"นักระบาดวิทยาชาวอังกฤษได้ประเมินเอาไว้ว่า ทางที่แย่สุดของสหรัฐ จะมีคนเสียชีวิต 2.2 ล้านคน ดีสุด เสียชีวิต 1.1 ล้านคน ถือเป็นหายนะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยอาจสำเร็จ คือการที่สหรัฐมีนวัตกรรม ยารักษา วัคซีน แต่ปัจจัยที่นำไปสู่ความล้มเหลว คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ระบบการแพทย์สหรัฐยังไม่ใช่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนจนเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขสหรัฐ เมื่อคนจนติดไม่ได้รับการรักษา ไม่ได้รับการกักตัว ก็ไปแพร่เชื้อ ยิ่งทำให้ผลกระทบลามอย่างรวดเร็ว"
วันที่ 27 มีนาคม Institute of Public Policy and Development - IPPD จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อไวรัสเปลี่ยนโลก ตอนหนึ่ง ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงไวรัสเปลี่ยนโลก ภาพระยะยาวการเปลี่ยนแปลงระบบโลก และระเบียบโลก
ดร.อาร์ม กล่าวถึงการระบาดในช่วงแรก ผู้คนยังมีความเข้าใจผิด มองว่า เป็นเรื่องระยะสั้น ช่วงเกิดระบาดที่จีน เทียบกับไข้หวัดใหญ่ปี 2009 และโรคซาร์ส 2013 ซึ่งความจริงแล้วต้องเปรียบกับไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อ 100 ปีที่แล้ว (ค.ศ. 1918) ใช้เวลา 1 ปี 8 เดือนกว่าจะสิ้นสุด
"แต่เดิม การระบาดในช่วงเริ่มแรกหลายคนคิดว่า เป็นปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาของจีน จำกัดที่จีน และหลายคนมองว่า ใช้ระยะเวลาไม่นานจะฟื้น แต่วันนี้เห็นชัดเจน เป็นการระบาดระดับโลกไปแล้ว นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ประธานาธิบดีเยอรมนี คาดกันว่า ใช้เวลา 1-2 ปี ฉะนั้นหลายคนมองด้วยซ้ำว่า โควิดอาจระบาดได้หลายระลอก อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่นวัคซีน ยารักษา และมาตรการความร่วมมือต่าๆ "
ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษาฯ กล่าวอีกว่า โควิด -19 เป็นเรื่องระดับโลก ไม่ใช่แค่จีน วันนี้ สหรัฐฯ พบมีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก
แนะทบทวนห่วงโซ่อุปทานโลก
สำหรับการทวนกระแสโลกาภิวัฒน์ ดร.อาร์ม กล่าวว่า เราต้องคิดถึง ห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) เสียใหม่ หลังจากเกิดระบาดที่จีน ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญในการผลิต ส่งชิ้นส่วนต่างๆ พอเกิดระบาดทั่วโลก Global Supply Chain ยิ่งใหญ่มหาศาลมาก ทำให้ธุรกิจต่อไปคิดถึงการลดความเสี่ยงเรื่องเหล่านี้ กระจายความเสี่ยง พยายามเชื่อมโยงภายในประเทศ ให้มีหลายๆ ซับพลายเชน เพื่อกระจายความเสี่ยงออกจากกัน
"เราเห็นการปลุกกระแสชาตินิยมขึ้นมาในประเทศต่างๆ การที่แต่ละประเทศเริ่มปิดพรมแดน ประธานาธิบดีสหรัฐเรียกโควิด ว่าไชน่าไวรัส ขณะที่จีนก็ชี้ว่า เชื้อนี้เริ่มต้นที่สหรัฐฯ มีการทำให้เรื่องไวรัสเป็นประเด็นทางการเมือง ประเด็นชาตินิยม"
ส่วนระเบียบโลก ความร่วมมือระดับโลก ดร.อาร์ม วิเคราะห์ว่า ดูเหมือนไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป้นองค์การอนามัยโลก ก็ไม่ได้มีบทบาทนำอย่างที่ควรจะมี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ที่ออกมาใช้มาตรการเข้มงวด ทางเลือกที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ
คนจนสหรัฐ เข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข
ทั้งนี้ ดร.อาร์ม ยังมองว่า โควิด-19 จะเปลี่ยนโลก ไม่ได้เปลี่ยนโลก เพราะเกิดระบาดที่จีน เหมือนแต่เดิมที่คิดกัน แต่เพราะโควิด-19 มีผลต่อโลก เพราะการระบาดในตะวันตก (Western World) โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ต้องเกาะติดว่า จะจัดการได้แค่ไหน จะประสบความสำเร็จ หรือสามารถรับมือการระบาดโรคนี้ จะมีนัยยะมหาศาลต่อระเบียบ ระบบของโลกในอนาคต
