มหากาพย์ คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานครวงเงินนับหมื่นล้าน 'ชัยเกษม นิติสิริ' จี้ อุตตม สาวนายน โชว์หลักฐาน ครั้งเป็นบอร์ดแสดงความเห็นค้าน
วันที่ 13 กรกฎาคม คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และสภาที่ 3 จัดเวทีสาธารณะ เวทีสภาที่สาม The Third Council Speaks “คดี อุตตม สาวนายน ใครถูกใครผิด ประชาชนพิพากษา” ณ ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน
ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานครวงเงินนับหมื่นล้านบาทโดยทุจริต และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกอดีตกรรมการบริหาร กรรมการสินเชื่อ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคคลในกลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร โดยข้อเท็จจริง ในวันประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) เพื่อปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานคร ปรากฎชื่อของนายอุตตม สาวนายน เมื่อครั้งเป็นกรรมการอิสระ ร่วมอยู่ด้วย ปัจจุบันนายอุตตม นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และรมว.คลัง
"การประชุมอนุมัติสินเชื่อ 3 ครั้ง มีนายอุตตมอยู่ด้วย ซึ่งไม่ปรากฎหลักฐานการคัดค้านการปล่อยสินเชื่อในคราวนั้นเลย ดังนั้นนายอุตตมต้องหาเหตุผล และหาหลักฐานทางการมาแสดงต่อสาธารณชน"
ส่วนการที่นายอุตตมกล่าวอ้างไม่มีส่วนเป็นผู้กระทำผิด หรือมีส่วนร่วมในการกระทำผิด โดยผ่านการตรวจสอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) จนถึงชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งหมด ไม่พบว่ามีความผิด นั้น ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม กล่าวว่า คตส. ซึ่งคณะปฏิวัติตั้งขึ้น หาความถูกต้องเป็นธรรมได้ยาก เนื่องจากทุกครั้งที่มีการปฏิวัติขึ้นมาระบบการสอบสวนไม่ว่าอยู่ในชั้นไหน มักไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น จะมีคนมีอำนาจเหนือกว่าอยู่เสมออีกทั้ง คดีในชั้นพนักงานสอบสวนจะมีเทคนิคในการสอบสวนมากมาย มีอะไรที่ไม่ค่อยเป็นไปตามความเป็นจริง จึงมีคำพูดกระบวนการยุติธรรมบ้านเรา คนไม่ผิดติดคุกก็มาก คนผิดไม่ติดคุกมากกว่า
ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม กล่าวอีกว่า แม้นายอุตตม อาจจะถูกกันไว้เป็นพยาน คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานคร แต่ปรากฎหลักฐานผูกพันนายอุตตมโดยตรง นั่นคือหลักฐานรายงานการเข้าร่วมประชุมบอร์ดเพื่อปล่อยกู้ และไม่มีหลักฐานการคัดค้านการปล่อยสินเชื่อเลย มีแต่คำพูดหลังเกิดเหตุทั้งนั้น เพื่อต้องการบอกสาธารณชนว่า ไม่ผิด ซึ่งในทางคดีฟังยาก
" เรื่องการกันเป็นพยาน ไม่มีในกฎหมาย แต่เป็นเทคนิกของการสอบสวน โดยปกติแล้วทุกคนที่กระทำผิดต้องถูกฟ้องร้อง ส่งฟ้องศาล ซึ่งในชั้นสอบสวน บางคดีมีความจำเป็นที่หาพยานหลักฐานอื่นไม่ได้เลย ตามหลักการที่ทำกันมาจะนำคนที่รู้เห็นกับเหตุการณ์สามารถช่วยให้คดีสำเร็จเอาคนผิดมาลงโทษได้ เมื่อคนที่ผิดผิดน้อยที่สุดมาเป็นพยาน เพื่อให้สามารถลงโทษคนกระทำผิดมากกว่าได้ "
ทั้งนี้ อดีตอัยการสูงสุด กล่าวด้วยว่า คดีมหากาพย์กรุงไทย แม้ว่า นายอุตตมยังไม่เคยเป็นผู้ต้องหา หรือถูกดำเนินคดี และถูกสั่งฟ้องเลย เพียงแต่เป็นคนที่ไม่ถูกดำเนินคดี มองในแง่คดีอาญายังอยู่ในข่ายที่อาจจะถูกดำเนินการได้ โดยในชั้นการตรวจสอบของ ธปท. สอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ถือว่า ยังไม่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องภายในของธปท. ถามว่า เมื่อมีหลักฐานใหม่ ธปท.พลาดไป สมควรหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณา หรือดำเนินคดีเรื่องนี้ใหม่หรือไม่
"แต่ความรู้สึก ยุคนี้ เชื่อว่า จะไม่มีการรื้อคดีขึ้นมาใหม่"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เบื้องหลัง ธปท.ไม่เอาผิด! เปิดคำให้การลับ‘อุตตม’คดีกรุงไทย ‘สุชาย-วิโรจน์’คีย์แมน
'ปรีดิยาธร เทวกุล' เล่าเบื้องหลังทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย จ้องโค่นตำแหน่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