ประชุมสภาวันที่ 4 ยังเดือด 'ก้าวไกล' อัดซอฟท์โลนไม่ช่วยอุ้มเอสเอ็มอี มีแต่ทุนใหญ่ได้ประโยชน์ ธปท.แจงพร้อมยึดเงินคืน ถ้าพบการกู้กินส่วนต่างดอกเบี้ย 'ประชาธิปัตย์' ห่วงเจอโจรใส่สูทขูดรีดเงินประชาชน 'มิ่งขวัญ' ซัดบริหารล้มเหลวทำเศรษฐกิจพังอย่าใช้เงินกู้ไปปกปิด 'บิ๊กตู่' ร่ายยาวต้องกู้เพราะเจอโควิด ย้ำมีทีมเศรษฐกิจดี ไม่มีล้มเหลว ตอกทุจริตต้องมีหลักฐาน อย่าใช้คำบอกเล่าในโซเชียล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่สี่ ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา พ.ร.ก. 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท โดยวันนี้ที่ประชุมได้เน้นสาระสำคัญเกี่ยวกับ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด วงเงิน 5 แสนล้านบาท
@ป้อง ‘บิ๊กตู่’ อยู่มา 6 ปี ก่อหนี้แค่ 0.81%
นายมงคลกิตติ สุขสินธารานนท์ ส.ส.ไทยศรีวิไลย์ เปรียบเทียบการบริหารราชการแผ่นดินของ 3 รัฐบาลที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บริหารงาน 2 ปี 8 เดือน มีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 8.09 ล้านบาท เฉลี่ยหนี้เพิ่มขึ้น 3.03 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารงาน 2 ปี 10 เดือน มีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 1.25 ล้านล้านบาท เฉลี่ยหนี้เพิ่มขึ้น 4.42 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ บริหารงาน 6 ปี มีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 1.48 ล้านล้านบาท เฉลี่ยหนี้เพิ่มขึ้น 2.47 แสนล้านบาท
“จะสังเกตว่าการบริหารราชการแผ่นดินในช่วง 11 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีหนี้สินเพิ่มขึ้น 2.32% ต่อจีดีพี รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ มีหนี้เพิ่ม 4.42% ส่วนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มีหนี้เพิ่ม 0.81%” นายมงคลกิตติ์ กล่าว
@ซัดซอฟท์โลนเอื้อกลุ่มทุน-เอสเอ็มอีรายเล็กอด
นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.ก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี อาจเอื้อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เพราะการตั้งหลักเกณฑ์ในกฎหมาย ทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน เช่น ติดข้อจำกัดที่ระบุว่า ผู้ที่จะกู้ได้ต้องเป็นลูกค้าเดิมของสถาบันการเงิน โดยในรายละเอียดพบว่า เอสเอ็มอีในไทยมีประมาณ 3 ล้านราย และมีสินเชื่อกับสถาบันการเงินหรือเป็นลูกค้าเก่าแค่ 1.9 ล้านราย ส่วนอีก 1.1 ล้านรายเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กที่อาจจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ ขณะเดียวกันการจำกัดให้เอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการไม่เกิน 500 ล้านบาท ย่อมยิ่งทำให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่เข้าถึงแหล่งเงินนี้ด้วย
“เอสเอ็มอี 1.1 ล้านรายไม่เคยมีสินเชื่อ เพราะเขาเป็นแค่ร้านกาแฟริมทาง เปิดรีสอร์ทเล็กๆ หรือเป็นบริษัทจัดรถทัวร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง ถ้าทำกันอย่างนี้ เอสเอ็มอีระดับกลางจะถูกทำลายให้เป็นคนจน และจะสะเทือนกับแรงงานในระบบอีก 12 ล้านคน” นายธีรัจชัย กล่าว
@ยึดคืนทันที หากพบนำไปกินส่วนต่างดอกเบี้ย
