ครม.ไฟเขียวลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร มีผลถึง 30 เม.ย.2564 ขณะเดียวกันที่ประชุมยังเห็นชอบขยายเวลา-ปรับปรุงคุณสมบัติให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเข้าถึงสินเชื่อซอฟท์โลน โดยเพิ่มวงเงินเข้าถึงจากเดิมรายละไม่เกิน 20 ล้านบาทเป็นไม่เกินรายละ 100 ล้านบาท
---------------------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการลดอัตราภาษีสรรสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นจาก 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร โดยให้มีผลตั้งแต่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ ถึง 30 เม.ย.2564 เพื่อช่วยเหลือ เพื่อช่วยเหลือลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการสายการบิน โดยคาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณ 700 ล้านบาท
ขณะที่ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอขอทบทวนมติ ครม.ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการให้ครอบคลุมถึงภาคธุรกิจและสาขาที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งปรับปรุงวงเงินสินเชื่อต่อรายของซอฟท์โลนการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องของธนาคารออมสิน จากเดิมให้ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาทเป็นไม่เกินรายละ 100 ล้านบาท และขยายเวลาสิ้นสุดโครงการออกไปถึง 30 มิ.ย.2564
นอกจากนั้น ครม.เห็นชอบปรับปรุงการขยายขอบเขตคุณสมบัติเอสเอ็มอี สำหรับโครงการซอฟท์โลน พลัส (Portfolio Guarantee Scheme – PGS) วงเงิน 57,000 ล้านบาทของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ที่ยังไม่ได้รับสินเชื่อ อาทิ ร้านอาหาร สปา นวดแผนไทย รถรับจ้าง เกสต์เฮาส์ ฯลฯ จากเดิมที่ บสย.ค้ำประกันให้เฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก.ซอฟท์โลน โดย บสย.คิดค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปีระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี เริ่มค้ำประกันต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการแต่ละรายได้รับสินเชื่อ
ขณะเดียวกันยังขยายเวลาโครงการซอฟท์โลน ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 โดยะนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี
ทั้งนี้ ยังขยายเวลาการรับคำขอสินเชื่อเอ็กซ์ตร้า แคช (Extra Cash) ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปีในช่วง 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี โดยได้รับรายงานว่าที่ผ่านมามีการอนุมัติสินเชื่อไปเพียง 521 ล้านบาทจากวงเงินทั้งหมด 10,000 ล้านบาท
นอกจากนั้น น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียน เครื่องจักร เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบกิจการที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด ให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกอบด้วย 3 รายการดังนี้คือ 1.ค่าจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร ปกติอัตราจัดเก็บอยู่ที่เครื่องละ 750 บาท แต่ไม่เกิน 12,000 บาท 2.ค่าเครื่องหมายการจดทะเบียนซึ่งเจ้าพนักงานได้ประทับหรือทำไว้ที่เครื่องจักร อัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอยู่ที่ เครื่องหมายละ 120 บาท แต่ไม่เกิน 1,200 บาท และ 3. ค่าคัดสำเนาเอกสารพร้อมด้วยคำรับรองว่าถูกต้อง อัตราจัดเก็บอยู่ที่หน้าละ 10 บาท ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่าจะสูญเสียรายได้จากมาตรการดังกล่าวประมาณ 2 ล้านบาท
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/