"...ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูล บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล เอ.จี และ บริษัท แบล็กฟ็อกซ์ แคปปิตอล จำกัด 2 เอกชนสัญชาติรัสเซีย ที่ปรากฏชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด พบข้อมูลจากเว็บไซต์จดทะเบียนธุรกิจในต่างประเทศว่า เอกชนทั้ง 2 แห่ง ขึ้นสถานะว่า Inactive หรือแปลเป็นภาษาไทยว่าไม่ได้ประกอบกิจการ ..."
..............................
ประเด็นตรวจสอบกรณี องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลราชวิถี ให้ดำเนินการจัดหาชุดตรวจโควิด แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด เป็นการเร่งด่วน ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุก เพื่อค้นหาผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษารวดเร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรค
โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 อภ. ได้ให้บริษัทผู้จำหน่าย ATK จำนวน 19 บริษัท จากที่เชิญไป 24 บริษัท เข้าร่วมเสนอราคา เบื้องต้นคณะกรรมการพิจารณาแล้ว พบว่ามีบริษัทที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนด และสามารถส่งมอบได้ตามกำหนด 16 บริษัท จึงได้ทำการเปิดซองราคาปรากฏว่า บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด โดยเสนอราคาต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่ สปสช.ตั้งไว้ ทำให้ประหยัดงบประมาณภาครัฐได้กว่า 400 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ราคาชุดตรวจ ATK เหลือประมาณชุดละ 70 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว
(อ่านประกอบ : หลังฉาก! อภ.ซื้อชุดตรวจโควิด 595 ล้าน บ.ชนะยื่นซอง 65 บ.-FDA สั่งระงับสินค้าผู้ผลิตจีน? (2), แจ้งงบการเงินขาดทุน 3 ปีติด! ส่อง Google Maps ดูที่ตั้ง บ.ผู้ชนะขายชุดตรวจโควิด 595 ล. (3))
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูล บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล เอ.จี และ บริษัท แบล็กฟ็อกซ์ แคปปิตอล จำกัด 2 เอกชนสัญชาติรัสเซีย ที่ปรากฏชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด
พบข้อมูลจากเว็บไซต์จดทะเบียนธุรกิจในต่างประเทศว่า เอกชนทั้ง 2 แห่ง ขึ้นสถานะว่า Inactive หรือแปลเป็นภาษาไทยว่าไม่ได้ประกอบกิจการ (ดูภาพประกอบ)
@ บริษัท แบล็กฟ็อกซ์ แคปปิตอล จำกัด
@ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล เอ.จี
จากการตรวจสอบข้อมูล บริษัท แบล็กฟ็อกซ์ แคปปิตอล ในเว็บไซต์ Open Coperates ในต่างประเทศ พบว่า บริษัท แบล็กฟ็อกซ์ แคปปิตอล ก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2562 และในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-3 ม.ค. 2563 บริษัทแห่งนี้ ได้เปลี่ยนสถานะว่า ไม่ได้ประกอบกิจการ
ส่วนข้อมูลของ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล เอ.จี ระบุว่า ก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2562 แต่ไม่ได้ระบุวันที่บริษัทหยุดประกอบกิจการ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งของเอกชนทั้งสองแห่ง ที่แจ้งว่าอยู่ในประเทศเบลีซ จากการตรวจสอบข้อมูลผ่าน Google Maps พบข้อมูลเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
แบล็กฟ็อกซ์ แคปปิตอล ระบุว่าอยู่ที่ ณ ตึก นิว ฮอร์ไรซอน ชั้น1,3 1/2 ไมล์ ฟิลิป เอส.ดับเบิ้ล ยู โกสสัน ไฮเวย์ มีภาพตึกปรากฏอยู่ ใน Google Maps (ดูภาพประกอบ)
