@@ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์คือใคร?
ฮิซบอลเลาะห์เป็นองค์กรและพรรคการเมืองของชาวมุสลิมชีอะฮ์ในเลบานอน ซึ่งมีกองทัพของตนเอง และมีศักยภาพเหนือกว่ากองทัพของประเทศเลบานอน
ก่อตั้งในปี ค.ศ.1982 โดยมีจุดประสงค์เพื่อขับไล่กองกำลังป้องกันอิสราเอลที่ยึดครองเลบานอน จนสามารถต่อสู้และขับไล่ทัพอิสราเอลออกจากเลบานอนได้สำเร็จในปี ค.ศ.2000
เลขาธิการใหญ่ของพรรคคือ ซายอิด ฮัซซัน นัสรัลลาห์ (Sayyid Hassan Nasrallah)
ประวัติการก่อตั้งฮิซบอลเลาะห์ได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติอิสลามของ อะยะตุลลอหฺ์ โคไมนี ผู้นำอิหร่านในสมัยปี ค.ศ.1979 โดยวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งก็เพื่อปกป้องอนาธิปไตยของชาวมุสลิม และปกป้องมาตุภูมิเลบานอนให้พ้นจากการรุกรานของชาวอิสราเอล
ฮิซบอลเลาะห์ก่อตั้งโดยกลุ่มอุละมาอ์ในพรรคอัลอะมัล ที่ได้แยกตัวออกมาตั้งพรรคการเมืองต่างหากอีกพรรคหนึ่ง
พรรคอะมัลเป็นการเมืองของมุสลิมชีอะฮ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลซีเรีย เมื่อพรรคฮิซบุลลอฮ์มีสมาชิกและฐานเสียงมากขึ้น ซีเรียก็ให้การสนับสนุนเทียบเท่ากับพรรคอัลอะมัล
ในช่วงแรกฮิซบอลเลาะห์เป็นเพียงขบวนการใต้ดิน จนกระทั่งในปี ค.ศ.1985 จึงมีการประกาศสถานภาพของกลุ่มอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชน
เนื่องจากพรรคฮิซบอลเลาะห์เน้นนโยบายอิสลามที่สนับสนุนความปรองดองระหว่างชาวเลบานอน เคารพสิทธิเสรีภาพของทุกศาสนาและลัทธิ และต่อสู้การรุกรานของอิสราเอล ฮิซบอลเลาะห์จึงเป็นที่ยอมรับของชาวเลบานอน
ผู้ที่มีอิทธิพลต่ออุดมการณ์ของฮิซบอลเลาะห์ คือ อายะตุลลอหฺ มุฮัมมัด ฮุเซน ฟัฎลุลลอหฺ
แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้นำ จนกระทั่งได้เริ่มมีการเลือกตั้งผู้นำในเวลาต่อมา เลขาธิการใหญ่ของพรรคคนแรก คือ เชค ศุบฮีย์ อัฏตุฟัยลีย์ (1989-1991) และ ซัยยิด อับบาส อัลมูสะวีย์ (1991-1992) ที่ถูกอิสราเอลลอบสังหาร
@@ ใครคือผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังฮิซบอลเลาะห์?
สหรัฐอเมริกาและอิสราเอลระบุว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินและการเมือง รวมทั้งด้านอาวุธและการฝึกฝนจากอิหร่านและซีเรีย
อิหร่านให้ความสนุนฮิซบอลเลาะห์มาเป็นเวลากว่า 40 ปี ซีเรียยอมรับว่าสนับสนุนจริงแต่ปฏิเสธเรื่องการส่งอาวุธให้
พรรคฮิซบอลเลาะห์ได้รับการสนับสนุนจากชาวมุสลิมในเลบานอน ปัจจุบันมีเก้าอี้ในรัฐสภาเลบานอน 23 ที่นั่ง จากทั้งหมด 128 ที่นั่ง มีนโยบายสาธารณะหลักๆ คือการสร้างโรงพยาบาล สร้างสถานศึกษา และให้บริการด้านสังคมอื่นๆ
ฮิซบอลเลาะห์ถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลอิสราเอล ขึ้นบัญชีดำว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายไม่ต่างจากกลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์
แม้ว่าฮิซบอลเลาะห์จะมีสถานะอันชอบธรรม ถึงขั้นสามารถส่งตัวแทนลงเลือกตั้ง และเข้าร่วมรัฐบาลเลบานอนได้ก็ตาม แต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเชื่อว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจับตัวประกันชาวอเมริกันหลายต่อหลายครั้ง แม้ว่าจะไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้
เช่นเดียวกับรัฐบาลอิสราเอลที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับกลุ่มกองกำลังดังกล่าวตลอดเวลา ผลงานชิ้นสำคัญอย่างหนึ่งของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ คือ การขับไล่อิสราเอลออกจากพื้นที่ทางตอนใต้ของเลบานอน เดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.2000 ซึ่งอิสราเอลยึดครองมาตั้งแต่การรุกรานครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1982 และทางสหประชาชาติก็ได้ประกาศให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นของเลบานอน
ความบาดหมางระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ยังไม่สิ้นสุด เพราะพรรคฮิซบอลเลาะห์ยังต่อสู้เพื่อให้อิสราเอลถอนทัพออกจาก “ชีบาฟาร์ม” ซึ่งชาวเลบานอนได้เคยยื่นหลักฐานต่อสหประชาชาติว่าเป็นส่วนหนึ่งของเลบานอน
ด้วยเหตุนี้การปะทะกันระหว่างกลุ่มฮิซบอลเลาะห์กับกองทัพอิสราเอลจึงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ
ในปี ค.ศ.2004 กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้แลกเปลี่ยนนักโทษกับอิสราเอลหลังเจรจาอันยาวนานถึง 3 ปี โดยอิสราเอลได้ปล่อยตัวนักโทษมากกว่า 400 คน และคืนศพของนักรบเลบานอน 59 ศพ เพื่อแลกกับนักธุรกิจชาวอิสราเอลที่ถูกลักพาตัวไป 1 คน และศพของทหารอิสราเอลอีก 3 ศพ
ต่อมาชนวนเหตุที่ทำให้สถานการณ์ของทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง ก็คือการที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้จับตัวทหารอิสราเอล 2 คน และสังหารทหารยิวอีก 8 คน เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2006 หลังจากที่อิสราเอลได้จับกุมคณะรัฐมนตรีของปาเลสไตน์
ทำให้อิสราเอลถือเป็นข้ออ้างในการโจมตีเลบานอนเพื่อเป็นการตอบโต้ทันที แม้ว่าตามความเป็นจริงแล้วอิสราเอลได้เตรียมตัวโจมตีก่อนหน้านั้นก็ตาม
อิสราเอลได้ยกสามเหล่าทัพโจมตีเลบานอน เริ่มต้นด้วยการโจมตีท่าอากาศยานเบรุต และสถานีโทรทัศน์อัลมะนารของฮิซบอลเลาะห์
@@ การสังหารซายอิด ฮัซซัน นัสรัลลาห์
วันศุกร์ที่ 27 กันยายน ค.ศ.2024 กองทัพอากาศอิสราเอลโจมตีศูนย์บัญชาการลับของฮิซบอลเลาะห์ บริเวณทางใต้ของกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือเลขาธิการกลุ่มฯ ฮัสซัน นัสรัลลาห์ มีผู้เสียชีวิตทันที 6 ศพ รวมทั้ง นัสรัลลาห์ และบาดเจ็บกว่า 90 คน
การสังหาร ฮัสซัน นาสรัลลาห์ เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่สุด และเพิ่มสุญญากาศภายในกลุ่ม เนื่องจากผู้นำเป็นจำนวนมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งได้ถูกสังหารไปแล้ว สร้างความสะเทือนขวัญให้กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์และผู้สนับสนุนในภูมิภาค และถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของความขัดแย้งในเลบานอนและตะวันออกกลาง
@@ ซายอิด ฮัซซัน นัสรัลลาห์ คือใคร?
