บอร์ดอีอีซี เตรียมเสนอ ศบค.ผ่อนปรน Business Bubble ให้ต่างชาติเข้าลงทุนพื้นที่อีอีซี แต่ยังคุมเข้มมาตรการสาธารณสุขเป็นสำคัญ พร้อมระบุ 5 เดือนแรกปี 63 โควิดระบาดมูลค่าการลงทุนลดลง 10%
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2563 โดยที่ประชุมรับทราบ การจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี พร้อมรับนโยบายนายกรัฐมนตรี ในการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรรูปแบบใหม่ New Normal ด้วยข้อมูลและนวัตกรรม รองรับการปลูกพืชเกษตรที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศและใช้หลักการตลาดนำการผลิต
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ กพอ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการผ่อนปรนการเดินทางระหว่างประเทศแบบ Business Bubble ในพื้นที่อีอีซี หลังจากสถานการณ์โควิดมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีบุคลากรภาคธุรกิจทั้งระดับผู้บริหารและแรงงานชั้นสูงต้องเดินทางเขาในทำงานในพื้นที่ ทั้งนี้จจะต้องมีการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างละเอียด เช่น การตรวจคัดกรองทั้งก่อนเดินทางและเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย , การออกใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมกับการเดินทางอากาศ (Fit to Fly) , การจัดทำประกันด้านสุขภาพ รวมถึงการตั้งสถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ในพื้นที่อีอีซีอีกด้วย โดยมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอรูปแบบมาตรการอย่างละเอียดให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้กลุ่มภาคธุรกิจในพื้นที่อีอีซีจากต่างประเทศ ประกอบด้วย หอการค้าประเทศญี่ปุ่น (JCC) , องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) , ภาคธุรกิจจากสาธารณรัฐเกาหลี และประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ยื่นหนังสือขอให้ผ่อนคลายการเดินทางเข้าไทย เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ รวมถึงการส่งช่างเทคนิคเข้ามาตรวจสอบซ่อมบำรุงเครื่องจักรในอุตสาหกรรม และเพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ต่อเนื่อง
ขณะที่ภาพรวมการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีระหว่าง ม.ค.-พ.ค. พบว่ามีมูลค่าการลงทุน 74,151 ล้านบาทหรือ 67% ของมูลค่าคำรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ ทั้งนี้ลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 82,467 ล้านบาท ส่วนมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) คิดเป็น 53% ของ FDI ทั้งหมด
นอกจากนี้ที่ประชุมรับทราบและแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรให้ทัดเทียมกับภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยให้ความสำคัญกับเกษตร 5 กลุ่ม คือ ผลไม้ , พืชชีวภาพ , ประมง , สมุนไพร และพืชมูลค่าสูง เช่น ไม้ประดับ หรือผักปลอดสารพิษ
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี จะเป็นต้นแบบให้กับการทำเกษตรทั่วประเทศ โดยจะเน้นความสำคัญในการจัดสรรพื้นที่ โดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ ใช้เทคโนโลยีเพื่อวิเคราะห์ ประเมินสภาพภูมิอากาศ น้ำ ดิน จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับพืชเศรษฐกิจในแต่ละประเภท รวมถึงการจัดทำโซนนิ่งภาคการเกษตร ทั้งนี้การเพาะปลูกพืชต้องเน้นความต้องการของตลาดนำการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทยด้วยเทคโนโลยีในทุกขั้นตอน
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage