"...รัฐบาลอย่าคิดว่าตัวเลขคนว่างงานจากสำนักงานสถิติฯแค่ 3-4 แสนคน ไม่ใช่อะไรที่มากมาย แค่ 1% ของแรงงานทั้งหมดเอง แต่อย่าลืมว่าคน 1% ต้องเลี้ยงคนอีก 2-3 คน นั่นหมายความว่า เรากำลังพูดถึงคน 1 ล้านคน ที่ต้องใช้เงินก้อนนี้อยู่ ถ้าไม่มีรายได้ คนข้างหลังจะเอาเงินที่ไหน..."
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ยังไม่มีทีท่าจะว่ายุติลงโดยง่าย ล่าสุด (10 ก.พ.) จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งไปอยู่ที่ 40,314 คน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 904 คน
และหากนับตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.2563 ซึ่งเป็นวันที่ทางการจีนสั่งห้ามทัวร์จีนออกนอกประเทศ และห้ามไม่ให้ขายแพกเกจท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยว F.I.T. (Free Individual Traveler) ชาวจีน ส่งผลให้การท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักมาเป็นเวลาครึ่งเดือนแล้ว โดยเฉพาะผลกระทบจากการหายไปของนักท่องเที่ยวจีน
"มีการประเมินไวรัสโคโรน่าจะเข้าสู่ end curve หรือสุดทางการระบาดภายใน 6 เดือน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงสุดในช่วง 2 เดือนแรก แล้วจะค่อยๆลดลงจนการระบาดหยุดลง” ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
ยงยุทธ อธิบายว่า การประเมินว่าการระบาดของไวรัสโคโรน่าจะหยุดลงภายใน 6 เดือนนั้น มาจากประสบการณ์การระบาดของโรคซาร์สและโรคอื่นๆที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น ผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 6 เดือน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับจีนด้วยว่า จะยกเลิกคำสั่งห้ามนักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศเมื่อใด
“นักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยแต่ละเดือน 8-9 แสนคน หรือคิดเป็น 27% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ถ้าหยุดไป 6 เดือน ก็คิดเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป 4-5 ล้านคน หรือคิดเป็นรายได้ที่หายไปเกือบ 2 แสนล้านบาท แต่จะสูงถึงขนาดนั้นหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับจีนว่าจะปล่อยนักท่องเที่ยวจีนออกมาเมื่อไหร่” ยงยุทธกล่าว
อย่างไรก็ตาม การระบาดของไวรัส ไม่ได้หมายความว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่มีเลย โดยแต่ละเดือนไทยมีนักท่องเที่ยว 3 ล้านคน หากนักท่องเที่ยวจีนหายไป 20-30% ก็ยังมีนักท่องเที่ยวชาติอื่น 70-75% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ลาว และเกาหลีใต้ รวมถึงตลาดใหม่อย่างอินเดียที่เติบโต 40% แม้ว่าตอนนี้อาจชะลอลงบ้าง
“ต้องขึ้นอยู่กับไทยเราว่า เราจะสามารถทำให้ประเทศเรา look good หรือดูดี โดยภาครัฐจะต้อมีมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสขยายตัวในหมู่คนไทยด้วยกัน เพราะคนไทยอยู่ใกล้เขาที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจที่เขาต้องสัมผัส เรื่องที่พักแรม และเรื่องอาหาร” ยงยุทธ ระบุ