ส่วนที่อยู่บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล เอ.จี แจ้งว่า ออฟฟิศ 101 1 1/2 ไมล์ นอร์ทเทิร์น ไฮเวย์ ยังไม่สามารถหารายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ได้
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำหรับประเทศเบลีซ ถูกระบุว่าเป็น tax haven หรือเป็นประเทศที่ปลอดภาษี
จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ประเทศเบลีซเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายภายในอนุญาตให้ชาวต่างชาติจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทนอกอาณาเขต (offshore entities) ได้ โดยมีบริษัทนายหน้ารับจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขตที่ตั้งอยู่ในประเทศต่าง ๆ โฆษณาให้บริการดังกล่าว
หลายบริษัทได้โฆษณารายละเอียดชี้ชวนให้นักธุรกิจตั้งบริษัทนอกอาณาเขตในเบลีซ โดยแจกแจงข้อดีต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกปิดข้อมูล และการได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
เช่นในเว็บไซต์ www.offshoreworldwide.com <http://www.offshoreworldwide.com/services/belize-offshore-company?gclid=CjwKEAiA0fnFBRC6g8rgmICvrw0SJADx1_zAqMP4_JQFSo8K3H05IR6falWAGPAWX1Vg7h0k3lg7zRoCyKnw_wcB> ของบริษัทรับจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทนอกอาณาเขต ที่อ้างว่าตั้งอยู่ที่ประเทศลัตเวีย แจกแจงรายละเอียดข้อดีของการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทนอกอาณาเขตที่เบลีซไว้ดังนี้
1) ตามกฎหมาย Belize IBC Act บริษัทและผู้ถือหุ้นบริษัทนอกอาณาเขตที่จดทะเบียนในเบลีซ ไม่ต้องเสียภาษีใด ๆรวมทั้งกฎหมายเงินได้ และมีเสรีภาพในการบริหารและการทำธุรกรรมของบริษัทของตน ซึ่งรวมถึงการโอนทรัพย์สิน การจัดการเรื่องหุ้น และอื่น ๆ แต่ไม่มีสิทธิในการ ไม่ทำธุรกิจกับบุคคลหรือนิติบุคคลสัญชาติเบลีซ หรือถือหุ้นในบริษัทท้องถิ่นที่เสียภาษีในเบลีซ ไม่มีกิจกรรมทางธุรกิจในธุรกิจที่ต้องได้รับใบอนุญาตในเบลีซ เช่นธนาคาร หรือ ประกัน และอื่น ๆ และไม่สามารถครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในเบลีซ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองระบบเศรษฐกิจของประเทศเบลีซไม่ให้ถูกกระทบจากการทำธุรกรรมของนักลงทุนต่างประเทศที่จดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขต
2) การจดทะเบียนตั้งบริษัทนอกอาณาเขตในเบลีซสามารถทำได้อย่างรวดเร็วภายในวันเดียว
"หากมีสิ่งที่ไม่คาดหมายเกิดขึ้นและท่านต้องการจัดตั้งบริษัทนอกอาณาเขตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่วันทำงานเกือบจะหมดลง ท่านสามารถหลีกเลี่ยงภาวะกดดันของเวลา แล้วหันมาที่เบลีซ"
3)ข้อมูลเกี่ยวกับผู้อำนวยการบริษัท ผู้ถือหุ้น และเจ้าของ (ผู้รับผลประโยชน์) บริษัทถือเป็นข้อมูลลับสุดยอด ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ข้อมูลเหล่านี้จะมีผู้รู้เห็นเพียงเจ้าหน้าที่จดทะเบียนของบริษัทเอกชนที่รับจดทะเบียนที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขตในเบลีซให้ลูกค้าเท่านั้น นอกจากนั้น ข้อมูลที่ส่งไปยังรัฐบาล จะเป็นเพียงชื่อของบริษัทรับจดทะเบียนนั้น ๆ เท่านั้น โดยหน่วยงานของรัฐไม่มีสิทธิใด ๆในการร้องขอข้อมูลใด ๆเกี่ยวกับเจ้าของและผู้ถือหุ้นบริษัท