ฮัสซัน นัสรัลลาห์ เป็นนักบวชและนักการเมืองชาวเลบานอนที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองและกองกำลังติดอาวุธของชาวชีอะห์อิสลามตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 1992 จนกระทั่งถูกลอบสังหารขณะที่มีอายุ 64 ปี
นัสรัลลาห์เกิดในครอบครัวชีอะห์ในเขตชานเมืองเบรุตในปี 1960 และจบการศึกษาในเมืองไทร์
จากนั้นเข้าร่วมขบวนการอามาลเป็นเวลาสั้นๆ และต่อมาที่เซมินารีชีอะห์ในเมืองบาอัลเบก
หลังจากศึกษาศาสนาในอิหร่าน นาสรัลลาห์เข้าร่วมกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับการรุกรานเลบานอนของอิสราเอลในปี 1982
นัสรัลลาห์กลับมายังเลบานอนและกลายมาเป็นผู้นำของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ หลังจากอับบาส อัล-มูซาวี อดีตผู้นำถูกลอบสังหารโดยการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในปี 1992 ขณะอายุได้ 32 ปี
เคราสีดำของเขาก็เริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวใต้ผ้าโพกหัวสีดำ ซึ่งบ่งบอกว่าเขาเป็นนักบวชชีอะห์ที่ได้รับการเคารพนับถือและเป็นซัยยิด ซึ่งเป็นบุคคลที่มีบรรพบุรุษสืบย้อนไปถึงศาสดาโมฮัมหมัด
ตลอดอาชีพการงาน เขายึดมั่นในสาระสำคัญที่พระเจ้าส่งถึงเขา นั่นคือ “อิสราเอลเป็นคนรุกรานจากต่างถิ่น และเป็นภัยคุกคามในภูมิภาคนี้ที่จำเป็นต้องกำจัดออกไป และหน้าที่ของมุสลิมทุกคนในการมีส่วนสนับสนุนการต่อสู้”
นัสรัลลาห์ได้พัฒนากองกำลังนักรบระดับรากหญ้าจำนวนหลายพันคนในเลบานอน ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้ขายเนื้อ และคนขับรถบรรทุก และใช้ศาสนาเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาต่อสู้จนตัวตาย และบอกพวกเขาว่าพวกเขาจะได้ไปสวรรค์แน่นอน
กลุ่มฮิซบอลเลาะห์กลายเป็นผู้นำกองกำลังติดอาวุธที่แข็งแกร่งที่สุดที่อิหร่านช่วยสร้างขึ้นในภูมิภาคนี้ และเป็นหนึ่งในกองกำลังนอกรัฐที่มีอาวุธหนักที่สุดในโลก
นัสรัลลาห์ได้ขยายอิทธิพลของกลุ่มไปไกลเกินกว่าเลบานอน เช่น มีบทบาทสำคัญในการเสริมกำลังรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย เมื่อซีเรียถูกคุกคามจากการลุกฮือของประชาชนที่เริ่มขึ้นในปี 2011
ได้ช่วยฝึกฝนนักรบของกลุ่มฮามาส รวมถึงกองกำลังติดอาวุธในอิรักและเยเมน
นัสรัลลาห์ได้รับความศรัทธาอย่างล้นหลามจากฐานเสียงมุสลิมชีอะห์ของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งมองว่าเขาเป็นผู้นำทางศาสนาและการเมืองที่มีเสน่ห์ และเป็นนักยุทธศาสตร์ทางการทหารที่อุทิศชีวิตเพื่อ “การต่อต้าน” หรือการต่อสู้กับอิสราเอลและอิทธิพลของอเมริกาในตะวันออกกลาง
สำหรับชาวอิสราเอลเขาเป็นผู้ก่อการร้ายที่คนเกลียดชัง และเป็นภัยคุกคามต่อชายแดนทางตอนเหนือของพวกเขาอยู่เสมอ และตลอดหลายปีที่ผ่านมา เขาแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการบรรลุเป้าหมายของเขา
@@ ใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์?
ตัวเก็งสองคนที่คาดว่าจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งได้แก่ ฮาเชม ซาฟีดดีน (Hashem Safieddine) และ นาอิม กัสเซ็ม (Naim Qassem)
1.ฮาเชม ซาฟีดดีน Hashem Safieddine เป็นหัวหน้าสภาบริหารของฮิซบอลเลาะห์ และเป็นลูกพี่ลูกน้องของนาสรัลลาห์ ถือเป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคนต่อไปของขบวนการนี้
Safieddine เกิดเมื่อปี พ.ศ.2507 ในหมู่บ้านทางใต้ของ Deir Qanoun en-Nahr ใกล้กับเมือง Tyre และศึกษาเทววิทยาพร้อมกับนัสรัลลาห์ในศูนย์กลางการเรียนรู้ศาสนาชีอะห์หลักสองแห่ง คือ เมือง Najaf และเมือง Qom ในอิหร่าน ทั้งคู่เข้าร่วมกับฮิซบอลเลาะห์ในช่วงเริ่มต้นขององค์กร
ซาฟีดดีนมาจากตระกูลชีอะห์ที่ได้รับความเคารพนับถือ ซึ่งผลิตนักวิชาการด้านศาสนาและสมาชิกรัฐสภาเลบานอน ในขณะที่อับดุลลาห์ พี่ชายของเขาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในอิหร่าน
ซาฟีดดีนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่าน ลูกชายของเขา เรดฮา แต่งงานกับลูกสาวของกัสเซม โซไลมานี นายพลระดับสูงของอิหร่านที่เสียชีวิตจากการโจมตีของสหรัฐ ในปี 2020
นอกเหนือจากบทบาทในการเป็นผู้นำคณะผู้บริหารแล้ว ซาฟีดดีนยังเป็นสมาชิกคนสำคัญของสภาชูรอ และเป็นหัวหน้าสภาญิฮาด
สหรัฐอเมริกาและซาอุดิอาระเบียได้กำหนดให้ซาฟีดดีนเป็นผู้ก่อการร้ายและอายัดทรัพย์สินของเขา
2.นาอิม กัสเซ็ม Naim Qassem เป็นรองเลขาธิการของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ วัย 71 ปี และมักถูกเรียกว่า “หมายเลขสอง” ของกลุ่ม คาดว่าจะเป็นตัวสำรอง
เขาเกิดที่หมู่บ้านคฟาร์กีลา ทางตอนใต้ของเลบานอน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการโจมตีของอิสราเอลหลายครั้ง
กัสเซ็มมีประวัติยาวนานในการเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของชีอะห์ ในช่วงทศวรรษ 1970 เขาเข้าร่วมกลุ่มผู้ถูกยึดทรัพย์ของอิหม่ามมูซา อัลซาดร์ ซึ่งต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอามาล ซึ่งเป็นกลุ่มชีอะห์ในเลบานอน
ต่อมาเขาออกจากกลุ่มอามาลและไปช่วยก่อตั้งกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 และกลายเป็นหนึ่งในนักวิชาการด้านศาสนาระดับรากฐานของกลุ่ม
กัซเซ็มเป็นบุคคลสำคัญในกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มชีอะห์ในเลบานอนตั้งแต่ทศวรรษ 1970
หนึ่งในที่ปรึกษาทางศาสนาของนายกัซเซ็ม คือ อะยาตอลลาห์ โมฮัมหมัด ฮุสเซน ฟาดลัลเลาะห์ ผู้เป็นที่เคารพนับถืออย่างกว้างขวาง
และกัซเซ็มเองก็เคยสอนชั้นเรียนศาสนาในเบรุตมาหลายทศวรรษ ทั้งเคยกำกับดูแลการศึกษาของฮิซบอลเลาะห์บางส่วนด้วย
—————————
เรื่อง : กฤษฎา บุญเรือง 30 กันยายน 2024