เมื่อถามถึงผลกระทบที่มีต่อลูกจ้างที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยงยุทธ ระบุว่า ในภาพรวมกิจการโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร และร้านอาหาร รวมถึงกิจกรรมด้านศิลปะบันเทิงทั้งหลาย มีลูกจ้างเกี่ยวข้อง 3 ล้านคน เมื่อรวมกับลูกจ้างในกิจการการค้า ค้าส่ง-ค้าปลีกด้านการท่องเที่ยวอีก 1 ล้านคน รวมแล้วคิดเป็นลูกจ้างในข่ายที่ได้รับผลกระทบ 4 ล้านคน
“แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆอยู่ แต่เมื่อนักท่องเที่ยวจีนหายไป 30% ผลกระทบมีแน่ โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนแรกจะหนักหน่อย และกลุ่มแรงงานที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายวัน ซึ่งมีประมาณ 10% ของแรงงานในภาคการท่องเที่ยว หรือคิดเป็น 4 แสนคน ที่นายจ้างจะปล่อยไป ไม่จ้าง ทำให้เขาไม่มีรายได้” ยงยุทธกล่าว
ยงยุทธ ยังประเมินว่า เมื่อรวมลูกจ้างรายวันในภาคท่องเที่ยวที่จะไม่มีงานทำ กับแรงงานในภาคการผลิตที่ต้องตกงาน เพราะผลกระทบของสงครามการค้า รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ไทยจะมีแรงงานที่ตกงานอีกหลายแสนคน เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่าจำนวนผู้ว่างงานในเดือนพ.ย.อยู่ที่ 4.3 แสนคน
“จากโมเดลของเรา (ทีดีอาร์ไอ) เราประเมินว่าผู้ว่างงานเฉลี่ยทั้งปี 2563 จะอยู่ที่ 5 แสนคน จากปกติที่อยู่ที่เฉลี่ย 4 แสนคน โดยแรงงานที่ตกงานมากขึ้นจะมาจากภาคการท่องเที่ยว โดยแรงงานที่ตกงานจะทยอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1/2563 และคาดว่าในช่วงไตรมาส 2/2563 จะเป็นช่วงที่จำนวนผู้ว่างงานพีคสุด คือ ไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน” ยงยุทธระบุ
ยงยุทธ ย้ำว่า “ไวรัสโคโนน่าทำให้ปีนี้เป็นปีเผาจริง และสาหัสสากรรจ์กว่าเดิม เพราะมีปัญหาเกิดขึ้นกับธุรกิจในหลายสาขา การส่งออกไม่ฟื้น ทุกอย่างหนักเลย แต่เราก็มีหวัง คือ แต่ละปีคนไทยท่องเที่ยว 131-132 ล้านคน/ครั้ง ซึ่งคิดเป็นรายได้ 1 ล้านล้านบาท คนไทยต้องหันมาเที่ยวไทยมากขึ้น คนไทยต้องช่วยไทยด้วยกัน”
ยงยุทธ ยังเป็นห่วงว่า แรงงานและลูกจ้างมีแนวโน้มจะตกงานนานขึ้น และไม่เฉพาะลูกจ้างรายวันในภาคท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลูกจ้างที่ตกงานในภาคการผลิตด้วย เพราะเดิมลูกจ้างกลุ่มนี้จะไปหางานทำในภาคบริการ แม้กระทั่งไปทำอาชีพอิสระในภาคบริการ เช่น พนักงานนวด
แต่เมื่อภาคบริการได้รับผลกระทบจากไวรัส และนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป ลูกจ้างเหล่านี้ก็ไม่รู้ว่าจะไปทำงานอะไร ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องมีมาตรการดูแลลูกจ้างเหล่านี้ ทั้งกลุ่มลูกจ้างรายวันในภาคท่องเที่ยวที่ต้องตกงาน และลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างจากภาคการผลิต
“รัฐบาลต้องใช้มาตรการการคลัง เพื่อให้ลูกจ้างเหล่านี้มีรายได้ อย่าเงื้อง่าราคาแพง รีบสร้างงาน ต้องหางานให้คนที่ตกงานทำ เช่น การจ้างทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน หรือจ้างลูกจ้างให้มาฝึกทักษะแรงงานเพิ่ม เป็นต้น เพราะเอกชนยังไม่ฟื้น แถมยังมาเจอเรื่องไวรัสอีก ก็เลยทำให้ทุกอย่างดูแล้วไม่ค่อยสดใสเลย” ยงยุทธกล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีมาตรการดูแลนักศึกษาจบใหม่ที่จะทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ โดยแต่ละปีมีแรงงานจบใหม่ 3 แสนคน และจากสถิติแต่ละปีพบว่าตลาดแรงงานจะดูดซับแรงงานเข้าสู่ระบบได้ 1.5-2 แสนคน จึงมีแรงงานจบใหม่ตกงาน 1-1.5 แสนคนทุกปี แต่ปีนี้คาดว่าน่าจะมีแรงงานใหม่ตกงานกรอบบน คือ 1.5 แสนคน