นอกจากนั้นการปกปิดข้อมูลยังมีอีกขั้นหนึ่งคือ บริษัทรับจดทะเบียนยังให้บริการแต่งตั้งนอมินี ซึ่งเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลที่เข้าจดทะเบียนเป็นผู้อำนวยการหรือผู้ถือหุ้น เพื่อปกปิดตัวตนเจ้าของบริษัทที่แท้จริงอีกชั้นหนึ่ง
ข้อมูลเกี่ยวกับผู้อำนวยการ ผู้ถือหุ้น และเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตที่จะทะเบียนในเบลีซ จะเปิดเผยได้ด้วยคำสั่งศาลเท่านั้น
4) คิดค่าบริการราคาถูก
5) ไม่มีข้อจำกัดเรื่องมูลค่าทุนจดทะเบียน แม้ว่ามาตรฐานปฏิบัติคือ 50,000 USD
6) ไม่ต้องส่งรายงานทางบัญชีให้รัฐบาลเบลีซ (สรรพากร) ข้อมูลทางบัญชีถือเป็นข้อมูลส่วนตัวของบริษัท
7) บุคคล หรือนิติบุคคลสัญชาติใดก็ได้ สามารถจดทะเบียนเป็นผู้อำนวยการและผู้ถือหุ้นบริษัทได้ โดยดำรงตำแหน่งสองตำแหน่งไปพร้อมกันได้ กฎหมายไม่กำหนดให้มีการประชุมประจำปีที่เบลีซ
นอกจากนั้น หุ้นในบริษัทนอกอาณาเขตในเบลีซ สามารถถ่ายโอนไว้ในรูปของทรัสต์หรือองค์กรการกุศลได้
เว็บไซต์ https://www.apintertrust.com/offshore_company/belize_tax_haven.htm ของบริษัทรับจดทะเบียน A & P Intertrust Corporation ซึ่งมีสาขาอยู่ในหลายประเทศรวมทั้งแคนาดาก็ให้ข้อมูลไปในทางเดียวกัน
ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เคยตรวจสอบพบข้อมูลความเกี่ยวข้องของนักการเมืองและนักธุรกิจชื่อดัง ว่าไปจดทะเบียนตั้งบริษัทตั้งอยู่ในเกาะสวรรค์หลายที่ขึ้นชื่อเรื่องการการฟอกเงินหลายแห่ง อาทิ เกาะเคย์แมน หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน แชนแนล และเบอร์มิวด้า เป็นต้น
ส่วนกรณีประเทศเบลีซนั้น สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบพบว่า บริษัท เวลเนส อินเวสเม้นท์ จำกัด ที่ปรากฏชื่ออยู่ในคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดทรัพย์ บริษัท ทีเอช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นที่ดินและเงินฝากในบัญชีธนาคาร จำนวน 16 รายการ มูลค่า 1,386,076.110.69 บาท หลังถูกตรวจสอบพบว่า มีความเชื่อมโยง กลุ่มบริษัทและบุคคลที่เกี่ยวกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง กับพวก โดย บริษัท เวลเนส อินเวสเม้นท์ จำกัด ปรากฎชื่อ อยู่ในฐานะผู้รับจำนองที่ดิน จำนวน 15 รายการ (อีก 1 รายการ เป็นเงินในบัญชีฝากธนาคาร จากจำนวนทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ 16 รายการ) จากบริษัท ทีเอช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
แจ้งที่อยู่ คือ 60 มาร์เก็ต สแควร์ ตู้ไปรษณีย์ หมายเลข 346 เมืองเบลีซ ประเทศเบลีซไว้ด้วย
(อ่านประกอบ : เบื้องลึก! ประเทศเบลีซ 'tax haven' ในคดีปปง.อายัดทรัพย์บ.ก๊วนเสี่ยเปี๋ยง ที่สังคมไทยยังไม่รู้?)
ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล เอ.จี และ บริษัท แบล็กฟ็อกซ์ แคปปิตอล จำกัด 2 เอกชนสัญชาติรัสเซีย เข้ามาร่วมลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ได้อย่างไร ทำไมในฐานข้อมูลบริษัทเอกชนในต่างประเทศ แจ้งสถานะว่า ไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว
คงเป็นเรื่องที่ต้องรอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องออกมาชี้แจงความชัดเจนต่อสาธารณชนอีกครั้ง
สำหรับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ผู้ชนะการประกวดราคาโครงการฯ นี้ ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบไปแล้ว มีดังนี้
หนึ่ง.
บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 25 สิงหาคม 2557 ทุน 5,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 12 ซอยอ่อนนุช 17 แยก 15 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง จังหวัดกรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจกิจการให้บริการเกี่ยวกับการบริหารงานด้านพาณิชยกรรมการค้าระหว่างประเทศ
ปรากฎชื่อ นางสาว อนาสตาเซีย สวินต์โซว่า นาย อเล็กเซ่ กอร์ดีนโก นางสาว ภรภัทร จบศรี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
ณ 30 เมษายน 2564 นาย อิสรัมภ์ ศรียิ่งยงค์ ถือหุ้นใหญ่สุด 51 % หุ้นที่เหลืออยู่ในชื่อ ออสท์แลนด์ แคปปิตอล เอ.จี และ แบล็กฟ็อกซ์ แคปปิตอล จำกัด จากรัสเซีย
บริษัทฯ นำส่งงบการเงิน ณ 31 ธันวาคม 2564 แจ้งว่าไม่มีรายได้ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 26,500.82 บาท ขาดทุนสุทธิ 26,500.82 บาท
จากการตรวจสอบข้อมูลที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผ่านเว็บไซต์ https://data.creden.co/ พบว่า ในช่วงจดทะเบียนจัดตั้ง 25 ส.ค. 2557 บริษัทฯ มีทุน 1,000,000 บาท ก่อนจะเพิ่มเป็น 2,000,000 บาท เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2557 และเพิ่มทุนอีกครั้งเป็น 5,000,000 บาท เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2558
ส่วน นางสาวอนาสตาเซีย สวินต์โซว่า เข้ามาเป็นกรรมการในช่วงปี 2563
เมื่อตรวจสอบข้อมูลงบการเงินย้อนหลังไปจนถึงปี 2561 พบว่า บริษัทฯ ขาดทุนต่อเนื่อง
ปี 2561 แจ้งว่า มีรายได้รวม 4,501.36 บาท มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 347,305.17 บาท ขาดทุนสุทธิ 342,803.81 บาท
ปี 2562 แจ้งว่ามีรายได้รวม 2,218.85 บาท มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 43,871.55 บาท ขาดทุนสุทธิ 41,652.70 บาท
ปี 2563 แจ้งว่าไม่มีรายได้ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 26,500.82 บาท ขาดทุนสุทธิ 26,500.82 บาท
สอง.
ที่อยู่เลขที่ 12 ซอยอ่อนนุช 17 แยก 15 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง จังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นที่ตั้ง บริษัท แอคทิว่า สวิส (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 17 ตุลาคม 2555 ทุนปัจจุบัน 4,900,000 บาท แจ้งที่ตั้ง 12 ซอยอ่อนนุช 17 แยก 15 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง จังหวัดกรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจผลิตยาฆ่าเชื้อไร้สารเคมี ปรากฏชื่อ นาย ยอร์ค ปีเตอร์ คัลท์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
ณ 24 มิถุนายน 2563 บริษัท แอคทิว่า สวิส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จากมาเก๊า ถือหุ้นใหญ่สุด 39% นางสาว ดวงรัตน์ สุวรรณวรบุญ ถืออยู่ 31% บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ถืออยู่ 20% นาย อัลเฟรต ไบเยอร์ จาก สวิส ถืออยู่ 10 %
สาม.
นางสาวรังสินี หวังมั่น ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่า ในการเข้าร่วมประกวดราคาชุดตรวจโควิด ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด นั้น บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือของ บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้ดำเนินการงาน รวมถึงออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วย ส่วน บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบภารกิจงานด้านวิชาการความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือเท่านั้น ดังนั้น แม้ว่าบริษัท ออสท์แลนด์ จะประสบปัญหาการขาดทุน ก็ไม่ได้กระทบถึงภารกิจการนำสินค้าชนิดเข้ามาในประเทศไทยร่วมถึงการกระจายสินค้าด้วย เพราะการดำเนินการทั้งหมด อยู่ในความรับผิดชอบของ บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นหลัก
สี่.
