“…นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา จะมีการจับจ่ายใช้สอยในเรื่องการรักษาและส่งเสริมสุขภาพ ที่เน้นไปในเรื่องการผักผ่อน มากกว่าการรักษาพยาบาล ที่หากไม่ป่วยก็จะไม่มา ซึ่งศูนย์เวลเนสจะตอบโจทย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีคุณภาพมาตรฐาน และจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการให้บริการสุขภาพ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะการแพทย์แผนไทยที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบอย่างมาก...”
สุขภาพ (Health) หมายถึง สภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายทางจิตใจ และทางสังคมของมนุษย์ ไม่เพียงแต่ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
บุคคลที่แสวงหาสุขภาพที่ดี จึงเป็นคนที่พยายามสร้างสมดุลระหว่างปัจจัยทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม อารมณ์ จิตวิญญาณ และสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตให้ประสานสมดุลกันแบบองค์รวมอย่างลงตัว (Holistic Balance)
‘Wellness Tourism’ หรือ ‘การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ ได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อสังคมโลกตระหนักถึง Good health and Well-being หรือ ‘สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น’ ภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ดังนั้น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงเป็นการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่สนใจในการส่งเสริมและรักษาสุขภาพ เช่น การรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ต่างประเทศ การทำศัลยกรรมเสริมสวย การทำฟัน จัดฟัน ศัลยกรรมกระดูก หรือการรักษาพยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งรวมถึงการบริการด้านสุขภาพอื่น ๆ เช่น สปา แพทย์แผนไทย เป็นต้น
สำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น สามารถแบ่งเป็น การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Tourism / Health and Wellness Tourism) เป็นการท่องเที่ยวไปในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และพักในโรงแรม รีสอร์ท หรือศูนย์สุขภาพ ร่วมทากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่สถานที่นั้นๆ และการท่องเที่ยวเชิงบำบัดรักษาสุขภาพ/การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Health Healing Tourism / Medical Tourism) เป็นการท่องเที่ยวที่ผนวกโปรแกรมการทากิจกรรมบำบัดรักษาโรคและฟื้นฟูร่างกายจากการรักษา
นอกจากนี้ ในการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ยังสามารถแบ่งเป็น แพทย์ทางเลือก (alternative medicine) โดยในการท่องเที่ยวนี้ มีแนวคิดที่ว่าสุขภาพที่ดีคือการที่ร่างกายมีความสมดุลของร่างกาย จิตใจ และปัญญา (จิตวิญญาณ) และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (medicine) โดยมีแนวคิดเกี่ยวกับสุขภาพที่ดีจะต้องไม่มีโรคภัยไข้เจ็บดังนั้น กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพตามแนวคิดนี้จึงมุ่งเน้นในเรื่องของการบำบัดรักษา และฟื้นฟูร่างกายหลังจากการรักษาโรคให้แข็งแรงมีสุขภาพดีดังเดิม
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ กล่าว่าปาฐกฐาพิเศษ ในหัวข้อ 'การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย' ในงานมหกรรม 'อว. FAIR 2567' ว่า มูลค่าการท่องเที่ยวด้านสุขภาพของโลกนับแต่พ้นยุคโควิดได้กลับมาฟื้นโตอย่างรวดเร็ว ขยายตัวถึงปีละ 21% มียอดการหมุนเวียนการลงทุนและใช้จ่ายถึง 651 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565
โดยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนับเป็นหนึ่งใน 10 ด้านสำคัญของเศรษฐกิจจากฐานสุขภาพของโลก แบ่งออกเป็น
-
เศรษฐกิจด้านความงาม คือ การดูแลบำรุงผิวภายนอก (Personal Care& Beauty) มูลค่า 1,089 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
-
เศรษฐกิจด้านสหเวชศาตร์และโภชนาการ ดูแลการรับประทานอาหารให้เหมาะสม การควบคุมน้ำหนักตัว (Healthy Eating, Nutrition, & Weight Loss) มูลค่า 1,079 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
-
เศรษฐกิจการออกกำลังกาย (Physical Activity) มูลค่า 976 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
-
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) มูลค่า 651พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
