แพทย์จุฬาฯ ชี้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวิกฤต 'โควิด-19' เพิ่มความเสี่ยงการฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง แนะทางเลือกจัดการกับความเครียด คือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การหาคนที่ไว้ใจในการปรับทุกข์ หรือการได้ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ
วันที่ 2 พ.ค. นพ.ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร คณะแพทยศาสตร์ จุฬลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักในขณะที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อปอดอักเสบแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองหรือการฆ่าตัวตายด้วย
"การระบาดของเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบันได้ก่อให้เกิดผลกระทบมากมายทั้งทางสุขภาพกาย สุขภาพจิต และเกิดผลกระทบทางลบต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจ โดยมีคนที่เจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น ประชาชนทั่วไปมีความเครียดเพิ่มขึ้นทั้งจากความกลัว กังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อของตนเองหรือคนรอบข้าง และจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ"
นพ.ธีรยุทธ กล่าวว่า จากการศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ พบว่า อันตรายจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยจะพบการดื่มเหล้าดื่มเบียร์เพื่อเป็นการคลายเครียดเพิ่มขึ้นและมีการดื่มอย่างหนักมากขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเสียชีวิตจากการใช้แอลกอฮอล์เกินขนาดโดยตรงและเพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในภาวะมึนมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้ดื่มที่เป็นเพศชาย
นพ.ธีรยุทธ กล่าวอีกว่า หน่วยงานทางการแพทย์ของหลายประเทศ รวมถึงองค์การอนามัยโลกได้ออกคำแนะนำถึงการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลานี้ว่า ให้พยายามหลีกเลี่ยงการดื่มเพื่อคลายเครียด เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากดื่มในปริมาณที่สูงจะทำให้ผู้ดื่มเกิดอารมณ์ที่ผิดปกติ มีการตัดสินใจที่แย่ลง เพิ่มโอกาสเกิดความคิดฆ่าตัวตาย และอาจเกิดความรู้สึกหุนหันพลันแล่นจนลงมือทำร้ายตนเองจนเสียชีวิตได้
"ทางเลือกที่ดีกว่าในการจัดการกับความเครียดคือ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การหาคนที่ไว้ใจในการปรับทุกข์ หรือการได้ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ หากเกิดความเครียดในระดับที่ผิดปกติจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นได้ ควรเข้ารับบริการทางการแพทย์ทันที"