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่มี ส.ส.หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหญ่จะได้ประโยชน์จากการทำซอฟท์โลนดอกเบี้ยต่ำ และนำไปปล่อยกู้อีกทอดหนึ่งโดยคิดดอกเบี้ยสูง หากมีหลักฐานขอให้รีบแจ้งให้ ธปท.รับทราบทันที เพื่อจะเร่งดำเนินการสอบสวน หากพบว่ามีความผิดจะมีการลงโทษและเรียกคืนเงิน เพราะเห็นว่าเป็นการดำเนินการขัดต่อ พ.ร.ก. และเป็นการดำเนินการที่ไม่มีความระมัดระวังของสถาบันการเงิน
ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า สศช. ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ได้ส่งหนังสือไปแจ้งให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดนำเสนอโครงกาตามกรอบเงินกู้ 4 แสนล้านบาทภายใน 5 มิ.ย. โดยจะเป็นโครงการมุ่งเน้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชุมชนทันที ส่วนระยะเวลาที่กำหนดไว้เป็นกรอบเวลาที่ต้องส่งสาระสำคัญของโครงการเท่านั้น ซึ่งแต่ละจังหวัดยังสามารถจัดทำรายละเอียดได้ถึง 15 มิ.ย. ทั้งนี้ยืนยันว่า เงินกู้ 4 แสนล้านบาทไม่ได้ถูกใช้หมดในคราวเดียวกัน เพราะ สศช.ตระหนักดีว่าวิกฤตรอบนี้มีผลกระทบในวงกว้าง และต้องพิจารณาการฟื้นฟูด้วยความรอบคอบ
@‘จุติ’ ยันรัฐบาลคุมเข้มไม่ปล่อยให้หลุดหูหลุดตา
นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่า คณะรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาในช่วงสถานการณ์โควิดทุกเรื่องเรื่องเดือน ฉะนั้นจะไม่ปล่อยให้เรื่องเหล่านี้หลุดหูหลุดตาไป สิ่งใดที่บกพร่องก็จะรีบแก้ไข
“ขอยืนยันว่า รัฐบาลพยายามทำให้เงินไปถึงประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระดับล่างให้มากที่สุด เรื่องนี้ถกเถียงกันเยอะในที่ประชุม และคำนึงถึงว่าเงินเหล่านี้อาจจะดูตามหลักเกณฑ์แล้วแปลไปได้ว่าเอื้อ แต่ผมยืนยันว่า ครม. ทุกท่านยืนยันว่าเรื่องนี้ต้องไม่เกิดขึ้น และเราก็พร้อมรับฟังผ่านสภา รัฐบาลจะไม่ละเลยและจะแก้ไขให้ถูกต้อง” นายจุติ กล่าว
@ระวังเจอโจรใส่สูทขูดรีดเงินประชาชน
ขณะที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ แสดงความเป็นห่วงการใช้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้าบาท โดยเฉพาะเรื่องของความโปร่งใส เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบภาครัฐ (ป.ป.ท.) พบการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างมากมาย เช่น ทั้งการซื้อแอลกอฮอล์ราคาแพง และแคร์เซ็ตที่มีราคาสูงเกินจริง รวมถึงการเรียกเก็บค่าหัวคิวจากผู้ประกอบการโรงแรมแลกกับการเป็นสถานที่กักตัวของผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ แม้ว่าคนในรัฐบาลจะยืนยันว่า เงินก้อนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรี เพราะมีแต่ข้าราชการพิจารณา และมีการกำกับดูแลที่ดี แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันเรื่องความโปร่งใส
“ทั้งนักการเมืองหรือข้าราชการ ก็มีคนไม่ดี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่รัฐบาลนักการเมือง ใช้แต่กลไกข้าราชการ แต่ก็พบการทุจริตโดยข้าราชการ เช่น การทุจริตเงินช่วยบุคคลยากไร้ ทุจริตเงินทอนวัด ดังนั้นการใช้งบครั้งนี้ อาจจะมีโจรใส่สูทมาขูดรีดเงินประชาชน ขอฝากรัฐบาลให้ระวังเรื่องการใช้เงินตรงนี้ด้วย ขอให้เป็นการกู้เงินเพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง” นายองอาจ กล่าว
@‘มิ่งขวัญ’ห่วงเงินกู้ถูกปู้ยี้ปู้ยำโปะภาพเศรษฐกิจพัง
นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.เศรษฐกิจใหม่ กล่าวว่า วันนี้เรามีงบประมาณแผ่นดิน 3.2 ล้านล้านบาท จะจัดเก็บรายได้ 2.7 ล้านล้านบาท ถือเป็นงบขาดดุล 4.6 แสนล้านบาท แต่กำลังเจอผีซ้ำด้ำพลอย รัฐบาลบริหารเศรษฐกิจมีปัญหา เจอวิกฤตติโควิด และใช้มาตรการแก้ปัญหาที่สับสน ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็ไม่ดี ทำให้มีแนวโน้มที่จะจัดเก็บไม่ถึงตามเป้าหมาย นักท่องเที่ยวเท่ากับศูนย์ ส่งออกเหนื่อย การจัดเก็บไม่ได้ตามเป้าลดจาก 2.7 ล้านล้านบาท เหลือแค่ 1.5-2.0 ล้านล้านบาท และเรามาขอใช้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าตั้งแต่มีประเทศไทยขึ้นมา รัฐบาลนี้จะผู้บริหารแบบติดลบ ยับเยิน เศรษฐกิจพังแน่นอน และนึกไม่ออกว่าประชาชนจะอยู่กันอย่างไรต่อไปในอนาคต
“ผมจะพูดด้วยถ้อยคำที่สุภาพและถนอมน้ำใจที่สุด ขอตำหนิท่านอย่างรุนแรงว่า ฝีมือทีมบริหารเศรษฐกิจท่านแย่มาก วันนี้ท่านบริหารงบกลาง 5 แสนล้านบาทหมดไปแล้ว” นายมิ่งขวัญ กล่าว
นายมิ่งขวัญ กล่าวด้วยว่า วันนี้เข้าใจ ส.ส.ทุกคน จะไม่อนุมัติก็กลัวประชาชนจะไม่มีเงินกินข้าว แต่ถ้าอนุมัติก็กลัวโดนเอาไปปู้ยี่ปู้ยำ ขออนุญาตต้องพูดตรงๆ อย่าเหมารวมการบริหารงานเศรษฐกิจที่ล้มเหลวและเอาเงินก้อนนี้ไปโปะเด็ดขาด
@‘บิ๊กตู่’ปัดทำเศรษฐกิจพัง ต้องกู้เพราะมีโควิด
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ฟังอภิปราย 3 วันที่ผ่านมา ที่บอกว่ารัฐบาลเศรษฐกิจพัง จนต้องกู้เงิน คงไม่ใช่ เหตุที่ต้องกู้เงิน เพราะมีเรื่องเร่งด่วน ถ้าไม่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดก็คงไม่มาดำเนินการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามวันนี้สถานการณ์ในไทยระบบการเงินการคลังมีความเข้มแข็ง และเป็นผลสืบเนื่องมาจากการฟื้นฟูเศรษ,กิจได้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
“ผมอาจจะไม่ได้เก่งเท่าท่านที่เคยทำงานด้านเศรษฐกิจ แต่ผมมีคนเก่งของผม มีรองนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีที่ช่วยกันทำงาน และผมจริงใจในการแก้ปัญหา ผมจะไม่แก้ปัญหาแบบมักง่าย ไม่มีใครเก่งไปกว่ากันหรอกครับ แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความร่วมมือ อย่างสถานการณ์โควิด ถ้าประชาชนและภาคธุรกิจไม่ร่วมมือ ก็ไปต่อกันไม่ได้ ต่อให้ใช้กฎหมายแรงกว่านี้ก็แก้ปัญหาไม่ได” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการทุจริตนั้น อะไรคือการทุจริต ต้องมีหลักฐาน ไม่ใช่แค่คำบอกเล่า คำบอกต่อ ในโซเชียลมีเดีย เรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบ มีกระบวนการศาลตัดสิน ถ้ามาบอกว่ารัฐบาลทุจริต อยากถามว่ารู้ได้อย่างไรว่ารัฐบาลจะทุจริต แสดงว่าก่อนหน้านี้มีการทุจริตใช่หรือไม่ การทุจริตต้องแก้จากข้างล่างขึ้นมา ใครมีปัญหาทุจริตต้องถูกดำเนินคดี มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยจับตาดูอยู่แล้ว ยืนยันรัฐบาลมีความตั้งใจแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างจริงจัง และย้ำว่า อย่าให้เกิดการทุจริตโดยเด็ดขาด เพราะสิ่งที่ทำให้เราอยู่ได้คือ ความโปร่งใส คนเรามีจิตสำนึก ความละอายเกรงกลัวต่อการทำบาป ขอให้ทุกคนมองประเทศเป็นหลัก รัฐบาลจะดูแลประชาชนให้ดีที่สุด
อ่านข่าวประกอบ :
'มงคลกิตติ์'ป้องรัฐบาล 6 ปีสร้างหนี้เพิ่ม 0.81% 'ยุทธพงศ์'มาแปลกเตือนระวังการใช้เงิน
'ก้าวไกล'ซัด พ.ร.ก.อุ้มเอสเอ็มอีหรือเอื้อทุนใหญ่‘ธปท.’ยันยึดคืนถ้าพบปล่อยกู้กินส่วนต่าง
'มิ่งขวัญ'เตือนอย่าใช้เงินกู้โปะการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลว
'บิ๊กตู่'ปัดทำเศรษฐกิจพัง แต่จำเป็นต้องกู้เพราะมีโควิด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/