โฆษกศูนย์ โควิด-19 เผยสถานการณ์โควิดระบาด พบผู้ป่วยกลับบ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยรายใหม่มีแนวโน้มคงที่ ขณะที่การมีโรคประจำตัว ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดอย่าให้ติดเชื้อเด็ดขาด -กลุ่มอายุยังน้อย 20-39 ปี ติดเชื้อมากที่สุด ชี้เป็นพาหะที่เดินได้ นำเชื้อกลับไปที่บ้าน และเกิดการติดเชื้อภายในบ้าน
วันที่ 10 เมษายน 2563 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 50 ราย รวม 2,473 ราย ใน 68 จังหวัด หายป่วย 1,013 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน (หญิงไทยอายุ 42 ปี มีโรคประจำตัว SLE) เสียชีวิตสะสม 33 คน
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวถึงผู้ป่วยกลับบ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยรายใหม่มีแนวโน้มคงที่ ขณะที่การมีโรคประจำตัว ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดอย่าให้ติดเชื้อเด็ดขาด
ส่วนกลุ่มอายุยังน้อย 20-39 ปี ยังคงเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อมากที่สุด เป็นพาหะที่เดินได้ นำเชื้อกลับไปที่บ้าน และเกิดการติดเชื้อภายในบ้าน ฉะนั้น ภาพนี้ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม โดยผู้ติดเชื้อ 50 รายใหม่ แบ่งเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ เป็นผู้สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ ติดต่อกันในบ้าน ดังนั้นการมีระยะห่าง การใส่หน้ากากด้วยในะระยะนี้ รองลงมา เป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ การเดินทางไปในที่ชุมชน และการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก
"เหลือ 9 จังหวัด ไม่พบรายงานผู้ติดเชื้อ" นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว และว่า รัฐบาลใช้เวลา 1 เดือน กว่าจะลดกลุ่มก้อนที่ติดเชื้อมาจากสนามมวย
สำหรับ สถานการณ์ทั่วโลกใน 209 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 10 เมษายน 2563 (7.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 1,602,619 ราย เสียชีวิต 95,657 ราย ส่วนสถานการณ์ต่างประเทศที่มียอดผู้ป่วยมาก 3 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วย 468,286 ราย เสียชีวิต 16,663 ราย สเปนพบผู้ป่วย 123,222 ราย เสียชีวิต 15,447 ราย และอิตาลีพบผู้ป่วย 143,626 ราย เสียชีวิต 18,279 ราย
โฆษกศบค. กล่าวว่า ยังมีการเสียชีวิตเป็นใบไม้ร่วง สหรัฐ อิตาลี ฝรั่งเศส เสียชีวิตเป็นหมื่นคน เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยอยู่ตรงกลาง ทรงๆ ตัว หากไทยร่วมด้วยช่วยกันเชื่อว่า สถานการณ์จะดีขึ้น
"อินโดนีเซีย ความรุนแรงของโรคสูงมากจนทำให้เสียชีวิต จึงเป็นสาเหตุที่บ้านเรามีมาตรการใดๆ ออกมาจะดูจากชุดข้อมูลเหล่านี้ ประเทศทางยุโรปเตียงไม่พอ หน้าที่หมอชี้ใครมีสิทธิ์อยู่หรือไป ซึ่งสะเทือนใจคนทั้งโลกมาก ฉะนั้นเราไม่อยากเจอภาพนี้ในประเทศไทย จึงป้องกัน จำกัดพื้นที่ มีเคอร์ฟิว หากท่านเจ็บป่วยเรายังมีเตียงให้นอน หากระบาดมาพร้อมกันใน ICU ไม่รู้จะใช้เวลาไหนรักษาท่าน"
โฆษก ศบค. กล่าวถึงการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พบว่า มียานพาหนะตามข้อยกเว้น และยังมีคนกระทำความผิด ออกนอกเคหสถาน มั่วสุมชุมนุมกัน จนต้องดำเนินคดี ตักเตือน ทุกท่านทำได้ดี แม้ตัวเลขจะลดลง เมื่อเทียบกับวันก่อนๆ
กรณี 11 จังหวัดมีมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า รวมถึงกรุงเทพฯ จึงอยากร้องขออยากให้ท่านร่วมมือ
กรณีการดูแลคนไทยกลับมาจากต่างประเทศ ปัจจุบันยังห้ามเครื่องบินลง โฆษก ศบค. กล่าวว่า มีกลุ่มผู้ขออนุญาตไว้ก่อนแล้วที่ตกค้างจากเนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ รวม 33 คนต้องไปกักตัวเป็นเวลา 14 วัน "วันนี้เจ้าหน้าที่ทำงานหนักเพื่อหาที่พักให้ท่าน ท่านได้กลับมาเมืองไทยเราก็ดีใจแล้ว แต่หากมีเกรดที่พักๆ ต่าง ขอให้ท่านเข้าใจด้วย มีข่าวดีว่า ทางสถานทูตฯ สหรัฐ จะมีเครื่องบินสหรัฐฯ มารับทหารกลับบ้าน จึงอาจมีเด็กนักเรียนทุนจากสหรัฐฯ เดินทางกลับมาด้วย"
ช่วงท้าย โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชน ถึงการเดินทางกลับประเทศของคนไทยว่า มีตัวเลข คนไทย 1.6 ล้านคน อยู่ต่างประเทศ แต่มีคนต้องการเดินทางกลับมาจริง 1 พัน - 1 หมื่นคน เราทราบความเดือดร้อน โดยเฉพาะส่วนใหญ่อยู่บริเวณชายแดน เช่นที่มาเลเซีย เราพูดคุยกันว่า เราจะจัดการตรงนี้อย่างไร จึงให้ทยอยเข้ามาดีกว่า การเข้ามาพร้อมกันทีเดียว 60-70 คน ติดเชื้อไปแล้ว 47 คน จึงเป็นเรื่องอันตราย หลังจากวันที่ 18 เมษายน หากเราสามารถหาที่พักเพื่อกักกันได้ และทำความเข้าใจกับชุมชนได้ เนื่องจากหลายแห่งไม่สามารถต้านทานความไม่ยอมรับของคนในพื้นที่ รวมถึงหาแพทย์ พยาบาลเข้าดูแลก็ยังมีข้อจำกัด
"คนในประเทศ และคนไทยในต่างประเทศ เราต้องจัดสมดุลมาตรการช่วยเหลือเยียวยา เช่น แรงงานที่ไปทำงานที่มาเลเซีย ซึ่งมีที่พักอยู่แล้ว แทนที่จะให้เขากลับมา เรามีแนวคิดส่งเงินให้ เป็นค่าใช้จ่ายการดำรงชีพ เพื่อยืดเวลาการกลับเข้ามาประเทศ สิ่งเหล่านี้รัฐต้องคิดและดำเนินการให้เขาดำรงชีพอยู่ได้ เพราะเขาเป็นคนไทย เหลือการลงไปปฏิบัติ และจำนวนคนกลุ่มก้อนนี้ รวมถึงงบประมาณที่ต้องใช้ นี่คือแนวทาง"