แม้จะถูกมองเป็น “หน้าใหม่” ของปัญหาชายแดนใต้ สำหรับ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต.ป้ายแดง
แต่โค้งแรกของการทำงานหลังรับตำแหน่ง ปรากฏว่าคะแนนความตั้งใจสูงลิ่ว จากภาพความขยันขันแข็ง เดินสายลงพื้นที่ต่อเนื่อง และตะลุยออกงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้งที่ปลายด้ามขวานและประเทศเพื่อนบ้าน
แน่นอนว่าแนวทางการทำงาน ย่อมต้องยึดปรัชญาพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” แต่การแปรปรัชญาสู่การปฏิบัติ และเป้าหมายที่จะไปให้ถึง คือสิ่งที่ประชาชนคนพื้นที่อยากรับรู้
ปัญหาเร่งด่วนที่ “เลขาฯบิลลี่” วรรณพงษ์ คชรักษ์ ทำการบ้านมา ก็คือวิกฤตเศรษฐกิจ และคนว่างงาน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตติดลบ รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรติดกลุ่มรั้งท้ายของประเทศ
ทางแก้ที่ “เลขาฯบิลลี่” กำลังวางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน คือ “ขายของดี” ที่มีอยู่ในพื้นที่ ในลักษณะเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่า
“พวกเราทราบดีว่าทรัพยากรของเรานั้นมีอย่างอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ผลไม้ ทุกอย่างที่นี่มีของดีมากมาย ได้รับการยอมรับ แม้กระทั่งอาชีพประมงก็มีคุณภาพ การส่งเสริมต้องร่วมมือกัน และต้องมาจากประชาชน จากผู้ผลิตตัวจริง รัฐมีหน้าที่ช่วยพัฒนารูปแบบ หรือต่อยอดของสินค้าที่มีอยู่ รวมทั้งหาตลาด”
“เรื่องนี้สำคัญและอยากทำมาก เพราะเชื่อว่าของที่มีอยู่ไม่ต้องไปหาใหม่หรอก ของที่มีอยู่ทำให้ทุกคนยอมรับ แล้วก็ขายได้ มันก็สร้างรายได้ได้แล้ว เมื่อมีรายได้ก็จะเริ่มมีการพัฒนามากขึ้นเอง ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งต่างๆ ก็จะตามมา”
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดๆ
“อย่างทุเรียน ลองกอง ปลาเค็ม กล้วยหิน ไม่มีที่ไหน มีเฉพาะพื้นที่เรา ถ้าเราช่วยกันสร้างการรับรู้ ก็จะกลายเป็นโอกาส จากนั้นทุกอย่างจะตามมาเอง”
การจะต่อยอด เพิ่มโอกาสให้ผลผลิตที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ ก็ต้องวางระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ดี ซึ่งหากทำได้ จะส่งผลบวกเกื้อหนุนการท่องเที่ยวไปในตัวด้วย
“เป็นตามนโยบายของ ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี (กำกับดูแล ศอ.บต.) ท่านมีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่ในมิติของการท่องเที่ยว ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่เป็นอุตสาหกรรมฮาลาล เรามีผลผลิตในเชิงฮาลาลมากมาย เพียงแต่ว่าอาจจะต้องพัฒนาในเรื่องของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ เหมาะสมต่อการส่งออก”
“การสร้างเสริมโครงการในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เป็นนโยบายที่ ศอ.บต.เองก็พยายามทำ และสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนให้เกิดขึ้น โดยมีสังคมพหุวัฒนธรรมเป็นตัวเสริม จูงใจให้คนเข้ามาลงทุนและท่องเที่ยว”
“หากโครงสร้างพื้นฐานดี เดินทางง่าย สะดวก ปลอดภัย และมีอะไรให้ท่องเที่ยวมากมาย ก็จะส่งผลต่อภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจ คนอยากจะมาเที่ยว อยากจะมาลงทุน นี่คือทิศทางและเป้าหมายที่เราจะเดินไป” เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าว
สิ่งหนึ่งที่ต้องเร่งทำควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ก็คือเรื่องการศึกษา หมายถึงการเตรียมคนให้พร้อม
“อยากให้กลไกการศึกษาสามารถเป็นโอกาสของเด็กและเยาวชนทุกคน ให้โอกาสทุกคนได้มีการศึกษาที่ดี เพื่อพัฒนาคุณภาพของคน เพราะสิ่งนี้จะบ่งบอกถึงอนาคตของจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยเช่นกัน”
แต่ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ ยอมรับว่า คุณภาพของคนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากในพื้นที่ยังมียาเสพติดระบาด ฉะนั้นการปราบยาคืออีกหนึ่งภารกิจเร่งด่วนที่ ศอ.บต.ขอมีส่วนร่วมขับเคลื่อนผลักดัน
“ยาเสพติดเป็นอุปสรรคหนึ่งในเชิงโครงสร้างของสังคม ทำให้บุคลากรมีคุณภาพลดลง มีสภาพสังคมที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ฉะนั้นผมจึงวางบบาท ศอ.บต.ให้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการจัดการปัญหา ร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 สำนักงาน ป.ป.ส. และกระทรวงยุติธรรม โดยมุ่งเน้นการแก้ไขบำบัด การพัฒนาฟื้นฟูผู้ก้าวพลาด ฝึกอาชีพและการศึกษา หรือให้คำปรึกษา เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องทำ”
ส่วนเสียงบ่น เสียงวิจารณ์ที่ว่าระยะหลังๆ ศอ.บต.กลายเป็นองค์กร “ไกลมือเอื้อม” ของประชาชน ผิดกับวัตถุประสงค์และปรัชญาของการตั้งองค์กรแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ.2524 ที่ให้เป็นหน่วยงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และอำนวยความเป็นธรรมกับพี่น้องชายแดนใต้อย่างแท้จริงนั้น
ประเด็นนี้ เลขาฯบิลลี่ ยืนยันว่า ไม่เคยนิ่งนอนใจ
“ศอ.บต.พร้อมรับรู้รับทราบ และลงไปมีส่วนร่วมแก้ไขในทุกปัญหา ไม่ว่าจะเล็กจะน้อย หรือเรื่องใหญ่ ก็ขอให้แจ้งมา ถ้าทำได้ก็จะทำทันที ถ้าทำไม่ได้ก็อาจจะต้องเป็นผู้ประสานงานกับพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ไขต่อไป”
“อยากเรียนว่า ศอ.บต. เป็นของทุกคน ฉะนั้นท่านเดินเข้ามาหรือจะโทรมาร้องทุกข์อะไรก็ได้ ไม่รู้จะโทรไปไหน หรือมีเรื่องปรึกษา ก็โทร.มาที่ ศอ.บต. มีเบอร์โทรศัพท์ที่เป็นเบอร์คอลเซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง มีช่องทางการรับเรื่องร้องทุกข์หลายช่องทาง
“ขอเพียงให้ประชาชนคิดถึงเรา...” เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวในที่สุด