"...กสท ได้คลื่น 700 MHz มา 2 ใบอนุญาต 10 MHz และเดิมเขาที่มีคลื่น 850 MHz จำนวน 20 MHz เมื่อรวมกับเรา (ทีโอที) ที่มีคลื่นย่านความถี่กลาง คือ 2100 MHz ที่ให้บริการ 3G 4G คลื่น 2300 MHz ที่ให้บริการ 4G และคลื่นย่านความถี่สูง 26 GHz ที่ให้บริการ 5G ทำให้เรามีถนนค่อนข้างดี และทำให้เราให้บริการได้ทุกพื้นที่..."
เพียง 1 สัปดาห์ หลังการประมูลคลื่น 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz เพื่อให้บริการ 5G เสร็จสิ้นลง ค่ายมือถือเอกชน ไม่ว่าจะเป็นค่ายเอไอเอส (AIS) หรือค่ายทรูมูฟ (TRUE) ต่างก็ออกมาประกาศชิง ‘ธงนำ’ ในการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์ 5G รายแรกของประเทศไทย
แต่สำหรับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ทีโอที แล้ว คลื่น 26 GHz ที่ประมูลได้ไปนั้น จะทำให้ ‘ทีโอที’ ก้าวไปสู่การเป็นผู้ให้บริการ 5G ซึ่งต่อยอดการให้บริการ 3G 4G และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง อินเทอร์เน็ตไร้สายที่มีอยู่แล้ว
“เราได้คลื่น 26 GHz มา 4 ใบ 400 MHz โดยเราจะนำคลื่นที่ได้ไปให้บริการอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยเน้นพื้นที่ EEC (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) เป็นหลักก่อน” รังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย ทีโอที ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
รังสรรค์ อธิบายว่า ทีโอที จะนำคลื่น 26 GHz ไปพัฒนาเพื่อให้บริการ 5G กับลูกค้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 5,000 โรงงาน และลูกค้าองค์กรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สมาร์ท ซิตี้ (เมืองอัจฉริยะ) ทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงลูกค้าองค์กรที่อยู่ในเมืองที่ต้องการบริการ 5G ในการพัฒนาธุรกิจ
ในระยะแรกทีโอทีตั้งเป้าหมายว่าจะมีลูกค้าโรงงานในพื้นที่ EEC ซึ่งต้องการยกระดับการผลิตไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ต่ำกว่า 30% จากโรงงานทั้งหมด 5,000 แห่ง พร้อมๆกับการขยายฐานลูกค้าไปลูกค้ากลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะท่าเรือ สนามบิน และโรงพยาบาล รวมถึงบรรดากลุ่มผู้ประกอบการ SME
“เมื่อเป็นการให้บริการแบบธุรกิจต่อธุรกิจ ลูกค้าเราคงไม่มาก แต่รายได้ที่เราได้จะค่อยๆเพิ่มขึ้นจากหลัก 100 ล้าน เป็นหลัก 1,000 ล้านบาทไม่ยาก โดยทีโอทีจะให้บริการแบบครบวงจร และมุ่งเน้นไปในสิ่งที่จะตอบโจทย์ให้กับลูกค้าองค์กรเหล่านี้ โดยเริ่มจากลูกค้าองค์กรในพื้นที่ EEC ก่อน” รังสรรค์กล่าว
รังสรรค์ จันทร์นฤกุล
รังสรรค์ ยังระบุว่า การเปิดให้บริการ 5G ของทีโอที จะทำให้ทีโอทีสามารถรักษาและขยายฐานลูกค้าอินเตอร์เน็ตไร้สาย (wireless broadband) หรือลูกค้าอินเตอร์เน็ตบ้านและลูกค้าองค์กรได้เพิ่มขึ้น เพราะคลื่น 26 GHz ที่ได้มานั้น จะทำให้ความเร็วของอินเตอร์เน็ตของทีโอทีเพิ่มเป็น 5-6 GB/s ซึ่งเป็นความเร็วไม่แพ้มือถือ 5G เลย ซึ่งจะตอบโจทย์ลูกค้าได้
“ถ้าเรามี 5G ลูกค้าจะไม่หนีไปไหน โดยเราจะนำ 5G ไปให้บริการลูกค้าบ้านด้วย เอา 5G เสริมเข้าไป เช่น ถ้าเขาจะเคลื่อนย้ายไปที่อื่น เราก็จะมีโมบายอินเตอร์เน็ตให้เขาด้วย และการที่นำคลื่น 26 GHz จำนวน 400 MHz มาให้บริการ 5G เสริมกับคลื่น 2300 MHz ที่มีอยู่แล้ว จะทำให้สปีดอินเตอร์เน็ตสูงมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโดยทั่วไป” รังสรรค์ย้ำ
ส่วนการขยายฐานลูกค้าโทรศัพท์มือถือรายย่อยที่ปัจจุบันมีอยู่หลักแสนรายนั้น รังสรรค์ บอกว่า คงเน้นไม่มาก เพราะต้องยอมรับว่าการที่ทีโอทีเข้ามาให้บริการทีหลัง อีกทั้งมีข้อจำกัดในการลงทุนในระยะแรก ทำให้พื้นที่บริการมีจำกัด จึงทำการตลาดได้ไม่มาก ในขณะที่เจ้าเดิมเขามีลูกค้า 10-20 ล้านรายแล้ว การที่รายใหม่จะเข้าไปแทรก ไม่ใช่เรื่องง่าย
“เราเข้ามาในช่วงที่เขามีลูกค้ากัน 20-30 ล้านรายแล้ว การเข้าไปแทรกจึงไม่ง่าย แต่เราจะพยายามสร้างลูกค้ารายบุคคลให้ได้ 5% ของตลาด วันนี้เราจะต้องรีบพัฒนาตัวเรา เราต้องทำให้ลูกค้า 3 ล้านรายที่ใช้บริการเราอยู่ รู้สึกว่าทีโอทีไม่ตกขบวน และเดิมเขาคิดว่าทีโอทีไม่มีมือถือ แต่ครั้งนี้เรามีทั้ง 3G 4G และ 5G แล้ว”
รังสรรค์ ย้ำว่า “การที่ทีโอทีเป็นรัฐวิสากิจ ดังนั้น เราคงไม่เข้าไปแข่งในตลาด Mass กับเอกชน แต่เราต้องเลือกแข่งบนถนนที่คิดว่าเราสู้ได้”
ส่วนในแง่เงินลงทุนนั้น รังสรรค์ บอกว่า “เราเตรียมเงินลงทุนไว้หลายพันล้าน แต่จะลงทุนที่ละขั้น เริ่มจากลงทุนใน EEC กับสมาร์ทซิตี้ทั่วประเทศเป็นหลักก่อน ถ้าลูกค้าต้องการเร็ว ต้องการมาก เราก็ขยายการลงทุนได้ทันที เพราะการที่เราได้ใบอนุญาตมาที่ราคา 1,795 ล้านบาท ทำให้เราก็เหลือเงินลงทุนอีกมาก เพราะเดิมทีเราคิดว่าจะแพงกว่านี้”
รังสรรค์ ยังบอกด้วยว่า คลื่น 26 GHz ที่ทีโอทีประมูลได้นั้น ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ของภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์ทางธุรกิจให้กับทีโอที ที่ต้องการเป็นโอเปอร์เรเตอร์รายที่ 4 ของประเทศ โดยเฉพาะหลังจากที่ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ควบรวมกันแล้วเสร็จภายในปีนี้
“โชคดีที่ กสท. ได้คลื่น 700 MHz มา 2 ใบอนุญาต 10 MHz และเดิมเขาที่มีคลื่น 850 MHz จำนวน 20 MHz เมื่อรวมกับเรา (ทีโอที) ที่มีคลื่นย่านความถี่กลาง คือ 2100 MHz ที่ให้บริการ 3G 4G คลื่น 2300 MHz ที่ให้บริการ 4G และคลื่นย่านความถี่สูง 26 GHz ที่ให้บริการ 5G ทำให้เรามีถนนค่อนข้างดี และทำให้เราให้บริการได้ทุกพื้นที่
แน่นอนว่าหลังจากทีโอทีควบรวมกับ CAT แล้ว เราจะเป็นโอเปอเรเตอร์รายที่ 4 ซึ่งในแง่ของกลไกตลาด การมีโอเปอเรเตอร์ที่ 4 และรายที่ 5 นั้น การมีมาเก็ตแชร์เพียง 10% ของตลาดรวม ก็เพียงพอที่จะทำให้อยู่ได้ในตลาดแล้ว ไม่ต้องมีเยอะมาก แต่เราจะค่อยๆแข่งกับเอกชน โดยทำในสิ่งที่แตกต่างและเราทำได้ดีกว่า” รังสรรค์ระบุ
รังสรรค์ ทิ้งท้ายว่า “การเป็นผู้ให้บริการรายที่ 4 เราจะพัฒนาเรื่องบริการ ซึ่งไม่ใช่โมบายปกติ แต่เป็นการพัฒนาที่ต่อยอด เช่น อินเตอร์เน็ตบ้าน ต้องไม่ใช่แค่ขายอินเตอร์เน็ต แต่ต้องขายโซลูชั่น เช่น สมาร์ทโฮม โฮมซีเคียวริตี้ และแชร์การใช้งานร่วมกันได้ นี่คือสิ่งที่ทีโอที และ CAT จะต้องช่วยกันพัฒนาบริการ โดยที่ 4G กับ 5G ต้องไปด้วยกัน”
อ่านประกอบ :
'2 โอเปอเรเตอร์' เงินจ่ายค่าประมูล 5G แล้ว 'เอไอเอส' รับไลเซ่นส์เจ้าแรก
บอร์ดกสทช.รับรองผลประมูล 5G ‘ทรูมูฟ’ เยียวยาลูกค้าให้โทรฟรี 100 นาที-ใช้ข้อมูล 500 MB
รัฐโกยเงินประมูล 5G กว่า 1 แสนล้าน คลื่น 700 MHz แข่งดุราคาพุ่ง 95%
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/