‘หมอ-ทีมนักวิจัย’ ตั้งโต๊ะแถลงยืนยัน สารเคมี ‘พาราควอต’ ทำให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญาลดลง- ประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่น้อยลง ด้าน‘อนุทิน’ นำคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข แถลงจุดยืนไม่ยอมให้ยกเลิกมติแบน3สารคมีทางการเกษตร
จากกรณีที่สมาคมวิทยาการวัชพืช เผยแพร่ข้อความโฆษณาว่า งานวิจัยภายใต้การนำของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มมารดาและขี้เทาทารกแรกเกิด เป็นงานวิจัยที่ ‘ใช้ข้อมูลเท็จ’ โดยหวังผลเพื่อให้มีการทบทวนการแบนสารเคมี ‘พาราควอต’ ซึ่งปัจจุบัน 60 ประเทศทั่วโลกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวแล้วนั้น
ล่าสุดวันนี้ (31 ส.ค.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงงานวิจัยของ ศ.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง ผลกระทบต่อพฤติกรรมประสาทของเด็กทารกจากการขาดไอโอดีนและการรับสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Neonatal Neurobehavioral impacts of Iodine deficiency& pesticide exposures: A baseline for intervention)
ศ.ดร.พรพิมล กล่าวว่า ผลงานวิจัยดังกล่าวดำเนินการในปี 2553 โดยเป็นการทำงานร่วมกับโรงพยาบาล 3 แห่ง และทีมแพทย์ทั้งหมดล้วนมีชื่อปรากฏในงานวิจัยทั้งสิ้น โดยมีหนังสือตอบรับการเข้าร่วมงานวิจัยจากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง และได้รับใบรับรองทางจริยธรรมแล้ว ทั้งนี้ ตัวอย่างในการวิเคราะห์ได้มาจากการเก็บเลือดหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฝากครรภ์ 28 สัปดาห์กับโรงพยาบาล เก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ และน้ำนมของมารดา ขี้เทาและเลือดจากสายสะดือทารก
สำหรับรายงานสรุปผลการวิจัย พบว่า 1.ระดับสารออร์แกโนฟอสเฟตของหญิงตั้งครรภ์และแรกคลอด ลดลงเมื่อคลอดแล้ว 2 เดือน ซึ่งสัมพันธ์กับการศึกษาของต่างประเทศหลายแห่ง โดยเมื่อเด็กอายุ 5 เดือนนั้น หากพบว่าแม่มีระดับออร์กาโนฟอสเฟตในปัสสาวะสูง จะทำให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญาลดลง ประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่ลดลง และสัมพันธ์กับการตอบสนองของเด็กต่อสิ่งเร้าด้วย
2.หลังคลอดเมื่อตรวจในเลือดมารดาและสายสะดือพบพาราควอต 20% และพบไกลโฟเซตสูงถึง 50 % แสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าวส่งต่อจากแม่ไปถึงลูก และ3.มีการตรวจพบพาราควอตในหญิงตั้งครรภ์ และในขี้เทาเด็กแรกเกิด รวมถึงในน้ำนมมารดาก็พบออร์แกโนฟอสเฟตหลายตัวอีกด้วย
“คณะแพทย์ยืนยันว่าจะยืนหยัดจะทำงานวิชาการที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของสุขภาพประชาชนต่อไป” ศ.ดร.พรพิมลกล่าว
ขณะที่นพ.วิโรจน์ ธนสารไพบูลย์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ ,พญ.นภาพร เกียรติดำรงค์ โรงพยาบาลอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ และพญ.นันทา จรูญรุ่งสิริกุล โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีส่วนร่วมกับงานวิจัยนี้ ระบุว่า ทั้งสามคนเป็นหมอเด็ก และมีความสนใจและได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับงานวิจัยนี้ โดยรับผิดชอบเก็บข้อมูลช่วง 72 ชั่วโมง หลังคลอด รวมถึงการตรวจพัฒนาการของระบบประสาทของเด็กแรกเกิดด้วย
ทั้งนี้ ทีมแพทย์ที่ร่วมวิจัยทั้งหมดล้วนเป็นกุมารแพทย์ที่ผ่านการอบรม สอบปฏิบัติจากโรงพยาบาลรามาธิบดี และได้รับใบอนุญาตแล้วตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กทำการร่วมประเมิน บันทึกวีดีโอ และส่งให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินด้วย โดยแพทย์จากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งได้ยืนยันว่าได้เข้าร่วมโครงการวิจัยนี้
