“เรื่องครูเวร…หมดเวร” เพราะ ครม.ไฟเขียวให้ยกเลิก น่าจะได้รับ “เสียงเฮ” จากครูทั่วประเทศไทย
แต่จากการสำรวจของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่าบางพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคง อย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีระบบ “ครูเวร” หรือ “ครูที่ต้องเข้าเวรที่โรงเรียน” เหมือนพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะโรงเรียนที่ตั้งอยู่ห่างไกล และอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย หรือ “พื้นที่สีแดง”
ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เล่าว่า ตามระเบียบแล้ว ครูชายแดนใต้ต้องเข้าเวรและมีระบบ “ครูเวร” เหมือนพื้นที่อื่นๆ แต่เมื่อสามจังหวัดมีสถานการณ์ความไม่สงบ จึงกลายเป็นพื้นที่พิเศษ หลายๆ อย่างจึงต้องปรับให้เป็นไปตามสถานการณ์
เหตุนี้เองหากเป็นโรงเรียนในชนบท พื้นที่เสี่ยงอันตราย ก็จะมี “กองกำลังของชุมชน” หรือ “กองกำลังภาคประชาชน” ตลอดจนกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ดูแลแทน แต่หากเป็นโรงเรียนใหญ่ๆ ในเขตเมือง ก็จะยังมี “ครูเข้าเวร” ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ
@@ ชุด รปภ.ครู กับ ชุดสันติสุขดูแลโรงเรียน
ผู้ใหญ่บ้านในจังหวัดยะลา ให้ข้อมูลตรงกันว่า เนื่องจากพื้นที่ชายแดนใต้เป็นพื้นที่พิเศษ การรักษาความปลอดภัยโรงเรียน รวมถึงบุคคลากรทางการศึกษา จึงเป็นหน้าที่ของ “ชุดคุ้มครองครูและโรงเรียน”
เช่น ที่่รู้จักกันดีในชื่อ “ชุด รปภ.ครู” คอยดูแลรับส่งครูช่วงเดินทางไป-กลับ ระหว่างที่พักกับโรงเรียน ทั้งเช้าก่อนเคารพธงชาติ และเย็นหลังเลิกเรียน
“ชุดเสริมสร้างสันติสุข” เป็นลูกจ้างในโครงการจัดหางานเร่งด่วน หรือ “ลูกจ้าง 4,500” ได้รับเงินค่าจ้างจากรัฐ เดือนละ 4,500 บาท ก็จะมารับหน้าที่เข้าเวรดูแลโรงเรียนทั้งกลางวันและกลางคืนแทนครู
ต่อมา เมื่อเหตุการณ์เริ่มสงบ หลายๆ โรงเรียนก็เริ่มไม่มี “ชุดเสริมสร้างสันติสุข” เพราะหน่วยงานความมั่นคงนำเงินจ้างงานเร่งด่วนไปจ้างคนที่เดือดร้อนกว่าแทน ก็จะใช้กองกำลังภาคประชาชนดูแลโรงเรียนให้แทน
เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงชายแดนใต้ ยืนยันว่า ในอดีต “ชุดเสริมสร้างสันติสุข” ซึ่งก็คือลูกจ้างในโครงการ 4,500 ปฏิบัติภารกิจเฝ้าโรงเรียน มีจำหลายนับพันคนในพื้นที่ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว
@@ เปิดแผน รปภ.ครู 3 ระดับ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”
สำหรับกรอบแผนรักษาความปลอดภัยครูและโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการรักษาความปลอดภัยเป็นปกติ ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยสรุป มี 3 แบบ คือ
1.การรักษาความปลอดภัยตนเอง ครูต้องปฏิบัติตามมาตรการ ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ มีการประสานงานอย่างชัดเจน ใกล้ชิด มีระบบสื่อสารถึงกันทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุด่วนเหตุร้าย ต้องมีเบอร์โทรศัพท์ของกันและกัน
2.การรักษาความปลอดภัยโดยเจ้าหน้าที่ เน้นการรักษาความปลอดภัยตามเส้นทางระหว่างเดินทาง ซึ่งกำลังในส่วนนี้จะใช้กำลัง ชคต. (ชุดคุ้มครองตำบล) เป็นหลักในการ รปภ.
