบพยานที่บ้าน พยานจึงส่ง มอบวิดีโอคลิปจากกล้องวงจรปิดตามสำนวนการสืบสวนและไต่สวนเอกสารหมาย ร.ค.1 ลำดับที่ 22 หน้า 45 รวมถึงธนบัตรที่ได้รับมาให้แก่นายณัฐนันท์เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี
และได้ความจากนายณัฐนันท์ กัลยาศิริ พยานผู้ร้องว่า ในช่วงเย็นของวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 พยานซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปรณรงค์หาเสียงที่หมู่บ้านวงศกร 5 มีนายสมชายร่วมในการรณรงค์หาเสียงด้วย นายสมชายเล่าให้พยานฟังว่า นายสถาพรโทรศัพท์มาหานายสมชายและเสนอจะให้เงินนายสมชายเพื่อให้ช่วยเหลือผู้คัดค้านในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และบอกด้วยว่าผู้คัดค้านจะมาพบนายสมชายในวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 พยานจึงบอกให้นายสมชายช่วยเก็บหลักฐานต่าง ๆ เอาไว้ นายสมชายแจ้งว่า ที่บ้านนายสมชายมีโทรทัศน์วงจรปิด แต่ไม่สามารถ บันทึกเสียงได้ ต่อมาในวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 พยานมอบหมายให้พวกของพยานไปช่วยนาย สมชายในการบันทึกเสียงการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างนายสถาพรกับนายสมชาย และการสนทนาระหว่างผู้คัดค้านกับนายสมชาย ต่อมาเมื่อพยานได้รับบันทึกเสียงการสนทนามาจากพวกของพยาน ได้เปิดฟังและพบว่ามีเนื้อหาตามที่ระบุไว้ในคำร้องที่ผู้ร้องยื่นต่อศาล ต่อมานายสมชายได้ส่ง ภาพถ่ายธนบัตรที่นายสมชายได้รับจากผู้คัดค้านให้พยานทางแอปพลิเคชันไลน์ หลังจากพยานตรวจสอบบันทึกเสียงการสนทนาและภาพถ่ายธนบัตรที่ได้รับมา พยานเดินทางไปที่บ้านของนายสมชายเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และในวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 พยานไปแจ้งเรื่องที่นายสมชายได้รับเงินจากผู้คัดค้าน จำนวน 50,000 บาท ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำกรุงเทพมหานคร โดยได้มอบธนบัตร จำนวน 50,000 บาท ไว้เป็นหลักฐาน
@ผู้คัดค้านอ้างมีเหตุโกรธเคืองกัน – ไม่ได้อยู่เหตุการณ์ในเสียงสนทนาทางโทรศัพท์ ปัดแจงเงิน
นอกจากนี้ยังได้ความจากนายอาทินันท์ บุญรุ่ง พยานผู้ร้องว่า พยานได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการสืบสวนและไต่สวนตามคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งเอกสารหมาย ร.ค.1 ลำดับที่ 17 หน้า 28 และหน้า 29 หลังจากการไต่สวนพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนมีความเห็นว่า พยานหลักฐานน่าเชื่อว่า วัตถุที่ผู้คัดค้านส่งมอบให้แก่นายสมชายเป็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 50 ฉบับ ไม่ใช่บัตรย้ำเบอร์จำนวน 20 แผ่น และเมื่อพิจารณาประกอบบันทึกเสียง การสนทนาขณะผู้คัดค้านส่งมอบธนบัตรให้นายสมชาย มีน้ำหนักพอให้เชื่อได้ว่า ผู้คัดค้านมีเจตนาให้นายสมชายลงคะแนนให้แก่ผู้คัดค้านและให้ช่วยเหลือสนับสนุนผู้คัดค้านเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (1) ตามรายงานการไต่สวนเอกสารหมาย ร.