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ได้นำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทฯ ใหม่ หลังการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 พบว่า มีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ใหม่ เป็น น.ส.พิสินี เกสรสุคนธ์ จากผู้ถือหุ้นใหญ่คนเดิม คือ นายอิสรัมภ์ ศรียิ่งยงค์ ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 เมษายน
ส่วนบริษัท แบล็กฟ็อกซ์ แคปปิตรอล สัญชาติรัสเซีย จำนวน 12,000 หุ้น บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล เอ.จี สัญชาติรัสเซีย 12,500 หุ้น เท่าเดิม
โดยการแจ้งเปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้นใหญ่คนใหม่ของ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2564 ดังกล่าว เกิดขึ้นก่อนหน้าที่ อภ. กำหนดให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมการประกวดราคาขายชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด เข้ายื่นซองและเปิดซองพิจารณาผล ในวันที่ 10 ส.ค.2564 หรือ ประมาณ 4 วัน
ขณะที่ น.ส.พิสินี เกสรสุคนธ์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ตนเองเป็นนักจิตวิทยา ทำงานในโรงพยาบาล ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัด เข้าไปมีส่วนเกี่ยวกับบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ในฐานะของผู้ลงทุนเท่านั้น
(อ่านประกอบ : เป็นนักจิตวิทยาทำงานในรพ.! เปิดตัวหุ้นใหญ่ บ.ออสท์แลนด์ เข้านำชุดตรวจ ATK ขาย อภ.595 ล.)
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา กระบวนการจัดหาชุดตรวจโควิดแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด ของ อภ. ยังไม่เคยถูกหน่วยงานตรวจสอบชี้มูลว่ามีความผิดฝ่าฝืนระเบียบกฎหมายแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่รัฐ และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกราย ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ในขณะนี้
อ่านข่าวประกอบ :
เป็นนักจิตวิทยาทำงานในรพ.! เปิดตัวหุ้นใหญ่ บ.ออสท์แลนด์ เข้านำชุดตรวจ ATK ขาย อภ.595 ล.
ร้อง 'องค์การเภสัชฯ' จัดซื้อชุดตรวจโควิด 8.5 ล้านSET กระชั้นชิด (1)
หลังฉาก! อภ.ซื้อชุดตรวจโควิด 595 ล้าน บ.ชนะยื่นซอง 65 บ.-FDA สั่งระงับสินค้าผู้ผลิตจีน? (2)
แจ้งงบการเงินขาดทุน 3 ปีติด! ส่อง Google Maps ดูที่ตั้ง บ.ผู้ชนะขายชุดตรวจโควิด 595 ล. (3)
ปลัด สธ.สั่งชะลอทำสัญญา-สอบคุณภาพชุด ATK อภ.แจงสหรัฐฯระงับใช้ เหตุสินค้าถูกลักลอบนำเข้า (4)
ข้อมูลใหม่! อิศรา คุ้ยเจอ อย.ฟิลิปปินส์ เรียกคืนชุดตรวจโควิดยี่ห้อเดียว อภ.จัดซื้อ (5)
อย.แจงชุดตรวจ ATK บริษัท Lepu ได้มาตรฐาน - อภ.ยันประมูลโปร่งใส ไม่มีการล็อกสเปก (6)
ได้มาตรฐาน-ไม่ล็อกสเปก! เปิดคำชี้แจง 3 หน่วยงาน แผนจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้น (7)
ก่อนเปิดซองชุดตรวจโควิด 1 วัน! วปอ.รุ่น 61 นำสินค้า บ.ออสท์แลนด์ บริจาค 'อนุทิน -สธ.' (8)
เบื้องลึก! เส้นทางชุดตรวจโควิด 595 ล. สปสช. งัดข้อ อภ.-สธ. สุดท้าย 'ปชช.' รับเคราะห์ (9)
พบ 'นักธุรกิจสาว' โผล่ชื่อถือหุ้นใหญ่ บ.ออสท์แลนด์ ก่อนยื่นซองขายชุดตรวจ ATK 4 วัน (10)
เป็นนักจิตวิทยาทำงานในรพ.! เปิดตัวหุ้นใหญ่ บ.ออสท์แลนด์ เข้านำชุดตรวจ ATK ขาย อภ.595 ล. (11)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage