ไขปมสิ่งที่โลกออนไลน์ 'ไม่ถูกใจ' ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.10 อันดับแรก พบว่ามีบทสนทนาใน 'เชิงลบ' กว่า 298,593 ข้อความ จากที่มีการพูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 1.9 ล้านข้อความในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ร่วมกับบริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด จัดทำ Social Listening เกาะติดความเคลื่อนไหวการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค.2565 ในชื่อโครงการ 'ชีพจรเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.'65'
การจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในโซเชียลมีเดีย โดยไม่ได้ระบุพื้นที่ผู้ใช้งาน และเก็บข้อมูลจากหลายแพลตฟอร์ม อาทิ twitter , facebook , website , youtube , Instagram ฯลฯ ระหว่างวันที่ 1 ก.พ.-27 เม.ย.2565 มีบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. จำนวน 1,955,953 ข้อความ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่มีความแตกต่างกันในแต่ละมุมมอง ทั้งในเชิงบวก เชิงลบ และเชิงทั่วไป
หากดูเฉพาะบทสนทนาใน 'เชิงลบ' พบว่า โซเชียลมีเดียพูดถึงผู้สมัคร 10 คนแรก รวม 298,593 ข้อความ ดังนี้
- นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถูกกล่าวถึง 200,192 ข้อความ
- นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ถูกกล่าวถึง 59,238 ข้อความ
- พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ถูกกล่าวถึง 29,253 ข้อความ
- นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ถูกกล่าวถึง 3,547 ข้อความ
- นายสกลธี ภัททิยกุล ถูกกล่าวถึง 2,936 ข้อความ
- น.ส.รสนา โตสิตระกูล ถูกกล่าวถึง 2,710 ข้อความ
- น.ต.ศิธา ทิวารี ถูกกล่าวถึง 665 ข้อความ
- นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ถูกกล่าวถึง 32 ข้อความ
- นายศุภชัย ตันติคมน์ ถูกกล่าวถึง 10 ข้อความ
- นายธเนตร วงษา ถูกกล่าวถึง 10 ข้อความ
สำหรับรายละเอียดการถูกพูดถึงใน 'เชิงลบ' ของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.10 คนแรก มีรายละเอียด ดังนี้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
โซเชียลมีเดียแสดงทัศนคติในเชิงลบต่อนายชัชาติ รวม 8 ข้อ คือ 1.ไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาแอปพลิเคชันสั่งซื้อสินค้าจากตลาดใน กทม. เพราะมีแอปพลิเคชั่นในลักษณะดังกล่าวอยู่แล้ว 2.กล่าวล้อเลียนนโยบาย 200 ข้อ มองว่าถูกนำเสนอเกินความเป็นจริง
3.มองว่า หาเสียงในเชิงสร้างภาพ หลายๆ กิจกรรมที่ถูกนำเสนอนั้น ไม่ได้กระทำจริงในชีวิตประจำวัน 4.ไม่เห็นด้วยกับนโยบายขึ้นทะเบียนชุมชนริมทางรถไฟ โดยมองว่าจะทำให้บ้านเมืองไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย 5.เข้าไม่ถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้งานโซเชียลมีเดีย จึงไม่อาจได้รับชัยชนะ
6.ไม่เห็นด้วยกับที่ต้องการจำกัดพื้นที่ในการชุมนุมของประชาชน โดยชี้ว่าการชุมนุมสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ 7.มองว่าเคยดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม แต่ไม่สามารถปรับปรุงพัฒนาระบบคมนาคมให้ดีขึ้นได้ 8.เป็นนักวิชาการ ไม่ใช่นักปฏิบัติ ดังนั้นนโยบายที่นำเสนอกว่า 200 ข้อ อาจไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร
โซเชียลมีเดียแสดงทัศนคติในเชิงลบต่อนายวิโรจน์ รวม 10 ข้อ คือ 1.แสดงจุดยืนไม่เลือก เพราะไม่ต้องการสนับสนุนพรรคก้าวไกล 2.ไม่เห็นด้วยกับนโยบายทวงคืนสนามหลวง มองว่าสนามหลวงไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ แต่เป็นโบราณสถาน ไว้สำหรับประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ 3.ไม่พึงพอใจการตอบคำถามที่กล่าวถึงนายกรัฐมนตรีในเชิงเหน็ฐแนม แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้ง หากต้องทำงานร่วมกับรัฐบาล