ศ.1 ลำดับที่ 67 หน้า 148 ถึงหน้า 155 ส่วนผู้คัดค้านอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า นายสถาพรและ นายฐนวัฒน์เป็นผู้ช่วยหาเสียงของผู้คัดค้าน มีหน้าที่แจกใบปลิวแนะนำตัวผู้สมัคร ประสานงานกับ บุคคลในพื้นที่เพื่อให้ผู้สมัครได้เข้าหาเสียงแนะนำตัว ติดตามผู้สมัครในการลงพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อแนะนำตัวและเสนอนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง นายณัฐนันท์เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตพื้นที่เดียวกันและมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้คัดค้าน ที่ผู้ร้องอ้างว่า ข้อความที่นายสถาพรพูดคุยกับนายสมชายทางโทรศัพท์ที่พูดว่า “เอาแบบนั้นแหละ ไม่มีทางเลือกแล้ว ไม่ต้องจด ทำอะไรก็ทำไปเลย ผมบอกน้องมันไปแล้ว บอกให้ไปเหอะ พวก ๆ กันทั้งนั้น ก็เดี๋ยว ช่วยสัก 40 เสียง 30 เสียง ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะว่าเราก็อยากให้ตังค์เอาไว้ใช้ ไม่เสียหายอะไรหรอก” เป็นการพูดคุยในเรื่องการแจกเงินหาเสียงนั้น ผู้คัดค้านไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และไม่มีข้อความตอนใดยืนยันว่าผู้คัดค้านสัญญาว่าจะให้เงินแก่นายสมชาย บันทึกเสียงดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่ นายสมชายและนายณัฐนันท์ร่วมกันสร้างขึ้นไม่อาจนำมารับฟังลงโทษผู้คัดค้านได้ ส่วนข้อความที่ นายสถาพรพูดในขณะที่ผู้คัดค้านไปพบนายสมชายที่บ้านว่า “...ตามนิดเดียว วันนี้ซอย 2 ซอยพวกเย็บผ้า พนักงานแรงงาน ผมก็ใส่ไปแล้ว 20 คน ช่วยเหลือไปคนละ 500 500 มันถึงแฮบปี้ไง ถ้าได้มาสัก 200 กว่ามันจะทำให้ตัวเลขมันขึ้น...” เป็นการพูดถึงเหตุการณ์ที่นายสถาพรได้ลงพื้นที่หาเสียงบริเวณ พื้นที่หมู่บ้านวงศกร 5 และพบว่ามีกลุ่มทำผ้าเช็ดเท้าซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ จึงได้อุดหนุนซื้อผ้าเช็ดเท้า ซึ่งนายสถาพรก็ได้รับผ้าเช็ดเท้ากลับมาตามจำนวนเงินที่จ่ายไป ไม่ได้เป็นการพูดคุยในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการแจกเงินซื้อเสียงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างแต่อย่างใด
และที่ผู้ร้องอ้างว่า วัตถุที่ผู้คัดค้านวางไว้บนโต๊ะทำงานของนายสมชายเป็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 50 ฉบับ โดยเป็นการมอบให้เพื่อจูงใจให้นายสมชายลงคะแนนให้ผู้คัดค้านและสนับสนุนผู้คัดค้านในการหาเสียงเลือกตั้งนั้น ในวันดังกล่าวผู้คัดค้านกับพวกเข้าพบนายสมชายเพื่อให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ หมู่บ้านวงศกร 5 ทราบและแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้คัดค้านบ้าง ผู้คัดค้านทราบดีว่านายสมชายเป็นหัวคะแนนให้แก่นายณัฐนันท์ ผู้คัดค้านย่อมต้องระมัดระวังตัวในการพูดคุยกับนายสมชาย จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้คัดค้านจะนำเงินไปให้นายสมชาย วัตถุดังกล่าวเป็นเพียงบัตรหาเสียงเลือกตั้ง (บัตรย้ำเบอร์) ซึ่งมีความกว้างประมาณ 8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 11 เซนติเมตร ตามเอกสารหมาย ว.ค.1 เหตุที่ต้องนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมชายวางทับไว้เนื่องจากเกรงว่าจะปลิวเพราะมีพัดลมติดผนังเปิดอยู่ วิดีโอคลิปในสำนวนการไต่สวนเอกสารหมาย ร.ศ.1 ไม่ปรากฏภาพที่แสดงให้เห็นโดยแจ้งชัดว่า วัตถุที่ผู้คัดค้านวางบนโต๊ะเป็นธนบัตร ทั้งนายสมชายไม่นำวัตถุดังกล่าวมาแสดงให้ปรากฏ แต่กลับเอา ใส่ในกระเป๋ากางเกงไว้ก่อนแล้วจึงค่อยนำออกมาใส่ถุงพลาสติก จึงยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าวัตถุที่ นายสมชายหยิบออกมาจากกระเป๋ากางเกงเป็นธนบัตรจำนวน 50,000 บาท ที่ผู้ร้องให้แก่ นายสมชาย หรือเป็นเงินที่นายสมชายและนายณัฐนันท์ร่วมมือกันตระเตรียมเอาไว้ก่อน หากวัตถุที่ผู้คัดค้านมอบให้แก่นายสมชายเป็นธนบัตรจำนวน 50,000 บาท จริง นายสมชายควรจะนำมาแสดง ต่อหน้ากล้องวงจรปิดเพื่อให้มีหลักฐานปรากฏแจ้งชัด พยานหลักฐานของผู้ร้องไม่ว่าจะเป็นภาพจาก กล้องวงจรปิด บันทึกเสียงการสนทนา และภาพถ่ายที่ผู้ร้องนำมาใช้กล่าวอ้างเป็นหลักฐานในคดีนี้ ไม่สามารถยืนยันได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า วัตถุที่ผู้ร้องส่งมอบให้แก่นายสมชายเป็นธนบัตร พฤติกรรมของนายสมชายแสดงให้เห็นว่านายสมชายร่วมมือกับนายณัฐนันท์สร้างหลักฐานต่าง ๆ ขึ้น เพื่อให้ร้ายผู้คัดค้านที่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตพื้นที่เดียวกันกับนายณัฐนันท์ พยานหลักฐาน ต่าง ๆ ในคดีนี้จึงได้มาจากการกระทำโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 ศาลจึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
@ไม่คำนึงถึงวิธีการให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า นายสถาพรเป็นผู้ช่วยหาเสียงของผู้คัดค้าน การดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการรณรงค์หาเสียง โดยเฉพาะการดำเนินการในเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อผู้คัดค้าน ย่อมต้องได้รับความยินยอมและเป็นไปตามคำสั่งของผู้คัดค้าน จึงทำให้เชื่อว่าที่นายสถาพรโทรศัพท์ไปหานายสมชายและพูดว่า “เอาแบบนั้นแหละ ไม่มีทางเลือกแล้ว ไม่ต้องจด ทำอะไรก็ทำไปเลย ผมบอกน้องมันแล้ว บอกให้ไปเหอะ พวก ๆ กันทั้งนั้น ก็เดี๋ยวช่วยสัก 40 เสียง 30 เสียง ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะว่าเราก็อยากให้ตังค์ เอาไว้ใช้ ไม่เสียหายอะไรหรอก” นายสถาพรได้พูดคุยกับผู้คัดค้านและผู้คัดค้านรับรู้เนื้อหาสาระที่ นายสถาพรจะพูดคุยกับนายสมชายก่อนแล้ว หลังจากนายสถาพรพูดคุยกับนายสมชายทางโทรศัพท์ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้าน นายสถาพร นายฐนวัฒน์ และนางสาวชัชชญาเดินทางไปที่บ้านของนายสมชาย และได้พูดคุยขอคะแนนเสียงจากนายสมชาย โดยตอนหนึ่งของการพูดคุยผู้คัดค้านพูดว่า “เกศก็พอรู้ ว่าพี่สถาพรโทรมาคุยกับพี่เรื่อย ๆ วันนี้เลยอยากมาหาพี่ เกศอยากจะขอโอกาส เพราะว่าแนวโน้มที่ โพลออกมา เกศก็มีโอกาส แต่เกศตามอยู่นิดหนึ่ง แต่ของคุณบอนคะแนนมันไม่ขึ้นเลย ไม่ติด 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 เลยด้วยซ้ำ เกศเลยว่าในเมื่อเกศเป็นคนแพ้ เกศหาคะแนนเพิ่มอยู่แล้ว ดังนั้น เกศอยากจะขอ คะแนนที่ไปให้คุณบอน ขอถ่ายมาเป็นฝั่งเกศ เพราะว่าเกศมีโอกาสมากกว่า ไม่อย่างนั้นก็เสียของเกศก็ไม่อยากให้คะแนนมันหายไปเลย เกศแพ้มาก่อน เกศหาคะแนนเพิ่มอย่างเดียว เอาทุกวิถีทางอย่างที่ พี่โตบอก เอาทุกวิถีทาง” ส่วนนายสถาพรพูดว่า “ตามนิดเดียว วันนี้ซอย 2 ซอยพวกเย็บผ้า พนักงานแรงงาน ผมก็ใส่ไปแล้ว 20 คน ช่วยเหลือไปคนละ 500 500 มันถึงแฮปปี้ไง ถ้าได้มาสัก 200 กว่า มันจะทำให้ตัวเลขมันขึ้น” ตามถ้อยคำของผู้คัดค้านและนายสถาพรดังกล่าว นอกจากจะเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่านายสถาพรดำเนินการต่าง ๆ ไปตามคำสั่งและอยู่ในความรับรู้ของผู้คัดค้าน ยังเป็นการบ่งชี้ว่า ผู้คัดค้านและนายสถาพรไม่คำนึงถึงวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้อง ตามกฎหมายหรือไม่
@คำให้การของพยานมน้ำหนัก สอดคล้องข้อเท็จจริง
ข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของพยานผู้ร้องปากนายสมชายว่า หลังจากผู้คัดค้านและนายสถาพรพูดกับนายสมชายดังกล่าว ผู้คัดค้านเดินออกไปตามนางสาวชัชชญา ซึ่งรออยู่นอกบ้านแล้วเดินกลับเข้ามาพร้อมกับนางสาวชัชชญา จากนั้นผู้คัดค้านนำธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ซึ่งขณะนั้นยังไม่ทราบจำนวนมาวางบนโต๊ะทำงานของพยานแล้วใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของพยานทับเอาไว้ พร้อมกับพูดว่า “อันนี้เกศฝาก ฝากวางไว้ก่อน เกศไม่สร้างความลำบากใจ เกศเข้าใจ แต่ถ้าทอนตรงไหนมาได้ก็ทอนมาให้เกศหน่อย ด้วยของตัวพรรคบอนเองอ่ะคนในพื้นที่เขาก็ไม่ได้ชอบเยอะ เกศก็เลยหนีไปอยู่ประชาธิปัตย์ไง ยังไงให้เกศมีคะแนนบ้างล่ะ” ซึ่งคำเบิกความของนายสมชาย ดังกล่าวสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ปรากฏในวิดีโอคลิปตามแฟลชไดรฟ์แนบในเอกสารหมาย ร.ค.1
ทั้งยังสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากคำเบิกความของพยานผู้ร้องปากนายณัฐนันท์และ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนการสืบสวนและไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งเอกสารหมาย ร.ค.1 กรณีจึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่านายสมชายจะมาเบิกความปรักปรำเพื่อให้เป็นผลร้ายแก่ ผู้คัดค้าน นอกจากพยานปากนายสมชายแล้วผู้ร้องยังมีนายอาทินันท์ซึ่งเป็นประธานกรรมการสืบสวน และไต่สวนผู้ทำหน้าที่ไต่สวนหาข้อเท็จจริงในคดีนี้มาเบิกความเป็นพยานยืนยันว่า จากการไต่สวน พยานหลักฐานต่างๆ เชื่อได้ว่า ผู้คัดค้านมอบธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 50,000 บาท ให้แก่นายสมชายจริง จึงยิ่งทำให้พยานหลักฐานของ ผู้ร้องมีน้ำหนักรับฟังยิ่งขึ้น
@หากแค่บัตรหาเสียงให้ทีมงานเก็บไว้ก็ได้ ไม่ต้องเดินทางไปอาจากลูกน้องที่เก็บไว้ในกระเป๋าสะพาย
ส่วนที่ผู้คัดค้านโต้แย้งมาในคำคัดค้านและนำสืบอ้างว่า วัตถุที่นำไปวางไว้บนโต๊ะทำงานของนายสมชายไม่ใช่ธนบัตร ฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 50 ฉบับ แต่เป็นบัตรหาเสียงเลือกตั้ง (บัตรย้ำเบอร์) ซึ่งมีขนาดกว้าง ประมาณ 8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 11 เซนติเมตร จำนวน 1 ปีก นั้น
เห็นว่า หากเป็นเพียงบัตรหาเสียงเลือกตั้งซึ่งไม่มีราคาค่างวดมากนัก ผู้คัดค้านก็สามารถมอบหมายให้นายสถาพรหรือ นายฐนวัฒน์ซึ่งเป็นผู้ช่วยหาเสียงของผู้คัดค้านเก็บรักษาไว้และเป็นผู้มอบให้นายสมชายแทนผู้คัดค้าน ได้อยู่แล้ว ไม่น่าจะมีเหตุผลหรือความจำเป็นใดที่จะต้องให้นางสาวชัชชญาซึ่งไม่ได้เป็นผู้ช่วยหาเสียงเป็นผู้เก็บรักษา และต้องเก็บรักษาไว้ในกระเป๋าสะพายซึ่งเป็นกระเป๋าที่วิญญูชนโดยทั่วไปใช้เก็บรักษาสิ่งของที่มีค่า อีกทั้งหากเป็นเพียงบัตรหาเสียงเลือกตั้ง นายสมชายก็ไม่น่าจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ถึงขนาดที่ต้องหยิบมาใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกงของตนเอง ข้ออ้างของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
@ปมแจกเงิน 500 ให้ชาวบ้านซอย 2 อ้างค่าซื้อผ้าเช็ดเท้า-ฟังไม่ขึ้น
