ฝนถล่มชายแดนใต้ต่อเนื่อง ยะลาเฝ้าระวังพื้นที่น้ำป่า ดินโคลนถล่ม ชาวบ้านจับปลาบึกยักษ์ 67 กิโลกรัม สะท้อนความอุดมสมบูรณ์เขื่อนบางลาง ขณะที่ปัตตานีแจ้ง 3 ตำบลริมแม่น้ำระวังทะลักล้นตลิ่ง ด้านชลประทานนราธิวาสเจาะถนนระบายน้ำป้องกันท่วมตลาดมูโนะ พร้อมประกาศ 4 อำเภอเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ
วันเสาร์ที่ 2 ธ.ค.66 สภาพอากาศในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้เกิดฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากที่จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 3-8 ธ.ค.
ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.ยะลา มีประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย โดยพื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ได้แก่ อ.เบตง อ.ธารโต อ.บันนังสตา อ.กาบัง อ.กรงปินัง และ อ.ยะหา
พื้นที่ที่ระดับน้ำอาจเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และระดับน้ำล้นตลิ่งจากฝนที่ตกสะสม ได้แก่ อ.เมืองยะลา อ.รามัน และ อ.ยะหา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่อาศัยบริเวณแม่น้ำสายบุรีและแม่น้ำปัตตานี รวมถึงบริเวณที่ราบริมภูเขา เชิงเขา ติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและจากทางราชการอย่างใกล้ชิด
ทั้งได้มีการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกอำเภอให้เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันทีหากเกิดสถานการณ์
@@ จับปลาบึกยักษ์! สะท้อนความอุดมสมบูรณ์
วันเดียวกัน ชาวบ้านตาพะเยา พื้นที่ ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา ได้ออกหาปลาในแม่น้ำหลังเขื่อนบางลางปล่อยน้ำ ทำให้สามารถจับปลาบึกตัวใหญ่ได้ น้ำหนักมากถึง 67 กิโลกรัม ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่กล่าวเป็นเสียงเดียวกันนี้ ปลาบึกที่ได้มาคือความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในทะเลสาบฮาลาบาลา
สาเหตุสำคัญเนื่องจากที่ผ่านมามีการรณรงค์ร่วมอนุรักษ์ปลาแบบจริงจังในฤดูกาลปลาวางไข่ 3 เดือน โดยทำโครงการแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้่งชุมชน ภาครัฐ และผู้ค้า ในช่วง 3 เดือนที่ปลาวางไข่ จะต้องว่ายขึ้นไปต้นน้ำ จึงมีการประชาสัมพันธ์และควบคุมไม่ให้มีการจับปลา ทำให้ปลาแพร่พันธุ์อุดมสมบูรณ์ สร้างมูลค่ามากมายนับ 10 เท่าหากเทียบกับการจับปลาหรือกินไข่ปลาในฤดูปลาวางไข่ ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้จะเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน และสร้างเงิน สร้างงาน สร้างรายได้มากมายในแต่ละปี
นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านจับปลากดคัง น้ำหนัก 18.8 กิโลกรัมได้ด้วย ช่วงนี้จึงถือเป็นเทศกาลจับปลาเขื่อนบางลางกันเลย ถือเป็นการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ดีมากๆ
@@ เตือน 3 ตำบลริมแม่น้ำปัตตานี เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง
ที่ จ.ปัตตานี มีประกาศแจ้งเตือนภัยแม่น้ำปัตตานี ฉบับที่ 3 ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง โดยแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ชุมชน บ้านบริดอ หมู่ 3, 5, 8 ต.บาราเฮาะ และบ้านจางา หมู่ 1, 2, 3 ต.ปะกาฮะรัง อ.เมืองปัตตานี ในพื้นที่ริมคลองตุยง บ้านโคกยาร่วง หมู่ 2, 3, 6, 8, 9 ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก
โดยขอให้ประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ให้ติดตามสถานการณ์น้ำและข่าวสารจากราชการอย่างใกล้ชิด
@@ ชลประทานเจาะถนนระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมตลาดมูโนะ
พื้นที่ จ.นราธิวาส ท้องฟ้ายังคงมีเมฆฝนมืดครึ้มแพร่ปกคลุมทั้ง 13 อำเภอ และมีฝนตกลงมาเป็นช่วงๆ ตลอดทั้งวัน ส่งผลทำให้แม่น้ำสายหลักทั้ง 3 สาย คือ แม่น้ำบางนรา แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำโก-ลก มีปริมาณน้ำสะสมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบางจุดใกล้ล้นตลิ่ง
โดยปริมาณฝนที่ตกหนักอยู่ในพื้นที่ อ.สุไหงปาดี วัดได้ 242.2 มิลลิเมตร รองลงมาในพื้นที่ อ.แว้ง วัดได้ 189 มิลลิเมตร ส่งผลให้แม่น้ำโก-ลก มีปริมาณน้ำสะสมสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เหลือเพียง 0.18 เมตรจะล้นตลิ่ง ซึ่งเป็นผลพวงจากมวลน้ำป่าจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งมีต้นกำเนิดในพื้นที่ อ.สุคิริน ไหลมาสมทบในแม่น้ำสุไหงโก-ลกด้วย คาดว่าหากฝนยังตกหนักอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำในแม่น้ำโก-ลกจะล้นตลิ่งใน 1-2 วันนี้
ล่าสุดนายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 17 ได้นำรถแบ็กโฮ จำนวน 1 คัน ไปเจาะถนนที่บริเวณปากร่องน้ำของแม่น้ำโก-ลก หมู่ 1 ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก ก่อนที่มวลน้ำจะไหลลงประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ปริมาณน้ำไหลเข้าสู่ประตูระบายมากเกินจะรับไหว จนส่งผลให้มวลน้ำไหลบ่าเข้าท่วมตลาดมูโนะซ้ำเป็นปี่ที่ 3
พร้อมกันนี้ ยังได้นำบิ๊กแบ็ก หรือถุงพลาสติกขนาดจัมโบ้สีขาว บรรจุทราย ไปวางเสริมบนแนวคันดิน ซึ่งในปีที่ผ่านมาจุดดังกล่าวถูกน้ำกัดเซาะ จนมวลน้ำมาหาศาลไหลบ่าทะลักเข้าท่วมตลาดมูโนะ ซึ่งการแก้ปัญหาทั้ง 2 จุด คาดว่าจะสามารถป้องกันน้ำท่วมตลาดมูโนะได้
@@ นราธิวาสประกาศ 4 อำเภอเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ
ตามที่ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 1 – 2 ธ.ค.66 ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งล่าสุดทางจังหวัดนราธิวาสได้ประกาศให้พื้นที่ใน 4 อำเภอ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินจากเหตุอุทกภัย คือ อ.ยี่งอ อ.แว้ง อ.สุไหงปาดี และ อ.ระแงะ โดยมีพื้นที่ประสบภัย 18 ตำบล 46 หมู่บ้าน 1,319 ครัวเรือน 4,940 คน ดังนี้
1. อ.ระแงะ จำนวน 5 ตำบล 14 หมู่บ้าน 456 ครัวเรือน 1,692 คน ประกอบด้วย ต.ตันหยงมัส ต.มะรือโบ ต.เฉลิม ต.บองอ ต.บาโงสะโต
2. อ.ยี่งอ จำนวน 4 ตำบล 15 หมู่บ้าน 221 ครัวเรือน 884 คน ประกอบด้วย ต.ยี่งอ ต.ละหาร ต.จอเบาะ
3. อ.แว้ง จำนวน 6 ตำบล 14 หมู่บ้าน 390 ครัวเรือน 1,356 คน ประกอบด้วย ต.แว้ง ต.แม่ดง ต.ฆอเลาะ ต.เอราวัณ ต.กายูคละ ต.โล๊ะจูด
4. อ.สุไหงปาดี จำนวน 3 ตำบล 3 หมู่บ้าน 252 ครัวเรือน 1,008 คน ประกอบด้วย ต.ปะลุรู ต.สุไหงปาดี ต.กาวะ
ทางจังหวัดได้จัดข้าวสารอาหารแห้งออกแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ 4 อำเภอ ที่ถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในระลอกที่ 1 โดยมีประชาชนได้รับความเดือดร้อน รวมถึงถนนและพืชสวนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสนั้น ขณะนี้หลายพื้นที่ยังอยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งหากฝนตกลงมาอีกอาจจะทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น