3.การรักษาความปลอดภัยโดยชุมชน คือ การใช้กำลังภาคประชาชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นหลักในการดูแล
ส่วนกำลังทหาร จะดูแลสถานการณ์ภาพรวม ไม่เจาะจงพื้นที่โรงเรียน
ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้น จึงมีการปรับกำลังทดแทน การดูแลโรงเรียนเป็นไปตามแผนรักษาความปลอดภัยตำบล โดยใช้กำลังในตำบลมาร่วมกันดูแลความปลอดภัย ทั้งกำลังของกองร้อย ชคต. ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) และกำลังภาคประชาชน
@@ “ครูเวรชายแดนใต้” ใช้ “ชุมชนเข้มแข็ง” ช่วย รปภ.
สำหรับพื้นที่เขตเมือง จะมีระบบ “ครูเวร” ตามปกติ แต่ปรับรูปแบบไปตามสถานการณ์ เช่น โรงเรียนปะกาฮารัง อำเภอเมือง จ.ปัตตานี มีการใช้กำลังของชุมชนช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยด้วย
ครูยาเบ็น เรืองจรูญศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปะกาฮะรัง ยืนยันว่า การอยู่เวรที่โรงเรียน สำหรับครูทุกคนเป็นระเบียบที่ทางราชการกำหนดมานานแล้ว ถือเป็นหน้าที่ และไม่มีเบี้ยเลี้ยงตอบแทน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับโรงเรียน แต่ความปลอดภัยของครูที่อยู่เวรก็สำคัญเช่นกัน จึงต้องใช้ “ชุมชนเข้มแข็ง” มาช่วยเสริม
“ถ้าชุมชนไม่เข้มแข็งและเป็นหูเป็นตา แม้ครูเวรจะเป็นผู้ชายก็ตาม ก็จะไม่ปลอดภัย เพราะคนร้ายมาพร้อมอาวุธ ขณะที่ครูไม่ได้มีอาวุธอะไรเลย ฉะนั้นความปลอดภัยต้องอาศัยชุมชนมีส่วนร่วม เปรียบสมือนเป็น รปภ.ให้กับโรงเรียน”
ฟัง “ครูใหญ่” ไปแล้ว หันไปฟังเสียง “ครูน้อย” กันบ้าง
ครูแวลาตีฟะห์ แวกือจิ ครูโรงเรียนบ้านปะกาฮะรัง เล่าว่า การเข้าเวร คือหน้าที่ที่ต้องทำ ถามว่ากลัวหรือไม่ ก็รู้สึกกลัว ฉะนั้นถ้าต้องเข้าเวรกลางคืน ก็อยากให้มีครูผู้ชายมาอยู่ด้วย หรือไม่ก็ให้ ชรบ. มาเข้าเวรกับครู
ส่วนข่าวที่เกิดขึ้นที่เชียงราย ก็ยิ่งทำให้กลัว เพราะสภาพสังคมปัจจุบัน คนติดยาเยอะ ก็ไม่รู้ว่าใครติดยาบ้าง ใครมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต ทำให้เกิดความเสี่ยง
“เมื่อต้องเข้าเวรจริงๆก็ต้องปิดประตูให้ดีๆ เพราะครูที่เข้าเวรมี 5 คนต่อหนึ่งคืน ก็ถือว่าเยอะ แต่ที่โรงเรียนนี้ การเข้าเวรกลางคืนจะเป็นครูผู้ชาย ส่วนกลางวันจะเป็นครูผู้หญิง ถ้ามีการยกเลิกนโยบายนี้ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะกลางคืนเด็กก็ไม่ได้เรียนแล้ว ครูมีหน้าที่ต้องดูแลเด็ก ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่ต้องมาดูแลสถานที่ เรื่องสถานที่คิดว่าหน่วยอื่นมาดูแลได้ เนื่องจากกลางคืนไม่มีเด็กที่ต้องดูแล” เป็นความรู้สึกของครูแวลาตีฟะห์
@@ ไฟใต้...เผาโรงเรียน-ทำร้ายครู
สำหรับเหตุรุนแรงชายแดนใต้ที่เกิดกับครู และสถานศึกษาในพื้นที่ แยกเป็น
- เหตุลอบวางเพลิงเผาโรงเรียน เกิดขึ้นมากกว่า 325 แห่ง ตลอด 20 ปีไฟใต้
- จำนวนโรงเรียนที่ถูกเผา มากกว่า 1 ใน 3 เป็นโรงเรียนของรัฐ
- ในพื้นที่ชายแดนใต้มีโรงเรียนของรัฐ หรือโรงเรียนสายสามัญในระดับประถมศึกษา ทั้งสิ้น 876 แห่ง ระดับชั้นมัธยมศึกษาอีก 56 แห่ง รวมเป็น 932 แห่ง (โรงเรียนโดนเผาราว 1 ใน 3)
- ครู เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบ 109 ราย บาดเจ็บ 130 ราย