ที่ผู้คัดค้านโต้แย้งและนำสืบอีกข้อหนึ่งโดยอ้างว่า เงินที่มอบให้แก่ชาวบ้านซอย 2 หรือที่ นายสถาพรเรียกว่า ซอยพวกเย็บผ้านั้นเป็นเงินค่าผ้าเช็ดเท้าที่นายสถาพรซื้อจากชาวบ้านกลุ่มทำผ้าเช็ดเท้า ก็ขัดแย้งกับเนื้อหาของข้อความที่นายสถาพรพูดในขณะที่อยู่ร่วมกับผู้คัดค้านที่บ้านของ นายสมชายที่ว่า “ตามนิดเดียว วันนี้ซอย 2 ซอยพวกเย็บผ้า พนักงานแรงงาน ผมก็ใส่ไปแล้ว 20 คน ช่วยเหลือไปคนละ 500 500 มันถึงแฮปปี้ไง ถ้าได้มาสัก 200 กว่ามันจะทำให้ตัวเลขมันขึ้น” อีกทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นอกจากนางสาวกัลยกร แสงศิริ ที่มาเบิกความเป็นพยานผู้คัดค้านว่า ได้ขายผ้าเช็ดเท้าให้แก่นายสถาพรจำนวน 10 ผืน เป็นเงิน 500 บาท แล้ว มีบุคคลอื่นได้ขายผ้าเช็ดเท้า ให้นายสถาพรอีกหรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำนวนคน 20 คน ที่นายสถาพรพูดถึงล้วนแต่เป็นผู้ที่ขายผ้าเช็ดเท้าให้นายสถาพร และนายสถาพรได้จ่ายเงินเป็นค่าผ้าเช็ดเท้าให้แก่บุคคลดังกล่าวไปจริง ข้ออ้างของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเช่นกัน
@ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้รับฟังบันทึกเสียงการสนทนาที่แอบบันทึกไว้
สำหรับที่ผู้คัดค้านอ้างว่า พยานหลักฐาน ผู้ร้องเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น
เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 138 ซึ่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาและวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ข้อ 5 วรรคสอง กำหนดให้วิธีพิจารณาใดซึ่งระเบียบนี้มิได้กำหนดไว้โดยเฉพาะให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่จะพอใช้บังคับได้ กรณีจึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์การรับฟังพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 มาใช้บังคับ นอกจากนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้รับฟังบันทึกเสียงการสนทนาที่แอบบันทึกไว้ ทั้งนายสมชายผู้เป็น ประจักษ์พยานเกี่ยวกับการสนทนาตามรายงานการไต่สวนได้มาเบิกความเป็นพยานผู้ร้องต่อศาลด้วย ตนเอง ศาลจึงรับฟังบันทึกเสียงการสนทนาดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นได้
@ สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี
สำหรับข้อต่อสู้ในประเด็นปลีกย่อยอื่น ๆ ของผู้คัดค้านไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านกับพวกให้เงินแก่นายสมชายและ บุคคลอื่น ๆ ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้นายสมชายและบุคคลอื่น ๆ ลงคะแนนให้แก่ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นการทุจริตในการเลือกตั้งอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 138 วรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 16 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้คัดค้านมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามคำร้องของผู้ร้องดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น
พิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของนางสาวเกษกานดา อินช่วย ผู้คัดค้าน เป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา
กกต.ฟันคดีอาญา-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 'เกศกานดา' อดีตผู้สมัคร ปชป. ปมซื้อเสียง
กกต.ส่งศาลฎีกา ตัดสิทธิ์ 'เกศกานดา'ลงสมัคร สส.-ปมผู้ช่วยแจกเงินซื้อเสียงหัวละ 500 บาท
ศาลฎีกาฯ แจ้งนัดไต่สวนคดีใบแดง‘เกศกานดา’ผู้สมัคร สส.ปชป.ซื้อเสียง
ศาลฎีกาฯนัดพิพากษา 15 พ.ค. คดี ‘เกศกานดา’ ผู้สมัคร สส.ปชป.ซื้อเสียง
ศาลฎีกาฯสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ‘เกศกานดา’ผู้สมัคร สส.ปชป.ซื้อเสียง