ปิดเมืองหรือไม่ ยัง ประชาชนยังสามารถเดินทางได้อยู่ แต่จะยุ่งยาก รัฐไม่สนับสนุนให้คนเดินทาง ฝ่ายความมั่นคงจะจัดตำรวจ ทหาร ตั้งด่านรอยต่อระหว่างจังหวัด ดู ยานพาหนะนั้น เว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตรหรือไม่ ผู้โดยสารสวมหน้ากากผ้าหรือไม่ ตรวจวัดอุณหภูมิ มีการสังสรรค์บนรถหรือไม่
วันที่ 25 มีนาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวชี้แจงถึงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ยกระดับป้องกัน โควิด-19 เข้มข้นสูงสุด ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร 26 มี.ค.- 30 เม.ย.
สำหรับประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินในครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเรื่องแปลก แต่ที่ผ่านมาประกาศเพราะเกิดความไม่สงบในประเทศ แต่ครั้งนี้ ถือเป็นการใช้กับการต่อสู้กับโรคระบาดร้ายแรงครั้งแรก สามารถทำได้ เพราะนิยามสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงภัยสาธารณะด้วย ตามกฎหมายดังกล่าว ให้กระทำโดยมติครม. ให้อำนาจนายกฯ ลงนามในประกาศ มีผลวันที่ 26 มีนาคม - 30เมษายน 2563 ก่อนประเมินสถานการณ์พิจารณาต่ออายุเป็นคราวๆ ไปไม่เกิน 3 เดือน
"ครั้งนี้เป็นการประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก เพราะโรคระบาดโควิดแพร่หลาย ตั้งแต่เหนือยันภาคใต้ ทิศตะวันตกยันตะวันออก มีสนามบิน จุดผ่านแดนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องปิดล้อมสถานการณ์ทั้งหมดไว้"
นายวิษณุ กล่าวว่า วันนี้ เราอยู่ระหว่างการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน สถานการณ์ไม่ปกติ ทำไมการประกาศจึงทอดเวลา เสมือนหนึ่งไม่ฉุกเฉินจริง แต่เพราะรัฐบาลเตรียมการประกาศ ให้มีผลทันทีไม่ได้ ต้องให้ให้ประชาชนได้เข้าใจ คนปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ต้องรับรู้ เข้าใจ ตำรวจ ทหาร พลเรือน ท้องถิ่น ประชาชนต้องเตรีนมตัว จึงต้องเตือน ประกาศ บอกให้รู้ ก่อนถึงเวลาบังคับใช้จริง
"รัฐบาลจึงเตือนให้รู้มากกว่า 24 ชั่วโมงล่วงหน้า"
นายวิษณุ กล่าวชี้แจงถึงข้อกำหนด ในพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า จะกระทบชีวิตประชาชน โดยมีข้อย่อย 15-17 ข้อ รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยสรุปของข้อกำหนด จะกำหนดพฤติกรรมต่างๆ เป็น 3 ประเภท คือ ห้ามทำ -ให้ทำ -ควรทำ
มาตรการ ห้ามทำ
มาตรการที่เกี่ยวกับห้ามทำ เกี่ยวกับห้ามประชาชน เช่น
- ห้ามเข้าพื้นที่เขตกำหนด ตามคำสั่งผู้ว่าฯ กทม. ส่วนในต่างจังหวัด คำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ให้มีการปิดสนามกีฬา สถานบันเทิง สถานที่มีการห้ามไว้ก่อนแล้ว ยกมากล่าวซ้ำในข้อกำหนดนี้ อีก