ด้านนพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า กรมควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการทำงานวิจัย เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐซึ่งต้องทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง พร้อมจะปกป้องประชาชนเช่นเดียวกัน โดยจะลงสำรวจ และเก็บตัวอย่างผักผลไม้ รวมทั้งแหล่งน้ำเพื่อดูผลกระทบที่เกิดจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในชุมชนเพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพประชาชนไปพร้อมๆกันด้วย
นายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า งานวิจัยนี้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ผู้วิจัยย่อมยินดีให้ตรวจสอบได้ แต่หากเป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริต หรือใส่ความให้ผู้วิจัยเสื่อมเสียชื่อเสียงโดยไม่เป็นธรรม เช่น กล่าวหาว่าข้อมูลเป็นเท็จ จะเรียกได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาท มีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา และหากนำถ้อยคำดังกล่าวไปเผยแพร่ เช่น ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ถือว่ามีความผิดฐานการหมิ่นประมาททางการโฆษณา
ในวันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวง อธิบดีทุกกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และ เลขาธิการสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันแถลงข่าวแสดงจุดยืนยกเลิกการใช้สารเคมีภาคเกษตร พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส เนื่องจากจะมีการยื่นเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณาทบทวนมติการแบนสารเคมีดังกล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า ในฐานะที่ดูแลหน่วยงานด้านสาธารณสุข ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยในการใช้สารเคมีอันตรายดังกล่าว ขอยืนยันว่าไม่เห็นด้วยที่จะเลื่อนการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราในภาคเกษตรออกไปอีก เนื่องจากมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาแพทย์ได้วินิจฉัยว่าเกิดจากการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร และมีผลการตกค้างที่ชัดเจน บุคลาการทางการแพทย์ขอให้หน่วยงานคณะกรรมการวัตถุอันตรายเลื่อนการยกเลิกออกดังกล่าวออกไป และขอให้หยุดการกระทำดังกล่าว โดยให้คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก แม้จะกระทบกับเศรษฐกิจบ้าง
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข มีผู้แทนอยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย 2 เสียง คือ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จากจำนวนคณะกรรมการทั้งคณะ 27 เสียง ถ้ามีการลงมติโหวตอย่างไรก็แพ้ มีกระบวนการกดดันคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ยกเลิกมติแบนสารพิษดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา และมีความพยายามจะยกเลิกให้ได้ ทั้งนี้ตนจะคัดค้านอย่างเต็มที่ หากประชาชนพร้อมใจส่งเสียงพร้อมกันเพื่อคุ้มครองตัวเอง จะไม่มีใครกล้าเอาสารเคมีอันตรายกลับมาทำร้ายคนไทยต่อไป หากสารเคมี 3 สาร พอจะมีคุณประโยชน์อยู่บ้าง ทุกโรงพยาบาล คงไม่ขึ้นป้ายต่อต้านทั่วประเทศ
อ่านประกอบ :
ไทยแพนยื่นร้องสอด คดีซินเจนทาฟ้องศาลเพิกถอนประกาศแบนพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส
ดีเอสไอตรวจค้นผู้ประกอบการชีวภาพอินทรีย์ ปนพาราควอต –ไกลโฟเซต ขายกว่า 20 ล้านบาท
เริ่มเเล้ว! 1 มิ.ย. เเบน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส' เกษตรกรต้องส่งคืนภายใน 29 ส.ค.
ราชกิจจาฯ เเพร่ประกาศ ก.อุตฯ เเบนพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ตั้งเเต่ 1 มิ.ย. 63
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage