สถานการณ์ล่อแหลมในเมียนมา เป็นข่าวจริงจังมาระยะหนึ่งแล้ว
เป็นสถานการณ์ที่หลายคนไม่อยากเชื่อ นั่นก็คือโอกาสของความพ่ายแพ้ของรัฐบาลทหาร ภายใต้การนำของ พลเอกอาวุโส มิน อ่องหล่าย
กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนของความเพลี่ยงพล้ำและตกเป็นรองของ “รัฐบาลทหารเมียนมา” คือสถานการณ์พื้นที่รัฐฉานตอนเหนือ ติดกับพรมแดนจีน
เพราะกองกำลังติดอาวุธสามฝ่ายที่ผนึกกันเป็น "พันธมิตรสามภราดรภาพ" หรือ Three Brotherhood Alliance สามารถปิดล้อมเมืองเล่าก์ก่ายได้ในทางพฤตินัย และยึดเมืองโดยรอบได้อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะที่มั่นทางทหาร อาวุธ และมีข่าวทหารของฝ่ายรัฐบาลยกธงขาวยอมแพ้
พันธมิตรสามภราดรภาพ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “พันธมิตร 3 พี่น้อง” ประกอบด้วย กลุ่มโกกั้ง หรือ กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง หรือ ปะหล่อง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA) ได้เปิดปฏิบัติการทางทหารภายใต้รหัส 1027 ตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค.66 ดีเดย์วันที่ 27 ต.ค. ร่วมกันโจมตีกองทัพเมียนมา กับกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุน จนไดัรับชัยชนะเกือบจะเด็ดขาด
ตลอดเดือนเศษที่ผ่านมามีแต่ข่าวความพ่ายแพ้ของกองกำลังฝ่ายรัฐบาลทหาร และกำลังพลหนีทัพ ถอดใจ
ขณะเดียวกันก็มีรายงานการสู้รบกระจายในอีกหลายพื้นที่ หลายรัฐ เช่น กะเหรี่ยงในรัฐคะยา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา ติดกับชายแดนแม่ฮ่องสอน
แทบทุกสมรภูมิมีแต่ข่าวไม่ดีของกองกำลังฝ่ายรัฐบาลทหาร จนเกิดหัวข้อการสนทนาใหม่ว่า “เมียนมาจะแตกหรือไม่”
อาจารย์กฤษฎา บุญเรือง นักวิชาการอิสระ จากรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา วิเคราะห์สถานการณ์ในเมียนมา หลังจากมีวงหารือของชาวเมียนมาโพ้นทะเลในสหรัฐ ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ นักศึกษา และตัวแทนจากกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ร่วมประเมินทิศทางการสู้รบ และโฉมหน้าที่เป็นไปได้ของเมียนมานับจากนี้
1.รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันยืดเวลาต่อไปได้ แต่อาจอยู่ไม่นาน
สาเหตุแห่งความอ่อนแอของรัฐบาลปัจจุบัน
1.1 ขาดทรัพยากร
- รายได้เข้าประเทศลดลง แหล่งทุนของรัฐบาลหดหาย
- ทหารเสียขวัญ จำนวนทหารที่พร้อมทำสงครามจริงน้อยกว่า 60,000 นาย จากจำนวน 300,000 นายที่เป็นตัวเลขยืนยันว่าอยู่ในกองทัพก่อนหน้านี้
- ถูกสกัดและคว่ำบาตรการเงินทั้งทางลับและทางเปิดเผย
- การเงินการธนาคารติดขัดทั้งในและนอกประเทศ
- ระบบการสื่อสารถูกแทรกแซง
- ผู้นำทหารปัจจุบันและสมาชิกในครอบครัวถูกกดดันเรื่องความมั่นคงและเศรษฐกิจ
1.2 ขาดการยอมรับจากต่างประเทศ
- นอกเหนือจากรัสเซีย จีน และไทยแล้ว รัฐบาลเมียนมาชุดนี้ไม่มีความสัมพันธ์ต่างประเทศกับใครเลย เป็นความพ่ายแพ้และเปราะบางทางการทูต
- จิตวิทยามวลชนในประชาคมโลกอ่อนแอ ยกตัวอย่างผู้แทนของเมียนมาในสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ขณะนี้ ไม่ใช่ผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน แต่ คือ Kyaw Moe Tun ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลเดิมซึ่งมาจากการเลือกตั้ง
2.เกิดการรัฐประหารซ้อน
- ทหารบางกลุ่มอาจไม่ยอมลงจากอำนาจ เพราะประเมินว่ายังควบคุมสถานการณ์ได้ และคิดว่าทางเลือกเพื่ออยู่รอดต่อไปคือการเปลี่ยนแกนนำ จึงอาจนำมาสู่การทำรัฐประหารซ้อนขึ้นมา
