ฮือฮาพอสมควร หลังจากมีการเผยแพร่ “คำสั่งสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ” แต่งตั้งคณะทำงานรวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ การปรับปรุงและพัฒนาเครื่องแบบ และเครื่องหมายประกอบเครื่องแบบของลูกเสือให้ทันสมัย
เพราะประเด็น “ชุดลูกเสือ” มีกระแสวิจารณ์มาก่อนหน้านี้ว่า หลักสูตรวิชาลูกเสือ และการมีชุดลูกเสือ เนตรนารี ยังเหมาะกับการเรียนการสอนยุคปัจจุบันนี้หรื่อไม่ การมีเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารีเพิ่มขึ้นมา เป็นการสร้างภาระด้านค่าใช้จ่ายให้พ่อแม่ผู้ปกครองมากเกินไปหรือเปล่า
เหตุนี้เองการแต่งตั้ง “คณะทำงาน” ขึ้นมาศึกษา วิเคราะห์ ปรับปรุง และพัฒนาเครื่องแบบลูกเสือ จึงได้รับความสนใจจากหลายฝ่ายว่าผลการศึกษาจะออกมาอย่างไร
คำสั่งสำนักงานลูกเสือแห่งชาติฉบับนี้ เป็นฉบับที่ 1376/2566 ลงนามโดย นายวรัท พฤกษาทวีกุล รองเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ปฏิบัติงานแทนเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา
คณะทำงานชุดนี้มีถึง 46 คน ประกอบด้วยผู้บริหารและผู้แทนของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ, กระทรวงศึกษาธิการ, ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ, ผู้บริหารสถานศึกษาในหลากหลายภูมิภาค รวมไปถึงนักเรียนที่เป็นลูกเสือและเนตรนารีด้วย
หน้าที่ของคณะทำงานมี 2 ข้อ คือ
1.รวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อสรุปของความคิดเห็นเกี่ยวกับเครื่องแบบและ เครื่องหมายประกอบเครื่องแบบของลูกเสือ จากเอกสารและสื่อทุกช่องทาง รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับราคา ค่าใช้จ่าย และงบประมาณที่เกี่ยวกับเครื่องแบบและเครื่องหมายประกอบเครื่องแบบของลูกเสือ
2.จัดทำรายงานข้อเสนอและแนวทางในการปรับปรุง พัฒนา เครื่องแบบและเครื่องหมายประกอบเครื่องแบบของลูกเสือให้ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน รวมทั้งข้อเสนอการแก้ไข ปรับปรุง กฎหมาย ข้อบังคับและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เสนอเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติโดยเร็ว
ในเอกสารคำสั่ง ยังมีการระบุความหมายของ “ลูกเสือ" ว่า หมายถึงเด็กและเยาวชนทั้งชายและหญิงที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือ ทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา ส่วนลูกเสือที่เป็นหญิงให้เรียกว่า "เนตรนารี"
@@ โจทย์ 3 ข้อ “ชุดลูกเสือ” ทันสมัย-ยืดหยุ่น-ประหยัด
จากการพูดคุยกับผู้มีชื่อเป็นคณะทำงานบางท่าน ซึ่งไม่ขอเอ่ยนาม ทำให้ทราบแนวทางในการทำหน้าที่ของคณะทำงาน ดังนี้
1.ไม่มีนโยบายยกเลิกเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี หรือหลักสูตรลูกเสือ เนตรนารี
2.ศึกษาหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องแบบลูกเสือและเนตรนารี เช่น ใช้ชุดพละแทน
3.เพิ่มความยืดหยุ่นในการแต่งเครื่องแบบ หรือกำหนดเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ศาสนา และสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกัน
@@ แนะใช้ชุดนักเรียน-ชุดพละ ลดรายจ่ายผู้ปกครอง
ในคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้ง มีครูและผู้บริหารสถานศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย 2 คน คือ อาจารย์อาหามะ สะอะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพร่อน จังหวัดยะลา และ อาจารย์อารักษ์ ศุภสินธุ์ ผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“ทีมข่าวอิศรา” ได้พูดคุยกับ อาจารย์อาหามะ ได้ข้อมูลว่า คณะทำงานยังไม่ได้นัดประชุมครั้งแรกร่วมกัน คาดว่าจะนัดกันภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ โจทย์ที่ได้รับมอบหมายคือ ปรับรูปแบบชุดลูกเสือ เนตรนารี และเครื่องหมายประกอบเครื่องแบบให้ทันยุคทันสมัย สอดคล้องกับสภาพพื้นที่
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตนเองก็ทำอยู่แล้วในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือส่งเสริมให้ปฏิบัติตามแนวทางของสำนักจุฬาราชมนตรี โดยในส่วนของเด็กหญิงมุสลิม ให้สวมผ้าคลุมผม หรือ “ฮิญาบ” ตามสีประจำกองเนตรนารี คือ สีเหลือง สีเขียว สีแดงเลือดหมู และติดตราจังหวัด ส่วนผ้าพันคอมีตราจังหวัดตรงชายผ้าอยู่แล้ว ไม่ต้องสวมหมวก เพราะใช้ผ้าคลุมผมแทนหมวกได้ นี่คือรูปแบบที่สำนักจุฬาราชมนตรีกำหนด
ส่วนชุดลูกเสือสำรอง สำหรับเด็กชาย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ใช้ชุดนักเรียนของแต่ละโรงเรียน ขณะที่ลูกเสือสามัญ ชั้นประถมปลาย ป.4-6 ปัจจุบันใช้รูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ แต่ถ้าเป็นมิติใหม่ คิดว่าน่าจะเป็นชุดนักเรียน เพราะจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองลงได้ หากมีเครื่องแบบต่างหาก ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องซื้อชุดเพิ่มอีก หากไม่ใช้ชุดนักเรียน ก็ใช้ชุดพละก็ได้ ถือว่าไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน เพราะชุดพละต้องมีอยู่แล้ว
อาจารย์อาหามะ บอกด้วยว่า การศึกษาเพื่อปรับปรุงรูปแบบชุดลูกเสือ ไม่ใช่แนวคิดเพื่อยกเลิกชุดลูกเสือ หรือหลักสูตรลูกเสือ เพราะเป็นเครื่องแบบที่ในหลวงก็ทรงแต่งทุกครั้งที่ทรงงานเกี่ยวกับลูกเสือ ขณะที่วิชาลูกเสือเป็นวิชาที่สอนให้คนมีระเบียบวินัย สอนให้ปฏิบัติจริง ผสมผสานทั้งวิชาการและการละเล่นต่างๆ เท่าที่สัมผัสเด็กๆ ก็ชอบวิชานี้
ฉะนั้นหากจะยกเลิกหลักสูตรลูกเสือ ตนไม่เห็นด้วย และหากจะยกเลิกชุดลูกเสือ แม้จะทำได้ แต่จะทำให้เอกลักษณ์ของลูกเสือสูญหายไป ส่วนผลสุดท้ายจะออกมาแบบไหน ต้องรอฟังการประชุม ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ แต่คณะทำงานที่อยู่ต่างจังหวัด ก็จะเข้าประชุมแบบออนไลน์