ในจังหวัดใดผู้ว่าฯ ยังไม่ได้ออกคำสั่งห้าม หรือปิด ให้ดำเนินการสั่งห้ามในลักษณะเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องสั่งห้ามปิด หรือเหมือนกันทุกแห่ง อาจไม่เหมือนกันได้
สถานที่บางอย่างไม่ได้ห้ามไว้ก่อน ให้ไปพิจารณาตามความเหมาะสม สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวสาธารณะ ศาสนสถาน เช่น ชายหาดบางแสน หัวหิน พัทยา สัตหีบ ฯลฯ อาจไม่ได้อยู่ในคำสั่งในช่วงที่ผ่านมา ให้ไปพิจารณาตามความเหมาะสม บางแห่งมีการมั่วสุม
- ห้ามคนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ว่าโดยยานพาหนะใดเส้นทางใด ทุกจุด ทุกด่าน ห้ามเข้ามาในประเทศ ยกเว้น ผู้มีสัญชาติไทย คนไทยที่ตกค้างในต่างประเทศ และกรณีบุคคลในคณะทูตฯ ผู้ขนส่งสินค้าและกลับไป ผู้มาจากยานพาหนะ นักบิน สจ๊วต แอร์ฯ เข้ามาอยู่ในเวลาจำกัด และรีบออกไป คนเหล่านั้นต้องยอมให้เข้ามาและกลับออกไป และบุคคลที่ได้รับการยกเว้นจากนายกรัฐมนตรี หัวหน้าผู้รับผิดชอบ
- ห้ามชุมนุม เว้นระยะห่าง เพราะเป็นสาเหตุง่ายที่สุดต่อการแพร่โรค ดูตัวอย่าง การติดเชื้อจากสนามมวย สนามกีฬา ห้ามชุมนุม เว้นแต่ปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันถูกต้อง สมควรตามหลักการแพทย์
- ห้ามแพร่ข่าวลวง Fake News โควิด-19 ข่าวที่คนตื่นตระหนกเกี่ยวกับโควิด
มาตรการ ให้ทำ
ส่วนมาตรการให้ เป็นการบังคับส่วนราชการ โดยให้กระทรวง ทบวง กรม เตรียมมาตรการช่วยเหลือประชาชน เตรียมรพ.สนาม หายา เวชภัณฑ์ เตรียมหาหมอเกษียณไปแล้วมาขึ้นทะเบียน
มาตรการ ควรทำ
นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นการให้แนะนำประชาชน เราไม่ถึงขั้นบังคับประชาชน แต่ข้อกำหนดฉบับที่ 1 ใช้คำว่า ควร แนะนำ แต่ต้องระวังว่า ควร จะยกเป็น ห้าม และให้ ทันที ฉะนั้น คำว่า ควรจะเขียนไว้ว่า
สำหรับประชาชน
- ควรอยู่บ้าน ไม่ควรออกนอกบ้าน เราสั่งห้ามทันทีไม่ได้ แต่จวนแล้ว เตือนไว้ก่อน โดยเฉพาะบุคคล 3 กลุ่มเสี่ยงสูงมาก เว้นการออกไปทำธุกรรม ที่จำเป็น 1. ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป 2.คนมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันสูง ทางเดินหายใจ โรคปอด 3.กลุ่มเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา
"วันหนึ่งเราจะยกระดับเป็นการบังคับ ห้าม หรือสั่งให้ทำ"
- ควรทำ สำหรับการเดินทางไปต่างจังหวัด หรือกลับมากรุงเทพมหานคร แม้จะยังสามารถเดินทางได้ แต่จะมีมาตรการจนทำให้การเดินทางยาก และลำบาก จนไม่น่าจะเดินทาง ฝ่ายความมั่นคงจะจัดตำรวจ ทหาร ตั้งด่านรอยต่อระหว่างจังหวัด ดูว่า ยานพาหนะนั้น เว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตรหรือไม่ ผู้โดยสารสวมหน้ากากผ้าหรือไม่ ตรวจวัดอุณหภูมิ มีการสังสรรค์บนรถหรือไม่
กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดทำแอพลิเคชั่น ติดตามตัว ให้กรอกแบบฟอร์ม หลักๆ คือสามารถเดินทางได้ แต่จะยากลำบาก มีมาตรการสั่งรัฐประกบเดินทางของประชาชน
โดยสรุป
ปิดประเทศนั้น - ยังไม่ปิด เรายังเปิดให้คนไทยกลับมาได้ แต่สำหรับชาวต่างประเทศ คือการปิดประเทศแล้ว แต่เรายังไม่ปิดสนามบิน เพราะเรารอเครื่องบินขนคนไทยกลับอยู่ แต่คนต่างชาติขนกลับมาไม่ได้ คนไทยกลับมาได้ต้องมีใบรับรองแพทย์
ปิดเมือง คือ ข้ามจังหวัด -ยัง ประชาชนสามารถเดินทางได้อยู่ แต่จะยุ่งยาก รัฐไม่สนับสนุนให้คนเดินทาง เจอกับมาตรการเว้นที่นั่งอย่างน้อย 1 เมตร มีบัตรประชาชน มีมือถือ เผชิญกับการตรวจวัดอุณหภูมิ สวมหน้ากากตลอดเวลา เป็นต้น
ปิดบ้าน คำตอบ คือยัง กึ่งๆ ปิดสำหรับคน 3 ประเภท นอกจากนั้น ข้าราชการ ลูกจ้าง ทำงานได้ตามปกติ
ขอร้องอย่าปิด
ส่วนสถานที่ หรือกิจการบางแห่ง รัฐสนับสนุนให้เปิด ขอร้องอย่าปิด เช่น โรงงาน ธุรกิจออนไลน์ สั่งมาส่งที่บ้าน ธนาคาร เอทีเอ็ม ร้านอาหารซื้อบริโภคที่บ้าน ห้างให้เปิดเฉพาะอาหาร ยา และสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน หรือการบริการขนส่งสินค้า ยังทำได้ตามปกติ ธุรกิจหลักทรัพย์ หุ้น สถานที่ราชการยังเปิดทำการตามปกติ
"การซื้อหาอาหารยังทำได้ตามปกติ เพราะเราไม่ได้ปิดบ้าน ขายได้ตามปกติ แต่ห้ามกักตุนสินค้า"
ช่วงท้าย นายวิษณุ ตอบคำถามวันนี้ประกาศเคอร์ฟิวส์หรือยัง การประกาศเคอร์ฟิวส์ คือการห้ามออกจากสถานที่ตามเวลาที่กำหนด ขณะนี้ยังไม่ประกาศเคอร์ฟิวส์
"ประกาศเคอร์ฟิวส์ กับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เรายังไม่ประกาศ ยังออกจากบ้านตามปกติ เพียงแต่สำหรับบุคคล 3 ประเภท ไม่แนะนำให้ออกจากบ้าน" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า แม้หากจะมี การประกาศเคอร์ฟิวส์ครั้งต่อไป ก็จะไม่เหมือนเดิมที่เราเคยเจอ ที่เคยห้ามกลางวันออกจากบ้านได้ กลางคืนห้ามออก หลัง 3 ทุ่ม - ตี 4 นั่นเพราะเพื่อรักษาความมั่นคง แต่โรคโควิด ออก 24 ชั่วโมง ฉะนั้น เคอร์ฟิวส์โควิด จึงต้อง 24 ชั่วโมง แต่ต้องมีข้อยกเว้นเป็นอันมากเพื่อให้ซื้อหาอาหารได้ หาหมอ แจ้งความตำรวจ ขึ้นศาลได้ ไปธนาคาร กดตู้เอทีเอ็ม ส่งสินค้า ซื้อของได้ วิทยุโทรทัศน์ยังสามารถจัดรายการได้
อ่านประกอบ:
เปิดกฎเหล็ก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ! ห้ามสื่อบิดเบือนข่าว-ชุมนุม-กักตุนสินค้า-โทษคุก 2 ปี
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯทั่ว ปท.ถึง 30 เม.ย.! แถลงวันละครั้งป้องสับสน-ขอสื่อใช้ข้อมูลทางการ
บิ๊กตู่ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมเข้มโรคโควิด 26 มี.ค.นี้
กาง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ‘บิ๊กตู่’ใช้แก้โควิดฯ ชัด ๆ รบ.มีอำนาจทำอะไรบ้าง?