-
เศรษฐกิจจากเวชศาสตร์การป้องกันโรค และเวชกรรมส่วนบุคคล (Public Health Prevention & Personalized Medicine) มูลค่า 615 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
-
เศรษฐกิจเวชภัณฑ์ ยาทั้งแผนโบราณและแผนปัจจุบัน มูลค่า 519 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
-
การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้านสุขภาพ มูลค่า 398 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
-
เศรษฐกิจด้านสุขวิทยาทางจิต เช่น การบำบัดความเครียด การแก้ปัญหาโรคซึมเศร้า นอนไม่หลับ การฝึกโยคะ การนั่งสมาธิ มูลค่า 181 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
-
เศรษฐกิจจากการนวดสปาและน้ำพุร้อน มูลค่า 151 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
-
เศรษฐกิจการจัดการสุขภาพในที่ทำงาน เช่น การตรวจสุขภาพประจำปีให้พนักงาน การจัดการอาชีวอนามัยในสถาน ที่ทำงาน มูลค่า 51 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
รวมขนาดเศรษฐกิจการดูแลบริการสุขภาพทั้ง 10 ด้านทั่วโลก จะมีขนาดถึง 5.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทย เป็นหนึ่งในที่หมายยอดนิยมที่สำคัญในระดับสากลจากผู้สนใจดูแลด้านสุขภาพ เนื่องจากมีบริการคุณภาพหลากหลายครอบคลุม มีทักษะการบริการที่อ่อนโยน นุ่มนวล เป็นมิตร เอาใจใส่ ซึ่งอันเป็นลักษณะการบริการที่เฉพาะของไทย (Thainess) มีอาหารอร่อยหลากหลาย มีสมุนไพร และมีราคาบริการรักษาพยาบาล ตลอดจนค่าใช้จ่ายการผ่าตัดที่ไม่แพงและคิวรอไม่นานเท่าอีกหลายๆประเทศ แต่มีมาตรฐานคุณภาพที่ดีมาก
ดังนั้น การจัดระบบและที่ทางด้านนโยบายและแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทยให้เป็น Caring Economy Base จะเป็นเครื่องมือและความหวังที่สดใสของไทยไปได้อย่างดี
"จึงเป็นที่น่ายินดีของประเทศไทย ที่กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) โดย สกสว. และ บพข.ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้วยการจัดสรรงบประมาณการวิจัยสนับสนุนให้คณะนักวิจัยทำงานร่วมกับภาคเอกชน/ผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนี้อย่างต่อเนื่อง" นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายการส่งเสริมกลยุทธ์ให้ 'ไทยเป็นศูนย์กลางทางการให้บริการทางการแพทย์ (Medical Hub)' เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต (New Engine of Growth) และผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (S-curve) ที่ได้มีระบุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันประกอบกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (พ.ศ. 2560 – 2569)
นอกจากนี้ ในช่วงรัฐบาลที่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน ได้เคยมีการประกาวิสัยทัศน์ และตั้งเป้าให้ไทยเป็น Medical Hub และ Tourism Hub โดยจะผลักดันอุตสาหกรรมสาธารณสุข ให้เป็นศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจรของโลก พร้อมทั้งจะผลักดันการแพทย์แผนไทย นวดแผนไทย สปาแผนไทย สมุนไพร รวมทั้งจะสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ทำใบรับรองประกาศนียบัตร และผลักดันให้ไปเปิดศูนย์ Wellness Center ได้ในต่างประเทศอีกด้วย และแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เป้าประสงค์ดังกล่าวก็ยังคงขับเคลื่อนต่อ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยตอนหนึ่งถึงประเด็นนโยบายของรัฐบาล และ สธ. ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร การพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) โดยเฉพาะการขับเคลื่อนศูนย์เวลเนส (Wellness center) ว่า ได้ให้แนวทางในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวกับทางอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกคนใหม่ ที่จะเข้ารับตำแหน่ง และเริ่มทำงานในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้แล้ว
เนื่องจากทั้ง 2 หน่วยงาน เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนศูนย์เวลเนส ส่วนในการดำเนินการจะเป็นการให้มุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนให้มีศูนย์เวลเนสที่มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงให้มีแนวทางในการผลิตหมอนวดแผนไทยให้มากขึ้น ตลอดจนให้มีรายได้ที่เหมาะสม ซึ่งการขับเคลื่อนในเรื่องนี้จะตอบโจทย์ในการสร้างรายได้ให้ประเทศผ่านนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ปัจจุบันชื่นชอบและนิยมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น
“นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา จะมีการจับจ่ายใช้สอยในเรื่องการรักษาและส่งเสริมสุขภาพ ที่เน้นไปในเรื่องการผักผ่อน มากกว่าการรักษาพยาบาล ที่หากไม่ป่วยก็จะไม่มา ซึ่งศูนย์เวลเนสจะตอบโจทย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีคุณภาพมาตรฐาน และจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการให้บริการสุขภาพ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะการแพทย์แผนไทยที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบอย่างมาก” นายสมศักดิ์ ระบุ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ทาง สธ. ยังเตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมประชุมหารือกำหนดกฎระเบียบ หรือกรอบแนวทางศูนย์เวลเนส ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งอาจจะต้องมีการกำหนดกฎระเบียบกันใหม่เพื่อขับเคลื่อนนโยบายอย่างจริงจัง
รวมถึงการเชิญภาคเอกชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศในแวดวงอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์มาร่วมหารือในการสร้างผลิตภัณฑ์การแพทย์ และสร้างประโยชน์จากจุดแข็งด้านระบบสุขภาพภายในประเทศ เช่น สมุนไพร หรือการบริการสุขภาพเชิงท่องเที่ยว เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการสร้างรายได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศ
นายสมศักดิ์ กล่าวถึงนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร การพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ ว่า สำหรับ สธ. แล้วต้องบอกว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงกันมาก่อน แต่ก็ไม่มีการจัดสรรงบประมาณมาให้ สธ. เพื่อขับเคลื่อนอย่างจริงจัง แต่รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาและพร้อมสนับสนุน เพราะเห็นว่ายังมีช่องว่างทางเศรษฐกิจ ที่ไทยสามารถถมช่องว่างนี้ได้ ผ่านการขับเคลื่อนนโยบายนี้อย่างจริงจัง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ทางด้าน นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ การการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ทางเลือก ก็มีทั้งภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านสมุนไพรไทยหรือแพทย์แผนไทย และการฟื้นฟูบำบัดต่างๆ เช่น การบําบัดเยียวยาทางอารมณ์ ประกอบกับภูมิทัศน์ทีสวยงาม ส่งผลให้ไทยมีโปรแกรมการบําบัดเยียวยาทางอารมณ์ที่ดีที่สุดในโลก
ในส่วนของแพทย์แผนปัจจุบัน นางสาวฐาปนีย์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับการรับรอง 61 สถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองระดับสากล JCI และใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก และค่ารักษาพยาบาลในราคาที่สมเหตุสมผล เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ค่าใช้จ่ายในไทยจะถูกกว่า 50-80% ในขณะที่ยังคงได้รับบริการที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานระดับสากล รวมถึงมีเวชศาสตร์การกีฬาที่ครอบคลุมและทันสมัย
นอกจากนี้ ประเทศไทย ถือว่าเป็นเมืองหลวงของโลกด้านการแพทย์และความงามสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) เนื่องจากทัศนคติทางสังคมที่เปิดกว้าง และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลด้านความงาม รวมมถึงการผ่าตัดแปลงเพศ
“เรามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัด แปลงเพศ และศัลยกรรมความงาม พร้อมการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมด้วยสภาพแวดล้อมโดยรวม ที่เหมาะสม สภาพสังคมที่ให้ให้การยอมรับและทัศนคติเชิงบวก รวมถึงมาตรฐานการดูแล หลังการผ่าตัดที่ยอดเยี่ยม จึงสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่กําลังแสวงหาการเดินทางสู่การเปลี่ยนแปลง ครั้งสำคัญแห่งชีวิต” นางสาวฐาปนีย์ กล่าว
ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยจะได้รับหมุดหมายแรกๆ ของแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของคนทั้งโลก และชาวต่างชาติจึงนิยมมาใช้บริการด้านการแพทย์และความงามในไทย และเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลาง Wellness Tourism ของโลกได้อย่างแท้จริง ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนถึงประชาชน
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ การการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)