โมเดลการยกระดับ กอ.รมน. เป็น “โฮมแลนด์ ซีเคียวริตี้” หรือกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เหมือนของสหรัฐอเมริกา จะว่าไปแล้วไม่ใช่เพิ่งมีการเสนอกันในช่วงนี้ ตามที่ นายกัณวีร์ สืบแสง จากพรรคเป็นธรรม ออกมาเรียกร้อง
แต่จริงๆ ฝ่ายความมั่นคงไทยคิดโมเดลนี้มาตลอด เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่สามารถผลักดันผ่านผู้มีอำนาจที่เป็นรัฐบาลให้ประสบความสำเร็จได้
โครงสร้าง กอ.รมน.จึงครึ่งๆ กลางๆ เป็นหน่วยงานบูรณาการ โดยไม่มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่แน่นอน ชัดเจน อยู่แบบนี้
แหล่งข่าวจากอดีตหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงระดับประเทศ ให้ข้อมูลว่า ขอบเขตการทำงานของ กอ.รมน. ช่วงที่จัดทำกฎหมายการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอให้ยกเลิก) มีเป้าหมาย คือ โฮมแลนด์ ซีเคียวริตี้ คือรวมหน่วยงานความมั่นคงทั้งหมดมาไว้ด้วยกัน เพื่อความเป็นเอกภาพ และบริหารงานโดยฝ่ายพลเรือน
แต่เมื่อถึงขั้นตอนการแปรกฎหมายสู่ภาคปฏิบัติ หน่วยงาน กอ.รมน.มีแต่โครง ทำหน้าที่จัดประชุม แต่ไม่มีเครื่องมือในการทำงาน และไม่มีหน่วยตั้งต้นในการทำงาน จึงใช้กองทัพบกเป็นหลักในการทำงานไปก่อน
สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะ...
-หากจะตั้งกระทรวงใหม่ ต้องใช้งบประมาณมาก
-หน่วยงานความมั่นคงที่แยกกันอยู่เดิม มีอาณาจักรของตัวเอง ไม่อยากมารวมอยู่ใต้ โฮมแลนด์ ซีเคียวริตี้ เพราะจะทำให้สูญเสียอำนาจบางส่วน
-ต้องรื้อระบบการเฝ้าตรวจและเฝ้าระวังใหม่ทั้งหมด ทั้งระบบกล้องวงจรปิด ระบบเฝ้าตรวจทางอากาศ ระบบตรวจคนเข้าเมือง และอื่นๆ
ที่สำคัญ โมเดล โฮมแลนด์ ซีเคียวริตี้ ต้องเป็นระบบพลเรือน แต่ของไทยตั้งต้นโดยกองทัพ ทำให้กองทัพเข้ามามีบทบาทสูง และเป็นเจ้าของภารกิจไปโดยปริยาย (เหมือนภารกิจดับไฟใต้)
แหล่งข่าวที่เป็นอดีตหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงระดับประเทศ ยังบอกว่า โฮมแลนด์ ซีเคียวริตี้ ยังเป็นโมเดลที่ใช้ได้ในปัจจุบัน ไม่ล้าสมัย โดยต้องออกแบบมารับมือกับการก่อการร้ายในเมือง หรือ urban warfare ซึ่งเชื่อกันว่ากำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งหลังสงครามอิสราเอล-ฮามาสขยายตัว รวมถึงรับมือการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งจะรุนแรงหนักหน่วงขึ้นในอนาคต
@@ เสนอโมเดล “พิทักษ์พื้นที่ส่วนหลังและทรัพยากร”
แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ยังมีแนวคิดของคนทำงานด้านความมั่นคง ซึ่งผ่านการอบรม และผ่านงานในต่างประเทศหลายประเทศ ที่เห็นว่า โมเดล “โฮมแลนด์ ซีเคียวริตี้” อาจจะเหมาะกับการต่อต้านการก่อการร้ายยุค 911 แต่สำหรับปัจจุบันที่ภัยคุกคามมีพลวัตเป็น “สงครามไฮบริด” เชื่อมโยงกับภัยคุกคามใหม่ๆ เช่น โรคอุบัติใหม่ หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น โลกร้อน (climate change) ทำให้ภารกิจของหน่วยงานความมั่นคงต้องเปลี่ยนไป
อดีตทูตทหาร ซึ่งผ่านงานจากหลายประเทศ เสนอว่า ควรปรับองค์กรและภารกิจของ กอ.รมน. เป็น “กองอำนวยการพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลังและทรัพยากร” ความหมายก็คือ ดึงจุดเด่นของ กอ.รมน.มาปรับทิศทางภารกิจใหม่
-ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับทหาร คือไม่ทำงานชายแดน ไม่ต่อสู้กับอริราชศัตรู ไม่ต่อสู้หรือทำสงครามภายในประเทศ เช่น ในภาคใต้
-แต่มุ่งทำงานเสริมสร้าง และพัฒนาระบบป้องกัน เรียกว่า “พิทักษ์พื้นที่ส่วนหลัง” คือ ความมั่นคงเชิงป้องกัน ลดปัญหาความขัดแย้ง แตกแยก ซึ่งกลไกของ กอ.รมน.สามารถทำได้ แต่ต้องลดบทบาทของฝ่ายทหารลง
-อีกด้านหนึ่งที่ต้องทำควบคู่กัน คือ งานพิทักษ์ทรัพยากร ซึ่งก็คืองานความมั่นคงที่สำคัญอีกมิติหนึ่ง งานนี้ใช้กลไก กอ.รมน.ตามโครงสร้างปัจจุบันที่ลงลึกถึงระดับจังหวัดได้ทันที โดยบางส่วนอาจใช้อำนาจทหาร บางส่วนก็ใช้กฎหมายปกติ ขึ้นกับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ ซึ่งแตกต่างกันไป
@@ ทางสามแพร่ง
อนาคตขององค์กร กอ.รมน. ณ เวลานี้ มีความเป็นไปได้ 3 แนวทาง เสมือน "ทางสามแพร่ง"
1.”ยุบ” ตามการเสนอกฎหมายของพรรคก้าวไกล - แต่เป็นไปได้ยาก เพราะรัฐบาลเพื่อไทยไม่เอาด้วย และมีกระแสต้านจากบางฝ่าย
2.คงไว้แบบเดิม ปรับภารกิจเล็กน้อย - มีความเป็นไปได้มาก สอดรับกับแนวทางของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา แบะ กอ.รมน.จะถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมืองทางอ้อม
3.ปรับองค์กรใหม่ เช่น โมเดล Homeland Security
-รวมหน่วยงานความมั่นคงทั้งหมดเข้าด้วยกัน
-เฝ้าตรวจทางบก (CCTV)
-เฝ้าตรวจทางอากาศ (ดาวเทียม/โดรน)
-เฝ้าตรวจทางน้ำ (ตำรวจน้ำ/ โดรนตรวจการณ์/ เรือดำน้ำ ฯลฯ)
-ตรวจคนเข้าเมือง (ไบโอ เมทริกซ์)
-ระดมกำลังจากทุกหน่วย กองทัพ ตำรวจ พลเรือน ท้องถิ่น
-รับมือ urban warfare / สงครามก่อการร้าย