- กลุ่มทหารเมียนมาชุดใหม่ (ถ้ามี) น่าจะเข้ามาบริหารประเทศคล้ายแนวทางเดิม แต่ได้บทเรียนจากรัฐบาลปัจจุบัน จึงอาจเปิดเจรจาประนีประนอมเพื่ออยู่ร่วมกันกับกองกำลังติดอาวุธ และลดความกดดันจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ National Unity Government (NUG) ซึ่งมีสถานะเป็น “รัฐบาลเงา” ที่มีชาติตะวันตกสนับสนุน และมีสำนักงานใหญ่อยู่ในวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา
- นายทหารชุดใหม่นี้คือใคร ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ภายในเมียนมา ข้อมูลปัจจุบันมีจำกัด
- กลุ่มผู้นำทหารชุดปัจจุบันต้องลี้ภัยในประเทศใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ กัมพูชา ไทย ตะวันออกกลาง หรืออื่นๆ
- เชื่อว่ามีการเจรจาเรื่องนี้กันอยู่ เป็นข้อเสนอขาลงให้รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันจำเป็นต้องเลือกก่อนที่จะสายเกินไป
3.เกิดจลาจลในประเทศ
- รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันลงจากอำนาจ (โดยไม่เกี่ยวกับการรัฐประหาร)
- กองกำลังติดอาวุธบางกลุ่มประสานงานกัน แต่เมื่อเกิดสุญญากาศทางการเมืองในเมืองหลวง ก็จะนำมาสู่ความโกลาหลว่าใครคือผู้นำที่สามารถรวมประเทศ สร้างเอกภาพได้จริง ควรจะแบ่งปันการปกครองอยู่ในประเทศเดียวกันหรือกลายเป็นการแยกประเทศ
4.จัดตั้งรัฐบาลใหม่
- อาจนำโดยรัฐบาลเงา NUG ร่วมกับกองกำลังติดอาวุธต่างๆ รวมทั้งพันธมิตรสามภราดรภาพ
- รัฐบาลชุดใหม่ต้องเลือกที่พึ่งพิง เช่น ตะวันตกกับชาติพันธมิตร หรือจีน หรือ อินเดีย หรือไทย+อาเซียน+สหประชาชาติ หรือการผสมผสานแบบใหม่ เป็นต้น
- NUG หรือ “รัฐบาลเงา” ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในสหรัฐ ได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการเรี่ยไรเงินบริจาคจากหลายกลุ่มหลายองค์กร ทั้งในทางลับและเปิดเผย
- ชาวเมียนมาโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในสหรัฐมีจำนวนกว่า 325,000 คน (อพยพไปสหรัฐตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 กว่า 190,000 คน) และอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกเป็นจำนวนมาก
5.แยกออกเป็นหลายประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลาและความซับซ้อนในการเจรจา และอาจนำมาสู่สงครามภายในประเทศ
- มหาอำนาจต่างๆ พยายามสร้างเงื่อนไขไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้น เนื่องจากจะลุกลามเป็นสงครามตัวแทนได้
- ต้องจับตาท่าทีจีนและอินเดีย สังเกตผลประโยชน์ระยะสั้นและระยะยาวของสองประเทศนี้ ซึ่งมีหน่วยปฏิบัติการทั้งในและนอกเมียนมา
- รัสเซียกับเกาหลีเหนือซึ่งเคยเป็นแหล่งอาวุธ ได้ลดขีดความสามารถในเรื่องนี้ แม้ยังมีหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่ แต่จะไม่ส่งผลในทางปฏิบัติมากนัก
- สหรัฐและชาติพันธมิตรกำลังเฝ้ามองพฤติกรรมของคนบางกลุ่มในประเทศไทยที่ได้เตรียมการรับสถานการณ์หากมีการเปลี่ยนแปลงในเมียนมาเฉียบพลัน
- ที่น่าจับตามองมากที่สุดคือทรัพยากรบุคคลและการเงินในไทย “ซึ่งเป็นทางผ่านที่สำคัญที่สุด” ของการปฎิบัติการของทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาลและกองกำลังต่อต้านรัฐบาล
- ไทยเป็นประเทศที่มีส่วนได้เสียมากที่สุดประเทศหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงในเมียนมา
- กระทรวงต่างประเทศสหรัฐประเมินว่ามีผู้อพยพชาวพม่าที่อยู่ในศูนย์อพยพในไทยอีกประมาณ 150,000 คน และยังประเมินว่ามีชาวพม่าประกอบอาชีพในไทยและเป็นเครื่องยนต์สำคัญของธุรกิจไทยมีไม่ต่ำกว่า 2,000,000 คน
- องค์กรอิสระอย่าง ฮิวแมน ไรต์ส วอชต์ ประเมินว่ามีผู้อพยพจากภัยสงครามชาวเมียนมาหลังจากรัฐประหารเมื่อ ค.ศ.2021 อยู่ในไทยเกินกว่า 45,000 คน และจำนวนนี้อาจพุ่งสูงขึ้น
และหากสถานการณ์ควบคุมไม่ได้ “อาจจะเป็นวิกฤตเรื่องผู้ลี้ภัยเทียบเท่าหรือรุนแรงกว่าสมัยสงครามอินโดจีน”