"นักระบาดวิทยาชาวอังกฤษได้ประเมินเอาไว้ว่า ทางที่แย่สุดของสหรัฐ จะมีคนเสียชีวิตประมาณ 2.2 ล้านคน ทางที่ดีสุด เสียชีวิต 1.1 ล้านคน ถือเป็นหายนะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยอาจสำเร็จ คือการที่สหรัฐมีนวัตกรรม ยารักษา วัคซีน แต่ปัจจัยที่นำไปสู่ความล้มเหลว คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ระบบการแพทย์สหรัฐยังไม่ใช่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนจนเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขสหรัฐ เมื่อคนจนติดไม่ได้รับการรักษา ไม่ได้รับการกักตัว ก็ไปแพร่เชื้อ ยิ่งทำให้ผลกระทบลามอย่างรวดเร็ว"
ดร.อาร์ม วิเคราะห์ต่อถึงการที่สหรัฐกระจายอำนาจไปให้แต่ละมลรัฐ บริหารจัดการของตัวเอง แนวทางการรับมือต่อสถานการณ์โรคระบาดอาจแตกต่างกัน อีกทั้งคนก็มีความเป็นตัวของตัวเองสูง หากเปรียบเทียบกับจีน รับมือได้เพราะเป็นระบบที่รวมศูนย์ คนมีความสามัคคี รวมพลัง ฉะนั้น ปัจจัยเหล่านี้สามารถออกได้ทั้งหัวหรือก้อย ต้องรอดูต่อไป
ไอเดียการแจกเงินเดือนให้กับประชาชน
วิกฤตโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นที่สหรัฐฯ ดร.อาร์ม กล่าวว่า สหรัฐเป็นผู้นำความคิด อุดมการณ์ของโลกยุคใหม่ นำไปสู่นักคิด นักวิชาการในสหรัฐ ออกมานำเสนอมีความจำเป็นที่จะต้องคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ รับมือกับสถานการณ์ความรุนแรงของไวรัส เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ เพราะว่า จะเป็นตัวทำให้การระบาดหนักขึ้น เมื่อคนจนเข้าไม่ถึงระบบสธารณสุข รวมถึงไอเดียการแจกเงินเดือนให้กับประชาชน ก่อนหน้านี้ไม่คิดถึงเรื่องนี้ และระบบ universal health care กระแสโต้กลับเป็นฝ่ายซ้ายในสหรัฐจะรุนแรงขึ้นที่เกิดจากโควิด -19
"ภาพที่เราเห็นการผงาดขึ้นมาของจีน ภาพของสหรัฐที่ตกต่ำลงจากที่เคยเป็นผู้นำเดี่ยวต่างๆ ของระบบโลก เราเริ่มเห็นกระแสความชื่นชม จีน โมเดลของจีน ทั้งการปกครอง เศรษฐกิจ การรับมือการระบาด ประสบความสำเร็จในการรับมือการระบาด ภาพของจีนจึงเป็นด้านบวก โลกเห็น 2 โมเดลที่แตกต่างกัน"
การระบาดโควิด-19 ทำให้โลกเห็นว่า แต่เดิมที่คิดว่า มีโมเดลเดียวทั้งโลก เราได้เห็นความหลากหลายของโมเดลต่างๆ เราเห็นแต่ละประเทสใช้วิธีการรับมือการระบาดโควิดที่แตกต่างกัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ไม่ได้ทำแบบจีน ประสบความสำเร็จด้วยการตรวจหาเชื้อให้มากที่สุด ตรวจให้มากที่สุด แจ้งข้อมูลที่โปร่งใส ส่วนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมใส่หน้ากากอนามัย เป็นต้น"
โควิดระบาดยาว ไม่จบเร็ว
ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษาฯ กล่าวว่า ปัจจุบันที่จีนเองก็ยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แม้ห้างร้านจะเริ่มเปิดให้บริการแต่การเว้นระยะห่างทางสังคม การทุกคนออกไปนอกบ้านต้องใส่หน้ากาก รายงานสุขภาพผ่านแอพลิเคชั่น ก็ยังมีอยู่ การที่ไทยจะเอาแบบจีน เจ็บแต่จบเร็ว "ผมคิดว่า เราต้องรับมือโรคระบาดนี้ไปอีกยาว ไม่ใช่เรื่องที่จะจบเร็วแล้ว"
เศรษฐกิจจีนจะแย่หรือเติบโตอย่างไรต่อไปนั้น ดร.อาร์ม วิเคราะห์ต่อว่า โดยทั่วไปค่อนข้างแย่ ติดลบ แต่เศรษฐกิจจะแย่อาจน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมารัฐบาลจีนพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เศรษฐกิจผู้บริโภค โควิ-19 ยิ่งตอกย้ำเทรนด์นี้ ดังนั้น จีนจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง 1.4 พันล้านคน ตลาดขนาดใหญ่ ค้าขายกันเองก็อยู่ได้ แม้เศรษฐกิจจีนจะไม่โตเหมือนสมัยก่อน
ช่วงท้ายดร.อาร์ม วิเคราะห์สรุป สำหรับประเทศไทยมี 3 คำถามที่ควรเริ่มถามแล้ว ต้องช่วยกันคิด 3 เรื่อง
1.ระยะยาว 1-2 ปี ประเทศไทยจะรับมืออย่างไร
2. เราต้องกล้า ใจใหญ่ในการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ แม้แต่กระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐ ก็ไม่เคยมีมาก่อน ฉะนั้นเราต้องคิดนอกกรอบ เลิกคิดเรื่องการท่องเที่ยว จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ไม่สามารถนำเศรษฐกิจได้ หากตัวอื่น
3.คิดถึงการปรับตัวภูมิรัฐศาสตร์โลกระยะยาว ที่เกิดจากโควิด -19
"ทั้ง 3 คำถาม คือ การสื่อสารให้ประชาชนเกิดพลังร่วมในสังคม ให้เห็นทิศทางเป็นไปอย่างไร ทางแก้ ความจำเป็นอย่างไรที่เราจะคิดใหม่เกี่ยวกับระบบ ระเบียบเศรษฐกิจ"