4.กล่าวตำหนิการติดสติ๊กเกอร์ที่เสาไฟฟ้า ทำให้ลอกออกได้ยาก 5.กล่าวถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวปลอม 6.นโยบายของ ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร และมุ่งเน้นปัญหาทางการเมืองมากจนเกินไป 7.เป็นเพียงนักทฤษฎีที่นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา แต่แนวทางดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาได้จริง ๆ
8.ไม่พึงพอใจที่นำประเด็นการชุมนุมมาใช้เป็นเครื่องมือหาเสียง เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานเสียงของกลุ่มผู้ชุมนุม 9.มองว่ามุ่งหาเสียงแต่ประเด็นที่สร้างความแตกแยกให้กับสังคมไทย 10.ไม่เห็นด้วยกับนโยบายทวงคืนสนามหลวงให้กับประชาชน
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
โซเชียลมีเดียแสดงทัศนคติในเชิงลบต่อ พล.ต.อ.อัศวิน รวม 16 ข้อ คือ 1.มองว่า หากได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ กทม.จะไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาขึ้น 2.ตำหนิป้ายหาเสียงมีขนาดใหญ่จนเกินไป และถูกติดตั้งในลักษณะที่กีดขวางทางเดิน 3.กล่าวเสียดสีว่าขาดวิสัยทัศน์ที่ดี เพราะปฏิบัติหน้าที่ตามคำวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน
4.กล่าวเสียดสีว่าตอนดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ไม่รับฟังปัญหาของประชาชน แต่มารับฟังตอนที่กำลังหาเสียง 5.กล่าวเสียดสี ในประเด็นเกี่ยวกับการค้นหากุญแจเปิดเครื่องสูบน้ำไม่เจอ และประเด็นน้ำท่วม กทม. 6.ไม่มีผลงานใด ๆ ที่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ กทม.
7.ไม่เห็นด้วยที่ต้องการเข้ามาสานต่อผลงาน เพราะมองว่าไม่มีผลงานใด ๆ ให้สานต่อ 8.กล่าวตำหนิที่ปล่อยให้ถนนใน กทม.มีสภาพชำรุดทรุดโทรมในยุคสมัยที่ดำรงตำแหน่ง 9.ไม่พึงพอใจที่ไม่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทั้งที่เคยช่วยกลุ่ม กปปส.
10.มองว่า ไม่ได้ดำเนินการโครงการ หรือนโยบายใด ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯกทม. 11.ไม่เชื่อว่าไม่ประชาสัมพันธ์ผลงานที่ตนเองทำ พร้อมยกตัวอย่างเป็นภาพวาด หรือป้ายนำเสนอผลงาน 12.กล่าวถึงกรณีที่นายณวัฒน์ อิสรไกรศีล แสดงจุดยืนไม่สนับสนุน เป็นผู้ว่าฯ กทม. พร้อมกล่าวถึงกรณีที่ไม่ยอมเดินทางมาต้อนรับผู้เข้าประกวด มิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล 2020 กว่า 80 ประเทศ
13.ไม่พึงพอใจที่ไม่สามารถจัดเก็บสายสื่อสารให้เป็นระเบียบได้ตามที่วางแผนไว้ จนทำให้ภูมิทัศน์ไม่สวยงาม 14.กล่าวเสียดสีที่เลือกอยากเป็น แบทแมนโดยนำ ไปเปรียบเทียบกับข้อเสียต่าง ๆ ของแบทแมน 15.กล่าวตำหนิที่ใช้งบประมาณไปกับโครงการคลองช่องนนทรี และสวนลุมพินีเป็นจำนวนมาก 16.ต้องการให้เปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีความรู้ และความสามารถมากกว่า เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม.
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
โซเชียลมีเดียแสดงทัศนคติในเชิงลบต่อนายสุชัชวีร์ รวม 11 ข้อ คือ 1.กล่าวหาว่า ลอกเลียนแบบป้ายหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.รายอื่น 2.กล่าวล้อเลียน ที่ให้สัมภาษณ์ว่าตนเองเปรียบเสมือนเป็นผู้ว่าฯกทม.แล้วในตอนนี้ 3.มองว่าสมาชิกจากพรรคประชาธิปัตย์ได้ถูกรับเลือกเป็นผู้ว่าฯกทม. มาหลายสมัยแล้ว แต่มักมีผลงานที่ไม่น่าประทับใจ
4.เชื่อว่าได้รับผลประโยชน์แอบแฝงจากสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว จึงไม่สมควรที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. 5.ไม่พึงพอใจที่ ไม่เคยรับทราบถึงปัญหาทางเท้ามาก่อน 6.กล่าวเสียดสีที่เลือกอยากเป็นไอรอนแมน โดยชี้ว่าการเป็นวิศวกรไม่สอดคล้องกับไอรอนแมน
7.ไม่ต้องการสนับสนุน เพราะสังกัดอยู่พรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งในพรรคยังเกิดประเด็นที่อดีตรองหัวหน้าพรรคถูกกล่าวหาว่าลวนลามหญิงสาวหลายรายอีกด้วย 8.กล่าวเสียดสี กรณีรองเท้าสึกจากการเดินลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาต่าง ๆ ใน กทม.