“ตรงนี้ก็น่าห่วง เพราะไม่มีตลาดแรงงานเพิ่ม คนเก่าเขาก็ชะลอ คนใหม่จะไม่รับ รัฐบาลอย่าปล่อยไว้นาน จะต้องเข้าไปเติมทักษะให้เขา อีกส่วนหนึ่ง คือ มนุษย์เงินเดือนที่ไม่มีที่ดิน และไม่รู้จึงพึ่งใคร แล้วไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ สุดท้ายก็เครียดหนักกว่าเดิมอีก เพราะไม่มีเงินส่งดอกเบี้ย” ยงยุทธกล่าว
ยงยุทธ ระบุด้วยว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงในปีนี้ จะเข้ามาซ้ำเติมให้มีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น เมื่อไม่มีน้ำ การปลูกพืชต่างๆจะทำไม่ได้ เกษตรกรก็ไม่มีงานทำ ครั้นว่าจะเข้ามาหางานทำก็ไม่ง่าย เพราะถ้าจะมาเป็นแรงงานในภาคก่อสร้าง ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ชะลอตัว เพราะมีสต็อกเหลืออยู่มาก
“อย่างที่บอกเศรษฐกิจปีนี้ เป็นการเผาจริง และมีผลชัดเจนมาก แต่มีอีกเรื่องที่อยากพูด คือ งบประมาณไม่มาซักที ตรงนี้ทำให้งบลงทุนไม่เดินเลย แล้วจะจ้างคนได้อย่างไร เงินหลายแสนล้านไม่ออก ทำให้มีปัญหาเติมเข้ามาอีก เราเสียเวลาไปถึง 2 ไตรมาสหรือ 6 เดือน (ต.ค.62-มี.ค.63)” ยงยุทธกล่าว
ยงยุทธ แนะว่า ลูกจ้างที่หางานทำไม่ได้ควรกลับภูมิลำเนา กลับไปทำอาชีพของตัวเอง และหากมีที่ดินก็ถือว่าโชคดี แต่ก็ต้องทำใจให้ได้ ไม่เช่นนั้นหากกลายเป็นโรคซึมเศร้าจะเกิดปัญหาตามมามาก อย่างไรก็ตาม บางครัวเรือนจะมีปัญหาความเครียดมาก เพราะมีภาระค่าใช้จ่ายทุกวัน แต่รายได้ไม่เข้า งานทำชั่วคราวไม่มี ภาครัฐต้องเข้าไปดูแลเขาด้วย
“ทางออก คือ ต้องกลับไปทำงานของตัวเอง ทำกินแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 ปลูกอะไรเล็กๆน้อยๆ ที่กินได้เร็วๆ ไม่ต้องใช้น้ำมาก ใช้เงินไม่มาก ใช้ที่ดินไม่มาก บางชุมชนตั้งธนาคารข้าวให้คนยืม ขอให้พยุงตัวเองไปก่อน ให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปก่อน” ยงยุทธกล่าว
ยงยุทธ กล่าวว่า “รัฐบาลอย่าคิดว่าตัวเลขคนว่างงานจากสำนักงานสถิติฯแค่ 3-4 แสนคน ไม่ใช่อะไรที่มากมาย แค่ 1% ของแรงงานทั้งหมดเอง แต่อย่าลืมว่าคน 1% ต้องเลี้ยงคนอีก 2-3 คน นั่นหมายความว่า เรากำลังพูดถึงคน 1 ล้านคน ที่ต้องใช้เงินก้อนนี้อยู่ ถ้าไม่มีรายได้ คนข้างหลังจะเอาเงินที่ไหน”
“คงต้องติดตามว่ารัฐบาลจะมีแนวนโยบายอะไรที่จะผันเงิน เร่งเอาเงินมา เพราะการระบาดของไวรัสโคโรน่ารอบนี้ จุดไฟเผาเศรษฐกิจให้เร็วขึ้น” ยงยุทธกล่าวทิ้งท้าย
อ่านประกอบ :
‘วิรไท’ ยันพร้อมลดดอกเบี้ยประคองศก. แนะรัฐบาลทำ ‘งบกลางปี’ สู้ ‘ไวรัส’
แพ็กเกจอุ้มศก.ยื้อไม่ไหว ‘รัฐ-เอกชน’ พาเหรดหั่นจีดีพี
‘ไวรัสอู่ฮั่น’ สะเทือนขวัญแรงงาน ‘ไกด์ทัวร์’ เตะฝุ่น 1 หมื่น-ลูกจ้างรายวัน 4 แสนคน สูญรายได้
'คลัง' แจง 'ไวรัสอู่ฮั่น' คลี่คลายใน 4 เดือน ย้ำ 'ส่งออกฟื้น-หนี้ครัวเรือนไม่น่าห่วง'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/