มีข่าวความเคลื่อนไหวที่ไม่ได้รับการเสนอในสื่อไทยวงกว้างมากนัก แต่จริงๆ แล้วมีความสำคัญไม่น้อย...
นั่นก็คือข่าว “ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม” เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
วันที่ 7 ธ.ค.2566 นายเวือง ดิ่งห์ เหวะ ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม หรือจะเรียกแบบไทยๆ ว่า “ประธานรัฐสภา” ก็ได้ เดินทางพร้อมคณะผู้แทนระดับสูงของสภาแห่งชาติเวียดนาม เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 7-10 ธ.ค.
ข่าวสารจากทางเวียดนามระบุวัตถุประสงค์ของการเยือนไทยว่า เพื่อผลักดันความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศผ่านช่องทางพรรค รัฐสภา และรัฐบาล อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมความไว้วางใจทางการเมือง และแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งระหว่างเวียดนามกับไทย
โอกาสนี้จะมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสภาแห่งชาติเวียดนามกับสภาผู้แทนราษฎรไทย ระหว่างสำนักงานสภาแห่งชาติเวียดนามกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรของไทยด้วย
ข่าวจากฝั่งเวียดนามดูเป็นทางการและกว้างมาก ไม่ลงรายละเอียด
แต่ในมุมมองของ ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แรงงานชื่อดัง ให้ทัศนะและข้อมูลเอาไว้อย่างน่าสนใจ
—————————
ประธานสภาเวียดนามถึงประธานสภาไทย
ถ้าจะพูดถึงพัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับไทยครั้งล่าสุด คงจะไม่พูดถึงการแต่งงานของ ปู ไปรยา กับเจ้าของธุรกิจกาแฟยี่้ห้อโด่งดังของประเทศด้วยเงิน 260 ล้านบาทไม่ได้
ปรากฏการณ์ที่สำคัญไม่แพ้กันคงเป็นเรื่องการเยือนไทยของของผู้นำระดับสูงของประเทศเวียดนาม ภายใต้คำเชิญของประธานรัฐสภาไทย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ระหว่างวันที่ 7-10 ธันวาคม
เรื่องนี้คนไทยเชื้อสายเวียดนามตื่นเต้นกันมากครับ
ว่ากันว่า นายเวือง ดิ่งห์ เหวะ ประธานรัฐสภาเวียดนามที่จะมาเยือนไทยครั้งนี้ เป็นผู้นำสูงสุดระดับสี่อย่างที่ทางเวียดนามเรียกว่า “สี่เสาหลักของแผ่นดิน” อันได้แก่ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และประธานรัฐสภา
แถมยังดูมีอนาคตที่สดใสในฐานะคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาระดับปริญญาเอกทางเศรษฐกิจการค้าจากยุโรปตะวันออก
การเปลี่ยนแปลงบริบททางการเมืองระหว่างประเทศภายหลังการสิ้นสุดสงครามเวียดนาม จนมาถึงการให้สัญชาติไทยกับลูกหลานชาวเวียดนามอพยพที่ลี้ภัยสงครามจากการโจมตีเวียดนามและลาวของฝรั่งเศสข้ามโขงเข้ามาเมืองไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2489 ทำให้ความใกล้ชิดของคนสองแผ่นดินกระชับตัวเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแยกไม่ออก
ลูกหลานคนเวียดนามที่มีถิ่นกำเนิดเป็นไทยแต่มีความเป็นเวียดนามทางภาษาและวัฒนธรรม กลายเป็นคนไทยที่เข้าใจเวียดนามได้มากที่สุด คิดแบบเวียดนามเป็น เป็นทรัพยากรที่ผูกพันสองแผ่นดินเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันมากที่สุด เป็นแก่นแกนที่สำคัญกว่าความผูกพันที่เป็นทางการอย่างการเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ซึ่งจะครบรอบสิบปีในปีนี้
ความจริงการเยือนของผู้นำระดับสูงของเวียดนามมีมานาน นับตั้งแต่ไทยรับรองรัฐบาลเวียดนามหลังการรวมชาติ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2519 ไม่ว่าจะเป็น นายฝ่าม วัน ด่ง นายกรัฐมนตรีสมัย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, นางเหงวียน ถิ บิ่งห์ หัวหน้าคณะเจรจายุติสงครามเวียดนาม ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นตำนานไปทั่วโลก จนถึงการมาของเลขาธิการ เหงวียน ฝู จ่อง เมื่อสิบปีที่แล้ว และประธานาธิบดี เหงวียน ซวน ฟุก จนแม้ประธานรัฐสภาคนที่แล้ว คือ นางเหงวียน ถิ กิม เงิน ก็เคยมาเยือนไทยเมื่อสี่ปีที่แล้ว
การมาเยือนของผู้นำระดับสูงของเวียดนามในคราวนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดตัวผู้นำใหม่ของเวียดนามกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว คงมีสารติดไม้ติดมือมาคุยกับทางไทยด้วย เพราะถ้ามองความสัมพันธ์กับไทยจากมุมของเวียดนามก็จะพบว่า ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทั้งทางการค้าและการลงทุน เวียดนามดูออกจะยังเสียเปรียบไทยอยู่มาก ไม่ว่าจะมองจากการส่งสินค้ามาขาย และการลงทุนระหว่างกัน
โดยเฉพาะเรื่องการเปิดตลาดแรงงานซึ่งยังไม่กว้างขวางเท่ากับที่เปิดให้แรงงานสามประเทศ คือเมียนมาร์ ลาว กัมพูชาโดยที่เราเปิดให้แรงงานจากเวียดนามได้ทำงานแค่สองประเภท คือ งานกรรมกรและงานประมงเท่านั้น แต่ไม่เปิดงานอื่นที่แรงงานอีกสามประเทศทำได้ เช่น งานบริการ, งานรับใช้ในบ้าน ทั้งๆ ที่คนเวียดนามมีทักษะในการพูดไทยมากกว่าคนในประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก ด้วยพ่อแม่เคยโตในประเทศไทยและพูดไทยเป็นหลัก ก่อนจะอพยพกลับปิตุภูมิดังที่เรียกกันว่า “เหวียด เกี่ยว โห่ย เฮือง” ทั้งผู้ประกอบการในภาคอีสานจำนวนมากใช้ภาษาเวียดนามในชีวิตประจำวัน
ปัญหานี้ทางเวียดนามคงเปรยให้ฝ่ายบริหารของไทยรับรู้มาเป็นระยะแล้ว คราวนี้ถือโอกาสคุยกับฝ่ายนิติบัญญัติ เผื่อว่าตัวแทนประชาชนในการออกกฎหมายจะได้รับรู้เรื่องราวและมีมุมมองที่เปลี่ยนไปในทางดีขึ้นบ้าง