9.ไม่เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตามแนวคิด หรือนโยบายที่หาเสียงไว้ 10. กล่าวเสียดสีจากกรณีที่อ้างว่าเป็นศิษย์ทายาทไอสไตน์คนเดียวในประเทศไทย 11.ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย ถนนคนเดินเยาวราช เสาร์-อาทิตย์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมองว่า ส่วนใหญ่ที่ไปเดินเที่ยวจะไม่ได้ซื้อสินค้าใด ๆ อีกทั้งยังเคยมีนโยบายในลักษณะนี้มาก่อน คือ ถนนคนเดินสีลม แต่ประสบกับความล้มเหลว
นายสกลธี ภัททิยกุล
โซเชียลมีเดียแสดงทัศนคติในเชิงลบต่อนายสกลธี รวม 9 ข้อ คือ 1.ไม่เห็นด้วยกับการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. 2.มีคุณสมบัติไม่เพียงพอ และไม่เหมาะสม กับการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. 3.เคยเป็นแนวร่วมคนสำคัญคนหนึ่งของกลุ่ม กปปส.จึงไม่อาจเชื่อมั่นในการทำงานได้
4.บางส่วนมองว่ายังไม่รู้จริงถึงปัญหาต่าง ๆ และไม่มีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง 5.หากเต็มใจที่จะแก้ไขปัญหา และพัฒนา กทม.จริง ก็น่าจะดำเนินการตั้งแต่เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. 6.ไม่เห็นผลงานใด ๆ อย่างชัดเจนในสมัยเป็นรองผู้ว่าฯกทม.
7.กล่าวเสียดสีจากกรณีฟ้องร้อง 2 พิธีกรทีวีที่วิพากษ์วิจารณ์ ในยุคสมัยที่เป็นสมาชิกกลุ่ม กปปส. 8.กล่าวถึงกรณีที่เคยโพสต์ขอให้ บก.ลายจุด ถูกจับตายในยุคสมัย คสช. ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม 9.หากได้เป็นผู้ว่าฯกทม. อาจทำให้ กทม.ไม่เจริญก้าวหน้า เพราะไม่มีลักษณะเป็นบุคคลสมัยใหม่
น.ส.รสนา โตสิตระกูล
โซเชียลมีเดียแสดงทัศนคติในเชิงลบต่อ น.ส.รสนา รวม 6 ข้อ คือ 1.กล่าวถึงกรณีที่ได้ยก นายจำลอง ศรีเมือง เป็นต้นแบบผู้ว่าฯกทม. ทำให้หมดความน่าเชื่อถือ 2.กล่าวถึงนโยบายว่าเป็นเพียงนโยบายขายฝัน เหมาะแก่การเป็นนักวิชาการมากกว่า
3.ไม่เชื่อว่านโยบายปราบทุจริตจะสามารถทำได้จริง 4.ไม่พึงพอใจที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน แต่ยังคงลงพื้นที่หาเสียง 5.เชื่อว่าการเป็นผู้ว่าฯกทม. สังกัดอิสระ จะทำให้ไม่มีอำนาจออกคำสั่ง หรือดำเนินการเรื่องใด ๆ อย่างเด็ดขาด 6.กล่าวเสียดสี จากกรณีที่ไม่สานต่อการเรียกร้องทวงคืน ปตท. แต่กลับมาลงสมัครผู้ว่าฯกทม. แทน
น.ต.ศิธา ทิวารี
โซเชียลมีเดียแสดงทัศนคติในเชิงลบต่อ น.ต.ศิธา รวม 7 ข้อ คือ 1.ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย ยกหนี้ กยศ. 5 หมื่นล้านบาท มองว่าควรมีการรับผิดชอบจ่ายคืนตามปกติ เพื่อไม่ให้เดือดร้อนผู้กู้ในรุ่นถัด ๆ ไป 2.กล่าวหาว่านโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็นนโยบายที่ลอกเลียนแบบจากผู้สมัครท่านอื่นมา
3.มองว่านโยบายเป็นเพียงนโยบายเพื่อหวังคะแนนเสียง 4.กล่าวล้อเลียนคำพูด ที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชน 5.มองว่าการที่นักเรียนหญิงชาวมุสลิมคลุมฮิญาบได้ และนักเรียนชายชาวมุสลิมใส่กางเกงขายาวได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ใด ๆ
6.ไม่เห็นด้วยกับการหาเสียงตามแหล่งท่องเที่ยวในยามค่ำคืน เพราะอาจทำให้ติดเชื้อโควิด และแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ 7.มองว่าคนรุ่นเก่าไม่มีทางเชื่อมต่อเข้ากับคนรุ่นใหม่ได้ ดังนั้นนโยบายการเชื่อมต่อคนต่างรุ่น จึงไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง
นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ
โซเชียลมีเดียแสดงทัศนคติในเชิงลบต่อนายวีรชัย รวม 4 ข้อ คือ 1.ไม่พึงพอใจที่หาเสียงในสิ่งที่ไม่สามารถถูกดำเนินการให้ประสบความสำเร็จได้จริง ๆ 2.ไม่เห็นด้วยที่ออกมาเรียกร้องให้รถไฟฟ้าเป็นของประชาชน เพราะเอกชนเป็นเจ้าของรถไฟฟ้า
3.ไม่รู้จัก และไม่เห็นด้วยที่มาลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เพราะมีนโยบายเพียงไม่กี่ข้อ 4.กล่าวตำหนินโยบายว่าไม่มีการระบุเนื้อหา และรายละเอียดของนโยบายไว้อย่างชัดเจน
นายศุภชัย ตันติคมน์
โซเชียลมีเดียแสดงทัศนคติในเชิงลบต่อนายศุภชัย รวม 5 ข้อ คือ 1.หลังจากที่มีการเปิดประวัติที่เคยเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. 3 สมัย และมีประวัติสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ (โยธา) จึงมีกลุ่มคนแสดงความคิดเห็นในเชิงเสียดสีว่า ทำไม กทม.ไม่มีการพัฒนา หรือมีนโยบายที่ช่วยเหลือประชาชนได้จริง 2.ตำหนิเรื่องสภาพผิวถนนใน กทม.ยังไม่เอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งบางพื้นที่ถนนยังคงเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง หรือจะเป็นเรื่องน้ำท่วมถนน ที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการระบายน้ำบนถนนได้
3.ไม่พึงพอใจที่นำเสนอนโยบาย คลองใส เพราะเป็นนโยบายที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.เกือบทุกรายนำเสนอ จึงไม่มีความหลากหลาย และใน กทม.ไม่ได้มีแต่ปัญหาน้ำในคลองไม่สะอาดเพียงอย่างเดียว 4.ตำหนินโยบายตลาดนัดธงเขียวผู้ว่าฯกทม. เนื่องจากเป็นการช่วยเหลือแต่ผู้ซื้อเพียงฝ่ายเดียว 5.กล่าวเสียดสีว่าคัดลอกนโยบายของผู้อื่นมาดัดแปลงเล็กน้อยแล้วนำไปใช้เป็นของตนเอง
นายธเนตร วงษา
โซเชียลมีเดียแสดงทัศนคติในเชิงลบต่อนายธเนตร รวม 4 ข้อ คือ 1.ไม่มีความเชื่อมั่นในนโยบายที่จะแก้ปัญหารถติดภายใน 21 วัน 2.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหารถติดด้วยการให้ย้ายที่พักใกล้ที่ทำงาน
3.ไม่เห็นด้วยที่ออกมาเรียกร้องให้สื่อรายงานข่าวผู้สมัครผู้ว่ากทม. ที่ไม่โดดเด่นในสายตาประชาชน โดยประชาชนมองว่า เป็นวิธีการที่ไม่สร้างสรรค์ และอาจแสดงออกให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ไม่ก้าวไกล 4.กล่าวเสียดสีว่าออกมาเรียกร้องความสนใจจากสื่อ และไม่สมควรลงสมัครผู้ว่าฯกทม. ตั้งแต่แรก หากรับรู้ว่าตนเองมีความรู้ ความสามารถ ผลงาน และชื่อเสียงที่ไม่เพียงพอ
สำหรับ Social Listening เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่คนทำงานด้านการตลาดดิจิทัล นำมาใช้เพื่อบริหารจัดการข้อมูล และสามารถนำใช้เพื่อรับฟังเสียงของผู้คนในโซเชียลมีเดียที่อยู่ในหลากหลายแพลตฟอร์ม โดยการนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้เกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ จะทำให้เห็นเสียงสะท้อนในโซเชียลมีเดีย ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวผู้สมัคร บุคลิก ความคิด นโยบาย รวมถึงการสะท้อนปัญหาที่ควรรีบแก้ไขได้อีกด้วย
ข่าวประกอบ :
- ‘อิศรา’จับมือ‘เรียลสมาร์ท’ฟังโลกออนไลน์เกาะติดเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
- รู้จัก Social Listening ก่อนฟังเสียงโลกออนไลน์บนความเคลื่อนไหวเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.
- 10 อันดับผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ถูกพูดถึงมากสุดในโลกออนไลน์
- โลกออนไลน์สะท้อน 10 ปัญหา อยากให้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่แก้ไข'ทางเท้าชำรุด'ถูกพูดถึงมากที่สุด
- ถอดรหัส 3 เดือน 1.9 ล้านข้อความ สิ่งที่โลกออนไลน์ชื่นชอบผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.10 อันดับแรก