แรงงานทั่วประเทศรอลุ้นนโยบายของรัฐบาลที่เคยประกาศจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 600 บาทภายในปี 2570
แต่สำหรับสิ้นปี 2566 ต่อเนื่องต้นปี 2567 นายกฯเศรษฐา ทวีสิน เคยประกาศเป้าหมาย “ค่าแรง 400 บาท” เอาไว้ และกำลังเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นจริง
ทว่าเมื่อหันไปดูท่าทีของกระทรวงแรงงาน ค่อนข้างหนักใจที่จะเนรมิตค่าแรงวันละ 400 บาทตามที่นายกฯประกาศ จึงต้องรอลุ้นภายในเดือนสุดท้ายของปีว่าคำตอบสุดท้ายจะออกมาอย่างไร เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำเป็นการตัดสินของ “ไตรภาคี” ไม่ใช่ภาครัฐเคาะฝ่ายเดียว
ส่วนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้มีปัญหาแค่ค่าแรงต่ำ แต่ปัญหาที่หนักกว่าคือ “คนว่างงาน” ซึ่งมีเยอะจริงๆ โดยเฉพาะตั้งแต่หลังโควิดระบาด ทำให้แรงงานร้านต้มยำกุ้งกลับจากมาเลเซียจำนวนมาก
เมื่อเร็วๆนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ นายนัจมุดดีน อูมา ประธานคณะทำงานของรัฐมนตรี พร้อมด้วยข้าราชการระดับสูงของกระทรวง เป็นวิทยากรเสวนาในหัวข้อ “มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และการเชื่อมโยงกับหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ กรณีหลักสูตรวิชาชีพของโรงเรียนพระดาบส จังหวัดชายแดนภาคใต้”
เวทีเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คชอป) เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา
นายนัจมุดดีน กล่าวว่า ได้ร่วมกันแชร์ความคิดเพื่อพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ให้มีงานทำ มีอนาคตที่ดี โดยแบ่งเป็น 2 แนวคิด คือ
-พัฒนาวิชาชีพที่ศึกษาอยู่แล้ว สิ่งไหนที่สามารถต่อยอดได้ ก็จะให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาต่อยอด เช่น ช่างไฟฟ้าสามารถต่อยอดเป็นช่างซ่อมแอร์ได้ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดช่างซ่อมแอร์มาก
-เมื่อพัฒนาสู่แรงงานมีฝีมือ กรมการจัดหางานก็จะมาช่วยหางานให้ทำ
“เริ่มจากศิษย์เก่าโรงเรียนพระดาบส 12 รุ่นที่จบไปแล้ว จำนวน 768 คน เราจะสำรวจว่าใครไม่มีงานทำ กรมการจัดหางานก็จะมาช่วยให้เด็กมีงานทำ รวมไปถึงการสนับสนุนให้เด็กที่จบจากโรงเรียนพระดาบสไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มปีหน้าเป็นต้นไป ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาช่วยพัฒนาทักษะวิชาชีพที่ตลาดต้องการ” คณะทำงานของรัฐมนตรีแรงงาน ระบุ
นายนัจมุดดีน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีแรงงานจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปทำงานในประเทศมาเลเซียไม่ต่ำกว่า 200,000 คน จำนวนนี้ไปแบบไม่มีวิชาการติดตัว ไม่ได้ผ่านการฝึกทักษะ กระทรวงแรงงานจึงคิดจะมาช่วย โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะพัฒนาเชฟปรุงอาหารฮาลาล เพื่อส่งต่อไปยังมาเลเซีย
“เร็วๆ นี้จะไปพูดคุยกับทางมาเลเซียว่า เราจะพัฒนาแรงงานของเราต่อไปในอนาคต และจะทำแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าแรงงานที่อยู่ทางประเทศมาเลเซียแค่ 5,000 คนที่มีใบอนุญาตถูกต้อง ที่เหลือไม่มีใบอนุญาต ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้นำเงินเข้าระเทศไทยปีละไม่ต่ำว่า 7,000 ล้านบาท ถ้าเราพัฒนาทักษะฝีมือ อาจทำรายได้เพิ่มเป็นหมื่นกว่าล้านในอนาคต”
นายนัจมุดดีน กล่าวอีกว่า ในปี 2567 กรมการจัดหางานมีนโยบายจ้างงาน 1,000,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างน้อยก็ 30,000 ตำแหน่ง จังหวัดละ 10,000 ตำแหน่ง ถ้าจำเป็นจะต้องเพิ่มก็จะเพิ่มให้อีก เพราะคนสามจังหวัดมีงานทำน้อยมาก อัตราการว่างงานจะทำให้มีปัญหาอื่นตามมา เช่น ยาเสพติด และจะทำให้เด็กเป็นกลุ่มเปราะบาง มีปัญหาต่อไปในอนาคต